กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๙) : เมื่อฉันทะงอกงาม


 

ในการเรียนรู้เรื่องการเจริญเติบโตของพืช แน่นอนว่าเด็กๆ จะต้องลงมือปลูกพืชกัน แต่เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องที่อยู่ของเมล็ดด้วย คุณครูแคท คัทลียา  รัตนวงศ์  กับ คุณครูต้อง -  นฤตยา ถาวรพรหม จึงคิดกันว่าโจทย์จะต้องเริ่มจากการให้เด็กๆ นำเมล็ดพืชมาจากบ้านคนละอย่างน้อย ๒ เมล็ดโดยห้ามซื้อมา

 

หลังจากที่จดการบ้านขึ้นบนกระดาน เซน ๒/๓ พูดขึ้นมาว่า “อ๋อ  หนูรู้แล้ว หนูก็กินแตงโม แล้วก็เก็บเมล็ดนั้นมา ง่ายนิดเดียว” จากเงื่อนไขง่ายๆ ที่ครูตั้งไว้นี้ ทำให้เด็กได้ค้นพบด้วยตัวเองว่า เมล็ดพืชบางชนิดนั้นอยู่ในผล และบางชนิดก็อยู่ในดอก

 

ในห้องเรียนเด็กๆ จะทำความรู้จักกับเมล็ดพืชที่พวกเขานำมาด้วยการสังเกตอย่างละเอียด  พร้อมทั้งวาดรูปร่างของเมล็ดที่สังเกตได้ และเมื่อสังเกตลักษณะภายนอกแล้ว ครูก็จะผ่าเมล็ดให้ได้สังเกตลักษณะภายในของเมล็ดชนิดต่างๆ ด้วย บางเมล็ดมีต้นอ่อนสีเขียวเล็กๆ ซ่อนอยู่ข้างในด้วย ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจได้ว่าต่อไปส่วนสีเขียวที่เห็นนั่นแหละที่จะโตขึ้นมาเป็น “เพื่อนสีเขียว”

 

อีกเมล็ดที่เหลือเด็กๆ จะได้นำลงไปปลูกลงในกระถางที่เขาตกแต่งเอาไว้แล้วอย่างสวยงาม  เพื่อจะได้รู้ว่าเพื่อนสีเขียวของเมล็ดเหล่านั้นจะมีรูปร่างอย่างไร  นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องของการเจริญเติบโตของพืช และยังได้ฝึกความรับผิดชอบในการดูแลต้นอ่อนของพืชด้วย

 

เมื่อแรงบันดาลใจจากห้องเรียน บวกรวมเข้ากับความอยากรู้อยากเห็นว่าพืชของตนจะมีรูปร่างอย่างไรส่งผลให้เด็กๆ เฝ้าดูต้นไม้ในกระถางของตนเองและของเพื่อนๆ อย่างจดจ่อผ่านไป ๓-๔ วัน ต้นไม้ในกระถางของบางคนเริ่มงอกออกมา  ทำให้เพื่อนคนอื่นๆ พากันตื่นเต้นไปด้วย

 

จินนี่ ทำการทดลองตามความเข้าใจของตนเองว่า การรดน้ำด้วยน้ำเย็นจะทำให้พืชงอกออกมาและโตเร็วกว่าของเพื่อนๆ  

 

ข้าวใหม่ สังเกตเห็นบางกระถางที่ยังไม่ได้รดน้ำก็รดให้เพื่อนด้วย  และเมื่อเห็นของเพื่อนโตก็ยิ่งดีใจ 

 

กุ๊ดจี่ ไม่สนใจจะปลูกต้นไม้เลยจนครูต้องตามหาเจ้าของว่าใครวางกระถางทิ้งไว้ จึงทราบว่าเป็นของกุ๊ดจี่  แต่พอได้ลงมือปลูกแล้วกุ๊ดจี่ก็ดูแลมันอย่างดี  แล้ววันหนึ่ง กุ๊ดจี่ก็เดินมาบอกครูแคทว่า “ครูแคท หนูมีข่าวดีมาบอก ต้นไม้หนูงอกแล้วค่ะ” แล้วยังพาครูแคทไปดูด้วย

 

เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติว่าการที่ว่าพืชจะอยู่รอดหรือตายไปนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ส่วนเด็กบางคนที่พบกับความล้มเหลว เมื่อเรานำเรื่องนี้กลับมาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียนเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าเมื่อขาดความเอาใจใส่ ผลจะเป็นอย่างไร  และเขาก็ได้เรียนรู้จากความสำเร็จของเพื่อน ๆ ด้วยว่า แล้วเขาจะแก้ไขความผิดพลาดนี้อย่างไรหากมีโอกาสได้ปลูกพืชอีกครั้ง

 

เมื่อพ้นจากชั่วโมงเรียนไปแล้ว เด็กๆ ก็ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่เป็นทางการ เรื่องต้นไม้ของพวกเขา ทั้งในช่วงเวลาพักทานอาหารว่าง และตอนพักทานอาหารกลางวัน

 

จากการทำกิจกรรมนี้ครูได้พบว่าเพียงครูสร้างแรงบันดาลใจ และหยิบยกเอาความสำเร็จที่มีขึ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ครูก็จะไม่ต้องสร้างเครื่องมือ และกลไกต่างๆ มาควบคุมผลลัพธ์ เช่น การทำตารางบันทึกว่าแต่ละวันใครมารดน้ำต้นไม้บ้าง หรือจัดให้มีหัวหน้ากลุ่มมาดูแลต้นไม้ เป็นต้น

 

ซึ่งเบื้องหลังความคิดก็คือการพยายามจับผิด  และการควบคุม ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงพลังที่เป็นลบ  แต่การเริ่มต้นด้วยฉันทะและแรงบันดาลใจ เกิดจากแรงพลังที่เป็นบวก ด้วยการนำเอาความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

.......................................................

 

ข้อค้นพบของครูแคท ทำให้ดิฉันนึกไปถึงกระบวนทัศน์ของการมองหาข้อบกพร่องเพื่อนำไปสู่การแก้ไข กับ พลังของความชื่นชมยินดี ที่ผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/43188 พูดถึงศิลปะและ AI ไปด้วยกัน  ที่เคยบันทึกเอาไว้เมื่อ ๖ ปีก่อน เมื่อครั้งยังเป็นอินเทอร์นอยู่ที่ สคส. ซึ่งเป็นตอนที่เพิ่งได้รู้จักกับ AI – Appreciative Inquiry ภาคทฤษฎีเป็นครั้งแรก จากบทความเรื่อง From Deficit Discourse to Vocabularies of Hope :  The Power of Appreciation ของ James  D.  Ludema

 

๖ ปีผ่านไป มีคุณครูหลายคนในโรงเรียนเพลินพัฒนาสามารถหยิบเอา AI มาใช้เป็นพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้ทั้งของครูและเด็กได้อย่างน่าชื่นใจ

 

หมายเลขบันทึก: 494032เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การสร้างให้เกิดการพัฒนา การสร้างแรงจูง ==> เด็กนักเรียน มีความสุข + เกิดการพัฒนา ทั้งกระบวนการ การเรียนการสอนนะคะ

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้

ขอมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท