มุมมองจากการศึกษาทั้งกายและใจ


การพูดถึงการศึกษา โดยไม่พยายามปรับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก

การได้บวชอยู่ในป่าไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นระยะเวลานานทำให้มุมมองของผมต่อชีวิตเปลี่ยนไปมาก การบวชเป็นโอกาสดีในการได้บ่มเพาะปัญญา สมองได้พัก ได้มีโอกาสไตร่ตรอง ได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะ พระไตรปิฎกภาษาไทย และ ปรัชญา ต่างๆ ในยามค่ำเงียบสงัดท่ามกลางแสงเทียน ผมเข้าใจลึกซึ้งไปทั้งกายทั้งใจว่าการศึกษาคืออะไร เพราะรากศัพท์บาลี ก็คือ สิกขา นั่นเอง

การห่มผ้ากาสาวพัสตร์ และศีล ๒๒๗ เป็นองค์ประกอบทางสภาพแวดล้อม ภิกษุต้องทำตัวให้ดี ชาวบ้านเขาถึงจะมีศรัทธาต่อพระศาสนาใส่บาตรให้ จิตใจเราก็ต้องฝึกให้ดี แผ่เมตตาให้คนและสัตว์ทั้งหลาย ยอมแพ้แก่สรรพสัตว์ แม้มดตัวเล็กๆ หรือยุงที่มารบกวน เรายังต้องหนี ยังไม่นับสัตว์ป่าต่างๆ ภิกษุต้องยอมแพ้ต่อสิ่งเหล่านั้น ไม่งั้นจะเอาชนะกิเลสของตนได้อย่างไร (พวก อลัชชี ห่มเหลืองหากิน นั่นเป็นแค่ภิกษุแต่เพียงภายนอก ไม่ใช่พระ ไม่ใช่ผู้ประเสริฐ)

เมื่อสิ่งแวดล้อมดีแล้ว ก็บ่มเพาะพฤติกรรมให้ดีขึ้นๆ ความนึกคิดก็เป็นไปในทางที่ควร ที่บัณฑิตสรรเสริญว่าถูกต้อง ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ 

ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะ คนส่วนหนึ่ง หรือส่วนมาก ก็ยากจะพัฒนาตัวเขาขึ้นมาได้ การออกบวช เพื่อพัฒนาจิตใจของคน จึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมาแต่โบราณ และให้รางวัลกับชีวิตเป็นอย่างมาก ยังไม่นับผลพวงกับสังคม ที่มีคนดี ที่น่าเคารพออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายท่านมีบทบาทต่อสังคมด้วย เช่น พิทักษ์ป่า ชี้นำท้องถิ่น นอกเหนือจากหน้าที่ปกติคือ ช่วยสั่งสอนทางธรรมแก่ประชาชน แต่ปัจจุบัน คนไทยรุ่นใหม่ เน้นพิธีกรรม สักแต่ว่าผ่านเอาบุญเล็กน้อย คนส่วนมากบวชแค่ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน ยังไม่ทันได้ขัดกิเลศที่เป็นขี้ไคลออกไปเลย

นี้คือตัวอย่างจากที่ผมได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม หรือการศึกษาของนักพรต จากการออกบวชในที่สงัด

ย้อนมาถึงเรื่องการศึกษาในโรงเรียนและสถาบันชั้นสูงบ้าง 

ผมเห็นว่า การพูดถึงการศึกษาของเยาวชนในโรงเรียน โดยไม่พยายามปรับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก 

จะปรับสภาพแวดล้อมของสังคมได้ตรงไหนบ้าง ?

ถ้านักการเมืองส่วนมากในระดับชาติ หรือผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อบต. ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา เห็นแต่ทางทำเงินเพื่อเข้ากระเป๋าตัวเองหรือพวกพ้องเป็นหลัก คนในสังคมนั้นๆ หรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ จะเห็นว่าการศึกษาสำคัญไปได้อย่างไร 

(เรื่อง tablet แจกเด็กของรัฐบาลนี่ ใครเชื่ออย่างจริงใจว่าเป็นการพัฒนาการศึกษาจริงๆ ผมว่าก็คิดตื้นเกินไป ผมมองว่าเป็นแค่การหาเสียง โดยใช้เงินงบประมาณจากหนี้ของคนไทยในอนาคตเป็นประกัน)

ถ้าสังคม เต็มไปด้วยคอรัปชั่น  เจ้าหน้าที่บางส่วนเห็นการรีดไถเป็นเรื่องไม่น่าละอาย ถ้าคนในสังคมเห็นว่า ตนไม่มีหน้าที่กระทำต่อสังคม หรือช่วยสังคมให้ดีขึ้น เห็นแต่ผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ถ้าคนส่วนหนึ่งยังเห็นว่า สมบัติสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ (และฉันแอบขโมยเอาไปใช้ได้) แทนที่จะคิดว่า ฉันก็เป็นเจ้าของ ต้องช่วยกันดู ช่วยทำนุบำรุง เป็นหูเป็นตา ใครจะถือเอาไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้

แบบนี้  ความเลว อธรรม ก็กลายเป็นสิ่งปกติ ดูเหมือนเป็นธรรมดาไปในสังคม

 

ถ้าเวลาแต่ละวันของคนเมืองไม่มีการจัดระเบียบชีวิตใหม่ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียน สูญสิ้นไปวันละหลายชั่วโมงกับรถติด กลับถึงบ้านก็หมดแรง คนในสังคมมีมีแรงกายแรงใจ ไปหาความรู้ได้ที่ไหน จะหาเวลาไปทำงานอุทิสให้สังคมได้ที่ไหน

ถ้าละครน้ำเน่าทางโทรทัศน์ จัดโดยผู้จัดละครที่ชอบทำอะไรเว่อร์ๆ ชอบใส่ความฟุ้งเฟ้อ ใส่ความรุนแรง เน้นความสะใจ ไม่ว่าจะเป็นวจีกรรม (อาทิ ฉากที่ลูกตะโกนใส่หน้าพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แรงผิดธรรมดา) หรือ กายกรรม (นางอิจฉาตบนางเอก ฯลฯ) อันเป็นนิสสัยของคนต่างชาติ ในยุคของ โกลบรรลัยฯ หรือ โลกาภิวัตน์ ก็นำมาซึ่งความฉิบหายทางวัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญา สำหรับเด็กยุคใหม่ที่เรียนรู้อุปนิสัยจากทีวีเป็นหลัก ใครคิดว่าพวกจัดละครไอคิวสูงนักเหรอ ? วจีกรรม กายกรรม มันก็สะท้อนความกักขฬะของ มโนกรรมภายใน

มโนกรรมไม่ดี เพราะกิเลสหนา ทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ เป็น อกุศลจิต ๑๒ เข้าครอบงำเป็นหลัก มหากุศลจิตไม่ค่อยเกิด ปัญญามันจะมีได้อย่างไร ปัญญามีแต่ในมหากุศลจิตเท่านั้น และใน โลกุตตรจิต

(กิเลส ๑๐ ไปเลยก็ได้ครับ ท่องไว้ โล โท โม มา ทิ วิ ฐี อุท อหิ อโน ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฎฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตัปปะ)

 

แล้วทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ก็นั่งดูรายการทีวี ไพรมไทม์เนี่ยนะ (จบปริญญาสูงๆ ก็แยะ) เราเชื่อจริงจังหรือว่า ลัทธิทุนนิยม ที่ฝรั่งพยายามล้างสมองเรา ถูกไปเสียทั้งหมด ไม่มีข้อบกพร่อง คงต้องลองไปดูกองขยะข้างบ้าน คูน้ำเน่าถัดออกไปนั่น ใช้ปัญญาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าไม่จริง

ถ้าแม้การศึกษาระดับอุดมศึกษาของเราก็ยังไม่อุดม แค่เป็นการเรียนวิธีทำมาหากิน ตอบสนองความต้องการชั่วคราวของอุตสาหกรรม (แต่ก็กำลังเปลี่ยนไปทุกขณะ) แต่นิสิตนักศึกษาน้อยคน ที่จะได้พัฒนาความคิดเกี่ยวกับชีวิต มีมุมมองอันลึกซึ้ง ใครส่วนมากจะคิดอยากมีปัญญาบ้าง เรียนเพราะอยากรู้ ส่วนมากก็แค่จะเรียนไปเพื่อจะรีบจบไปหาเงินได้แยะๆ สนองกิเลส เท่านั้น นักศึกษาที่เรียนอยู่กับอาจารย์ ระดับ ดร. เป็นสิบๆ คน ก็ไม่ได้ชื่อว่า "อยู่ใกล้บัณฑิต" แต่อย่างใด (แม้อาจารย์บางคน ก็อาจจะไม่ใช่ บัณฑิตในมุมมองของคนโบราณ) คนที่เรียนจบมาแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตตามความหมายดั้งเดิม ในพระไตรปิฎก หรือที่คนอินเดียในปัจจุบันเรียกขานก็หาได้ไม่ และจะได้ชื่อว่าจบปริญญา คือแปลว่า รู้รอบ ก็ไม่ได้เสียแล้ว

ถ้าเมืองหรือชุมชม ไม่มีแหล่งเรียนรู้ เช่นไม่มีห้องอ่านหนังสือ ไม่มีพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน ไม่มีไร่นาสาธิต ไม่มีกำหนดฟังธรรมเทศนา ไม่มีการบรรยายความรู้ที่เป็นประโยชน์ ไม่มีการรวมกลุ่มของผู้สนใจคล้ายๆกัน เช่น งานศิลป กลุ่มชอบฟังเพลงหรือเล่นดนตรี ฯลฯ มันก็ไม่มีบรรยากาศของการเรียนรู้ 

ถ้าคนในสังคมไม่รู้จักแบ่งปัน ทุกอย่างต้องแลกมาด้วยเงิน ไม่มีของฟรี ความรู้ที่ควรจะให้เปล่าก็หวง คนไม่มีเงินเป็นปัจจัยก็แย่ แทนที่เงินจะเป็นเพียงปัจจัย แต่กลายเป็นสุดปราถนาสุดท้ายของปุถุชนส่วนมาก  

หน่วยงานราชการบางแห่งอาจจะคิดแบบฝรั่ง ตามบริษัทข้ามชาติว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องดี ก็เลยยิ่งงก อยากจะเก็บ ไอพี (intellectual property) เอาไว้เอง แย่งทรัพย์สินทางปัญญากัน แทนที่จะแบ่งปันให้สังคม ทั้งๆ ที่เงิน ก็มาจากงบประมาณ ที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชน และเงินกู้ เป็นส่วนมาก แต่ถ้าปล่อยออกมาเป็น open-source ให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันต่อยอด ช่วยกันแบ่งปัน ท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็ชนะ win-win ทั้งนั้น แต่ก็เปล่า

ปัญญาก็เหมือนเปลวเทียน ถ้ามีแสงเทียน ๑ เล่ม เมื่อเอาไปต่อไฟจุดให้เทียนเล่มอื่นๆ ในที่สุดก็จะมีเทียนส่องสว่างได้อีกนับร้อยๆ ดวง ตามความจำเป็น แต่ถ้าเจ้าของเทียนเล่มแรกใจแคบ เก็บแสงสว่างเอาไว้เองคนเดียว อยากภูมิใจว่าห้องฉันสว่างอยู่คนเดียว ห้องอื่นมืดสนิท ก็น่าระอาใจ 

ปัญญาเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มได้เรื่อยๆ เหมือนบุญ ไม่มีน้อยลง มีแต่เพิ่ม ใครๆ อย่างกไว้เลย และก็ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศภายในสังคมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนของเยาชนถึงจะสัมฤทธิผล

เอ วันนี้ เริ่มเขียนมาก็ไปเรื่อยๆ ทำไมสำนวนแรงขึ้นๆ พอใกล้จะจบ สำนวนผมดูจะเลียนแบบ สดมภ์ ไทยที่ฉะดะ เข้าไปทุกที  :-)

 

หมายเลขบันทึก: 494026เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สิ่งที่จะสะสมจากนี้ก็มีสิ่งนี้สิ่งเดียวค่ะ
  • "ปัญญาเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มได้เรื่อยๆ เหมือนบุญ ไม่มีน้อยลง มีแต่เพิ่ม"
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ให้แง่คิดที่งดงามค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท