หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน (กิจกรรมเสริมพลัง)


การศึกษาเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเช่นนี้ ผมถือว่ามีความสำคัญกับกิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” เป็นอย่างมาก เพราะจัดเป็น “กิจกรรมเสริมพลัง” ที่จะช่วยให้นิสิต-อาจารย์ และชาวบ้านได้รู้จัก “บริบท” ชุมชนแจ่มชัดยิ่งขึ้น ยิ่งหากศึกษาผ่านปากคำของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Historian) ยิ่งจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนในชุมชนได้หวนกลับมาให้ความสำคัญกับ “บุคคลพิเศษ” ในชุมชนตนเอง

การขับเคลื่อนการบริการวิชาการแก่สังคม ตามนโยบายเชิงรุก “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง “บทบาทของสถานศึกษาที่มีต่อชุมชน”  เป็นความพยายามที่จะหยัดยืนเคียงข้างอยู่กับท้องถิ่นและชุมชนอย่างเต็มกำลัง 

 

โครงการการประกอบธุรกิจเลี้ยงปลานิลอย่างครบวงจรชุมชนบ้านหินปูน (ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) สาขาการจัดการการประกอบการ คณะการบัญชีและการจัดการ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งสู่การ “เรียนรู้คู่บริการ”  ลึกลงสู่ครัวเรือน และกลุ่มคนที่รวมกลุ่มในชุมชน  โดยมีดร.อัจฉริยา อิสระไพบูลย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก  ประกอบด้วยวัตถุประสงค์สำคัญๆ คือ (1) รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดำเนินธุรกิจการเลี้ยงปลา  (2) นำเสนอรูปแบบบริหารการจัดการที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  (3) ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและรูปแบบการบริหารการจัดการที่เหมาะสมในการดำเนินงานและสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ

 

 

กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการประชุมร่วมกับแกนนำชุมชน รวมถึงสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555  

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมในระยะของการทำวิจัย (Research Phase)  เพราะเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากระยะก่อนการวิจัย (Pre- Research Phase)  ซึ่งหมายถึงผ่านพ้นกระบวนการของการ “เลือกพื้นที่” มาแล้ว  ดังนั้นการประชุมที่ว่านี้  จึงฉายให้เห็นกระบวนการ หรือวิธีการที่หนุนนำให้ผู้ดำเนินงานโครงการ (มหาวิทยาลัย)  ได้แลกเปลี่ยนความคิดร่วมกับชาวบ้าน (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับท้องถิ่น) อย่างจริงๆ จังๆ เพื่อกำหนดทิศทางของการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจากระยะก่อนการวิจัย

 

 

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองว่าชุมชนบ้านหินปูนมีความน่าสนใจและเหมาะต่อการปักธงสู่การเรียนรู้ในครั้งนี้อยู่หลายประการ  เป็นต้นว่า เป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก  ภายในชุมชนมีการรวมกลุ่มอย่างหลากหลาย  มีพื้นที่สาธารณะให้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างชัดแจ้ง  อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเสมือน “แหล่งเรียนรู้” หรือ “โรงเรียนชุมชน”ในอีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกัน  เนื่องเพราะ ณ ที่ตรงนั้นมีอาคารอันเป็นที่ทำการองค์กรของชุมชนโดยตรง  อีกทั้งอาคารดังกล่าวยังตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้ต้นโตๆ ให้ร่มเงาอันร่มรื่น แมีศาลปู่ตา มีแม่น้ำชีอยู่ใกล้ๆ  

  • สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “ฐานการเรียนรู้” 
  • และเป็น “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ทรงคุณค่า


ในการประชุมครั้งนั้น ได้บทสรุปเกี่ยวกับสภาพปัญหาบางอย่าง  ดังนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับตลาดทางเลือก เพราะการจำหน่ายปลานิลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผูกขาดไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากจนเกินไป 
  • ปัญหาต้นทุนการผลิต อันเกิดจากการไม่สามารถผลิต “อาหารปลา” ได้เอง จึงจำต้องซื้อมาจากองค์กรภายนอก และองค์กรภายนอกก็กลายมาเป็นองค์กรผูกขาดในการรับซื้อปลานิลของชาวบ้าน
  • ปัญหาเรื่องการเลี้ยงปลาทางเลือก  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่คุ้นชินแต่เฉพาะการเลี้ยงปลานิลที่องค์กรภายนอกมาให้ความรู้เพื่อเป็นแหล่งผลิตปลานิลป้อนกลับสู่ตลาดขององค์กรนั้นๆ โดยตรง 
  • ปัญหาโรคระบาดอันเกิดจากมลภาวะทางน้ำ  ส่งผลกระทบให้การเลี้ยงปลานิลในกระชังต้องหยุดชะงัก และขาดทุนย่อยยับ  โดยในบางรายยังฟื้นตัวไม่ได้จนบัดนี้

 

 

แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้ปัญหาที่ถูกสังเคราะห์ร่วมกันนั้น ก็ค้นพบทางออกแบบมีส่วนร่วมอยู่หลายเรื่องด้วยเช่นกัน  เช่น 

  • จัดระบบการบริหารในองค์กรผู้เลี้ยงปลานิลอย่างเป็นระบบ  มีกลไกทางการตลาดที่หลากหลายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา  รวมถึงการป้อนสู่ตลาดในท้องถิ่น หรือชุมชนในละแวกใกล้เคียง
  • คิดค้นกระบวนการผลิตอาหารปลาแบบเกษตรอินทรีย์  โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง
  • เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาทางเลือกเพื่อการบริโภคของคนในท้องถิ่น และตลาดนอกท้องถิ่น
  • ฟื้นฟูภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาและจับปลาแบบดั้งเดิม สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ฯลฯ

 

ครับ-ถึงแม้มติดังกล่าวจะยังดูเป็น “นามธรรม” อยู่มาก แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายได้ร่วมคิด  ร่วมตัดสินใจ (Decision Marking)  ว่าจะดำเนินการเช่นนั้น  ที่เหลือคือกระบวนการของการลงมือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งอาจต้องตระหนักว่าการงานในครั้งนี้ต้อง “ทำไปเรียนรู้ไป” รวมถึงการต้องเชื่อมประสานองค์กร หรือภาคีอื่นๆ เข้ามาหนุนเสริมให้มีพลัง ภายใต้แนวคิดเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participation) อย่างจริงๆจังๆ ร่วมกัน  ซึ่งในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงสถานะจาก “กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิล” ไปสู่การเป็น  “สหกรณ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลาชุมชนหินปูน” ก็เป็นได้

 

 

ภายหลังการประชุมร่วมได้ปิดตัวลง  ในช่วงรอเวลาของการรับประทานอาหารร่วมกัน  ทั้งผมและอาจารย์ ตลอดจนชาวบ้านได้นั่ง “โสเหล่” กันไปเรื่อยๆ  กระทั่งค้นพบประเด็นบางประเด็นที่ผมไม่อาจมองข้ามไปได้  นั่นก็คือเรื่องราวอันเป็น “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ของชุมชนบ้านหินปูน

 

กรณีดังกล่าวนี้ แกนนำชาวบ้าน ได้แจ้งความประสงค์ให้อาจารย์และนิสิตได้ช่วยสร้างกระบวนการในการศึกษาและรวบรวมประวัติศาสตร์หมู่บ้านขึ้นใหม่ เพื่อให้ “ลูกหลาน” ได้เรียนรู้และซึมซับกับรากเหง้าของตนเอง  เพราะเท่าที่มีข้อมูลอยู่ในปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าเลือนรางและไม่เป็นปัจจุบันเท่าที่ควร

 

การศึกษาเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเช่นนี้  ผมถือว่ามีความสำคัญกับกิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” เป็นอย่างมาก  เพราะจัดเป็น “กิจกรรมเสริมพลัง” ที่จะช่วยให้นิสิต-อาจารย์ และชาวบ้านได้รู้จัก “บริบท” ชุมชนแจ่มชัดยิ่งขึ้น  ยิ่งหากศึกษาผ่านปากคำของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Historian) ยิ่งจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนในชุมชนได้หวนกลับมาให้ความสำคัญกับ “บุคคลพิเศษ” ในชุมชนตนเอง  มิหนำซ้ำกระบวนการดังกล่าวยังจะช่วยให้ “บุคคล” นั้นๆ เกิดพลังชีวิตและรู้สึกถึง “คุณค่า” ของตนเองที่มีต่อการสร้างสรรค์สังคมจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน  และพร้อมที่จะส่งมอบ “มรดกทางวัฒนธรรม” ไปยังลูกๆ หลานๆ อีกครั้ง

 

 

เหนือสิ่งอื่นใด  ผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า  หากอาจารย์และชาวบ้าน  สามารถบรรจุกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการการประกอบธุรกิจเลี้ยงปลานิลฯ ได้จริง  โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนที่ดี  ย่อมเกิดเป็นความรู้ที่มีพลัง (Knowledge is Power)  และยกระดับชุมชนสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา (Wisdom-based society)  ได้ในที่สุด

ยิ่งหากสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งปวงไปสู่สายธารประวัติศาสตร์ชุมชนในระบบอาชีพ หรือแม้แต่วิถีประมงของชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบัน  ยิ่งเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่า

ครับ- ถึงแม้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน จะไม่ถูกประกาศเป็นกิจกรรมหลักที่ทุกหลักสูตรต้องนำไปขับเคลื่อนในโครงการฯ ของตัวเองก็เถอะ  แต่ก็ยังเชื่อว่าทุกๆ หลักสูตร หรือทุกๆ โครงการฯ จะไม่มองข้าม หรือละทิ้งกระบวนการที่ว่านี้ -

 

ภาพโดย
พนัส ปรีวาสนา
และคณะทำงาน
โครงการการประกอบธุรกิจเลี้ยงปลานิลอย่างครบวงจรชุมชนบ้านหินปูน

หมายเลขบันทึก: 492972เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เยี่ยมค่ะเพราะสิ่งที่มีในชุมชน ถ้าได้การบริหารจัดการที่ดี ชุมชนก็จะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ และเราก็จะได้เรียนรู้วิถีของชุมชนด้วยเช่นกัน เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

 

รอติดตามนะคะ

สิ่งที่ชุมชน "เรียนรู้" ส่วนใหญ่จะสั่งสมถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก ไม่ค่อยถูกถ่ายทอดออกมาสู่ภายนอก

หากมีทีมนักวิจัยภายนอกช่วยให้คนในชุมชนได้ร่วมวง "โสเหล่" และร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนตามที่ตั้งใจ ตั้งเป้าหมายไว้

พร้อมกับยกระดับความรู้ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป หรือแผยแพร่เป็นวิทยาทานออกมา เพื่อให้ที่อื่นได้เรียนรู้บ้าง

เช่น คนจากอำเภอสระใคร หนองคายคนนี้ จะขอบคุณมาก ๆ นะคะ

ติดตามบันทึกอาจารย์แผ่นดินเสมอค่ะ

กิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ที่ไม่ได้เน้นรูปแบบที่ตายตัว แต่เน้นให้แต่ละสาขาได้ใช้องค์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ประยุกต์ใช้กับบริบททางสังคม ซึ่งผมมองว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้พื้นฐาน เรื่อง "นิเวศวัฒนธรรม" หรือกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นสามารถตั้งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกหลักสูตรสามารถใช้เป็นกิจกรรมหลักในการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนิสิต และต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมร่วมกันได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนครับ.....เป็นกำลังใจให้กิจกรรมเพื่อสังคมดำเนินต่อไปด้วยความราบรื่นครับ..."เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน" ครับ


ขอบมากประวัตฺศาสตร์ชุม ออกค่ายที่ใหนก็จะอยู่ในประเด็นประวัติศาสตร์ชุมชน

สุดยอดนวัตกรรมด้านความคิด ที่พยายามจะนำความรู้ที่จำเป็นและต้องการของคนในชุมชนจริงๆๆ ให้มาได้รับการเรียนรู้ อย่างถูกวิธีการ พร้อมพัฒนาเคลื่อนไหว ไปตามยุคโลกาภิวัตน์เพื่อการทันยุคกับการที่โลกเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าหากชาวบ้านมอยู่ดีกินดี ด้วยการที่ชาวบ้านได้เรียนรู้พัฒนาเสรมเพิ่มเติมเนื่องจากมีผู้รู้ มีประสบการณ์มาสนับสนุน แนะนำแนะแนว จะทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความเข้มแข็งขึ้น และจะดีมาก ฉะนั้นถ้าหากว่าอาจารย์แผ่นดินนำนักศึกษาแต่ละรุ่น ออกไปแบบนี้ ไปในท้องถิ่นที่ครึ่งๆๆกลางๆ คือกำลังจะเจริญ แต่คิดไม่ออก จะทำอย่างไร จะทำให้ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวความคิด ที่นักศึกษาหรืออาจารย์ได้แสดงออกมา ที่เรียกว่า คิดออกนะคะ คงจะได้ความคิดเพิ่มขึ้นนะคะ สุดยอดบทความที่ได้รับรางวัลนะคะ

พี่สุอ่านหมดแล้ว ชอบตรงนี้คะ 

 การขับเคลื่อนการบริการวิชาการแก่สังคม ตามนโยบายเชิงรุก “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง “บทบาทของสถานศึกษาที่มีต่อชุมชน”  เป็นความพยายามที่จะหยัดยืนเคียงข้างอยู่กับท้องถิ่นและชุมชนอย่างเต็มกำลัง 

พี่สุคิดว่า ถ้าหากว่าสถานศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย ถ้าให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมได้เข้าไปศึกษาวิเคราะห์ วิจัยท้องถิ่นในชุมชน เพื่อการนำมาพัฒนาท้องถิ่น โดยสำรวจหาจุดเด่นจุดด้อยได้แล้ว แล้วนำมาแก้ปัญหา เพื่อความเจริญ กินดี อยู่ดี

นี่แหละคะ ที่พี่สุเรียนสาขาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อกี้นี้ ตอนแรกเรียนเพื่อจะเพิ่มดีกรีให้ตนเอง เพราะคิดว่าแก่แล้ว เรียนแล้วก็อยู่บ้านเป็นแม่ค้า ทำธุรกิจอิสระของตนเองเฉยๆๆ แต่พอได้เรียนจริงๆๆแล้ว พี่สุมีความคิดว่า อยากจะจับผู้นำชุมชนรุ่นเก่าๆๆ ที่ความรู้ ป.4 ป.6 หรือมัธยม มาเรียนแบบพี่สุอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ปริญญาแล้ว ยังได้ความรู้ที่เหมาะกับยุคโลกาภิวัตน์ เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงมากเลย เดี๋ยวนี้พี่สุไปคุยกับใคร กับนักศึกษารุ่นใหม่ พี่สุก็ไปกับเขาได้ คือเขาพูดอะไรมา สื่อสารกันรู้เรื่อง หัวไม่แข็ง

พี่สุอยากให้อาจารย์ท่านอื่นๆๆ มหาวิทยาลัยอื่นๆๆ ลองนำตัวอย่างแบบนี้ไปทำกับท้องถิ่นตน เพื่อการพัฒนา คงจะไม่เสียเวลานะคะ เพราะเป็นการสอนแบบถึงรากถึงโคนจริงๆๆคะ พี่สุมีเวลาไม่มาก แต่ผ่านเห็นเรื่องอื่นๆๆของอาจารย์น่าสนใจทั้งนั้น แต่พี่สุให้ความเห็นไม่หมดหรอกคะ ขอบคุณมากนะคะ ที่พี่สุตอบนี่ ก็พิมพ์ออกมาเดี๋ยวนั้นเลย ภาษาอาจจะต้องทำความเข้าใจ ความคิดอาจจะคลาดเคลื่อนคะ ขอบคุณนะคะ

อาจารย์ ลบ อันบนด้วยนะคะ เอาอันนี้คะ อันนี้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท