การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: อีสานตอนบน_02: KM โรงเรียนศูนย์ฯ


กิจกรรมในวันที่ 6 เป็น KM เต็มรูปแบบ มุ่งสกัด "ปัญญาปฏิบัติ" จากผู้อำนวยการจากโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ 6 แห่งในเขตพื้นที่อีสานตอนบน ได้แก่ ผอ.ระวี ขุณิกากรณ์ จากเชียงขวัญพิทยาคม ว่าที่ ร.ต. วัฒนชัย ศาลารัตน์ จากโพนทองวิทยายน ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ จากเทศบาลวัดป่าเรไร รองผอ.เกตน์สินี โกมลไสย จากโรงเรียนสนามบิน รองผอ.ลัสดา ทองคำ จากโรงเรียนกัลยาณวัตร และ ผอ.สวัสดิ์ มะลาหอม จากโรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพ 206

ในมุมมองส่วนตัวของผมแต่ละ โรงเรียนศูนย์มี "ปัญญาปฏิบัติ" ที่เราสามารถเรียนลัดเอาไปใช้ได้เลยดังนี้ครับ...... แต่นี่เป็นเพียงการสกัดจากการเล่าเรื่องของผู้อำนวยการโรงเรียนในเวลาที่ จำกัดมาก จึงแน่นอนว่าไม่ครบถ้วน และบางทีผมอาจ "ฟังผิด" ก็เป็นได้.......เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อนะครับ....

โพนทองวิทยายน อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด

      จุดเด่นของโพนทองฯ คือ "กิจกรรม" หรือ การบูรณาการ ปศพพ. เข้ากับทุกกิจกรรม ไม่เฉพาะกิจกรรมพัฒนานักเรียน แต่รวมถึงกิจกรรมของครู ไม่เฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอน (เช่นโครงงาน ฯลฯ) แต่รวมถึงกิจกรรมประจำปีที่ทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม และกิจกรรมเชิงรุกเพื่อมุ่งพัฒนา จรรโลง หรือปลูกฝังจากภายในของใจนักเรียน......ผมชอบคำที่ท่านพูดว่า "ทุกกิจกรรมจะต้องเชื่อมโยงและยึดโยงกับ ปศพพ. และมีเป้าหมายที่ชัดเจน และทำอย่างต่อเนื่อง..."

เชียงขวัญพิทยาคม อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด

      จุดเด่นที่ประทับใจผมที่สุดของเชียงขวัญคือ "กระบวนการ" โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ ที่สามารถทำให้นักเรียน รู้และเข้าใจและสามารถขับเคลื่อน ปศพพ. ให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนได้อย่างเป็นธรรมชาติและ "มีความสุข" เป็นกระบวนการที่ "ไร้รูปแบบ" แต่ "มีรูปแบบ" เป็นกระบวนการที่ "ไม่ตายตัว" แต่เหมาะสมกับ "ตัวตนและบริบท" ของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ที่เชียงขวัญ "เด่น" และ "เน้น" ว่าดีและอยากให้ทุกโรงเรียนที่กำลังพัฒนาให้นักเรียนมี "อุปนิสัยพอเพียง" นำไปใช้นำไปทำคือ "การถอดบทเรียน"......ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ" ผมจะมาเขียนเกี่ยวกับการถอดบทเรียนของเชียงขวัญนี้อีกครั้งหลังจาก "ค่ายอบรมเข้มครูฟา" เร็วๆ นี้ครับ 

      กระบวนการที่เชียงขวัญทำ ผมคิดว่าก็คือ PLC ในบริบทไทย หรือ TPLC แน่ๆ ครับ นั่นหมายถึง ครูที่นั่นก็คือครูเพื่อศิษย์ นั่นเอง  มีอีกอย่างที่เชียงขวัญเด่นคือ "การพัฒนาหลักสูตร" แต่ผมเองยังต้องเรียนรู้อีกมาก แล้วจะบันทึกใหม่นะครับ

โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร เทศบาลเมือง จ.ร้อยเอ็ด

     พอฟังเรื่องเล่าจากโพนทองฯ และเชียงขวัญฯ ผมประทับใจและศรัทธาในตัวผู้อำนวยการทั้งสองท่านกับผลงานที่ท่านได้ทำแล้ว ให้เห็น....แต่พอมาฟังเรื่องเล่าจากเทศบาลวัดป่าฯ.... ผมไม่มั่นใจจริงๆ ครับว่า ถ้าผอ.ทั้งสองท่าน มาเจอกับบริบทแบบวัดป่าเรไร จะสามารถทำได้เหมือน ผอ. ธนิตา จากวัดป่าฯ หรือไม่....

     จุดเด่นของที่นี่คือ "การปฏิบัติ" ชวนให้ทำ ทำให้ดู ผอ.เป็นครูพาลงมือทำ ผมดีใจที่ได้รู้จักกับ "ข้าราชการของในหลวง" ครับ วันหลังผมจะมาเขียนถึงทั้งกิจกรรมและกระบวนการที่ท่านทำอีกแน่ครับ

โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น

    จุดเด่นของกัลยาณวัตรคือ "วิธีการ" วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป ใช้ความต่อเนื่องและการ "ซึมซับ" ไปทุกวันๆ กัลยาณวัตรเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า โรงเรียนที่เป็นศูนย์เรียนรู้ ปศพพ. ไม่จำเป็นต้องเน้นการเรียนรู้ด้านการเกษตร บริบทแบบในเมืองของกัลยาณวัตรก็มีสามารถพัฒนานักเรียนให้มี "อุปนิสัยพอเพียง" ได้เช่นกัน...... ผมขอติดตรงนี้ไว้ในรายละเอียด...ผมวางแผนจะไปเยี่ยมกัลยาณวัตรเร็วๆ นี้...จะมีบันทึกอีกทีครับ

โรงเรียนสนามบิน

    จุดเด่นของสนามบินคือ "การบูรณาการ" ผมฟังว่า ที่สนามบินบูรณาการทุกอย่างกับ ปศพพ. ทั้งชีวิต กิจกรรม นำลงสู่ทุกวิชาต้องบูรณาการ ปศพพ.  ผมได้ฟังนักวิจัยจากที่อื่นสะท้อนว่า วิธีการนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก แต่การที่สนามบินผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ ก็ประจักษ์แล้วว่า ที่นี่ทำได้ผล...... ผมต้องรีบไปดูให้เห็นและไปค้นหาว่าอะไรที่ทำให้ท่านสามารถทำได้สำเร็จ.....

โรงเรียนชุมชนห้วยค้อมิตรภาพ 206

     จุดเด่นของที่คือ "ท่าน ผอ." ท่านพูดและเล่าเรื่องให้ฟังยังไม่ละเอียดนัก แต่ทุกครั้งที่ท่านพูด  ผมรับรู้ได้ด้วยทักษะการฟังที่มีอยู่  ผมมั่นใจจนรู้ว่า สิ่งที่ท่านพูดเกิดจาก "การระเบิดภายใน" จากตัวท่านจริงๆ... หากเปรียบกับลำดับขั้นความต้องการ 5 ขั้นของมัสโลว์ (Maslow's hierachy of needs)  ผมคิดว่าท่านอยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว..... เมื่อได้ไปเยี่ยมชมและเรียนรู้มากขึ้น  จะสกัดเอา "ปัญญาปฏิบัติ" ขอ " ข้าราชรัฐ" หรือ ข้าราชการของในหลวงต่อไปครับ

ขอบคุณ ดร.วิทยา (ผอ.สำนักศึกษาทั่วไป) ดร.เจือจันทร์ คุณหมอวิจารณ์ ครูใหญ่วิเชียร อาจารย์ศศินีย์ พี่เปา..... ที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานเป็น "พนักงานของในหลวง" เช่นนี้ครับ

อ.ต๋อย

ป.ล. วันนี้ขอติด "ปัญญาปฏิบัติ" ของนักปฏิบัติแต่ละท่านที่เกริ่นไว้ในวันนี้ ไว้ก่อนนะครับ

หมายเลขบันทึก: 492965เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท