ทฤษฎีนวัตกรรม


ทฤษฎีนวัตกรรม

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า นวัตกรรม มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรมมีรากศัพท์มาจากคำว่า innovate ในภาษา  ลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา  ซึ่งมีทฤษฎีอธิบายวิวัฒนาการของนวัตกรรมไว้ดังนี้  คือ  ก่อนปี 1960 ทฤษฎีนวัตกรรมเป็นแบบแนววิศวกรรม (the engineering theory of innovation) ทฤษฎีนี้เห็นว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขึ้นอยู่กับความสามารถในทางวิศวกรรมของนักวิจัย,วิศวกร, นักวิทยาศาสตร์ ตัวแปรที่มีผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อมาปี 1960 -1970  ทฤษฎีนวัตกรรมในแนวการตลาด (the market theory of innovation) ริเริ่มในปี 1960 เป็นต้นมา ทฤษฎีนี้เชื่อว่า ความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเกิดจาก ข้อมูลการตลาด มากกว่าการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรม การตลาดทำหน้าที่กำหนดทิศทาง (market pull) ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม  ความสำเร็จทางวิศวกรรม จะไม่มีค่าในทางการค้าเลย ถ้าตลาดไม่ยอมรับ ปี 1970 - 1980 ทฤษฎีนวัตกรรมห่วงโซ่ความสัมพันธ์ (the chain link theories of innovation) เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการของตลาด และความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ได้มีลักษณะตรงไปตรงมา มีกลไกสลับซับซ้อน ปลายทศวรรษ 1980 - 1990 ทฤษฎีนวัตกรรมในแนวเครือข่ายเทคโนโลยี (the technology network theory of innovation)  ถูกพัฒนาภายใต้ชื่อ “ระบบนวัตกรรม” ทฤษฎีนี้ อธิบายว่า นวัตกรรมเกิดจากการผสมผสานระหว่างทุนที่จับต้องกับทุนที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งช่วยให้องค์การมีขีดความสามารถในการดูดซับข้อมูลทางนวัตกรรมเพิ่มสูงขึ้น แนวคิดทฤษฎีนวัตกรรม ในช่วงปี 1990 – ปัจจุบัน จะพบว่าได้เกิดแนวคิด ทฤษฎีนวัตกรรมในแนวเครือข่ายทางสังคม  (the social network theory of innovation) โดยมีการเสนอแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ไปสู่สังคมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย โดยการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร ทำให้เกิดการแพร่กระจายความรู้ในหลากหลายสาขาอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  (ปริวรรต สมนึก.  2553 : 13-14)

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในยุคนี้มีองค์ความรู้เป็นฐานสำคัญ และต้องการความสามารถในการนำนวัตกรรมที่มีอยู่หลากหลายไปใช้ประโยชน์ การคิดค้นนวัตกรรมไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้ความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่ โดยอาศัยเครือข่ายสังคม นวัตกรรมและการเรียนรู้  จึงถือเป็นยุคการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานความรู้ และการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม (Innovator) จะต้องนำทรัพยากรมาใช้อย่างมีการสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งใหม่  นอกจากนี้ แนวคิดนวัตกรรม จะมีความสัมพันธ์กับการคิดค้นสิ่งใหม่แล้ว นวัตกรรมยังมีความสัมพันธ์กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และการสร้างสังคมการเรียนรู้ ขบวนการสร้างความรู้ โดยที่ผู้คิดค้นนวัตกรรม (Innovator) ต้องมีคุณสมบัติ มีความสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) จะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและการบริการ ตลอดจนโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ และขบวนการใหม่เข้าสู่ตลาดอยู่เสมอๆ และเป็นความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น

ปริวรรต สมนึก.  "ทุนทางสังคม" (social capital) ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเป็นEntrepreneur และ Innovator ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว.  Journal of Liberal Arts, Ubon Ratchathani University.  วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2553  แม็กซ์พริ้นติ้ง.

 

คำสำคัญ (Tags): #ทฤษฎีนวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 492962เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท