กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๗) : หัวใจนักปราชญ์ฉลาดเรียน



แม้ คุณครูตั๊ก – รัตดารา มกรมณี จะเป็นครูมาหลายปีแล้วก็ตาม  แต่ทุกครั้งที่เปิดภาคเรียนครูครูตั๊กก็มักจะมีความรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้พบกับเด็กๆ อยากสอน อยากเห็นเด็กๆ มีความสุขกับการเรียนที่คุณครูได้เตรียมการสอนไว้เสมอ  และความรู้สึกเหล่านี้ก็ปรากฎขึ้นในใจทุกครั้งไป 

 

ปีนี้คุณครูตั๊กได้รับมอบหมายให้สอนระดับชั้น ๓ เหมือนเดิม  แต่ก็อดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้สัมผัสใกล้ชิดมาก่อน เป็นแต่เพียงแค่เดินผ่านไปมา ทักทายกันบ้างมาตลอด ๒ ปี  จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากเป็น ๒ เท่า  พร้อมกันนั้นก็ตั้งใจเอาไว้ว่าเราทั้ง ๒ ฝ่ายต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้เร็วที่สุด 

 

การเรียนการสอนในสัปดาห์แรก  ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากครูเองก็ไม่เคยได้รู้จักเด็ก  การจัดการเรียนการสอนเป็นไปได้ช้ากว่าแผนที่วางไว้  คงเพราะเราประเมินการเรียนรู้ของเด็กผิดไป  เอ้า..ไม่เป็นไร  เริ่มใหม่ก็ได้  เมื่อคิดได้ดังนี้จึงเริ่มทำการจัดปรับแผนการสอนใหม่อีกครั้งให้เนื้อหาและกิจกรรมชัดเจนและละเอียดรอบคอบมากขึ้น...แต่การเรียนรู้ของห้องก็เป็นไปได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้อยู่ดี

 

“เอ....เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่นะ”  คำถามนี้ผุดขึ้นมาในสมองบ่อยครั้ง

 

ในวันที่ลงมือเขียนบันทึกนี้ก็เช่นเดียวกัน...โดยเนื้อหาที่จะสอน คือ เรื่อง ไตรยางค์หรืออักษร ๓ หมู่  เริ่มด้วยครูพาเด็กนักเรียนท่องบทอาขยาน “ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้” เพื่อนำเด็กๆ เข้าสู่ภาวะพร้อมเรียน จากนั้นครูก็แจกโจทย์สถานการณ์โดย แจกบัตรพยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัว แล้วให้เด็กๆ  ชวนกันจัดกลุ่มพยัญชนะทั้งหมดให้ง่ายต่อการจำให้มากที่สุด  พร้อมให้เหตุผลประกอบ ซึ่งต้องคำนึงถึงความรู้จากการทำงานกลุ่มที่ได้รับจากการเรียนเรื่องปฏิบัติการสายลับจิ๋วในชั่วโมงที่ผ่านมาด้วย

 

“นี่ๆ เราว่าเรียงตามสีที่เค้าพิมพ์ไว้ดีกว่า”

 

“ไม่ดีหรอกนะมันมีตั้งหลายสีเกินไป  จำยากออก”  เสียงถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันในกลุ่มค่อย ๆ  เริ่มดังขึ้น 

 

“เอางี้สิ  จัดตามเสียงที่ออกเสียงเหมือนกันซิ  เช่น ข ฃ อยู่ด้วยกัน  ค ฅ ฆ อยู่ด้วยกัน”

 

“อืม...  ดีๆ  เอาเลยช่วยกันทำนะ”  แล้วบัตรพยัญชนะก็กระจายเต็มห้อง 

 

“โห...เยอะเกิน มีตั้งหลายกลุ่ม จำไม่ได้หรอก...เราว่าเรียงตามอักษรสูงกลางต่ำ ที่เคยเรียนตอนป. ๒ ดีกว่า”

 

“ดีๆ... แต่เราจำไม่ได้  ใครจำได้ก็มาช่วยกันนะ” 

 

“ อักษรสูง  ฉันฝากถือขวดใส่ผึ้งให้เศรษฐี    ส่วนอักษรกลางก็ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งไง ที่เหลือก็ต่ำนะ”

 

“เสร็จแล้วค่ะครูตั๊ก พวกเราแบ่งตามอักษรสูง  กลาง  ต่ำค่ะ”

 

“ไหน...อธิบายให้ครูฟังหน่อยทำไมจึงแบ่งแบบนี้”

 

...เงียบ...

 

“เอ้า...ใครก็ได้อธิบายให้ครูฟังหน่อย” 

 

แล้วก็มีเสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหนึ่งพูดขึ้นว่า “ก็แบ่งตามนี้แหละค่ะ  เคยเรียนมาว่าพยัญชนะไทยแบ่งได้ เป็นอักษร ๓ หมู่ค่ะ  สูง  กลาง  ต่ำ ....”

 

“แล้วมันสูงกลางต่ำยังไงคะ ...อธิบายให้ชัดอีกนิด” ครูตั๊กถาม

 

...เงียบ...

 

“ก็เสียงมัน  สูง  กลาง ต่ำ อ่ะค่ะครูตั๊ก”  

 

“อะไรสูง  อะไรต่ำ  ยังไงคะ  ครูว่าบัตรคำ และตัวอักษรพวกนี้ครูเขียนเท่ากันทุกตัวเลยนะ  ไม่เห็นว่าความสูงของอักษรตัวไหนจะแตกต่างกันเลย”  ครูตั๊กถามต่อ แล้วความเงียบเกิดขึ้นอีกครั้ง

 

แล้วก็มีเสียงบางเสียงอธิบายว่าเกิดจากลักษณะการออกเสียง  การเรียนการสอนจึงดำเนินต่อไปได้จนจบ  กิจกรรมสุดท้ายคือเด็กๆ ต้องตอบว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้มีอะไรบ้าง 

       

คราวนี้ความเงียบก่อตัวอีกครั้ง  ไม่มีใครตอบอะไรเลย  ทำให้ครูชักจะไปต่อไม่ถูก  จนกระทั่งหมดเวลาเด็กๆ สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ๑ ข้อ คือ   เรียนให้รู้จักอักษร ๓ หมู่

 

บ่ายวันนั้นครูตั๊กจึงปรึกษากับครูเกตุซึ่งเป็นคุณครูประจำชั้นเกิดอะไรขึ้น ทำไมคาบที่ผ่านเด็กๆ  ถึงไม่ยอมตอบคำถามเลย 

 

เมื่อมาพบกันในชั่วโมงต่อไป ครูตั๊กเริ่มด้วยการพูดคุยกับทุกคนว่าวันนี้ครูยังไม่สอน  เราต้องมาคุยกันหน่อยแล้วว่าเพราะอะไรพวกเราจึงไม่ยอมตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ  ถ้าเป็นอย่างนี้ ครูจะไม่ทราบเลยว่าเด็กๆ  เข้าใจบทเรียนแค่ไหน ครูตั๊กขอเหตุผลคนละ ๑  ข้อจากทุกคนค่ะ

 

หลังจากที่ได้รับฟังเหตุผลของเด็กๆ แล้วก็สรุปประมวลออกมาได้ว่า บางคนยังไม่เข้าใจเนื้อหาดีนักทำให้ไม่กล้าที่จะตอบ   ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่อยากตอบ เพราะรู้ว่าถ้าตอบเยอะก็ต้องจดคำตอบลงในสมุดเยอะตามไปด้วย  คำตอบในข้อหลังข้อนี้คือว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าปัญหาใหญ่ข้อแรก  เพราะการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการเรียนรู้  การจดบันทึก  และการนำเสนอความคิด  เป็นเรื่องสำคัญหากขาดแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้แล้วก็ถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นนักเรียนรู้กันเลยทีเดียว  ด้วยเหตุนี้โครงการนักปราชญ์ประจำห้องจึงเกิดขึ้น

 

นักปราชญ์คือผู้ที่ประกอบไปด้วยคุณสมบัติทั้ง  ๔  ประการ คือ สุ จิ ปุ ลิ

 

สุ. สุตะ หมายถึง การฟัง นักปราชญ์จะต้องมีลักษณะของผู้ฟังที่ดี คือ ฟังอย่างตั้งใจและมีสมาธิในการฟัง  จับแก่นเรื่องราวและรายละเอียดของเรื่องที่ฟังได้   

 

จิ. จิตตะ หมายถึง หมั่นคิด ศึกษา คิดค้น ไตร่ตรอง ประมวลสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้

 

ปุ. ปุจฉา หมายถึง หมั่นถาม สิ่งที่สงสัย จนรู้แจ้ง รวมถึงการแสดงความคิดเห็น ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความรู้ความคิดใหม่ๆ

 

และสุดท้าย ลิ. ลิขิต หมายถึง หมั่นเขียน หมั่นจดบันทึก เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ สรุปบทเรียน และเป็นเครื่องเตือนความจำ  รวมถึงการจดบันทึกด้วยลายมือที่สวยงาม สะอาด เป็นระเบียบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของตัวเอง

 

หัวใจนักปราชญ์จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อนักเรียนทุกคน เพราะถ้านักเรียนมีลักษณะดังนี้ ย่อมหมายถึงการเป็นผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งดงาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  เป็นคนเก่ง คนดี และเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้ และสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญการจะสร้างนักปราชญ์นั้นไม่สามารถกระทำได้ภายในวันเดียว  แต่ถ้าเราพยายามความเป็นนักปราชญ์ย่อมต้องเกิดขึ้นกับทุกคนได้แน่นอน

 

หลังจากนั้นหลายคนเริ่มแสดงความคิดเห็น  เริ่มยกมือตอบคำถาม เพราะต่างก็อยากจะเป็นนักปราชญ์ประจำห้องกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่กับคนที่เด็กค่อนข้างเก็บตัว  ก็เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น  แม้ว่าจะยังตอบสั้นๆ ด้วยเสียงเบาๆ  

 

เรื่องที่น่าชื่นใจต่อจากนั้นคือ หลังจากที่เด็กๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว  พวกเขาก็ขะมักเขม้นจดสิ่งที่ได้เรียนรู้ลงในสมุดด้วยลายมือที่ประณีต  สวยงาม  โดยไม่มีเสียงบ่นตามมาว่าขี้เกียจเขียนอีกแล้ว

 

    

หมายเลขบันทึก: 492065เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท