Think beyond success


Think beyond success
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงษ์ศักดิ์
18 มิ.ย. 55 13.00-16.00 น.
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

    วันนี้ขอทำหน้าที่เป็นคุณลิขิตอีกสักครั้ง เนื่องจากเนื้อหาที่วิทยากรท่านนี้มาบรรยายที่วิทยาเขตปัตตานี เป็นความคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัย  ผมอยากจะเขียนอย่างละเอียดไปตามลำดับที่ท่านพูด  แต่ด้วยเวลาอันจำกัด ผมจะเขียนเริ่มต้นแบบย่อความก่อน แล้วจะค่อยลงรายละเอียดในแต่ละประเด็นต่อไป  ขอย้ำว่าผมเป็นเพียงคุณลิขิตเท่านั้น ความคิดทั้งหมดเป็นของท่าน ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงษ์ศักดิ์  แต่หากเกิดความผิดพลาดผมขอรับเพียงคนเดียวครับ เพราะอาจจะเกิดจากการเข้าใจผิดในเนื้อหาและถ่ายทอดออกไปไม่ถูกต้องครับ

      เริ่มแรกท่านเน้นถึงความสำคัญของความรู้ เพราะคนเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ตรงที่สามารถใช้ความรู้มาพัฒนาการอยู่รอดของตนเองและกลุ่ม  องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นและสั่งสมกันมา ทำให้มนุษย์มีพลังเกินมนุษย์  สังคมใดใช้ฐานความรู้จึงได้เปรียบ  ถ้าใช้ความรู้ในทางบวกก็จะเกิดการพัฒนา  ถ้าใช้ความรู้ในทางลบก็จะเกิดการทำลาย
      มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนเด็กให้มีอาชีพ  แต่มหาวิทยาลัยต้องสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรมในการออกไปพัฒนาประเทศชาติ
      สังคมมนุษญ์ มี 3 มิติ  คือเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง  ถ้าทั้ง 3 มิติเจริญรุ่งเรือง มนุษย์ก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า อารยธรรมขณะเดียวกันถ้ามิติใดอ่อนด้อย ประเทศนั้น สังคมนั้นก็จะอ่อนแอ
      มอ.ปัตตานี จึงต้องให้เป็นสถาบันความรู้ที่จะทำให้ 3 มิติดังกล่าวดียิ่งๆ ขึ้นไป
      จากสถิติ สังคมไทยวันนี้ เชื่อว่าเด็กติดยาเสพติดมากที่สุดในโลก  เพราะมีผู้ติดคุกในคดียาเสพติดประมาณ 240,000 คน  ซึ่งในจำนวนนั้นประมาณ 70% เป็นเด็ก  และเป็นที่รู้กันว่าผู้เสพไม่ต้องติดคุกเพราะเป็นผู้ป่วย แต่คนที่ติดคุกคือผู้ค้า  จึงเท่ากับมีเด็กค้ายาเสพติดประมาณ 168,000 คน  หากเทียบจากที่ตำรวจสามารถจับได้และดำเนินคดีถึงที่สุดได้ประมาณ 1 %  แสดงว่าจะมีเด็กค้ายาเสพติดประมาณเกือบๆ 17 ล้านคน ใช่หรือไม่
      มิติด้านสังคม เชื่อว่านักการเมืองทุกคน ผ่านการเรียนในระดับปริญญาตรี ผ่านมหาวิทยาลัยมาทุกคน  แต่คุณภาพของนักการเมืองที่ดีมีน้อยมาก  แสดงว่ามหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ประมาณ200 แห่ง ผลิตคนที่ออกไปเป็นผู้นำที่ยังใช้ไม่ได้
      มิติด้านเศรษฐกิจ พบว่าคนรวย - คนจน ห่างกันประมาณ 12 เท่า  ถ้านับคนรวยที่สุด 1% กับคนจนที่สุด 1%  จะห่างกันประมาณหลายร้อยเท่า   หรือหากจะดูบัญชีเงินฝากที่มีเงินเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งมีเพียงประมาณ 10,000 บัญชี  และหากดูจากประชากรประมาณ 8-9 ล้านคน ที่ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน  ใน USA คนรวย 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 93 %  ใน กทม. มีสลัมประมาณ 1012 แห่ง
      มิติด้านการเมือง  โดยปกตินักการเมืองเป็นผู้เสียสละ  แต่ไฉนในเมืองไทยกลายเป็นนักการเมืองอาชีพ  นักการเมืองส่วนใหญ่จะไปโกงเงินจากภาษีประชาชน  จึงทำให้ได้นักการเมืองที่คุณภาพแย่ที่สุด  หากไปย้อนดูสมาชิกพรรคการเมือง พบว่านักการเมืองส่วนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขและอาชีพที่ไม่พึงประสงค์  แถมบางสถาบันยังยกย่องให้ปริญญากิติมศักดิ์ด้วย เป็นการยกย่องคนเพราะมีตำแหน่ง หาได้ยกย่องเพราะมีคุณธรรม จริยธรรม
     โดยปกติ มนุษย์จะนับถือและเชื่อฟังการสั่งสอนจาก  1)พ่อแม่  2) ครู และ 3) ศาสนา ตามลำดับ  งานที่หนักจึงตกกับคนที่ปั้นมนุษย์  การที่มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตจึงไม่ควรวัดเฉพาะ Output ว่าผลิตได้กี่คน กี่สาขา แต่ควรจะวัด Outcome
     การพูดถึง Think beyond success  จึงเป็นพูดถึงการผลิตคนที่วัด Outcome ด้วย

      มหาวิทยาลัยในอนาคต จึงต้องสร้าง 9 นวัตกรรมดังต่อไปนี้ (จะลงรายละเอียดในโอกาสต่อไป  โดยขอให้คลิกเข้าไปดูในลิงค์ครับ)
       1) นวัตกรรมความเป็นนานาชาติ
       2) นวัตกรรมในการหาจุดแกร่งของตนเองให้เจอ
       3) นวัตกรรมในการหาทุน
       4) นวัตกรรมในการหาผู้สอน
       5) นวัตกรรมในการหาผู้เรียน
       6) นวัตกรรมในการจัดการ
       7) นวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
       8) นวัตกรรมด้านหลักสูตร
       9) นวัตกรรมในการหาคู่ความร่วมมือ

      นอกจากการบรรยายของวิทยากรแล้ว  ผู้ร่วมรับฟังยังได้ตั้งคำถาม ดังนี้
      ศ.ดร.ครองชัย หัตถา  จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ได้อภิปรายว่า เพราะว่า มหาวิทยาลัยถูกฝากให้ดูแลรากหญ้า ต้องเปิดในสาขาที่สังคมฝากให้ดูแลพิเศษ   ตลอดจนการเปิดในสาขาที่หาเงินไม่ได้  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยหรือไม่  ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์ ตอบว่า  การได้รับมอบหมายให้ดูแลดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ที่สำคัญมหาวิทยาลัยต้องมีหัวขบวนที่มีวิสัยทัศน์ในการนำองค์กร  เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกสถาบันขึ้นสู่ระดับ Top ของโลกได้ทุกสถาบัน  แต่อยากเห็นมหาวิทยาลัยขึ้นสู่ Top 20 สัก หนึ่งมหาวิทยาลัย  แล้วมหาวิทยาลัยที่เหลือก็จะไล่ตามกันไปเอง  เช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยม จากจำนวนโรงเรียนประมาณ 4-5 หมื่นโรงเรียน มีโรงเรียนที่เด็กอยากเรียนเพียง 473 โงเท่านั้น  ทำอย่างไรที่จะให้โรงเรียนที่เหลือเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น เป็นต้น  การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเวียนในปี 2558  จึงต้องให้ทุกคนรับรู้ เพื่อเข้าสู่สนามการแข่งขัน  การผลิตเพื่อ Output โดยมาตรฐานต่ำลง เพื่อปริมาณที่มากขึ้นจึงไม่ถูกต้อง
      รศ.ดร.สุกรี  จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถามว่า 1) ความเป็นไทย-นวัตกรรม มีจุดร่วมกันที่ตรงไหน ? 2) ทำอย่างไรที่จะให้ศูนย์กลางของอำนาจยอมรับการเปลี่ยนแปลง?  ดร.เกรียงศักดิ์ ตอบว่า บางอย่างเรื่องไทยๆ ดีอยู่แล้ว  แต่ต้องนำนวัตกรรมมาเปลี่ยนแปลงให้ได้  แต่สำหรับนักการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจ ส่วนมากจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่มีใครกล้าว่า กล้าแนะนำ มหาวิทยาลัยจึงต้องรวมตัวกันเพื่อกำหนดนโยบาย  ผู้นำต้องกล้านำในฐานะหัวขบวนและต้องแสดงความเป็นปัญญาชน

หมายเลขบันทึก: 491660เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท