ชีวิตของน้องเพิก ตัวตนคนรุ่นใหม่กับเกษตรกรรมยั่งยืน


ภาพของพ่อ แม่และเพิก ทำงานที่บ้านด้วยกันอย่างอบอุ่น ทุกคนยังอยู่พร้อมหน้ากัน เป็นครอบครัว ยามเหนื่อยเราพักผ่อน แดดร่มลมตก เราออกมาดายหญ้า ปลูกผัก เป็นวิถีที่เพิกบอกว่า เขาและครอบครัวมีความสุขมาก

"ผมต้องทนตอบคำถามจากเพื่อนบ้าน ว่าเรียนจากในเมืองแล้วมาทำเกษตรทำไม?"

เป็นคำพูดประโยคหนึ่งที่น้องเพิก เกษตรกรปริญญาแห่งบ้านแม่ทาเจอกับตัวเองหลังจากที่กลับมาบ้าน 

 

น้องเพิกเกษตรกรปริญญา คนด้านขวามือ เสื้อแขนสั้น 

 

เพิกเรียนจบระดับอุดมศึกษาจาก ในเมืองเชียงใหม่  ธรรดาความใฝ่ฝันของเด็กหนุ่มที่ก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษากระแสหลัก ต้องการทำงานในเมือง มีเงินจุนเจือตนเอง และประกาศให้ทุกคนที่หมู่บ้านรู้ได้ว่า "นี่หละคนที่ประสบความสำเร็จ"

และเพิกก็ได้ทำงานในเมืองสมใจกับเงินเดือนค่าจ้างที่พออยู่ได้ในขั้นดี แต่เพิกบอกว่าไม่มีเก็บ เพราะอยู่ในเมืองต้องซื้อทุกอย่างแม้กระทั่งน้ำดื่ม เรื่องน้ำใจไม่ต้องพูดถึง มีน้อยมากในสังคมเมือง

กลับมาที่บ้านในวันหนึ่ง

แม่ก็เปรยบอกว่า "จะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพ เพราะเรายังเป็นหนี้อยู่ จะรอใครก็ไม่ได้ เพราะเพิกเองก็เงินเดือนพอเลี้ยงตัว" พ่อก็บอกว่าจะไปต่างประเทศอีกคน ลำพังอาชีพเกษตรที่บ้าน ซึ่งปลูกข้าวโพดส่งขาย ก็ไม่ไหวทั้งพ่นยา ใส่ปุ๋ยสารพัด สุขภาพแย่ ได้เงินน้อยไม่คุ้มกับที่ลงแรงไป

 คำเปรยของแม่ และการตัดสินใจของพ่อ ทำให้เพิกฉุกใจคิด...ว่าเขาไม่สามารถเลี้ยงดูแม่ พ่อได้ เงินเดือนแต่ละเดือนที่ทำงานในเมืองก็พอกินพออยู่เท่านั้น ไม่มีเก็บ เป็นลูกจ้างที่ต้องทนทำงานแทบทุกอย่าง...

คำพูดแม่ที่ว่า "แม่จะออกไปทำงานกรุงเทพฯ" ตรึงอยู่ในความคิดเขา ในที่สุดเพิกก็ตัดสินใจลาออก จากงานในเมืองกลับบ้านนา เขามองว่าพื้นดินที่มีอยู่ น่าจะทำมาเลี้ยงชีพได้ี่และการบริหารจัดการหนี้ของครอบครัวน่าจะเป็นทางรอด ดีกว่าที่ไม่เห็นอนาคตเช่นทุกวันนี้

กลางเรือนไม้หลังเล็กๆ ในหมู่บ้านแม่ทา ในเย็นวันหนึ่ง

พ่อ แม่และก็เพิกนั่งคุยกันและได้นำหนี้สินแต่ละคนที่มีมารวมกัน ให้เป็นหนี้ของครอบครัว รวมๆกันได้เป็นยอดเงินราว สองแสนกว่าบาท

สามพ่อแม่ลูกตั้งคำถามในวงสนทนาว่า "เราจะจัดการหนี้ ของเรา ได้อย่างไร?"

เพิกได้แบ่งหนี้ออกมาเป็น ๒ ส่วน คือหนี้ระยะสั้น(ต้องใช้เจ้าหนี้เร่งด่วน)  และส่วนที่เป็นหนี้ระยะยาว (เช่น หนี้ ธกส.) ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการทีหลัง

เพิกบอกกับทุกคนว่าไม่ต้องไปทำงานกันที่ไหน เรามาทำสวน ทำเกษตรแบบที่เราเคยทำกันมา โดยเพิกจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว

จากนั้นพื้นที่สวน ถูกจัดการเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลากหลาย เป็นผักสวนครัวที่สามารถกินได้ในครัวเรือน ที่เหลือก็นำไปขาย ลดรายจ่ายของครัวเรือนไปได้มาก

ปลูกพืชที่หลากหลายส่งตลาด ที่สำคัญทุกอย่างเป็นพืชอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งตลาดที่เชียงใหม่ก็มีความต้องการสูงอยู่แล้ว ประกอบกับที่แม่ทา มีการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง

ภาพของพ่อ แม่และเพิก ทำงานที่บ้านด้วยกันอย่างอบอุ่น ทุกคนยังอยู่พร้อมหน้ากัน เป็นครอบครัว ยามเหนื่อยเราพักผ่อน แดดร่มลมตก เราออกมาดายหญ้า ปลูกผัก เป็นวิถีที่เพิกบอกว่า เขาและครอบครัวมีความสุขมาก

ในวันนี้ น้องเพิกบอกในเวทีเสวนาว่า "หนี้ระยะสั้นของครอบครัวเขา หมดไปแล้ว เหลือแต่หนี้ระยะยาวที่ต้องจัดการ คาดว่าในเร็ววันนี้จะใช้หนี้ให้หมด"

เมื่อถามถึงจุดผกผันของน้องเพิก

เพิกบอกว่า "จากการคิด วิเคราะห์ด้วยตนเอง เปรียบเทียบจากที่ทำงานในเมือง สุขภาพจิตก็แย่ เงินไม่มีเก็บ เด็กหนุ่มสาวทิ้งไร่นาไปทำงานในเมืองกันหมด แรงงานที่บ้านทุ่งก็ไม่มี และที่สำคัญคนในครอบครัวแทบจะไม่ได้พบหน้ากันเลย...ทำงาน ทำงาน และหาเงินกันตลอด...เหนื่อย...แต่ไม่มีอนาคต"

"เกษตรกรรมสอนวิธีคิดให้ผม เปลี่ยนระบบชีวิตของผมและครอบครัว วันนี้ผมมีความสุขกับครอบครัว เรามีเครือข่ายเกษตรยั่งยืนที่แม่ทา มีคนหนุ่มสาวที่กลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้าน ทำงานแบบเครือข่าย ปรึกษา หารือ ..." น้องเพิกกล่าวสำทับอีกครั้งก่อนจบเวทีเสวนา

วันนี้เป็นความสุขที่เพิกและครอบครัว ตลอดจนเพื่อนๆค้นหาคำตอบให้กับชีวิตตนเอง 

เขาและเพื่อนเยาวชนพิสูจน์ให้ทุกคนที่บ้านนาเห็นประจักษ์ไม่ต้องรบกับคำถามของเพื่อนบ้านว่า

"จบตั้งสูงมาทำเกษตรทำไม ?"

 

 

 


แง่มุมงามความคิด ของเกษตรกรปริญญา เยาวชน แห่งบ้านแม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในเวทีเสวนา ในงานจุลกรรมเกษตรยั่งยืนแม่ฮ่องสอน วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๙<p> </p><p>                                                                    จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร </p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 48962เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2006 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ถามแบบคนไม่รูนะคพว่าตอนนี้เยาวชนแบบนี้มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่นและมีการรวมตัวกันคุยกันทึกเดือนรึเปล่าคะ และที่สำคัญมีตัวอย่างดีๆ อย่างนี้มากไหมคะ หรือมีเฉพาะเยาวชนที่ทำเกษตร  (มีกี่กลุ่มเอ่ย)

อึ้ง...คะ

อ่านไปขนลุกซู่...หัวใจพองโต...ชื่นชม..

เรามักติดคิดที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ...เราลืมมองไปว่าเรื่องเล็กๆ..จุดๆก็สามารถสรรค์สร้างได้...

หยดน้ำ...หลายๆหยดมารวมกันเป็นแม่น้ำได้หลายสาย...

...

เหมือนกะปุ๋มก็โดนถามว่า...เรียนมามากมายทำไมไม่ไปหาสอนหนังสือเพราะได้เงินเยอะ...ประมาณว่าตระเวณสอนเสมือนทำไร่เลื่อนลอย(เปรียบเปรยเอาเองคะ)..ก็เพราะเราลืมมองหน่วยย่อยที่ใกล้ตัว..ฐานที่เรามีอยู่จึงยากที่จะยั่งยืนแห่งการพัฒนา...

...

มาบ่นเสียยาว...แต่ซาบซึ้งเรื่องราวที่เล่ามาคะ

ปล.ได้รับโปการ์ดแล้วนะคะ...

ขอบคุณมากคะ

*^__^*

กะปุ๋ม

คุณจ๊ะจ๋า

ที่บ้านแม่ทา  อ.แม่ออน เชียงใหม่ รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในกลุ่มที่มีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นลูกเกษตรกรที่เป็นฟาร์มต้นแบบเกือบทั้งนั้นครับ

พวกเขารวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการบริหารจัดการระบบสหกรณ์

และอีกไม่นานจะมีหนังสือที่พวกเขาทั้ง ๑๑ คนเขียนขึ้นมา ตอนนี้อยู่ในช่วงเรียบเรียงครับ...น่าสนใจทีเดียว

ส่วนที่แม่ฮ่องสอน มีเกษตรกรที่เป็นเยาวชนปริญญาเกิดขึ้นแล้ว และเป็นสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกแม่ฮ่องสอน ยังไม่ได้รวมกลุ่มเฉพาะเยาวชนครับ

มีเรื่องราวของ "แคท" เด็กสาวอีกคนในเวทีเสวนา ที่คุยเรื่องของเธอ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกร และเป็นอาชีพปัจจุบันของแคท ...ผมกำลังเรียบเรียงครับ น่าจะนำมาบันทึกให้อ่านต่อใน Blog เร็วๆนี้

ขอบคุณครับคุณจ๊ะจ๋า 

คุณ Dr.Ka-Poom

ผมชื่นชมน้องๆเหล่านี้มากครับ หัวใจทองคำ เขาโชคดีที่ค้นพบตัวเอง และมีความสุขที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรักและชอบ

ที่สำคัญอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เลี้ยงคนทั้งชาติ...

ยิ่งได้มานั่งฟังในเวทีเสวนาในวันนั้น ผมซาบซึ้งมาก ไม่รู้คนในที่ตรงนั้นจะคิดเหมือนผมหรือเปล่า...แต่ผมรู้สึกเยอะ เพราะผมก็ลูกหลานเกษตรกรคนหนึ่งเช่นกันครับ 

ขอบคุณครับ...โปสการ์ดไปถึงเร็วเหมือนกันนะครับ รอนแรมจากแม่ฮ่องสอน ถึง ยโสธร 

         กลับมาอย่างมีชัย      มิใช่ผู้แพ้จากเมืองหลวง

มิใช่มาตามดวง                  แต่กลับมาเพื่อสร้างทำ

         ชื่นชม   ศรัทธา    เพราะเราคือลูกชาวนาผู้ยืนยง

 

มาแล้ว !!! น้องชายของผมอาจารย์สิทธิเดช กนกแก้ว

ว่าจะตอบกลับเป็นบทกวี แต่ไม่มีความสามารถจริงๆครับ อาจารย์ Handy ชื่นชมอาจารย์สิทธิเดชให้ผมฟังครับ ซึ่งผมเองก็ชื่มชมเช่นกันครับ

 สำหรับบันทึก เกษตรกรปริญญา มีอีก 2 - 3 ตอนครับ ...พยายามจะเขียนออกมาเรื่อยๆ เพราะแต่ละคนในเวทีเสวนามีวิธีคิดและจุดพลิกผันน่าสนใจ

ขอชื่นชมและศรัทธา เพราะเราคือลูกชาวนาผู้ยืนยง 

 

  • ไม่ได้แวะมานาน
  • อ่านหนังสือวุ่นๆนิดหน่อย
  • ขอบคุณครับที่พยายามบอกว่าคนดีของสังคมยังมีอยู่ในเมืองไทย
ชื่นชมน้องๆ เกษตรกรปริญญา  
ที่กล้าตัดสินใจ
คงมีอีกหลายคนที่ไม่กล้าแบบนี้เพราะ     ความคิดไปเห็นด้วยกับคำว่า    เรียนมาตั้งสูงมาทำเกษตรทำไม   ถ้านำความรู้สูงๆ ที่เรียนมา  มาช่วยพัฒนาการเกษตรที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น  มันก็ยิ่งดี   เนาะ..

พี่ Nidnoi 

ประเทศที่เจริญทางวัตถุ เทคโนโลยีมากๆ ยังคงต้องพึ่งพาอาหาร ซึ่ง เกษตรกร น่าจะเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในอนาคต

 น้องเกษตรกรปริญญา ที่บ้านแม่ทา และเกษตรกรปริญญาที่แม่ฮ่องสอน มีจุดผกผันของชีวิตที่น่าสนใจ และกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ น้องๆได้ฝ่าฟันมา

ประสบการณ์ที่ถ่ายทอด จับใจ และ น่าสนใจมากครับ 

อาจารย์ ดร.ขจิต

พยายามบอกต่อครับ...คนดีมีเยอะมากมาย แต่ไม่ได้นำเสนอครับ...ผมพบพานคนเหล่านี้ผ่านงานที่ทำ และผมประทับใจ จึงนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนที่อ่านBlog ครับ

เป็นกำลังใจให้คนดี เป็นกำลังใจให้อาจารย์ขจิตเช่นเดียวกันครับ 

  • ขอบคุณมากครับที่แวะไปทักทาย
  • ว่าแต่ว่าหาได้หรือยังครับ
  • เพื่อนใจ

อ่านแล้วนึกถึง พี่ ๆ ที่ชุมชนหนึ่งซึ่งแต่ก่อนเคยไปเป็นบัณฑิตอาสาในพื้นที่ พี่เขาจบปริญญาเช่นกัน และหันมาปลูกผักรวมกับเพื่อน ๆ และเยาวชนในหมู่บ้าน ตอนแรกโดนประนามเหมือนกันค่ะ แต่ก็สามารถให้คนในหมู่บ้านเห็นว่า จบปริญญาไม่จำเป็นต้องทำงานรับราชการหรือได้เงินเดือน แต่พี่เขาได้ให้รู้ว่าสิ่งที่สำคัญเขาต้องกลับมาพัฒนาบ้านของตัวเองและนำสิ่งที่ได้เรียนมาเป็นตัวประสานงานให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาในชุมชนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านตัวเอง

ตอนนี้พี่ ๆ เขาเหมือนกับพี่เพิกเลยค่ะ

ดีใจนะค่ะที่ได้รู้จักกับคนที่คิดอย่างนี้อีกค่ะ ขอชื่นชมจากใจจริง ๆ

น้อง Chah

ลองเอาชีวิต เรื่องราว เล่าเป็นเรื่องเล่า ซิครับ น่าสนใจดี เพื่อที่จะให้กำลังใจกัน

ชีวิตคนเล็กๆ แต่สรา้งแรงบันดาลใจให้คนหลายคน

ถือว่าเป็น "Goodnews" อย่างที่อาจารย์หมอวิจารณ์ แนะนำครับ 

เรื่องราวของพี่ที่ได้กล่าวมานั้น  Chah ได้เขียนเป็นเรื่องราวแล้วค่ะ ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมเป็นเล่มเล็ก ๆอยู่ แต่..ยังไม่ครบในรายละเอียด ยังมีเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยค่ะ...

การเขียนเรื่องราวแบบนี้ได้เพิ่มกำลังใจที่ดีมากเลยค่ะ

น้อง chah

หากรวบรวมเสร็จ...นำมาแบ่งปันกันอ่าน นะครับ  น่าสนใจมากครับ

  • ยินดีด้วยครับ
  • คุณเมตา ได้ goodnews แล้วครับ

อาจารย์ Panda ครับ

หลังจากที่ผมอ่าน บันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์ แล้วก็คิดว่า นี่น่าจะเป็น goodnews ได้ครับ...ไม่รู้จะเข้าเกณฑ์มั้ยครับ อาจารย์

แต่ผมประทับใจน้องๆเหล่านี้มากครับ 

และผมยกเป็น goodnews ของผม 

ขอบคุณค่ะ

แล้วจะมาแบ่งปันให้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนร่วมกันค่ะ

(ต้องรอหน่อยนะค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท