เลี้ยงโคให้พอเพียง


การเลี้ยงโคให้ประสบความสำเร็จเกษตรกรควรมีการวมกลุ่มจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดพลังในการทำงานและเกิดผลอย่างมั่นคงยั่งยืน

เลี้ยงโคให้พอเพียง                 

                    วันนี้ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและสนใจที่จะเลี้ยงโคอีกหนึ่งวัน ซึ่งในวันนี้ได้ไปศึกษาดูงานระบบการจัดการฟาร์มโคขุนของเสี่ยน้อย (คุณเจริญ เอื้อสลุง ) ที่เจริญฟาร์ม 25 หมู่ 1 บ้านโคกสะอาด ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยคุณเจริญได้อธิบายวิธีการและขั้นตอนการเลี้ยง การเลือกซื้อโคมาขุน การตลาดอย่างละเอียดโดยไม่ได้ปิดบังอำพรางเหมือนวิทยากรทุกท่านที่ผ่านมา เป็นที่พอใจของกลุ่มเกษตรกรมาก

                  สิ่งที่คุณพี่เจริญพยายามเน้นเป็นอย่างมากคือ เรื่องการรวมกลุ่มกันเลี้ยง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกลุ่ม เพราะถ้ารวมกลุ่มกันเลี้ยงแล้วจะช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงเวลาซื้ออาหารเนื่องจากถ้ามีรวมกลุ่มกันซื้อพร้อมกันในปริมาณมากจะได้ราคาถูก นอกจากนั้นการทำงานกลุ่มจะช่วยให้กลุ่มมีอำนาจต่อรองกับตลาดทั้งในเวลาซื้อและขายโค แต่ปัญหาที่พบในสังคมไทยคือ การรวมกลุ่มจะไม่ค่อยมั่นคง ชอบเอาเปรียบกลุ่ม หรือแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเอง แล้วสุดท้ายกลุ่มก็ล้ม เมื่อกลุ่มล้มเกษตรกรก็เจ๊ง ดังนั้นถ้าเกษตรกรจะเลี้ยงโค ควรรวมกลุ่มกันให้มั่นคงและจริงใจต่อกัน

                   จริงแล้วในโครงการของ ธกส.นั้นมีการแบ่งกลุ่มเกษตรกรที่เข้าอบรมออกเป็นหลายกลุ่มตามความสนใจเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มช่างยนต์ ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็จะแยกย้ายไปอบรมและเรียนรู้ แต่ที่สังเกตได้ของวันนี้คือ ก่อนที่เกษตรกรแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะแยกย้ายกันไปเรียนรู้ตามความสนใจนั้น ทุกคนจะมาเล่าถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้พบเห็นมากันอย่างสนุกสนาน

                 ดังนั้นในวันนี้ก็เลยได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับทาง ธกส. และกับกลุ่มเกษตรกรว่าในโครงการการอรบมโดยให้มีการศึกษาดูงานจากสถานที่จริงด้วยนั้น หลังจากเสร็จภารกิจการดูงานในแต่ละวัน หรือในวันสุดท้ายของการอบรม ควรให้กลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่มได้นำเสนอเรื่องที่ตัวเองได้พบเห็นมาทั้งในด้านดีและด้านที่เป็นปัญหา เพื่อที่ทุกกลุ่มจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาจุดเชื่อมโยงของอาชีพทุกอาชีพว่าสามารถทำร่วมกันได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าเกษตรกรทุกคนต่างสั่งสมประสบการณ์มามากพอสมควร (ดูได้จากอายุผู้เข้าร่วมอบรม) อาจมีแง่คิดดีๆ จากเรื่องของคนอื่น หรืออาจมีข้อมูลอื่น ๆ ที่คาดไม่ถึงมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้

                   นอกจากนี้ยังเสนอแนะว่า จริง ๆ แล้ว ในจังหวัดบุรีรัมย์ของเรานี้ยังมีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับด้านนี้อยู่มากทาง ธกส. น่าจะขอความร่วมมือกับผู้มีความรู้เหล่านี้จะได้เห็นตัวอย่างที่หลากหลายทั้งในด้านวิธีการ วิธีคิด และสภาพแวดล้อม เพราะเท่าที่เห็นจาก 2 วันนี้ กลุ่มเกษตรกรจะได้ศึกษาดูงานจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะทำได้อย่างที่เห็น บางคนเห็นฟาร์มขนาดใหญ่แล้วเกิดอาการท้อ ว่าคงทำตามไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วมีกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโคที่มีทุนน้อยแต่จัดการได้ดีและประสบความสำเร็จก็มี ซึ่งจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะทำตามอย่างได้เพราะใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเกษตรเหล่านี้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นความผิดของ ธกส. เพราะทำงานเพียงลำพัง ถึงแม้จะขอความร่วมมือให้ทุก ๆ อบต.มาร่วมเรียนรู้ด้วยก็ตาม (แต่ อบต. ไม่ได้มาร่วม)

                  จากกรณีดังกล่าวทำให้มองเห็นว่า การนำนโยบายมาพัฒนาชาวบ้านให้พ้นจากความยากจนจากหน่วยงานของรัฐนั้นยังขาดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ซึ่งถ้าทุกหน่วยงานมาจับมือกัน จับงบประมาณมารวมกัน จับปัญหามารวมกัน และแก้ปัญหาความทุกข์ยากของชาวบ้านร่วมกันแล้วจะได้มุมมองและวิธีการที่หลากหลาย สามารถนำไปปรับใช้กับชุมชุนได้อย่างแท้จริง หน่วยงานของรัฐไม่ควรแยกงานกันทำ จะกลายเป็นการแย่งเอาผลงาน ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านไม่รู้จะทำตามใคร วัน ๆ ไม่ต้องทำมาหากิน เพราะต้องวิ่งรอกอบรมตามนโยบายเกือบทุกกระทรวง และกลับเข้าสู่วังวนของหนี้สินและความยากจนไม่มีสิ้นสุด จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานต้องมาจับเข่าคุยกันจริง ๆ จัง ๆ เสียที ชาวบ้านเขาจะได้ลืมตาอ้าปากได้ อานิสงส์จะได้ส่งผลถึงความเจริญมั่นคงของชาติด้วย

หมายเลขบันทึก: 48915เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เสียดายจังวันนี้ ไม่ได้ ไปร่วมด้วย แต่ก็ดีใจที่ ครูดายังตามเก็บข้อมูเพิ่มเติม ผมคงต้องลงไปคลุกวงในกับกลุ่มนี้เต็มที่ เพราะโดนเลือกไห้เป็น หัวหน้ากลุ่ม ในรัดับตำบลแล้ว น่าจะมันมากกว่าเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นแน่แท้ เลย....

ดีครับ หากการพัฒนามองอย่างรอบด้าน การพัฒนาก็จะไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ขอให้กำลังใจครับ

อยากจะเห็นข้อมูลแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และขอให้นำมาหาประเด็นแก่นแท้ของเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การจัดการความรู้

โชคดีครับ

แสวง

ขอบคุณค่ะ อาจารย์แสวง พี่พงษ์ อาจารย์อุทัย  ตอนนี้กำลังพยายามหาองค์ความรู้ที่ชาวบ้านนำมาจัดการเกี่ยวกับการเลี้ยงโค ทั้งในประเด็นที่เหมือนและที่แตกต่างจากนักวิชาการเกษตรเพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมกับชุมชน

ขอบคุณค่ะ

พันดา  เลิศปัญญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท