KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๖๘. การจัดการความรู้กับการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น(ตอนที่ ๑)


 

          มรภ. สุราษฎร์ธานี เชิญผมไปบรรยายเรื่อง การจัดการความรู้กับการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย. ๕๔   และได้ถอดเทปคำบรรยายส่งมาให้แก้ไข   เมื่อแก้ไขแล้วจึงนำมา ลปรร. ที่นี่

 


การบรรยายพิเศษ

เรื่อง “การจัดการความรู้กับการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พาพิช

 

          ขอบคุณครับที่ให้เกียรติ เชิญผมมาเป็นวิทยากรบรรยายในวันนี้  อย่าเรียกว่าบรรยายเลยดีกว่า เอาเป็นว่าเรามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นการจัดการความรู้  ซึ่งก็ตรงกับหัวข้อในวันนี้ “การจัดการความรู้กับการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ดีมากๆ  ที่ว่าดีมากก็เพราะว่าที่นี่กำลังเห็นความสำคัญของความรู้ที่อยู่ในตัวคน ที่อยู่ในท้องถิ่น  ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์ความรู้อีกมากมายตามมา  อย่าไปหลงอยู่กับความรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว  นั่นคือจงเห็นคุณค่าของความรู้จากการปฏิบัติซึ่งอยู่ในตัวคนทุกคน  และเคารพคนเหล่านั้น เรียนรู้จากคนเหล่านั้น  มันจะช่วยเสริมความรู้ทฤษฏีที่เราเรียนจากมหาวิทยาลัย  ทำให้เราเต็ม  มิฉะนั้นเราก็มีแต่ทฤษฏีเกิดภาวะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ความรู้จากการปฏิบัติมีแฝงอยู่ทั่วไปในผู้คนคนที่เราเรียกว่าไม่มีความรู้  อาจแปลว่าไม่มีความรู้ทฤษฏีหรือความรู้ทฤษฏีมีน้อย  อาจจบการศึกษา ป.4  พูดถึงบุคคลที่จบ ป.4   แม่ผมจบ ป.4ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่อายุ 92  ปี  เลี้ยงลูก  7  คน  จบปริญญาทุกคน เป็นแพทย์3  คน  คนสุดท้องอยู่สุราษฎร์ธานี ผมเป็นพี่คนโต  แม่ผมความรู้เยอะ  แต่จบแค่  ป. 4  มีความรู้ที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้ คือความรู้ปฏิบัติ

 

          สาระที่เป็นหัวใจของการทำงานวิจัย  วิชาการ  เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้องรู้จักและรู้ว่าทรัพยากรที่มีค่าคืออะไรอยู่ที่ไหน  เอามาใช้ได้อย่างไร  เอามาใช้และเพิ่มพูนได้อย่างไร การจัดการความรู้หัวใจไม่ได้อยู่ที่ความรู้  หัวใจอยู่ที่การปฏิบัติ (Action)  ลงมือทำ  แต่ในการลงมือทำนั้น  ถ้าเราจัดการความรู้เป็น  เราจะถามตัวเองว่าจะทำสิ่งนี้เราต้องการความรู้อะไรบ้างเพื่อทำได้ดีกว่าเดิม  ดีกว่าคนทั่วๆไปจึงต้องรู้จักค้นหาความรู้  การค้นหาความรู้นั้นต้องตามหลักความรู้เชิงทฤษฏี (Explicit knowledge)และความรู้เชิงปฏิบัติ (Tacit knowledge)ส่วนใหญ่เรามักจะหาความรู้เชิงทฤษฏีซึ่งปัจจุบันค้นคว้าได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต  Googleวิกีพีเดีย  แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือTacit knowledge ถามว่าอยู่ที่ไหนคำตอบคืออยู่ที่คนหรือกลุ่มคนหน่วยงานซึ่งเราสามารถไปขอเรียนรู้ได้ มีเครื่องมือสำหรับศึกษาแบบใหม่คือ KM  สามารถช่วยเหลือได้ซึ่งเรียกว่า“เพื่อนช่วยเพื่อน”(PeerAssist)คือแทนที่จะไปดูงานแล้วให้เขาบอกว่าเขาทำอย่างไร  ก่อนไปดูงานเราต้องเตรียมก่อนว่าเรื่องนี้เราจะทำอย่างไร   แล้วเราไปเล่าให้เขาฟังว่าเราวางแผนจะทำอย่างไร  ให้เขาแนะนำว่าที่เราคิดไว้นั้น ตรงไหนไม่ควรทำ หรือไม่ควรทำด้วยวิธีที่เราคิดไว้ เพราะเขาเคยทำมาแล้วและได้ผลไม่ดี   แต่วิธีที่เขาทดลองและปรับปรุงจนได้ผลดีทำอย่างไรเขาจะบอกด้วยประสบการณ์พูดคุยกันด้วยTacit knowledge  ผสมผสานระหว่างTacit knowledge กับExplicit knowledge  นี่คือการค้นหาความรู้ ด้วยเครื่องมือเพื่อนช่วยเพื่อน

 

          รายละเอียดของ KM  มีมากมาย  เราเรียนโดยการพูดและฟังไม่พอ ต้องเน้นเรียนโดยการฝึกเอาไปใช้ปฏิบัติซึ่งจริงๆแล้วเราต้องสร้างความรู้บางอย่างขึ้นมา ความรู้ หนึ่งร้อยส่วน  เราอาจต้องสร้างขึ้นมาสองหรือสามส่วน   เพื่อปรับความรู้เหล่านั้นให้เข้ากับบริบทของเรา เพราะฉะนั้นในการนำความรู้มาใช้ทันทีจะเกิดการสร้างความรู้ทันทีในตัวของมัน  ในวินาทีนั้นเสี้ยววินาทีนั้น นี่คือกระบวนการ  การจัดการความรู้ที่มันเกิดแล้วนำมาใช้เพื่อทำงานเพื่อการปฏิบัติ จะต้องมีการจดบันทึก  มีการสังเกต  จดบันทึกว่ามันเกิดอะไรขึ้นอาจจะต้องวัดจำนวน ผลที่ได้จากการวัดแล้วนำข้อมูลมาแชร์กัน  บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องบันทึกแต่แชร์กันแล้วบันทึก โดยกระบวนการ  Knowledge  sharingการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติทำให้ความรู้ถูกยกระดับขึ้น จะยกระดับขึ้นเองภายในกลุ่มที่แชร์กัน

 

          จริงๆแล้วการจัดการความรู้เป้าหมายอยู่ที่ผลงานที่ดีขึ้น และอยู่ที่บุคคล คนที่เรียนรู้และมีทักษะเรียนรู้ที่เรียกว่า  Learning personตัวองค์กรก็จะเป็น  Learning organization  เรากำลังพูดถึงเรื่องพื้นที่พื้นที่ควรจะเป็น Learning  community  เป็นชุมชนเรียนรู้  ไม่ว่าทำอะไรเรียนรู้ได้หมดคำถามคือมหาวิทยาลัยจะมีบทบาททำให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่ที่เราอยู่ใกล้ชิดนั้นเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร  เป็นคำถามที่ท้าทายมาก  จะเป็นอย่างนั้นได้ผู้คนทั้งหลายต้องทำงานทำการ  ดำรงชีวิตโดยใช้ความรู้  มีชุดความรู้ที่จำเป็น  มีชุดความรู้ของตนเอง แล้วสร้างชุดความรู้ใหม่ตลอดเวลา  เพราะฉะนั้นเวลาผ่านไป  5  ปี  10  ปีชุดความรู้เปลี่ยนไปมาก  เนื่องจากการเรียนรู้ของเราภายในตัวเองในระบบการเรียนรู้ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลานั้น  สภาพแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนก็ต้องปรับตัว  ปรับวิธีการ ปรับความรู้  ปรับวิธีทำงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอก  สภาพแวดล้อมภายนอกอาจเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและ เทคโนโลยีที่เปลี่ยน  ทำให้วิธีการทำงานต่างๆต้องเปลี่ยน

 

          การเปิดใจคุยกันเป็นเครื่องมือ  KM ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าการคุยกันแบบสานเสวนาหรือสุนทรียะสนทนา  (dialogue)   บุคคลในมหาวิทยาลัยจะติดการพูดคุยกันแบบ Discussion  อภิปรายเชือดเฉือดว่าใครดีกว่าใคร  ใครถูกใครผิดแต่เมื่อไรต้องการจัดการความรู้ต้องมีเครื่องมืออีกแบบหนึ่งคือการประชุมแบบ dialogue ไม่มีถูกมีผิดคุยกันด้วยใจเอาความรู้สึกที่สัมผัสจริงจากการปฏิบัติมาคุยกันว่าเห็นอะไร  รู้สึกอย่างไร   เพราะฉะนั้นเมื่อคุยกัน  5 -10  คน แต่ละคนพูดไม่เหมือนกัน  รู้สึกไม่เหมือนกัน  สัมผัสบางสิ่งบางอย่างก็ไม่เหมือน  เมื่อมาแชร์กันความรู้มันงอก  ความรู้มันเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นบรรยากาศของการจัดการความรู้เป็นบรรยากาศที่ให้คุณค่าของการมองเห็นอะไรที่ต่างกัน  ไม่ใช่บรรยากาศถูกผิด แต่เน้นTacit knowledge 

 

          จากการทำงาน  KM  ภายในหน่วยงานของผมคือ สคส.หรือสถาบันส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพื่อสังคม  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการความรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามSECI model คือการหมุนเกลียวความรู้หมุนผ่านความรู้  2  ประเภท คือ Tacit knowledge  กับExplicit knowledge    หมุนผ่านการปฏิบัติ และผ่านการแชร์กันในกระบวนการsocialization (S)คือ จะทำอะไรก็ตาม ก่อนทำระหว่างทำ และหลังทำมีการ  socializeคือการมาคุยกันใช้ dialogue เป็นเครื่องมือคุยกันใน เรื่องที่ทำ  หรือกำลังจะทำ โดยใช้Tacit knowledge  ที่มีการแชร์กัน ก่อให้เกิดความเข้าใจแบบเดียวกัน นั่นคือตัว S   ถัดมา ตัว E ย่อมาจาก externalization บางครั้งใช้คำว่าถอดความรู้ จาก Tacit knowledgeออกมาเป็นExplicit knowledgeได้เป็นความรู้ที่ชัดเจนเขียนบันทึกไว้ได้   แล้วนำExplicit knowledge หลายๆ ชิ้นมารวมกันหรือสังเคราะห์เป็นความรู้ที่กว้างขาวงขึ้น หรือลึกซึ้งขึ้น ด้วยตัว C(combinization)เมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่าง ตัว C และ ตัว E  (Externalization) กลายเป็น S-E-Cเรียกว่าได้ความรู้ที่ใหญ่ขึ้นขยายขึ้นโยงมากขึ้น จาก combinization  ตัว  C  ความรู้ที่ยกระดับและขยายหรือชัดเจนขึ้น สามารถนำไปInternalize (I)เพื่อใช้งาน หรือ internalize เข้าในตัวคน ทำให้คนมีความรู้มากขึ้น เก่งขึ้น

          คำถามของSECI model  ที่ว่าหมุนเกลียวความรู้ มีการหมุนบ่อยแค่ไหน ปีละกี่รอบผมตอบตัวเองจากประสบการณ์ว่ามันหมุนอยู่ทุกขณะจิต  มันเป็นนามธรรมไม่สามารถนับจำนวนครั้งได้แต่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา

 

          การจัดการความรู้เราสามารถตีความได้เยอะมาก  ถ้าถามว่าKM  คืออะไร  คือเครื่องมือ   พูดอย่างนี้ก็เพื่อไม่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ  KM  ผิด  คิดว่า KM  เป็นเป้าหมายอย่างที่ กพร. พยายามบอกเราว่าคุณทำ  KM  รึเปล่าการที่  กพร. ให้ทำ KM เป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ผิด แต่ว่าเรารับสื่อสาระมาผิดไปตีความว่า  KM  คือเป้าหมายหวังทำเพื่อคะแนนกพร. ต้องการให้เราทำ KM จนกระทั่งเป็นนิสัย  เพื่อให้เป็นองค์กรเรียนรู้แต่เราไปหลงอยู่ที่คะแนน  ไม่ได้เห็นคุณค่าของการเอา  KM มาเป็นเครื่องมือทำให้เราเรียนรู้อยู่ทุกขณะที่ทำงาน  โดยที่เราเองจะเป็นผู้สร้างความรู้ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนากิจกรรมของเราควบคู่ไปกับการพยายามเอาความรู้มาจากที่อื่น  โดยเข้าใจว่าความรู้นั้นต้องดึงมาทั้งสองอย่าง  ทั้งความรู้ทฤษฏีและปฏิบัติ  ความรู้ปฏิบัติดึงมาจากคนที่ทำเรื่องนั้นได้เก่ง


KM กับการวิจัย 

          KM  คือการจัดการความรู้  วิจัยคือการสร้างความรู้    เราเห็นชัดเจนว่า  KM มากกว่าการสร้างความรู้ คือไปสู่การใช้ความรู้แต่วิจัยเชิงพื้นที่ก็เป็นวิจัยใช้ความรู้เหมือนกัน  วิจัยในพื้นที่เป็นการวิจัยที่เรียกว่า  Translational  research  คือวิจัยขาลง เน้นใช้ความรู้ไม่เน้นวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่หรือทฤษฏีใหม่  แต่เป็นการวิจัยเอาความรู้ที่มีอยู่แล้ว  ทฤษฏีที่มีอยู่แล้วเอามาใช้เพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเพื่อที่จะพัฒนางานให้พื้นที่ของเรา  บ้านเมือง  สังคมและชุมชนของเรา   ให้ท้องถิ่นของเราก้าวหน้าขึ้นผู้คนอยู่ดีขึ้น 

          ดังนั้นทั้งวิจัยและการจัดการความรู้เป็นการสร้างความรู้แต่มาจากคนละมุม  กระบวนการวิจัยมาจากปัญหา  มีโจทย์  มีความต้องการของพื้นที่  แปลงจากโจทย์พื้นที่มาเป็นโจทย์วิจัย  2  อย่างนี้ไม่เหมือนกันคนที่คบกับ  สกว.  ใกล้ชิดกันจะรู้ว่าวิธีแปลงปัญหาเป็นโจทย์วิจัยทำอย่างไร ผมภูมิใจมาก ที่ สกว.พัฒนาทักษะวิธีการอันนี้ขึ้นมาให้แก่บ้านเมือง คือวิธีแปลงโจทย์สังคม  โจทย์บ้านเมือง ให้เป็นโจทย์วิจัย แล้วทำงานวิจัยสร้างความรู้แต่การจัดการความรู้มาจากอีกขั้วหนึ่ง  ไม่ใช่ขั้วปัญหาแต่เป็นขั้วความสำเร็จ  มีเรื่องราวความสำเร็จในเรื่องนั้นอยู่ที่ไหน  ภาษาวิชาการเรียกว่า  Success story  หรือ  Best Practiceในนั้นมีความรู้  ชนิดที่เป็นความรู้ปฏิบัติ(Tacit knowledge)รวบรวมและหาวิธีดำเนินการดึงออกมาเป็นความรู้ได้เหมือนกันความรู้ที่เรามักจะละเลย  คือความรู้ในคน   ความรู้ที่เรามักชื่นชมบูชา และมหาลัยเอามาสอนคือความรู้ในกระดาษหรือ Explicit knowledge    ในชีวิตที่ดีต้องใช้ความรู้ทั้งสองชนิดอย่างผสมกลมกลืนกัน และมีทักษะในการจัดการความรู้อย่างดี


ความรู้ยุคที่ 2

          เรามักแยกความรู้ทฤษฏีกับความรู้ปฏิบัติออกจากกันแต่เวลาใช้จริง หรือในชีวิตจริง ไม่สามารถแยกได้ มีคนบอกว่าในเรื่องความรู้เวลานี้เราเข้าสู่ความรู้ยุคที่  2  คือยุคที่เห็นคุณค่า  Tacit knowledgeหรือความรู้ปฏิบัติเลยจากยุคที่ 1 ที่เราให้คุณค่าเฉพาะ Explicit knowledge หรือความรู้ทฤษฎีแต่ผมเห็นต่าง ผมเห็นว่าเรากลับไปสู่ยุคที่ 0หรือก่อนยุคที่ 1สมัยก่อนมีการศึกษาอย่างเป็นทางการ มนุษย์เรามีความรู้ Tacit knowledge แบบฝึกฝนภายในครอบครัวเท่านั้น   เมื่อ 100  ปีก่อน การเรียนหมอเป็นวิทยาศาสตร์น้อยมากเป็นการฝึกความรู้ปฏิบัติกับคนที่เป็นหมออยู่แล้วเป็นหลักใหญ่แล้วมาเปลี่ยนเมื่อปี ค.ศ.1910  มีการเอาวิทยาศาสตร์ทฤษฏีเข้ามาใส่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอันมาก   และทำให้เราคุ้นเคยและยกย่องความรู้เชิงทฤษฎี จนละเลยความรู้เชิงปฏิบัติ   และเราเรียกยุคนี้ว่า ยุคความรู้ยุคที่ 1  คือให้คุณค่าเฉพาะความรู้เชิงทฤษฎี  บัดนี้หลักการและวิธีการ KM  ได้ช่วยให้เราเห็นคุณค่าของความรู้ปฏิบัติ จึงมีคนเรียกว่ายุคความรู้ยุคที่ ๒   ซึ่งจริงๆแล้วมันคล้ายกับย้อนกลับไปคล้ายสมัยก่อนความรู้เชิงทฤษฎีจะรุ่งเรือง


การสร้างความรู้ 3 ยุค

          การสร้างความรู้มี  3  ยุค  ตอนนี้เราอยู่ทั้ง  3  ยุค  คือ ยุคที่ 1ผ่านการคิดใคร่ครวญ(Deductin) ยุคที่ 2ผ่านการทดลอง  (experiment)ที่เรียกว่า  Induction  ปัจจุบันเป็นยุคที่3 เราเห็นคุณค่าของการสร้างความรู้ผ่าน  Action  การปฏิบัติทำแล้วเกิดความรู้  ยิ่งนับวันความรู้ทฤษฏีมีการยกระดับหรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาพลังของครูอาจารย์ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ทฤษฏีแล้ว พลังของครูอาจารย์อยู่ที่การกระตุ้นแรงบันดาลใจจุดไฟในหัวใจของเด็กแล้วเอื้อให้เขาได้เรียนรู้  เพื่อที่จะเติบโตมาจากภายในของเขาให้เต็มศักยภาพไม่ใช่ให้ไปบอกข้อความรู้ 

          คนในแต่ละยุคต่างกัน พวกเราโตขึ้นมาในยุคเก่า  ในยุคใหม่เด็กต้องเน้นเรียนโดยลงมือทำ  ภาษาวิชาการเรียกว่า  Project-Basedlearning  (PBL)การเรียนรู้ที่ดีในยุคสมัยใหม่เป็นการเรียนรู้ผ่าน  Action  คือการลงมือทำ  เรียนรู้ก่อนลงมือทำ  และทำงานเป็นทีม ซึ่งมีข้อดีเพราะรู้ว่าตัวเองทำอะไรและเพื่อนทำอะไร เกิดการเรียนรู้มหาศาล


เครื่องมือ KM

          เครื่องมือที่ใช้บ่อยที่สุดเรียกว่า  After  Action  review (AAR)ชื่อบอกชัดว่าใช้ในการ ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) หลังการทำงานเครื่องมือ ลปรร. ก่อนทำเรียก  BAR  (Before  Action  review)    BAR  เป็นเครื่องมือ  KM  ที่ดีที่สุดเหมือนกัน  AARเกิดในสงครามเวียดนาม  อเมริกันสู้ไม่ได้  ต้องหาเครื่องมือจัดการเพราะว่าในสนามรบ พลทหารนายสิบ ไม่กล้าพูดกับนายร้อยนายพันต้องมีเครื่องมือ  AAR   แต่เครื่องมือจะดียังไงสงครามไม่เป็นธรรมมันก็แพ้  แพ้แบบไม่แพ้ แบบไม่เสียหน้าแต่แพ้  เครื่องมือ AAR มีอยู่ในตำรา  KM  คนที่สร้าง BARขึ้นในเมืองไทยคือ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิบูลย์  วัฒนาธร  รองอธิการบดีมหาลัยนเรศวร  ตอนนี้เป็นรองอธิการบดี ม. พะเยา ได้ดัดแปลงจากAAR  แล้วตั้งชื่อว่า  BAR (Before  Action  review)เราใช้การจัดการความรู้เพื่อสร้างความรู้ยกระดับการเรียนรู้ที่เรียกว่ายกระดับเกลียวความรู้  (knowledge  spiral)ได้ดีนั้นต้องมีเครื่องมือชุดหนึ่งใช้  เครื่องมือมีมากมาย ต้องฝึกด้วยกระบวนการลงมือทำซึ่งไม่ยาก  คนที่มาทำงานกับผมจบปริญญาโท  ปริญญาตรี เรียนหนังสือปานกลาง  ไม่มีใครที่ทำไม่ได้ แต่แน่นอนว่าต้องมีชั่วโมงบิน  ต้องมีการฝึกที่ดี  เครื่องมือที่สำคัญตัวหนึ่งคือ  Storytellingเป็นความรู้ปฏิบัติที่อธิบายยากวิธีที่จะสื่อความรู้ปฏิบัติที่ดีที่สุดคือเรื่องเล่าเร้าพลังที่จริงดีที่สุดคือทำให้ดู แต่บางกรณีมันก็ทำไม่ได้ก็ต้องมีเรื่องเล่าเกิดขึ้นอันนี้ก็ต้องฝึกเป็นการเล่าแบบเปิดใจ ส่วนDeep listeningคือการฟังอย่างลึก  เวลาพูดกันถึงเรื่องสุนทรียสนทนา  การแชร์ความรู้ในการประชุมอะไร คนมักจะคิดว่าคนที่เข้าวงได้เก่งที่สุดคือคนที่พูดออกมาได้ดีที่สุด  คนที่ทรงพลังที่สุดในกลุ่มคือคนที่ฟังที่ดีที่สุดในกลุ่ม ฟังจนได้ยินเสียงหัวใจเต้นของเพื่อน  ฟังจนไม่ได้ยินคำที่เขาไม่ได้พูดออกมาแต่มันสื่อออกมา  non-verbal  สื่อออกมาเป็นอารมณ์ อย่างนี้คือกระบวนการจัดการความรู้ที่ลึกถึงขนาดคือมัน  มีPart  ของ  Spiritual ทางด้านจิตใจจิตวิญญาณ  เรามักจะคิดว่า ถ้าต้องการฝึกจิตวิญาณต้องเข้าวัดหรือนั่งหลับตายุบหน่อพองหน่อซึ่งไม่ผิดแต่ที่ง่ายและมีพลังมากกว่านั้นคืออยู่กับการทำงานนั้นเอง  อยู่กับกระบวนการที่จะทำให้งานดีขึ้นนั้นเอง  มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน ขณะฟังเพื่อนฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด  ฟังให้คนพูดรู้ว่าเรากำลังสื่ออะไรกับเขาอยู่ก็คือสื่อความสนใจ เพราะเขาเห็นแววตาเราเขาก็เลยพูดออกมาได้ตามปกติเราก็ยิ่งได้กำไร เพราะเขาพูดได้ลึกขึ้น  นี้แหละคือระดับของการจัดการความรู้ ที่จะให้ได้ความรู้ลึกๆที่เชื่อมโยงออกมาอีกอันหนึ่งที่มีพลังอย่างมากคือ  Appreciative Inquiry (AI) คือเน้นความชื่นชมยินดีซึ่งเราต้องชื่นชมให้ถูก  ชื่นชมสิ่งที่เป็นความสำเร็จนะ  เป็น  Best Practiceชื่นชมจากการลงมือทำ ชื่นชมความกล้าเสี่ยง  ชื่นชมความกล้าที่จะทำแปลกแหวกแนวไปจากเดิม  และชื่นชมความฟันฝ่าความลำบากอุปสรรค  ไม่ช้าจะประสบความสำเร็จ

          เมื่อสองวันที่ผ่านมาคือเสาร์-อาทิตย์ ได้พูดคุยกับครูเรื่องที่จะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียน  จากครูบอกเนื้อหาความรู้ เปลี่ยนเป็น  PBL  แล้วก็ให้ครูทำ  PLC  ครูก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ระหว่างครูโรงเรียนราษฎร์กับโรงเรียนรัฐบาล ครูที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลบอกว่าเขาอยู่ในรัฐบาลทำยังไง ทำไม่ได้เพราะว่ามันพิลึก ไม่เหมือนกับที่เขาทำกันทั่วไป อันนี้คือโจทย์  changemanagement  โจทย์จะเปลี่ยนอะไรบางอย่างเหมือนเส้นผมบังภูเขา  เขาก็เห็นโรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนลำปลายมาตรพัฒนา  จัดการเรียนการสอนได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ  คิดถึงตัวเองแล้วก็สะท้อน  สองโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนราษฎร์ตัวเองอยู่โรงเรียนหลวงทำไม่ได้  ผมกำลังนึกในใจว่ามันมีอยู่แล้วในโรงเรียนหลวงทำไหมไม่มี  ที่สอนแหวกแนวออกไปเพียงแต่ไม่มีใครไปดูเขาไม่มีใครไปชื่นชมเขา

          KM  กับการจัดการเรียนรู้หรือการวิจัย  เป็นคนละเรื่องเดียวกันมันเสริมกัน ตัว  KM  ผลผลิตของมันเป็น  Tacit knowledgeเป็นความรู้ฟังลึกอยู่ในตัวคนหรืออยู่ในกระบวนการทำงาน  อยู่ในวัฒนธรรมประเพณีอยู่ในข้อตกลงของหน่วยงานTacit knowledge  เกิดขึ้นผ่าน Action  ตัว Aหมุนเป็นวงก็จะยกระดับความรู้ขึ้นถ้าเราทำเป็น  ถ้าทำไม่เป็นหมุนลงอย่างนี้เจ๊งเลย การวิจัยสามารถมารับลูกต่อได้  โดยเอาTacit knowledgeทำให้เป็น  Explicit knowledgeแล้วเอาไปเผยแพร่ตีพิมพ์แล้วสองอันนี้จะอยู่ด้วยกัน  เพราะจริงๆแล้วเมื่อนำไปทำงานพัฒนาพื้นที่ใช้เครื่องมือสองอย่างนี้  ถ้าเราใช้เป็นจะเกิดพลังอย่างยิ่ง 

          ผมจะลงรายละเอียดโดยใช้แผนผังวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง  แต่ว่าตอนนี้มาดูก่อนว่าวิจัยกับการจัดการความรู้มันต่างกันอย่างไร   การวิจัยมันเริ่มจากทุกข์  แต่  KM  เริ่มจากสุข  การวิจัยโดยทั่วไปจะไม่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติในพื้นที่  หรือในสถานปฏิบัติการโดยทั่วไป มันมี Translational research ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ  KM หัวใจคือการปฏิบัติ    ถ้าเมื่อไรก็ตามไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีAction ไม่มี  KM    เพราะฉะนั้นนักฝันทั้งหลาย มี KM  ภายในตัวเอง  มันก็ไม่ใช่  KMแบบที่เรากำลังพูดกันการวิจัยเน้นความรู้ในกระดาษ (Explicit knowledge)  แต่ KM  เน้น Tacit knowledge    ความรู้ในคน  ความแตกต่างอีกอันหนึ่งคือเรื่องตัวแปร(Variable)  วิจัยเน้นลดตัวแปรให้เหลือน้อยที่สุดก็จะมีความเม้นยำ  เราพยายามตัดตัวแปรทั้งหลาย  Assumptionทั้งหลาย และให้เหลือตัวแปรไม่กี่ตัว นั้นคือวิธีวิทยาการวิจัย  แต่  KM  ไม่ใช่ ตรงกันข้ามเลยทำตามความเป็นจริง  ตัวแปรมากKM  ยิ่งมีพลังเพราะมีความแตกต่าง ความไม่แน่นอนมาก  มีเรื่องให้เรียนรู้และเรื่องให้ทดลองเยอะมีเรื่องให้ปรับ KM  ก็จะยิ่งมีพลัง เก้าปีที่ผ่านมาวิชาที่ผมเรียนแล้วได้ประโยชน์กับตัวเองคือวิชามั่ว  พอบอกว่าเราจะทำแบบนี้  โอ้สบายมากเรามั่วอย่างมีระบบKM  เป็นอย่างนั้น   ปัจจัยอันต่อไปเรียกว่าความดิ้นเรียกว่า dynamism   ความเป็นพลวัตการวิจัยเน้นสภาพใดสภาพหนึ่งเป็น Static assumptionแต่การจัดการความรู้ยิ่งมีdynamism  ยิ่งดี  ยิ่งไม่แน่นอนเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น  จะทำให้การจัดการความรู้มีพื้นที่ได้ทำมาก สามารถสร้างสรรค์ได้เกิดสภาพที่เรียกว่า dynamismหรือadaptive  dynamism 

          ตัววิธีคิดการจัดการความรู้เทียบการวิจัย เป็นการคิดแบบเส้นตรงA ไปB   แต่  KMนั้นวิธีคิดเป็นวงจร เรียกว่าหมุนเกลียวความรู้  หมุนไปแบบไม่รู้จบ  การวิจัยมีต้นทางปลายทางมีจุดจบของโครงการวิจัย  แต่การจัดการความรู้เป็นวงจรไม่รู้จบ  เพราะสิ่งที่เราต้องการทำให้ดีขึ้น ทำอย่างเดิมไม่ได้ ต้องปรับให้ดีขึ้น

          การเปรียบเทียบการวิจัยกับการจัดการความรู้นี้ไม่ได้มาจากตำราใด ผมตีความเอาเองถูกผิดไม่รับรอง การวิจัยกับการจัดการความรู้จากมุมมองอีกแบบหนึ่ง  มุมมองนี้บ่งบอกว่าเราใช้  KM  เป็นเครื่องมือการวิจัย  ใช้  KM  เป็นเครื่องมือของการวิจัย อันนี้คนมหาวิทยาลัยต้องรู้ไหมเพราะคนมหาวิทยาลัยต้องมีผลงานวิจัยเรากำลังพูดถึงการจัดการความรู้ในพื้นที่  จนเกิดผลสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เรื่องนั้นอาจจะเกิดขึ้นที่ตำบล  ก  ข  ค  ง  ซึ่งแต่ละตำบลมีบริบทคล้ายกันและมีส่วนต่างในความสำเร็จนั้นมี  Tacit knowledge    อยู่ เราใช้  KM  ไปตีความทำความเข้าใจ แล้วใช้ในกระบวนการที่เขาทำงานก็จะได้ความรู้ที่เป็น  Tacit knowledge      ออกมาเป็น research  data  ตกลง  KM  ผลิตTacit knowledge ชุดหนึ่งจากหลายที่หลายบริบท  เป็นชุดที่เราตีความว่าเป็นresearch data  แล้วใช้วิธีการทางด้านการวิจัยคือ  เอาทฤษฏีเข้าไปจับวิเคราะห์  สังเคราะห์  ตีความ  ว่ามันเป็นไปตามทฤษฏี  ก  ข  ค  ง  อาจใช้หลายทฤษฏีประกอบหากไม่ตรงตามทฤษฏี  เราตั้งทฤษฏีใหม่ แต่ว่าเป็นอนุทฤษฏี ทฤษฏีเล็กๆที่เสริมให้รู้ว่าทฤษฏีที่เราใช้ทฤษฏีของใครหากไม่perfect  ใช้ไม่ได้ในบางกรณี เราใส่ทฤษฏีส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่ออธิบาย  ทำให้สามารถตีพิมพ์นานาชาติได้ตัวอย่างมีเราสามารถยกตัวอย่างได้  นี่คือวิธีการเข้าไปทำงานกับพื้นที่นำไปสู่การตีพิมพ์ผลงานวิชาการนานาชาติได้  สิ่งที่อยากจะนำมาท้าทายคือเรื่องโรงเรียนชาวนา  ชาวนาทำนาถูกไหมแต่เมื่อไม่ทำนาเฉยๆทำ  KM  ด้วย  ทำ  KM  แปลว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ดึงความรู้จากที่อื่นมาปรับแล้วสร้างใหม่นิดหน่อย  แล้วใช้  เก็บ  วัด ตรวจสอบข้าวงามไม่งาม  ออกรวงแค่ไหน  มีแมลงมากินหรือไม่ อย่างนี้เรียกว่ามีการวัดมีการตรวจสอบ  ชาวนาก็ทำนา เกิดชุดความรู้เป็น  Tacit knowledge ของชาวนาในการทำนา  ในบริบทของสุพรรณบุรีตอนนี้ เป็นการจัดการความรู้ผ่านการปฏิบัติ  ปฏิบัติคือทำนา  นักวิจัย นักวิชาการ สามารถไปร่วมวงชาวนา จะเห็นอะไรมากมาย  แล้วตัวความรู้ที่นักวิจัยเก็บได้สามารถที่จะเก็บความรู้ได้อีกชุดหนึ่ง แต่นี่ทั้งชุดของชาวนาและชุดวิจัยของนักวิจัยที่ไปเก็บเองได้มาเป็นความรู้จากการปฏิบัติ  Tacit knowledge  เท่ากับเป็น  data  ก็สามารถที่จะเอามาทำได้มูลนิธิข้าวขวัญเขาทำโรงเรียนชาวนา  (ตอนนั้นผมทำ ส.ค.ส เราได้เงินจาก  สสส.)โดยมีวัตถุประสงค์3  อย่างคือ  ลดค่าใช้จ่าย  ลดความเจ็บป่วย และผลิตข้าวปลอดสารพิษ  ซึ่งตอนหลังความรู้ของข้าวขวัญกระจายไปทั่วประเทศ มีคนไปดูงานมาก แม้กระทั่งกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยภาคอุตสาหกรรมยังไปดูเพื่อการเรียนรู้ในการปฏิบัติ  KM  นั้นเอง เขาบอกว่าโรงเรียนมี  3  ระดับ คือประถม  มัธยม  อุดมศึกษา ประถมแปลว่าง่ายที่สุดคือจัดการแมลง  มัธยมยากขึ้นมาจัดการดินก็คือเรื่องปุ๋ย แต่ว่าปุ๋ยแบบไม่ต้องใส่สารเคมี  อันที่สามคือจัดการพันธุ์ข้าว พูดอย่างนี้เวลาเรียนเขาบอกว่าบูรณาการ ตอนเรียน  คือ  นักเรียนโรงเรียนชาวนาต้องทำนาเป็น ทำนาประมาณ  4  เดือน เดือนแรกเน้นประถมแต่ก็ทำเรื่องการจัดการศัตรูพืช แล้วพัฒนาพันธุ์ข้าวไปด้วยแต่จุดเน้นคือจัดการแมลง  แต่เรื่องดินและพันธุ์ข้าวก็ทำตัวเน้นคือแมลง  ข้อตกลงในการสมัครเป็นนักเรียนโรงเรียนชาวนาต้องทำนา  อายุเท่าไรก็ได้มาเรียนร่วมกันจริงๆแล้วเป็นการเรียนตลอดเวลาไปดูแปลงนาก็เรียนแต่ที่มาเรียนอย่างเป็นทางการ ครึ่งวันต่ออาทิตย์  ถ้าไม่มาต้องส่งตัวแทนจริงๆแล้วชาวนาก็เป็นทั้งครูและนักเรียน   การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติแล้วก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ตอนระดับประถมก็ทำความเข้าใจแมลง  มีแมลงสองกลุ่มคือแมลงดีกับแมลงร้าย  แมลงดีคือแมลงที่กินแมลงร้าย  แมลงร้ายคือแมลงที่กินต้นข้าวทำอันตรายกับต้นข้าว  ชาวนาไม่เคยมีใครมาบอกเลยว่า แมลงดีมีอยู่ด้วย  เพราะบริษัทขายยาฆ่าแมลงบอกอย่างเดียวว่าเห็นแมลงต้องฉีดยาฆ่าแมลง  บ้านเรามีแต่แมลงดีทั้งนั้น  แมลงร้ายมีน้อยมากเพราะมันโดนกินหมดแล้วคือสมดุลของธรรมชาติแต่บางกรณีแมลงร้ายเพิ่มขึ้นมากจริงๆแมลงดีกินไม่ทันก็ต้องมีวิธีไล่ความรู้ก็มีอยู่พวกสมุนไพรคือตัวอย่าง ทีวีก็บอก  บริษัทก็บอก  นักวิชาการก็บอก ต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำจะเหลืออะไร   ในภาพ นักเรียนชาวนาไปดูงานที่มหาลัยเกษตรกำแพงแสนเพื่อเรียนรู้เรื่องแมลง

          การคัดเมล็ดพันธุ์มีวิธีคัดเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่ปรับปรุงพันธุ์พันธุ์เดิมจะทำให้มันดี  คือเลือกต้นที่จะเป็นต้นพันธุ์ที่แข็งแรงแมลงไม่กิน  รวงสวยรวงใหญ่ไม่ได้เอาจากเมล็ดข้าวเปลือกทั้งกอ แต่เลือกรวงที่ดี   แล้วคัดจากลักษณะของเมล็ดข้าวกล้อง โดยเอาเปลือกออกโดยสีเบาๆ เอาเปลือกออกอย่างประณีตหรือใช้เล็บแกะให้เหลือจมูกข้าว อย่าให้จมูกข้าวชำรุด เพราะนั้นคือเอ็มบริโอ   แล้วจึงเลือกข้าวกล้องการปรับปรุงพันธุ์ให้Productivityประมาณ 30-50 % 

          นักเรียนโรงเรียนชาวนาใช้คู่มือของกระทรวงกระเกษตรเป็นแหล่งความรู้ทฤษฎี   เท่ากับว่า  KM  ใช้ความรู้ ดึงความรู้จากที่อื่นแล้วเอามาใช้โดยตรง ฝึกวิธีใช้  มีการทำยาฆ่าแมลงก็คือสมุนไพร มีเป็น  200  สูตรทดลองอันไหนดีก็เก็บไว้ใช้ อันไหนไม่ดีก็ทิ้ง  ในกรณีที่ต้องใช้บางทีฉีดอยู่สองอาทิตย์แมลงก็คุ้นมันดื้อก็ต้องเปลี่ยนชนิดใหม่ น้ำหมักชีวภาพบำรุงดิน เขาไปหาจุลินทรีย์บำรุงดินที่มาจากดินแล้วเอามาขยายพันธุ์ แล้วดูว่าพันธุ์ไหนเข้าดี ส่วนผสมของใครดีมาก  กรณีที่เก็บจากน้ำตกจังหวัดอุทัยธานี  วิธีเลี้ยงเขาใช้ใบไผ่หมักกับกากน้ำตาลจะขยายอย่างรวดเร็ว จากนั้นนำใบไผ่ที่มีเชื้อจุลินทรีย์แจกชาวนา    รศ. ดร. ก้าน จันทร์พรหมมา แห่ง มวล. ไปเยี่ยมชมและเก็บเชื้อให้ลูกศิษย์เพาะเชื้อ  ว่ามีเชื้ออะไรบ้างที่ทำให้จุลินทรีย์บำรุงดินได้ดี และอาจารย์ก้านให้นักศึกษาปริญญาโทไปทำวิทยานิพนธ์

          จากการทำกิจกรรมโรงเรียนชาวนา..............................(มีต่อตอนที่ ๒ )

 

หมายเลขบันทึก: 488800เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

KM เน้น

- Tacit knowledge (ความรู้ในคน)

- ตัวแปร (Variable) ทำตามความเป็นจริง  ตัวแปรมาก KM  ยิ่งมีพลัง เพราะมีความแตกต่าง ความไม่แน่นอนมาก  มีเรื่องให้เรียนรู้และเรื่องให้ทดลอง มาก          มีเรื่องให้ปรับ KM  ก็จะ.... ยิ่งมีพลัง  

- ขอบคุณมาก สำหรับความรู้ดีๆ นะคะ

อาจารย์ครับ

เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากเลยครับ ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

เหมือนได้ทบทวนความรู้ KM อีกรอบค่ะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

เพื่อความมั่นใจ สำหรับ EK และ TK เพื่อ "ความเข้าใจ" ที่ถูกต้อง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท