ปัญญาด้านสื่อและการสร้างความรู้ เพื่อสุขภาวะสังคมในอนาคต


ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสื่อ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความรู้ วิทยาการ เทคโนโลยี ในปัจจุบัน มีความรวดเร็ว ซับซ้อน หลากหลาย และมีลักษณะที่น่าสนใจอย่างจำเพาะบางประการที่สืบเนื่องอยู่กับพัฒนาการต่างๆของสังคมโลกในปัจจุบัน ผมขอนำเอาข่าวและข้อมูลจากสื่อกรณีการตอบโต้กันทางสื่อของ รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กับผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังกะเหรี่ยงโกลทูบอ มาเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์และใช้ศึกษาให้เห็นถึงข้อที่น่าสังเกตบางประการ เพื่อส่งเสริมการสามารถใช้สื่อและข่าวสารต่างๆให้เป็นสภาพแวดล้อมสำหรับสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ สร้างสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

สื่อมวลชนที่รายงานข่าว บางฉบับรายงานว่าผู้บัญชาการทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงโกลทูบอในกรณีที่กำลังเป็นข่าวนี้ชื่อ 'นะคำมวย' ในอดีตนั้น แหล่งข้อมูลของปรากฏการณ์ต่างๆมีอยู่อย่างจำกัด สื่อมวลชนต่างๆในสังคมมักมีแหล่งข้อมูลเดียวกัน ขณะเดียวกัน แหล่งเหตุการณ์ก็มีความจำกัดอยู่ในสังคมไทย ข้อมูลต่างๆจึงมักสอดคล้องกัน สิ่งที่ปรากฏในสื่อมวลชน จึงมักสามารถใช้อ้างอิงได้อย่างสอดคล้องกันในระดับสาธารณะ แต่ปัจจุบัน จะแตกต่างออกไปจากที่กล่าวมา ดังจะเห็นได้ในลำดับต่อๆไปอีก

บางฉบับใช้ชื่อรายงานว่า 'นะคะมุย' และให้รายละเอียดว่าเป็นทหารชั้นนายพลยศพลตรี

บางฉบับไม่ได้ใช้ทั้ง 'นะคะมวย' หรือ 'นะเคามุย' แต่สะกดและออกเสียงต่างออกไปว่า 'นะคะมุย'

บางฉบับดังตัวอย่างจากภาพข้างบน เมื่อมีข่าวคนละกรอบในฉบับเดียวกัน บางครั้งก็อาจจะพบว่าใช้ชื่อออกเสียงต่างกันสองแบบไปเลยว่า 'นะเคามวย' และ 'นะคะมวย' ทั้งที่เป็นการรายงานคนละกรอบอยู่ในสื่อฉบับเดียวกัน

เมื่อลองตรวจสอบจากหลายๆแหล่ง โดยเฉพาะในสื่อและระบบเข้าถึงข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมออนไลน์ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ผ่านการใช้ระบบค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ของกูเกิ้ล ก็มีสภาพเดียวกัน อีกทั้งข้อมูลแสดงสถานะบุคคล ก็มีทั้ง ยศพลตรี พลโท และพลเอก เรียกว่ามีโอกาสถูกหมดและผิดหมดเท่ากัน การมุ่งได้ข้อเท็จจริงจากสื่อและการอ้างอิงแหล่งข้อมูล จึงลดบทบาทและลดการมีความหมายต่อการบริโภคข้อมูลข่าวสารดังที่เคยเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมต่อสื่ออย่างในอดีตลงไป การเข้าถึงข้อมูลและสื่อในอดีตกับปัจจุบันและอนาคต ของประชาชน จึงเชื่อว่าจะมีจุดหมายเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

ในสื่อสังคมออนไลน์ดังเช่นในพันธุ์ทิพย์ดอทคอม ก็มีข้อสังเกตดังกล่าวนี้ และพยายามช่วยกันให้ความรู้ อีกทั้งชี้ให้เห็นเพิ่มขึ้นอีกว่า ออกเสียงว่า 'นะคังมวย' 'นะคันมวย' 'นะคัมมวย' ก็ได้ ซึ่งแปลว่า ขนที่ริมฝีปาก หรือ หนวดเครา จึงทำให้สามารถสันนิษฐานต่อความหมายอันแท้จริงเพิ่มขึ้นมาได้อีกชั้นหนึ่งก่อนว่า ชื่อและตัวตนดังปรากฏในสื่อนั้นเป็นฉายาของนายพลท่านนี้ที่มี 'หนวดเครา' เป็นเอกลักษณ์นั่นเอง โดยชื่อจริงของเขาคือ 'ซอละปอย' ไม่ใช่ 'นะคะมวย' 'นะคะมุย' 'นะคัมมวย' 'นะคำมวย' หรือ 'นะเคามวย' และ 'นะเคามุย'

หากค้นด้วยภาษาอังกฤษ ก็มีสภาพไม่ต่างกัน โดยบ้างก็เขียนติดกัน เป็น Nakamuay บ้างก็เว้นวรรค Naka Muay ซึ่งก็จะสามารถออกเสียงให้แตกต่างกันไปอีกได้หลายแบบ ชวนให้สับสนได้ไม่น้อยไปกว่าในสื่อพากย์ไทยเหมือนกัน

จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นนี้ กำลังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการมาถึงของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนผ่านจากสภาพอดีตไปสู่อนาคต ที่ผู้คนและชุมชนในระดับต่างๆจำเป็นต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งมีลักษณะจำเพาะที่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้บางประการ .......

๑. ความหมายเชิงบริบทมีบทบาทมากต่อตัวบทของความรู้ต่างๆ : ความรู้และข้อมูลข่าวสารมีความเป็นจริงจากหลายจุดยืนและมีความหมายสอดคล้องไปตามบริบทจำเพาของการนำเสนอข้อเท็จจริงแต่ละชุด

๒. ข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศเกี่ยวกับความรู้ มีฐานะเป็นสิ่งแวดล้อมของชีวิตการเรียนรู้ : ข้อมูลข่าวสารมีลักษณะลดลำดับความสำคัญด้านการนำเสนอสารสนเทศความจริง ไปสู่การเป็นเพียงสภาพแวดล้อมที่ปัจเจกและชุมชนจะจัดความสัมพันธ์ด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งจะเลือกเข้าถึงด้วยตนเอง ความจริงและข้อเท็จจริง จึงไม่สำคัญเท่ากับการพัฒนาการรับรู้ การเลือกสรรและสร้างความมีประสบการณ์ต่อสังคม และวิธีสร้างบทสรุปให้ตนเองของผู้รับ

๓. ความจริงและความรู้ที่จะมีบทบาท คือความรู้และการเกิดการเรียนรู้ที่สามารถสร้างขึ้นในตนเองของเรา : ความสามารถของประชาชนในการเป็นผู้อ่าน ผู้สามารถเข้าถึง และผู้มีความสามารถได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมานั้น จะจัดว่าเป็นการบรรลุจุดหมายของการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันและอนาคตนั้น ศักยภาพและความเป็นพลเมืองในระดับดังกล่าวจะไม่เพียงพอ ผู้อ่านและผู้บริโภคข่าวสารความรู้ จะต้องมีความสามารถในการสร้างความรู้ ตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพข้อมูล รวมทั้งสร้างบทสรุปต่างๆขึ้นได้ภายในตนเอง ต้องใช้สติปัญญาระดับการมีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้น

๔. การเรียนรู้ความเชื่อมโยง เป็นศักยภาพการเรียนรู้ที่จำเป็นมากของสังคมในอนาคต : การสร้างความรู้ การเห็นความหมาย การเกิดแรงบันดาลใจและการสามารถจินตนาการต่อไปได้ด้วยตนเอง ตลอดจนการประเมินให้เห็นถึงมิติเชิงคุณค่าต่างๆ ขึ้นได้ภายในตนเอง มีความสำคัญมากกว่าข้อมูลและความรู้ที่ให้บทสรุปเบ็ดเสร็จจากภายนอก ทำให้มีมุมมองและมีแนวคิดสำหรับศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบ หาข้อมูลและสร้างบทสรุปต่อเรื่องต่างๆที่สนใจให้แก่ตนเองได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างดีที่สุด ไม่สามารถใช้ความรู้และเกิดการตื่นข่าวไปตามคลื่นสังคมและกระแสนิยมในข่าว ดังที่มีบทบาทมากในยุคอดีต

๕. สารสำคัญของสื่อต้องเน้นสร้างแรงบันดาลใจให้คิดและเกิดพลังชีวิตการเรียนรู้ มากกว่าเพียงการรายงานและสร้างวิธีขนส่งข้อมูลความรู้ : กระบวนการคิด การศึกษาค้นคว้า และการเกิดการตรวจสอบข้อมูล ภายหลังการบริโภคสื่อและข้อมูลข่าวสาร หรือกระบวนการชีวิตและกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากการสื่อสารเรียนรู้ จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมมากกว่าข่าวสารและการสื่อสารในจังหวะแรก ดังตัวอย่างของข่าวนี้ ชื่อของผู้บัญชาการทหาร เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกะเหรี่ยงและอีกหลายเรื่องที่กว้างขวางมากกว่าสารสนเทศในข่าว

๖. ภาษาอังกฤษ ก็ไม่สำคัญเท่ากับทักษะและปัญญาเกี่ยวกับตนเองและสังคมวัฒนธรรมในภูมิภาค : ปรากฏการณ์ดังเกิดขึ้นในกรณีศึกษานี้ จะเห็นว่าในสื่อภาษาอังกฤษก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ไม่ได้ช่วยให้ผู้อ่านและการเข้าถึงปรากฏการณ์เรื่องราวที่ครอบคลุมหน่วยความเป็นจริงที่ใหญ่กว่าสังคมประเทศ นำเอาความเป็นสากลด้วยภาษาอังกฤษมาใช้กับลักษณะเฉพาะทางสังคมวัฒนธรรมในภูมิภาค ได้ดีเท่ากับการมีความรู้เกี่ยวกับมิติความหมายในบริบทสังคมวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย

การเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างที่นำมาศึกษาในบันทึกนี้ ให้บทเรียนและแง่คิดบางอย่างว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมไทยจะมีความสัมพันธ์กับประเทศรอบข้างในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น มิติสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนความแตกต่างหลากหลายในเชิงบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมต่อกรณีต่างๆ อันเป็นกรณีเดียวกัน ก็จะปรากฏธรรมชาติความแตกต่างและความซับซ้อนหลากหลายมากยิ่งๆขึ้นดังที่สะท้อนให้เห็นจากสื่อที่ถ่ายทอดเรื่องราวเดียวกันนี้ ขณะเดียวกัน พัฒนาการทางด้านสื่อ วิทยาการ และเทคโนโลยี ก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว้างขวาง มากเป็นทวีคูณ

กรณีตัวอย่างดังในบันทึกนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์และความเป็นจริงอย่างใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งความสามารถเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้แก่สังคม เพื่อก้าวสู่สภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญมากทีเดียว.

...............................................................................................................................................................................................

ขอขอบคุณตัวอย่างภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ : มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก เนชั่น และกูเกิ้ล

หมายเลขบันทึก: 487778เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

แวะมาทักทายอาจารย์ด้วยความเคารพและคิดถึงครับ

อาจารย์บันทึกได้รายละเอียดที่ลงลึก บ่งบอกความต้องการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อลดทุกขภาวะทางสังคมในปัจจุบันของไทย

  • ขอบคุณอาจารย์อย่างมากที่เขียนบทความนี้ซึ่ง "สร้างแรงบันดาลใจให้คิดและเกิดพลังชีวิตการเรียนรู้"  อย่างยิ่งค่ะ ..กำลังพยายามตกผลึกประเด็น หัวข้อบรรยายงานประชุมวิชาการ Plliative care (เล็กๆ) ที่จะมาถึง "medical informatics กับ Palliaitive care" กังวลลึกๆ ว่าผู้ฟังจะตีความว่า informatics = technology แล้วปิดใจเสียก่อน  แต่เจตนาจริงๆ คือ ความรู้ของ Palliative care มักฝังในประสบการณ์ และมักถ่ายทอดมาเป็นเรื่องเล่า  ทำอย่างไรให้ "สาระ" มีการสกัด และเจียระนัย (data mining) ในยุคที่ข้อมูล เรื่องเล่า ข่าวต่างๆ ท่วมท้น
  • ประทับใจกับข้อความนี้   "ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมานั้น จะจัดว่าเป็นการบรรลุจุดหมายของการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันและอนาคตนั้น ศักยภาพและความเป็นพลเมืองในระดับดังกล่าวจะไม่เพียงพอ ผู้อ่านและผู้บริโภคข่าวสารความรู้ จะต้องมีความสามารถในการสร้างความรู้ ตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพข้อมูล รวมทั้งสร้างบทสรุปต่างๆขึ้นได้ภายในตนเอง ต้องใช้สติปัญญาระดับการมีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้น" ขออนุญาตนำไปยกประกอบกับภาพของ Danial Pink

ในความเห็นตนเอง การเข้าสู่ information age เป็นสิ่งท้าทายมากหากคนไทย ทำงานแบบไม่สื่อสารกัน 

  • ข้อสังเกตหนึ่ง ที่อยากแชร์ประสบการณ์ค่ะ ในสังคมตะวันตกนั้น เวลาทำงาน เขาจะสื่อสารกันมาก อะไรนิดอะไรหน่อย ก็โทรหา email หา ถามความเห็น ถามข้อมูลกันจนแน่ใจ พอเวลาส่วนตัวก็เป็นปัจเจก ต่างคนต่างปิดโทรศัพท์ ไม่เปิด email ...ในสังคมเราตรงกันข้าม เวลาทำงาน ไม่สื่อสารกัน เช่น เร็วๆ นี้ คนหนึ่งในทีมไปเอาอุปกรณ์จากสำนักงานกลางก่อนกำหนดด้วยความหวังดี แต่พอถึงกำหนดจริงๆ หัวหน้าทีมไปเอา เป็นอันวุ่นวายว่า ใครเอาไป เมื่อไหร่ อย่างไร (ทั้งๆ ที่สองคนนี้ ทำงานห่างกันแค่ประตูกั้น)  แต่นอกเวลางาน มักมาล้อมวงคุยกัน ปรึกษางานด่วน (จี๋) กันนอกเวลาได้...เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

สวัสดีครับอาจารย์ดร.Pop ครับ

ดีใจหลาย อย่างกับได้เจอแขกที่เป็นพี่น้องญาติมิตรมาเยือนบ้านแน่ะ อาจารย์สบายดีนะครับ ตอนนี้กำลังเตรียมการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาที่เพิ่มเข้ามารุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งใช่ไหมครับ เลยพอมีเวลาเงยหน้าขึ้นจากภารกิจทั้งการสอน วิชาการ กับการบริหาร ให้ได้ หยุดหายใจหายคอบ้างใช่ไหมนี่

เรื่องเล่าในบันทึกนี้ เป็นการแบ่งปันความสนใจในหลายเรื่อง พร้อมกับถือเป็นโอกาสการได้ทำหน้าที่ช่วยกันมองและพากันเรียนรู้ให้กับสังคมในเวทีเล็กๆที่เราทำได้นี้ไปด้วยน่ะครับ ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อการเรียนรู้นั้นก็เป็นเรื่องที่ให้ความใส่ใจและหาโอกาสทำอยู่เสมอเลยละครับ ในส่วนนี้และในแง่ที่เป็นการพัฒนาบทบาทด้านการเป็นสื่อของบันทึกนี้ ก็คิดว่า เป็นการพัฒนาความเป็นสื่อเชิงวิเคราะห์สถานการณ์และย่อยข้อมูลเพื่อสร้างวาระความสนใจที่มีความหมายต่อสังคม จากสื่ออีกทีหนึ่ง มีลักษณะผสมผสานกับของวิธีการทางสื่อหลายย่างครับเช่น เป็นการพัฒนาวิธีสื่อแบบ Investigative Communication เป็นตัวนำ แล้วก็ให้เกิด Educative and Informative Communication หรือการให้การเรียนรู้และเพิ่มเติมข้อมูลชุดใหม่ๆ เพื่อทำให้เรื่องราวต่างๆได้ความสมบูรณ์ ถูกต้อง ได้ความคิด ได้ข้อเท็จจริงที่มีความหมายจำเพาะ ได้ดียิ่งๆขึ้น

การพัฒนาวิธีการสื่อแบบนี้ ก็อาจจะช่วยกันทำหน้าที่ช่วยเสริมสื่อทั่วไปที่มีอยู่ในสังคมแบบทำให้ทันสถานการณ์ไปด้วยกัน เพราะสื่อโดยทั่วไปในสังคมไทยนั้น จะทำหน้าที่ในลักษณะเป็น Reporter และ Information Transfer - Vehicle หรือรายงาน บอกเล่า ถ่ายทอด ส่งผ่าน และขนส่งข้อมูล สิ่งที่าจะตจ้องทำคู่ขนานไปด้วยอีกด้านหนึ่งจึงน่าจะเป็นการได้วิเคราะห์และย่อยข้อมูลเชิงสถานการณ์เพื่อเห็นความหมายที่มีความสำคัญต่อสังคมและชีวิตประจำวัน จากข่าวและสื่อมวลชน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้สังคมจากสถานการณ์ที่เข้ามาห้อมล้อมชีวิตประจำวันผู้คน ซึ่งการสอนและกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดหลักสูตรที่ดำเนินการเป็นระยะเวลานานในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จะทำไม่ทันและอาจจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะการทำให้สถานการณ์ในสื่อ เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการก่อเกิดปัญญาและความฉลาดทางสื่อสำหรับใช้เรียนรู้ให้ทัดเทียมกับความเปลี่ยนแปลง หรือ Learning Communication Literacy ซึ่งจำเป็นมากและจะต้องหาโอกาสช่วยกันทำตามแต่จะมีเวที ก็เลยแทนจัดหลักสูตรชีวิตจริงซ้อนไปบนสถานการณ์สื่อ ทำให้การการบริโภคสื่อและการรับข่าวสาร กลายเป็นห้องเรียนรู้สังคมจากสถานการณ์สื่อและการดำเนินไปของสังคม เพิ่มโอกาสให้สังคมได้ความคิดดีๆจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปตามสภาพความเป็นจริงอย่างมีและเป็นไปน่ะครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ ชอบรูปที่คุณหมอนำมาแบ่งกันดูจังเลยครับ ดูแล้วก็ทั้งทำให้ได้อารมณ์ขัน และเห็นการนำเสนอทรรศนะเชิงวิพากษ์ไปในที  ที่ทำให้ได้อารมณ์ขันนั้นก็เนื่องจาก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับภาพนี้ ก็มักจะนึกถึงการเล่าแบบย่นย่อของการศึกษาทางโบราณคดีกับชีวิวิทยา อธิบายลำดับประวัติศาสตร์พัฒนาการของสังคมและอารยธรรมต่างๆของมนุษย์ ตามแนวทฤษฎีวิวัฒนาการ คนพัฒนามาจากลิง

แต่ในรูปนี้ นำมาวาดล้อเลียนว่า จากลิงก็พัฒนาเป็นเกษตรกร วิศวกร นักธุรกิจ(หรือลักษณะคล้ายกับอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหมือนกันนะครับน่ะ) กระทั่งเป็นหลายอย่างในคนหนึ่งคน คือทั้งซินแส หมอ ศิลปิน และผู้นำคนอื่นเขาด้วยนี่ ชวนได้อารมณ์ขันดีครับ สงสัยคนวาดหรือคนให้ Creative Idea จะเป็นหมอนะครับเนี่ย เหมือนกำลังรำพึงขำๆกับตนเองแบบเล่าด้วยภาพเหมือนกันนะครับว่า ที่คนเป็นหมอต้องมีสภาพทำไปหมดทุกอย่างจนมือจะเป็นลิงแล้วนี่ พัฒนาการมาเป็นยุคๆอย่างไร  เป็นอารมณ์ขันแบบใช้ความรู้จินตาการสร้างสรรเลยละ 

ตรงที่คุณหมอพูดถึงกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีประพฤติปฏิบัติ ในยุคที่สังคมสารสนเทศ  Information age มีบทบาทมากยิ่งๆขึ้นในทุกมิติของสังคมและแทบทุกมิติของชีวิตนั้น สังคมได้เกิดความท้าทายอย่างใหม่ขึ้นมาหลายอย่าง ที่จะต้องมีการเรียนรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจ เลือกสรรประสบการณ์ชีวิตและพัฒนาวิธีทำงาน ให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม อยู่ตลอดเวลาไปด้วย การสื่อสาร รวบรวมข้อมูล และสร้างปัญญาไปบนกระบวนการปฏิบัติ อย่างคุณหมอมีข้อสังเกตนั้น ผมขอเห็นสบับสนุนด้วยเป็นอย่างมากครับ

คนทำงานทุกสาขาต้องมีวัฒนธรรมอย่างใหม่นี้ไปบนการทำงาน มีวงจรคุย สื่อสาร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเพียงพอไปบนกระบวนการปฏิบัติ ซึ่งก็มักจะกลับทางกับที่คนส่วนใหญ่ทำตามความเคยชิน คือ แทนที่จะคุยและสื่อสารกันให้มากก่อนและระหว่างการทำ ก็กลับคุยเรื่องงานกันน้อยก่อนและระหว่างการทำ แต่มักไปบ่นและคุยปัญหาเชิงลบหลังทำทุกอย่างผ่านกันไปแล้ว ปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายมากต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้คนในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน

  • สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์  ที่เคารพ
  • โดนใจตรงนี้เช่นกันนะคะ "สารสำคัญของสื่อต้องเน้นสร้างแรงบันดาลใจให้คิด  และเกิดพลังชีวิตการเรียนรู้"
  • ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงพยายามค่ะ  ในการสื่อสาร  จัดกระบวนการทำให้เพื่อน ๆ ในโรงพยาบาล  เกิดพลังชีวิตในการเรียนรู้  แลกเปลี่ยนกันแล้วต้องสกัดความรู้ออกมา  ใช้ในงานประจำอย่างมีชีวิตชีวา
  • ขอบพระคุณแง่คิดแหลมคมจากอาจารย์เสมอนะคะ
  • ราตรีสวัสดิ์นะคะ

 

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

ขอบพระคุณครับคุณหมอ ตรงแง่มุมนี้อาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้างนะครับ โดยเฉพาะเมื่อนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เรื่องเดียวกันมีข้อมูลและรายละเอียดต่างกัน มาใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ พื้นฐานที่สุดก็ติดตามข่าวสารและสถานการณ์สังคมเพื่อเห็นความเป็นไปของสังคมและสภาพแวดล้อม แต่จากตัวอย่างนี้ หากใช้กรอบการสื่อสารและการอ่านข้อมูลการรายงานเรื่องราวต่างๆทางสื่อแบบในอดีต อันได้แก่ต้องประกอบด้วย 4W+1H = What, Who, When, Where, How มาพิจารณาแล้วละก็ ข่าวสารข้อมูลต่างๆ แทบจะไม่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้เลย แต่ก็เป็นสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏมากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ

หากเป็นอย่างในอดีต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็อาจจะคิดง่ายๆว่าต้องมีกลไกควบคุมและให้อำนาจจำเพาะสำหรับจำกัดการทำหน้าที่ให้สาธารณชนรับข้อมูลข่าวสารทางเดียว ซึ่งถ้าหากใช้วิธีอย่างนี้ในยุคปัจจุบันก็จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลก อีกทั้งกดสังคมให้สวนทางกับพัฒนาการทางด้านต่างๆ

แต่ถ้าหากหากมองว่ากำลังเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของสังคมแล้วละก็ ความคิดหนึ่งที่เกิดตามมาก็คือเราจะสามารถได้อะไรกับข่าวสารในลักษณะนี้ และเมื่อมองให้เห็นข้อจำกัด ขณะเดียวกันก็ก้าวข้ามเพื่อเห็นด้านการทำหน้าที่ต่อสังคมที่ดีๆด้วย ก็เกิดความคิดว่า จุดแข็งของสื่อที่มองด้วยหลัก 4W+1H ไม่ได้นั้น อยู่ตรงไหน

พอมองในแง่นี้ ก็ทำให้ได้ความคิดหลายอย่าง เห็นวาระความน่าสนใจในหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้ประเด็นเชิงสังคมหลายประเด็น เกิดความสนใจที่จะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป เมื่อมองย้อนกับกระบวนการ ก็เลยเห็นบทบาทสำคัญที่ได้จากเรื่องราวในลักษณะนี้ว่าอยู่ที่การให้ความบันดาลใจและสร้างวาระความสนใจ ที่นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆนั่นเอง

ในทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้นี่ การสื่อสารแแบบสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้นั้น มีแนวคิดที่น่าสนใจและมีหลักในการแปรไปสู่การลงมือทำต่างจากแนวคิดการสื่อสารแบบถ่ายทอดข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆอยู่บ้างเหมือนกันครับ การสื่อสารเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์นั้น ชื่อว่าประสบการณ์ชุดใหม่ ความรู้ และสิ่งใหม่ๆที่จะต้องเรียนรู้นั้น อยู่ในแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่ภายนอกตัวคน กระบวนการการสื่อสารจะเน้นการทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์และข้อมูลชุดหนึ่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับ การเรียนรู้จึงหมายถึงการเปิดรับข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดให้ ซึ่งอาจจะประเมินได้จากความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ และทักษะปฏิบัติต่างๆที่สัมพันธ์กับความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่

แต่การสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจนั้น จะมีแนวคิดว่า ความรู้ พลังการเรียนรู้ และพลังการปฏิบัติต่างๆนั้น ไม่ได้อยู่ที่แหล่งภายนอกและไหลถ่ายเทเข้าสู่ตัวคน แต่เป็นกระบวนการที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว สื่อ ข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนความรู้และแหล่งผู้รู้ต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างมากก็เพียงเป็นสภาพแวดล้อมและสิ่งสนับสนุนศักยภาพและพลังการเรียนรู้ ที่ปัจเจกและชุมชนเรียนรู้ต่างๆจะริเริ่มและกำหนดวาระการเรียนรู้ของตนเองขึ้นมาเท่านั้น แม้ในท่ามกลางสถานการณ์การเรียนรู้เดียวกัน ปัจเจกทุกคนก็จะมีความจำเพาะตน ในอันที่จะรับรู้และเลือกสรรการเรียนรู้เสริมต่อไปบนเงื่อนไขเฉพาะตน มีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็เชื่อมโยงกันได้บนระบบคุณค่าและความหมายที่ค่อยๆสั่งสมกันไว้ในระบบสังคม จะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้วางอยู่บนแนวคิดที่เชื่อในศักยภาพมนุษย์และพลังการเรียนรู้ตามศักยภาพของปัจเจกน่ะครับจะหาศึกษาได้จากกลุ่มทฤษฎีมนุษยนิยมแนวใหม่น่ะครับ

ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้เน้นความตายตัวของสารสนเทศอย่างในกรณีตัวอย่างนี้ ก็จะสามารถเน้นการให้น้ำหนักการสื่อสารเพื่อสร้างวาระความน่าสนใจ การสร้างประเด็นที่มีความหมายต่อสังคมและสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้คนได้ความบันดาลใจไปศึกษาเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆต่อไป เช่น เกิดการพูดคุยกันกับคนรอบข้าง หาข้อมูลจากสื่อและแหล่งค้นคว้าต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

ในการทำงานนั้น แนวคิดการสื่อสารเพื่อให้วาระความน่าสนใจร่วมกันและการสื่อสารแบบสร้างแรงบันดาลใจ ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อการสื่อสารทำงานครับ เนื่องจากในกระบวนการทำงานนั้น หากรอให้งานต่างๆเสร็จสิ้นหรือบรรุลจุดหมายต่างๆกระทั่งได้บทสรุปที่แน่นอนก่อนแล้วค่อยสื่อสารให้ได้ตามหลัก 4W+1H นั้น หลายๆเรื่องก็อาจจะช้าเกินไป อีกทั้งเมื่อเสร็จสิ้นแล้วสถานการณ์และความจำเป็นต่างๆก็อาจจะเปลี่ยนไป แม้นจะสื่อสารด้วยข้อมูลแบบ 4W+1H ที่ดีอย่างไรก็ไม่เป็นประโยชน์

แต่ครั้นจะสื่อสารไปบนกระบวนการทำงาน ข้อมูลและเรื่องราวต่างๆก็อาจจะมีสภาพเหมือนกับกรณีตัวอย่างจากสื่อที่นำเอามาศึกษานี้แหละครับ คือ ไม่มากพอ หรือยังไม่เป็นที่สรุปได้ ซึ่งถ้าหากไม่มีวิธีอย่างอื่นช่วย ก็แทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย วิธีสื่อสารเพื่อให้เห็นแนวโน้มความเคลื่อนไหว เกิดประเด็นความสนใจร่วมกัน และเกิดประเด็นที่มีความหมายต่อสังคมหรือต่อชีวิตและการทำการงานต่างๆ ก็จะนำมาใช้ได้ ซึ่งก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่สอดคล้องกับการทำงานไปก็สื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป อย่างใน Gotoknow นี้เหมือนกันนะครับ

ว่าเป็นเรื่องเป็นราวเชียว เรียกว่ามีนานๆทีจะมีเรื่องให้เกิดแรงบันดาลใจเสวนากันเยอะๆในเรื่องแนวนี้ได้ก็แล้วกันนะครับ คุณหมอและทีมมีการทำงานในแนวนี้มามากมายเลยกล้าคุยยาวๆน่ะครับ ผมเองก็ได้ถือโอกาสบันทึกรวบรวมไว้ เอาไว้กลับมาอ่านและทบทวนเรื่อยๆเหมือนกันน่ะครับ

                       

นอกจากการออกชื่อดังในบันทึกแล้ว ก็ยังออกชื่อแตกต่างกันออกไปเพิ่มอีก ๑ แบบ คือ นาคามมวย : ขอแสดงความขอบคุณตัวอย่างเพื่อการศึกษาจากสื่อออนไลน์ของ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๑๔๑

                     

ไม่ใช่ฉายาอย่างเดียว ชื่อจริงก็มีที่แตกต่างกันด้วย : ขอแสดงความขอบคุณตัวอย่างเพื่อการศึกษาจากสื่อออนไลน์ของไทยเอ็นจีโอ www.thaingo.org เข้าเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท