การคิดนอกกรอบ...เตรียมเด็กและเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558


คนไทยเรามักจะติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ โดยไม่รู้ตัว ทำให้เสียโอกาสในการหาทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานไปอย่างน่าเสียดาย

ตอนที่ 2 เตรียมเด็กและเยาวชนไทย สู่ ASEAN Community

             เนื้อหา “ตอนที่ 1 การคิดนอกกรอบ” ที่ได้นำเสนอไปแล้ว (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485963?refresh_cache=true) มีสาระสำคัญว่า “การคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking)” เป็นความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ คิดให้ต่างไปจากความคิดเดิมๆ ที่เคยคิดมาก่อน ซึ่งจะให้ประโยชน์สำคัญสองประการ คือ 1) ช่วยให้สามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาได้สำเร็จ และ 2) ช่วยให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานและชีวิต และได้ให้ข้อคิดว่า "If you always think the way you always thought, you’ll always get what you always got” (ถ้าคุณยังคิดในแบบเดิมๆ ที่คุณเคยคิด คุณก็จะได้รับผลของการคิดในแบบเดิมๆ ที่คุณเคยได้รับ)

             ในตอนที่ 2 นี้ ขอเพิ่มผังมโนทัศน์ (Mind Map) แสดงวิธีการคิดนอกกรอบ ซึ่งจะทำได้โดย 1) การแทนที่ (Substitute) เช่น การคิดว่า มีวัสดุ (materials)/กระบวนการ (process) อื่นใดอีกไหม ที่จะนำมาใช้แทนวัสดุ/กระบวนการเดิมที่มีอยู่ ฯลฯ 2) การดัดแปลง (Adapt) 3) การเชื่อมต่อ (Combine) 4) การปรับเปลี่ยน (Modify) เช่น ปรับเปลี่ยนแนวคิด (idea) รูปแบบ (form) การเรียงลำดับ (sequence) ฯลฯ 5) การทำในสิ่งตรงกันข้าม (Reverse) 6) การตัดทิ้ง (Eliminate) และ 7) การเปลี่ยนคนรับผิดชอบ (Put to Other Users)   

  

               ขอเสนอตัวอย่างของการจัดการศึกษาแบบคิดนอกกรอบ โดยวิธี "ทำในสิ่งตรงกันข้าม (Reverse)” ของ “โรงเรียนนอกกะลา” โรงเรียนเอกชนในอำเภอลำปลายมาศ ท่านที่สนใจในรายละเอียด สามารถศึกษาได้จากบันทึกของคุณราชิต สุพร กัลยาณมิตร GotoKnow ที่ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487520) นะคะ 

 

               บันทึกดังกล่าว รายงานว่า นายวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่ของโรงเรียนนอกกะลา ได้พูดถึงที่มาของการคิดนอกกรอบในการจัดการศึกษาความตอนหนึ่งว่า …ประสบการณ์ในการทำอาชีพครูมานานทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของรัฐไม่สามารถพัฒนาเด็กให้เรียนรู้เท่าทันกระแสได้  ถ้าอยากจะให้การศึกษาช่วยให้คนให้บ้านเมืองเราดีขึ้น จะต้องเขย่ากรอบความคิดในเรื่องเป้าหมายการศึกษาเสียใหม่ กรอบความคิดที่ฝังแน่นอยู่ในประชาชนชาวไทยหรือชาวโลก…ที่บ่มเพาะคนมาเกือบ 150  ปี ที่บอกว่า การศึกษาคือการให้ความรู้ ซึ่งมันก็เหมาะในยุคนั้น เพราะยุคนั้นองค์ความรู้มันมีน้อย เครื่องไม้เครื่องมือที่จะเท่าทันความรู้มันน้อย แต่พอมา 150 ปีหลัง กรอบความคิดนี้ก็ยังอยู่ แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้วอย่างมหาศาล องค์ความรู้มีเพิ่มพูนมากมายหลายเท่าทวีคูณ ไม่มีมนุษย์คนไหนเรียนรู้ได้หมด …ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดนี้มาเป็น สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ….ให้เด็กสามารถสร้างความรู้ หรือสามารถแสวงหาความรู้ที่จำเป็นและมีความหมายต่อเขาได้ในอนาคต เพราะสิ่งที่คนแต่ละคนจำเป็นต้องใช้นั้นไม่เหมือนกัน…

                และตัวอย่างการคิดนอกกรอบ โดยการปรับเปลี่ยน (Modify) แนวคิด (idea) และรูปแบบ (form) ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนได้บันทึกไว้ในปีที่ผ่านมา เรื่อง “การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน ในยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้" (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/434536) สรุปสาระสำคัญได้ว่า การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับ “ยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้" คือ การเปลี่ยนจากการสอนความรู้ไปเป็น “การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong  Learning Competencies)” ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ตามทันการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา การพัฒนาดังกล่าวทำได้โดย 1) การกระตุ้นให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn)  2) สนับสนุนพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) เรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลาจากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว แบบเป็นกระบวนการตลอดชีวิต และ 3) พัฒนาทักษะในการเรียนรู้หรือ "การเรียนรู้วิธีเรียน : Learn How to Learn" ซึ่งผู้เขียนได้ทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) เป็นเวลา 8 ปี (ปี 2545-2552) เพื่อให้ได้รูปแบบ (Model) ขั้นตอนการปฏิบัติ (Stage) และชุดการจัดการเรียนรู้ (Learning Packages) ที่สามารถใช้พัฒนาสมรรถภาพดังกล่าว ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีให้ได้ผลอย่างแท้จริง และได้ไปนำเสนอผลการวิจัยในระยะที่สอง ที่มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ดังภาพล่างขวา (หนุ่มที่เห็นในภาพคือนักศึกษาระดับปริญญาเอกชาวยะลาที่ไปเรียนที่มาเลเซีย และอาจารย์แนะนำให้ไปขอคำปรึกษาจากผู้เขียน เกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอการวิจัย)

  

                พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นิยามว่า “เด็ก” หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และ“เยาวชน” หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ ณ ที่นี้ “เด็ก” จะหมายถึง ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ”เยาวชน” จะหมายถึง ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสถานศึกษาทั้งสองระดับต่างก็ตื่นตัวในการเตรียมผู้เรียนสู่ประชาคมอาเซียนกันอย่างคึกคัก ดังตัวอย่างโรงเรียนในเขตเทศบาลนครอุบลฯ ที่มีครูชาวอังกฤษมาฝึกการสนทนาถามตอบเกี่ยวกับตัวนักเรียนเอง ครอบครัว โรงเรียน และประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับชั้นป.5 ซึ่งนักเรียนสามารถโต้ตอบได้อย่างคล่องแคล่วทั้งเมื่อตอบพร้อมกันทั้งชั้นและตอบและเป็นรายบุคคล (ภาพล่างซ้าย :  เก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่ออกนิเทศนักศึกษาฝึกประสบการณ์ที่โรงเรียน) ต่างจากนักเรียนในท้องที่ชนบท ที่มีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษด้อยกว่ามาก ในเวลาครึ่งชั่วโมงคิดคำศัพท์ได้เพียง I, You, OK (ภาพล่างขวา : ผู้เขียนทดสอบขณะรอญาติที่เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล) ในระดับมัธยมศึกษาก็มีตัวอย่างครูภาษาอังกฤษที่ได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ให้กับนักเรียนชั้นม.6 ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

            

                  ในระดับอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้ขึ้นป้ายหน้ามหาวิทยาลัย แสดงความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มอบนโยบายให้อาจารย์นำไปปฏิบัติในวันประชุมเปิดภาคเรียนที่ 2/2554 และคณะครุศาสตร์ก็นำนโยบายดังกล่าวเข้าในวาระการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ทั้งก่อนเปิดและก่อนปิดภาคเรียน  และในวันที่นักศึกษารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้อ่านข่าวในพระราชสำนัก ได้อ่านข้อความว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จัดการศึกษาพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พุทธศักราช 2558” แต่ถ้าดูจากการให้สารสนเทศเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว มหาวิทยาลัยยังใช้รูปแบบเดิมๆ คือ การติดป้ายเสนอสารสนเทศของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในหัวเรื่องที่หาอ่านได้ทั่วไป ณ จุดที่คนผ่านไปมามองเห็นได้

                ก่อนเขียนบันทึกนี้ ผู้เขียนได้อ่านบันทึกใน GotoKnow ที่ได้เขียนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และพบว่า บันทึกเรื่อง อนาคตการศึกษาอาเซียน”  ของ ร้อยโท พันธ์รบ ราชพงศา (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485086) ได้นำเสนอสารสนเทศเชิงวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียน เพราะกฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติเอาไว้ว่า “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ” (The working language of ASEAN shall be English) ประเทศที่จะแข่งขันในเวทีอาเซียนได้ จึงต้องมีความชำนาญในภาษาอังกฤษ เช่น ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ  และชาวฟิลิปปินส์กที่สามารถติดต่อสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และได้เสนอให้ประเทศไทยหันมาเน้นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น โดยเน้นที่การฟังและการพูดเพื่อให้สามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าชาติอาเซียนในอนาคตได้ และยังได้เสนอข้อมูลดัชนีการพัฒนามนุษย์จาก Human Development Report 2011 ของ UNDP ที่พิจารณาจากดัชนีการศึกษา (Education Index) ที่คำนวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ได้รับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มและจัดอันดับจากทั้งหมด 187 ประเทศ ในสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศนั้น สิงคโปร์ (อันดับที่ 26) และบรูไน (อันดับที่ 33) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก มาเลเซีย (อันดับที่ 61) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับกลาง มี 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย (อันดับที่ 103) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 112) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 124) เวียดนาม (อันดับที่ 128) สปป.ลาว (อันดับที่ 138) และกัมพูชา (อันดับที่ 139) สุดท้ายคือ พม่า (อันดับที่ 149) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำ และได้ชี้ว่า สิงคโปร์ได้ใช้นโยบาย “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” (Teach Less, Learn More) เป็นกรอบวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาเพื่อเตรียมประเทศเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

                  จากการอ่านบันทึกดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนเกิดแนวคิดว่า ถ้าจะให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนศึกษา ควรเปลี่ยนจากการคิดในกรอบเดิมๆ คือการให้สารสนเทศของแต่ละประเทศในประเด็นซ้ำๆ กัน ซึ่งจะหาอ่านได้ทั่วไปในเว็บต่างๆ ไปเป็นการคิดนอกกรอบ โดยการปรับเปลี่ยน (Modify) รูปแบบ (form) เป็นการเสนอสารสนเทศเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ ซึ่งจะทำให้เนื้อหาที่นำเสนอมีความหมาย น่าสนใจ ประเทืองปัญญา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ศึกษาได้มากกว่า ดังตัวอย่าง การวิเคราะห์เปรียบเทียบสถิติประชากร อันดับดัชนีการศึกษา และอัตราการอ่านของประชากรเฉลี่ยต่อปีต่อคนของ 4 ประเทศ (อัตราการอ่าน นำสารสนเทศมาจากรายการช่วยคิดช่วยทำ ช่อง 3 วันที่ 30 มีนาคม 2555)  

                  จากอัตราการอ่านของคนไทยที่ต่ำกว่าอีก 3 ประเทศมาก (ไทย 5 เล่ม มาเลเซีย 40 เล่ม เวียดนาม 60 เล่ม และ สิงคโปร์เล่ม 70 เล่ม) และยังเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิงมากกว่าอ่านเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ การทำงานและการดำเนินชีวิต หลายฝ่ายจึงอยู่นิ่งไม่ได้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้ทศวรรษแห่งการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 (ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของคนไทย) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ได้จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2555 “TK Conference on Reading 2012” ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ โดยเน้นด้านการส่งเสริมการอ่านและแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ในงานดังกล่าว รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” สรุปความได้ว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ก็เพื่อประโยชน์ร่วมกันในด้านการค้า การผลิต การบริการ การลงทุน การใช้แรงงานฝีมือที่เสรี…สิ่งที่สร้างความตื่นตัวได้ดีคือ การอ่าน เพราะเป็นการเปิดประตูข้อมูลที่แท้จริง ...สิ่งที่กังวลในใจมากที่สุด คือ เรื่องภาษาอังกฤษ คนแอฟริกาใต้ 50 ล้านคนทั่วประเทศ แทบทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่หรือเด็ก ทั้งที่การพัฒนาภาษาอังกฤษเพิ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2537 โดยเขาได้กำหนดให้ทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษวันละ 1 ชั่วโมง ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ประชากรของอินโดเซียจำนวน 230 ล้านคน มาเลเซีย 26 ล้านคน สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ฟิลิปปินส์ไม่ต้องพูดถึง สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งหมด ส่วนประเทศไทยจำเป็นจะต้องยกเครื่องใหม่ 

                 การคิด/ทำนอกกรอบที่น่าคิด/ทำมากที่สุด คือ การทำในสิ่งตรงกันข้าม (Reverse) กับที่เคยทำกันมา โดยเปลี่ยนจากวิธีการที่ครูอาจารย์เป็นผู้ป้อนความรู้ ไปเป็นให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้แสวงหาและนำเสนอความรู้เอง โดยครูอาจารย์ทำหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวก (Facilitating) ให้คำปรึกษา (Counseling) และ ให้การเสริมแรง (Reinforcing) เพราะในยุคดิจิตอล สารสนเทศมากมายมหาศาลสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และเด็กและเยาวชนก็สามารถใช้ IT ได้ทั่วไป  อนึ่ง การเรียนรู้ด้วยการลงมือแสวงหาความรู้และนำเสนอด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากกว่าการเรียนรู้เชิงรับ (Passive Learning) เหลือคณานับ ผู้เขียนเอง ได้จัดกิจกรรมเสริมการศึกษาอาเซียนในชั้นเรียนวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ดังภาพล่าง (การให้ทำปฏิทินจากเว็บดังภาพซ้าย เป็นการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการการพัฒนาทักษะ IT ภาษา E และ Creativity และนักศึกษาเจ้าของผลงานเป็นชาวกัมพูชา)

                 

              การสอนในชั้น และการจัดกิจกรรมเข้าค่ายหรือจัดอบรมเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะด้วยวิธีการดังกล่าว ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบปี ผู้เรียนก็ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงน่าจะลองปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบ ดังที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในบันทึกเรื่อง "การพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน : เกาให้ถูกที่คัน"  (http://www.gotoknow.org/blog/post/457133) ที่ได้กล่าวถึงผลการวิจัยที่ชี้ว่า นักเรียนนักศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษแล้วล้มเหลว ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา ไม่ใช่ปัจจัยด้านวิธีการเรียนและด้านตัวครู ซึ่งแม้สองปัจจัยหลังจะมีความสำคัญ แต่ปัจจัยด้านจิตวิทยาสำคัญมากกว่าเพราะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ถึง 80 % ที่เหลือ 20 % จะอยู่ที่สถานศึกษา ครูอาจารย์ หนังสือเรียนและวิธีการเรียนรู้ ปัจจัยทางจิตวิทยา หมายถึง แรงจูงใจและอารมณ์ของผู้เรียนซึ่งจะต้องรักในสิ่งที่ตนเรียน รวมไปถึงการจัดการเรื่องเวลาในการเรียนรู้"  บทบาทของครูจึงควรปรับเปลี่ยน (Modify) แนวคิด (Idea) และรูปแบบ (form) เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชน เห็นความจำเป็นและต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ให้สามารถใช้ในการสื่อสารได้จริง ผู้ที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษ จนมีทักษะสามารถนำไปใช้สื่อสารได้จริงนั้น คือ ผู้ที่มั่นคงในเป้าหมายที่จะพัฒนา และดำเนินการพัฒนาอย่างเอาจริงเอาจังเท่านั้น ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาอ่านข้อคิด เรื่อง ทำอย่างไรให้พูดภาษาอังกฤษเก่งเร็วๆ” ซึ่งสรุปเนื้อหาจาก URL Blog: http://learning.eduzones.com/winny (2551) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้แนวทางในการพัฒนาทักษะการฟังพูดภาษาอังกฤษ 

                 ...เราเรียนภาษาอังกฤษกันมานาน เรียนมาก็หลายวิธี แต่ขอให้น้องช่วยคุยกับฝรั่งหน่อยได้มั้ยครับ ถ้าฝรั่งเดินเข้ามาหาน้องพร้อมกับแววตาที่ส่องประกายถึงความหวังว่าน้องจะช่วยเขาได้ “Excuse me. I wanna get to MBK. Could you tell me where it is?” ถ้าเป็นน้อง น้องจะทำอย่างไร ระหว่าง 1) บอกทางเค้าด้วยความมั่นใจเป็นภาษาอังกฤษแบบถูก Grammar เป๊ะๆ 2) บอกทางเค้าแต่เป็นแบบไทยคำอังกฤษคำ “นี่นะ you walk ไปทางนี้นะ แล้ว you ก็เลี้ยวซ้ายนะ turn left นะ you know? แล้ว you ก็ walk ข้ามสะพานลอยนะ นั่นแหละ MBK ล่ะ you understand มั้ย 3) อึ้ง…หันไปพูดกับเพื่อน “นี่ ตัวเองเก่งภาษาอังกฤษไม่ใช่เหรอ บอกเค้าไปซี่นั่นไงมาบุญครอง เราพูดไม่เป็น 4) หน้าซีด พูดอะไรวะไม่เห็นรู้เรื่อง เฮ้ย! เผ่นเถอะ…ถ้าน้องตอบข้อแรกก็แสดงว่าน้องเก่งมาก แต่เวลาพูดกับฝรั่ง ไม่ต้องมานั่งนึกให้มันถูก Grammar แค่คิดว่าจะสื่อสารให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันก็พอแล้ว …ถ้าน้องเลือกข้อสุดท้าย พี่ก็ขอบอกว่า ถึงแม้ว่าประเทศตะวันตกเค้าจะเจริญกว่าเรา แต่เขาไม่ได้มาล่าเมืองขึ้นนะ เค้าแค่มาเที่ยว มาชมความสวยงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศเรา แล้วน้องจะไปกลัวเขาทำไม ถ้าพูดไม่ได้ก็ยิ้มให้เค้าหน่อย แล้วโบกมือให้เค้ารู้ว่าเราไม่เข้าใจ แล้วเค้าก็จะไปถามคนอื่นเองแหละ แต่น้องก็อยากจะสื่อสารกับฝรั่งให้รู้เรื่องใช้มั้ยล่ะ ครั้งแรกที่พี่ไปเมืองนอกตื่นเต้นมากไปออสเตรเลีย…ตอนนั้นพี่เรียนอยู่ประมาณ ม. 2 แอร์โฮสเตสถาม “Fish or beef?” แค่นั้นพี่ก็ไม่กล้าตอบ กลัวมาก แกล้งทำเป็นหลับให้แม่เลือกให้ เจ็บใจตัวเองมาก แต่วันจะกลับมีฝรั่งมาคุยด้วย เขาถามอะไรจำไม่ได้รู้แต่ว่าตอบไปแล้วเค้ารู้เรื่อง กลับมาอวดเพื่อนว่าไปคุยกับฝรั่งมา เพื่อนๆ ก็ฮือฮา เฮ้ย! เก่งจังเลย ฟังเค้ารู้เรื่องด้วยเหรอ เราก็ปลื้มสิ หลังจากนั้นพี่ก็เลยชอบภาษาอังกฤษ ฟังเพลงฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง ชอบศิลปินฝรั่ง…แล้วน้องล่ะครับ เรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งนานแล้ว น้องคงไม่ได้ตั้งใจแค่ใช้สอบเท่านั้นใช่มั้ยครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็น่าเสียดายมากเลย เราอุตส่าห์เรียนกันมาตั้งนาน ต้องใช้มันสิน้อง ถ้าเราใช้ภาษาอังกฤษได้ จะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง Practice makes perfect. นะครับน้อง ฝึกบ่อยๆ ซักวันน้องก็จะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วแล้วมันก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวน้องเองแหละ …อย่าไปอาย พูดผิดวันนี้ เราก็จะพูดถูกในวันหน้า ว่าไงครับน้อง วันนี้น้องพูดภาษาอังกฤษแล้วรึยัง

                    ในการจัดให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยตนเองนั้น ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาดำเนินการตามขั้นตอนในภาพข้างล่าง เริ่มจากการประเมินตนเอง เพื่อให้รู้ระดับทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนของตนเอง (This is me.) แล้วกำหนดเป้าหมายการพัฒนา (This is where I want to get to.)

          

                  สำหรับวิธีการที่ผู้เขียนเสนอแนะให้ผู้เรียนนำไปใช้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย (This is how I will get there.) คือ การสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว เช่น จากบุคคล จากป้ายต่างๆ จากกล่องผลิตภัณฑ์ จากรายการวิทยุ โทรทัศน์ จาก หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร จากแบบฟอร์ม และ Brochure ที่หน่วยงานต่างๆ จัดทำขึ้น จากการเข้าค่าย/เข้ารับการอบรม และการเรียนรู้จากเว็บต่างๆ รวมทั้งการศึกษาจากบันทึกใน GotoKnow โดยให้บันทึกการเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ ดังกล่าว แต่การเรียนรู้จากบางแหล่งในเมืองไทยก็อันตรายเหมือนกัน อย่างเช่น ป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิ ควรจะแปล "Security" ว่า ความปลอดภัย ไม่ใช่ ความมั่นคง เพราะเป็นเรื่องของการให้บริการ คำว่า Change you (your) shoes. ที่ป้ายส้วมสุดยอดแห่งปีที่ผอ.พรชัย ภาพันธ์ถ่ายภาพมา ก็ผิดและไม่มีการตรวจสอบแก้ไข หนักสุดก็คือ Blekflat จากเมนูอาหารของรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลฯ แทนที่จะเป็น "Breakfast" ป้ายที่พม่า (ภาพขวาสุด) เขายังสะกดคำไม่ผิดเลยทั้งที่การศึกษาเขาล้าหลังกว่าเรามาก (น่าอายเขาไหมล่ะ คงไม่อ้างนะคะ ว่า ก็เขาเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษนี่) 

               การเรียนรู้จากบุคคล เป็นการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริง (Real Life Situations) กับเจ้าของภาษา ดังภาพล่างที่ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาออกไปสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวตะวันตก (The Westerners : คำสุภาพของคำว่าฝรั่ง) ที่ไปเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนที่จังหวัดอุบลฯ หลังจากการดูตัวอย่างจากสื่อที่ผู้เขียนจัดทำขึ้น การศึกษาบทสนทนาจากแหล่งต่างๆ เพิ่มเติม เตรียมร่างบทสนทนา และแสดงบทบาทสมมุติในชั้น 

            ประสบการณ์ตรงจำเป็นมากในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ตอนที่ลูกชายไปเยี่ยมผู้เขียนที่ Perth, Western Australia (ขณะที่ลูกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ลาดกระบัง) ผู้เขียนได้ให้เขาเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากประสบการณ์ตรงในการสื่อสารกับชาว Aussies  (สำเนียง Aussie จะฟังยากกว่าสำเนียงของชาวอังกฤษและอเมริกันมาก แต่ส่วนใหญ่อาจารย์ที่สอนผู้เขียนในระดับปริญญาเอกจะเป็นชาวอังกฤษ และที่ออสเตรเลียจะใช้ "ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ [British English])  เวลาไปซื้ออาหารผู้เขียนก็จะบอกประโยคสื่อสารให้ แล้วให้ลูกเข้าไปซื้อเอง แรกๆ ก็ได้อาหารไม่ตรงกับที่ต้องการ ตอนหลังเขาก็ทำได้  มีครั้งหนึ่งลูกต้องการใช้โทรศัพท์มือถือที่นำไปจากเมืองไทย ซึ่งต้องโทรศัพท์ไปลงทะเบียนก่อน ผู้เขียนได้ให้ลูกโทรฯ สมัครเอง ปรากฏว่าเขาก็กล้าที่จะสื่อสาร แต่ครั้งแรกทำไม่สำเร็จเพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ลูกเขียน "Opened Diary" จากประสบการณ์ดังกล่าวจำข้อความตอนท้ายได้ติดตาว่า "...เสียความมั่นใจไปเยอะเลย" ผู้เขียนรู้สึกเวทนาลูก แต่เขาเองก็ไม่ยอมแพ้ วันหลังผู้เขียนเห็นเขาลองใหม่และก็ทำได้สำเร็จ การพูดภาษาอังกฤษนี่ สูตรสำคัญข้อแรก คือ "ต้องกล้าและไม่กลัวผิด"  เพราะเวลาชาวต่างชาติพูดภาษาไทยผิด เราเห็นเป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูฉันใด เวลาเราพูดภาษาอังกฤษผิด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูในสายตาของชาวตะวันตกฉันนั้น อย่างเช่น ที่แอนดรูว์ บิกส์ สั่งอาหารว่า "ขอไข่ม้าเยี่ยว (เยี่ยวม้า) 1 ที่" และถามแม่ค้าว่า "ข้าวเหนียวสังฆราช (สังขยา) ขายยังไงครับ" ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าอาย แต่ฮาและน่าเอ็นดูมากกว่า 

                ในอดีต ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาดูวีดิทัศน์ (ที่ผู้เขียนบันทึกจากรายการโทรทัศน์) เกี่ยวกับปัญหาการไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษของบุคคลสาธารณะ ส่งผลให้ใช้ชีวิตในต่างประเทศด้วยความลำบาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้อยากสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เช่น สมรักษ์ คำสิงห์ ไปชกมวยที่บรูไน แล้วออกไปเที่ยว ขากลับจำชื่อโรงแรมไม่ได้ จะสื่อสารกับแท็กซี่ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จำได้เพียงว่าโรงแรมมีน้ำพุอยู่ด้านหน้า ก็เลยใช้ภาษาใบ้ทำท่านอน แล้วพูดว่า Water พุ ๆ ส่วนจินตะหรา พูนลาภ ตอนไปทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา แล้วแอบหนีไปเที่ยวกันตามลำพัง เกิดหลงทางและหิวข้าวแต่ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ เข้าร้านอาหาร อยากรับประทานยำเล็บมือนาง (บ้านเขามีเมนูนี้ด้วยหรือ) ก็เลยใช้ภาษาใบ้ทำท่าตีปีกและชี้ไปที่นิ้วเท้า (แล้วเขาจะรู้เรื่องไหมนี่)

                ย้อนกลับมาที่การพัฒนาตน เมื่อพัฒนาไปได้ครึ่งทาง ก็ให้ผู้เรียนจับคู่แลกเปลี่ยนกันประเมินการเรียนรู้และความก้าวหน้าของตนตามใบงาน (This is how I am doing.) และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการพัฒนาตน ก็ให้ประเมินว่า ตนพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ (This is what I have achieved so far.) มีอะไรเป็นปัญหา และจะทำอะไรต่อไป อนึ่งผู้เขียนได้กระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษ  ประกอบด้วย การทำให้เห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษ การจัดกิจกรรมให้ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยความเพลิดเพลิน และการสร้างความเชื่อมั่นว่า ตนเองจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้สำเร็จ มีกิจกรรมให้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษในชั้นเรียน และการให้นำภาษาอังกฤษไปใช้จริง เช่น ในการเขียนคำอวยพร การทำปฏิทินจากเว็บ  การเขียนปณิธานปีใหม่ สิ่งที่ผู้เขียนรู้พึงพอใจมากที่สุดก็คือ อย่างน้อยก็มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่หันมาชอบภาษาอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากการวาดภาพและเขียนข้อความในปกรายงานการพัฒนาตน ซึ่งในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น นักศึกษาจะวาดจะเขียนอะไรก็ได้ ตามความพอใจของแต่ละคน (As you like it.)...มีบางคนบอกว่ารักครูด้วย  

 

               ผู้เขียนเอง ก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษในทุกที่ทุกเวลา เช่น ติดตามดูรายการโทรทัศน์ที่ให้ความรู้ภาษาอังกฤษทุกรายการ เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะภาษอังกฤษทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยจัด อ่านจากเอกสารต่างๆ ดังตัวอย่างที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน  พ.ศ. 2555 หน้า 15 คอลัมน์ “เปิดฟ้าภาษาโลก” เขียนโดย คุณนิติ นวรัตน์ ได้ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “Serve” (ดัดแปลงบางประโยคให้เหมาะกับบริบทของผู้เขียน) ดังนี้ 1)              ถ้าพนักงานต้อนรับพูดว่า “Sabella. At  your service.” จะแปลว่า “ชื่อซาเบลลา ยินดีต้อนรับค่ะ”  2)               ถ้ามีคนพูดกับผู้เขียนว่า “You used to study in Perth, Western Australia, if my memory serves.” จะแปลว่า “ถ้าผมจำไม่ผิด คุณเคยเรียนที่เมืองเพิร์ธ รัฐออสเตรเลียตะวันตก และ 3)              ถ้านักศึกษาไม่ได้เข้าชั้น 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียน และอ้างว่า เพราะหาห้องเรียนไม่พบ แล้วอาจารย์พูดว่า “That excuse does not serve you.” จะแปลว่า “ข้อแก้ตัวนั้น ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเธอหรอกนะ" และภาพล่างเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ขณะผู้เขียนเดินทางท่องเที่ยว

                 คนไทยเรามักจะติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ โดยไม่รู้ตัว ทำให้เสียโอกาสในการหาทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาและการพัฒนางานไปอย่างน่าเสียดาย สิ่งที่แสดงว่าเราติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ก็คือ เมื่อให้วาดภาพต่อเติมจากรูปสามเหลี่ยม ผู้รับการทดสอบที่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเป็นครูอาจารย์ ก็จะมีผู้ที่ต่อเติมเป็นภาพบ้านอยู่ในช่วงร้อยละ 25-45 ซึ่งอาจเกิดจากในวัยเด็ก ครูพาวาดรูปบ้านที่มีจั่วสามเหลี่ยม (ภาพที่มีผู้วาดซ้ำกันร้อยละ 12 ขึ้นไป จะได้คะแนนความคิดริเริ่ม 0) เด็กหญิงชายป.3-4 ที่เข้าร่วมกิจกรรมในรายการกล่องนักคิด สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ส่วนใหญ่ก็จะต่อเติมรูปสามเหลี่ยมเป็นภาพบ้าน แต่มี 1 คนที่ต่อเติมเป็นภาพสุนัข ท่านคิดว่ารูปสามเ

หมายเลขบันทึก: 487729เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

อาจารย์ครับ ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า "จัดหนัก" ครับ จัดหนักทั้ง "เนื้อหา" จัดหนักทั้ง "ความเป็นจริง" และจัดหนักทั้ง "มีประสบการณ์" ผมเป็นคนชอบโดนผู้ใหญ่ว่าเสมอว่าเป็น "เกาะดำ" "กาในฝูงหงส์"

แต่คิดในทางทีดี นั่นเป็นคนชม "เพราะผมแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด"

ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้ครับ

ชื่นชม สไตล์การเขียนแปลกใหม่ชวนร่วมคิด การร้อยเรียงแบบมี outline แล้วเสริมด้วย หลักการกับบทความกัลยาณมิตรใน gotoknow ที่มาเป็นตัวอย่าง ให้เห็นภาพ เป็นสไตล์ที่ขออนุญาตเรียนรู้ไว้ในการเขียนครั้งหน้าบ้างค่ะ

ปล. ขออนุญาตตอบร่วมสนุกค่ะ 1 คนวาดเป็นภาพสุนัข ท่านคิดว่า รูปสามเหลี่ยมเป็น....หน้า.....ของสุนัข ( เดาว่าเด็กเติมหูสองข้าง เข้าไป) และเด็กที่วาดรูปสุนัขน่าจะเป็นเพศ......หญิง...........เพราะ.......ถ้าหลุดกรอบ.ผู้หญิงน่าจะมีแนวโน้มคิดถึงสิ่งมีชีวิต .มากกว่าวัตถุแบบเด็กชาย........................)

สวัสดีค่ะ

  • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกที่มีเนื้อหาให้ความรู้เป็นอย่างดี
  • อยากมอบดอกไม้ให้หลาย ๆ ดอกจัง
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • การยึดติดหรืออยู่ในกรอบหรือแนวทางเดิมมีส่วนดีในบางเรื่อง หากแต่สังคมโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก..ที่เห็นใกล้ๆก็คือประชาคมอาเซียนที่กำลังใกล้เข้ามา การเตรียมความพร้อมของเราตื่นตัวหรือพร้อมก็เฉพาะบางภาคส่วน แต่ยังคงต้องดูแลและจริงจังในส่วนที่ขาด..ที่ยังมีให้เห็นอีกมากทีเดียว
  • อัดแน่นด้วยเนื้อหา พร้อมตัวอย่าง และการแสดงความคิดเห็น ชอบจังค่ะ
  • และขอขอบพระคุณมากๆค่ะ ที่กรุณานำมายกตัวอย่างในบันทึกของอาจารย์

เรียนอาจารย์ น้องวิไล...

อ่านบันทึกนี้เหมือนนั่งเรียนหรือฟังในเวที ทั้งวัน เพราะอ่านได้แต่ละตอนต้องย้อนขึ้นไปอ่านใหม่

อ่านทำความใจและแกะผังมายแมฟ

ด้วยว่าประเด็นของเกษตรกรก็กำลังเตรียมเกษตรกรสู่อาเซี่ยน ฟังเซียนจากกรมเจ(เจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

ก็มองไปในทิศทางการแข่งทางการค้าและภาษีที่ต้องเป็นศูนย์

แต่กระบวนการผลิต การคิด การใช้พื้นที่ การแปรรูป เท่าฟังยังไม่เตรียม หรืออาจเตรียมแล้ว แตไมรู้

ก็ต้องไปชวนคิดต่อว่าเกษตรแบบพอเพียงที่แข่งขันและส่งออกสู่อาเซี่ยนแบบใหน

(เปลี่ยนรูปใหม่อีกแล้ว(รูปนี้แหละตัวตนนักเดินทางหมื่นลี้)

เรียนอาจารย์น้องวิไล เปลี่ยนภาพประจำตัวอีกแล้ว...

ภาพนี้ถ่ายตอนเดินป่าเขาบรรทัด ที่ยอดเขาเจ็ดยอดครั้งล่าสุด (เดินทางหมื่นลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม)

ยังอ่านไม่หมดเลยค่ะอาจารย์ ให้ดอกไม้ไว้ก่อน เดี๋ยวกลับมาอ่านใหม่

  • ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่มีน้ำใจไปแวะเยี่ยม ให้กำลังใจ แสดงความเห็น และร่วมกิจกรรมในบันทึกนี้ ผู้เขียนต้องขออภัยที่เข้ามาตอบช้า เพราะหลังจากลงบันทึกไว้ในบ่ายวันที่ 11 พฤษภาคม ก็เป็นช่วงเวลาที่เดินทางตลอด และเพิ่งจะมีโอกาสเข้ามาแก้ไขบันทึกให้เข้าที่เข้าทางเช้ามืดวันนี้ และสิ้นสุดการแก้ไขสายๆ วันนี้ค่ะ หลังจากได้รับความช่วยเหลือด้าน IT จากลูกชาย ทำให้สามารถเข้าถึงหน้าแรกของ GotoKnow ได้ชั่วพริบตา ขณะที่ตอนอยู่ที่อุบลฯ ผู้เขียนจะเข้าถึงได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุดประมาณ 15 นาที มากที่สุดประมาณสองชั่วโมง (ตอนอยู่ที่ฟาร์ม) ขณะนี้ผู้เขียนพักอยู่กับลูกชายที่กทม.และจะเดินทางไปเชียงใหม่กับลูกๆ พรุ่งนี้ค่ะ   

               ขอขอบคุณ "คุณตั่วเฮียIco48 : อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง" ขอบคุณ "อาจารย์หมอป.Ico48  : ผู้เป็นแรงบันดาลใจของผู้เขียนในหลายๆ เรื่องที่ผู้เขียนได้นำไปเป็น คนบันดาลใจ (The Idol) ด้านความใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) รักการอ่านให้กับนักศึกษา และเป็นกัลยาณมิตรที่มีน้ำใจไปแวะเยี่ยมให้กำลังใจแก่ผู้เขียนเสมอมา"

               ขอบคุณ "คุณอิงจันทร์ ณ กระท่อมอิงจันทร์Ico48 :  ผู้มีผลงานบันทึกเชิงสร้างสรรค์ใน Gotoknow มากมาย" ขอบคุณ "คุณครูกาญจนา สุวรรณเจริญIco48 : ครูภาษาอังกฤษระดับม.ปลาย ผู้มีสัมพันธภาพแบบเป็นกันเองกับผู้เรียน และจัดการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นประสบการณ์ตรง"

              ขอบคุณ "คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoeiIco48 : ที่ผู้เขียนขอสมัครเป็นน้องสาวตามอารมณ์ความรู้สึก ทั้งที่อายุจริงของผู้เขียนอาจจะมากกว่าท่าน" และ ขอบคุณ "คุณชลัญธรIco48: กัลยาณมิตรที่ผู้เขียนประทับใจในานการให้บริการสาธารณสุขด้วยจิตวิญญาณและการเป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement Motivation) สูงของเธอ จนต้องนำไปเป็นคนบันดาลใจในสองด้านดังกล่าวให้กับครูแนะแนวที่เข้ารับการอบรมกับผู้เขียนในวันที่ 28-29 เมษายน ที่ผ่านมา และจะนำไปเป็นคนบันดาลใจด้านการเป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง ให้กับนักศึกษาของผู้เขียนในภาคเรียนที่ 1/2555" 

  •                                                  Original_rosekitten

ขอบคุณครับ.. ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่..

http://www.facebook.com/lamplaimatpattanaschool

  • ขอบคุณและยินดีที่ได้รู้จัก "คุณวีเจบี ดีใจIco48 " จากสุรินทร์ จังหวัดที่ผู้เขียนทำงานในปี 2520-2527 และเป็นจังหวัดที่ลูกทั้งสองลืมตาดูโลก

  • ขอบคุณ "อ.นุ Ico48 : กัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณ" ของผู้เขียน

  • ขอบคุณ "คุณครู Rinda Ico48" คุณแม่ยังสาวของสามหนุ่ม...ผิวที่หมองคล้ำจากการเล่นน้ำสงกรานต์ คงจะกลับมาผุดผ่องดังเดิมแล้วนะคะ

  • ขอบคุณ "คุณครู NoktalayIco48 : ครูแคมีผู้แข็งขันจากดินแดนด้ามขวาน"

  • ขอบคุณ "ลูกขจิตIco48 : ลูกชาย GotoKnow" ที่เคยทำให้ลูกสาวของผู้เขียนงอนมาแล้ว ว่า แม่พูดถึงบ่อย

  • ขอบคุณ "ผศ.เดชา สว่างวงศ์Ico48" คนเมืองยศ เมืองภูมิลำเนาของผู้เขียน ...ที่ผู้เขียนยังงงอยู่ว่าท่านอยู่ที่ชัยภูมิหรือพิษณุโลกกันแน่ แต่ได้ส่งเมล็ดพันธุ์ไก่ฟ้าพญาลอไปให้ท่านตามที่อยู่ที่ทำงานที่พิษณุโลก

  • และขอบคุณ "คุณครูราชิต สุพรIco48" ที่อนุญาตให้นำบันทึกของตน มาอ้างอิงในบันทึกนี้

                                                     Original_1029-034-04-1017

  • "คุณตั่วเฮียIco48" บอกว่า อาจารย์ครับ ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า "จัดหนัก" ครับ จัดหนักทั้ง "เนื้อหา" จัดหนักทั้ง "ความเป็นจริง" และจัดหนักทั้ง "มีประสบการณ์"...อิอิ...ผู้สูงวัยอย่างอ.วิ (ชื่อที่รุ่นพี่ที่ทำงานใช้เรียก ตอนนี้ท่านเกษียณกันไปหมดแล้ว อีกไม่กี่เดือนอ.วิก็จะตามไป) ก็ใช้คำว่า "จัดหนัก" เหมือนกันนะคะ เคยใช้แสดงความเห็นต่อบันทึกของคุณคนไกลบ้าน ที่ลงภาพล้อเลียนบทบาทของอดีตนักการเมืองท่านหนึ่ง พอแสดงไปปรากฏว่าท่านร้อนตัว ลบบันทึกนั้นไปเลย เพราะกลัวว่าจะหนักไปจริงๆ ทั้งที่อ.วิไม่ได้เจตนาให้เป็นเช่นนั้น แต่คำว่าจัดหนักที่คุณตั่วเฮียใช้แสดงความเห็นต่อบันทึกนี้ ไม่ได้ทำให้อ.วิร้อนตัว เลยไม่ส่งผลให้ลบบันทึกนะคะ  

  • คุณตั่วเฮีย (เคยได้ยินหนังจีนย้อนยุคเรียกว่าตั้วเฮีย และได้ถามไปในบันทึกว่า จริงๆ แล้วออกเสียงตั่วหรือตั้ว) บอกว่า "ผมเป็นคนชอบโดนผู้ใหญ่ว่าเสมอว่าเป็น "เกาะดำ (แกะดำใช่ไหมคะ)" "กาในฝูงหงส์" แต่คิดในทางทีดี นั่นเป็นคนชม "เพราะผมแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด" ทำให้นึกถึงนักศึกษาคนหนึ่งที่กำหนดสัญลักษณ์ประจำตัวเป็นเลข "1" และให้เหตุุผลว่า "เพราะผมไม่เหมือนใคร และไม่ต้องการให้ใครเหมือนผม"

  • บันทึกของ "คุณตั่วเฮีย" ที่นำเสนอบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ และรายการโทรทัศน์แนวสร้างสรรค์ น่าสนใจมากค่ะ  

  • แต่ละบันทึกของท่านอาจารย์ละเอียดยิบ ทุกแง่ทุกมุมจริงๆ..ชื่นชมครับ 
  • บันทึกนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากๆกับทุกๆท่าน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังจะเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะคุณครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ยิ่งจะเป็นประโยชน์.. 
  • อยากทายครับ..รูปสามเหลี่ยมน่าจะเป็นใบหน้าของสุนัข และผู้วาดน่าจะเป็นเพศหญิง เพราะประสบการณ์ตัวเองที่ผ่านมา มักพบว่าสุภาพสตรีครับ ที่ยืดหยุ่นทางความคิดสูงกว่าชาย 
  • ขอบคุณความรู้ครับท่านอาจารย์..
  • เพิ่งกลับจากคุยยาวกับอาจารย์หมอป.ในบันทึกสุดท้าย เห็นหน้าน้องกายเลยแว้บไปดูครูอดครูทนคนนั้นซักหน่อยค่ะ

  • ขอบคุณ "อาจารย์หมอป.Ico48" สำหรับถ้อยคำ "ชื่นชม สไตล์การเขียนแปลกใหม่ชวนร่วมคิด การร้อยเรียงแบบมี outline แล้วเสริมด้วยหลักการกับบทความกัลยาณมิตรใน gotoknow ที่มาเป็นตัวอย่าง ให้เห็นภาพ..." จริงๆ แล้วการเขียนของอาจารย์หมอป.ทุกบันทึก มีความคมชัดในประเด็นที่นำเสนอ และเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และยังมีบันทึกที่อ.วินำไปเป็นตัวอย่างงานเขียน และนำไปสร้าง Rubrics ประเมินงานเขียนดังที่ได้เรียนให้ทราบไปแล้วนะคะ

  • บอกว่า "เป็นสไตล์ที่ขออนุญาตเรียนรู้ไว้ในการเขียนครั้งหน้าบ้างค่ะ" ด้วยความยินดีและขอบคุณที่ให้เกียรติค่ะ

  • ดีใจมากค่ะที่อาจารย์หมอป.ร่วมสนุก (เป็นความใส่ใจที่อ.วิประทับใจมากค่ะ) ตอบว่า "รูปสามเหลี่ยมเป็นหน้าของสุนัข ( เดาว่าเด็กเติมหูสองข้าง เข้าไป) และเด็กที่วาดรูปสุนัขน่าจะเป็นเพศหญิงเพราะถ้าหลุดกรอบ.ผู้หญิงน่าจะมีแนวโน้มคิดถึงสิ่งมีชีวิต .มากกว่าวัตถุแบบเด็กชาย" ขอนำคำตอบของอ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ มาเทียบเคียงนะคะ "รูปสามเหลี่ยมน่าจะเป็นใบหน้าของสุนัข และผู้วาดน่าจะเป็นเพศหญิง เพราะประสบการณ์ตัวเองที่ผ่านมา มักพบว่าสุภาพสตรีครับ ที่ยืดหยุ่นทางความคิดสูงกว่าชาย"

  • แต่ขอยังไม่เฉลยนะคะ สำหรับที่อาจารย์หมอป.ตอบคำถามในบันทึกตอนที่ 1 ว่า เมื่อเห็นรูปสามเหลี่ยมแว้บแรกท่านนึกถึงอะไร แล้วอาจารย์หมอป.ตอบว่า นึกถึงสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ตามด้วยขนมเทียนที่นึกถึงในนาทีต่อมา ขอให้อ่านตรงนี้นะคะ...สิ่งที่แสดงว่าเราติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ก็คือ เมื่อให้วาดภาพต่อเติมจากรูปสามเหลี่ยม ผู้รับการทดสอบที่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเป็นครูอาจารย์ ก็จะมีผู้ที่ต่อเติมเป็นภาพบ้านอยู่ในช่วงร้อยละ 25-45 ซึ่งอาจเกิดจากในวัยเด็ก ครูพาวาดรูปบ้านที่มีจั่วสามเหลี่ยม (ภาพที่มีผู้วาดซ้ำกันร้อยละ 12 ขึ้นไปจะได้คะแนนความคิดริเริ่ม 0) ในภาพเป็นคำตอบของครูที่เข้ารับการอบรมกับอ.วิค่ะ ซึ่งมีผู้วาดต่อเติมรูปสามเหลี่ยมเป็นภาพบ้านประมาณร้อยละ 40 ค่ะ และมี 1 คนที่ตรงกับอาจารย์หมอป.คือวาดเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งก็แสดงว่า ยังติดอยู่ในกรอบเช่นกันนะคะ คือกรอบรูปทรงทางเรขาคณิตที่เรียนมา แต่คะแนนความคิดริเริ่มไม่ใช่ 0 จะอยู่ที่ ระดับ 2 จาก 5 ระดับค่ะ (ประเมินตามเกณฑ์ค่ะ) 

  •  

  • หัวใจพองโตเมื่อ "คุณครูอิงจันร์ ณ กระท่อมอิงจันทร์Ico48" บอกว่า บันทึกนี้เป็น "บันทึกที่มีเนื้อหาให้ความรู้เป็นอย่างดี" และ "อยากมอบดอกไม้ให้หลาย ๆ ดอก"
  • ตามไปดูการจัดการเรียนรู้ของครู ก็พบว่า คุณครูจัดการเรียนรู้ด้วยการคิดนอกกรอบ ที่มีคุณค่ามากมาย เช่น 1) เป็นการเรียนรู้ในเรื่องที่มีความหมาย (Meaningful Learning) ที่มารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง 2) เป็นการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จำเจ ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ 3) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม และผู้เรียนมีส่วนร่วม ทำให้คุณภาพการเรียนรู้สูงขึ้น และ 4) การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ซักถามข้อสงสัย เป็นการเสริมสร้างจิตวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ คือ "ความช่างสงสัยใฝ่รู้" ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กของเราขาดต่างไปจากเด็กตะวันตก
  • และได้ขออนุญาตนำไปเป็นกรณีศึกษา ประกอบการจัดการเรียนรู้รายวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" หัวเรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
  • ขอบคุณมากนะคะ กับการเสริมสร้างพลังใจ และให้ตัวอย่าางการคิดนอกกรอบในการจัดการเรียนรู้ โดยวิธี แทนที่ (Substitue) คือ แทนที่ what (เนื้อหา) who (ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้) และ where (สถานทีที่เรียนรู้) 

 

 

  • ขอบคุณ "คุณครูกาญจนา สุวรรณเจริญIco48" ที่แสดงความเห็นที่น่าสนใจ ว่า "การยึดติดหรืออยู่ในกรอบหรือแนวทางเดิมมีส่วนดีในบางเรื่อง หากแต่สังคมโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก..ที่เห็นใกล้ๆ ก็คือประชาคมอาเซียนที่กำลังใกล้เข้ามา การเตรียมความพร้อมของเราตื่นตัวหรือพร้อมก็เฉพาะบางภาคส่วน แต่ยังคงต้องดูแลและจริงจังในส่วนที่ขาด..ที่ยังมีให้เห็นอีกมากทีเดียว" 

  • ค่ะ การเปลี่ยนกรอบความคิดใช่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปทุกเรื่องทุกกรณี เราจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเห็นว่า กรอบความคิดเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ณ ขณะนั้น หรือไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ในบริบทแวดล้อมมที่เปลี่ยนไปแล้ว ณ ขณะนั้น

  • และขอขอบคุณมากค่ะ ที่คุณครูได้อนุญาตให้นำภาพและเนื้อหาในบันทึกของคุณครู มาอ้างอิงในบันทึกนี้

  • ภาพประจำตัว ที่ "พี่วอญ่าIco48" บอกว่าถ่ายจากการเดินป่าเขาบรรทัด นี้ ชอบมากค่ะ ถามไว้ในบันทึกของพี่ชายว่าผ้าโพกศรีษะเป็นหัตกรรมจากไหน เพราะมีรูปลักษณ์คล้ายทางอีสาน ย้อนเข้าไปดูยังไม่ได้คำตอบนะคะ 
  • อิอิ...พี่ชายบอกว่า "อ่านบันทึกนี้เหมือนนั่งเรียนหรือฟังในเวที ทั้งวัน เพราะอ่านได้แต่ละตอนต้องย้อนขึ้นไปอ่านใหม่ อ่านทำความใจและแกะผังมายแมฟ ด้วยว่าประเด็นของเกษตรกรก็กำลังเตรียมเกษตรกรสู่อาเซี่ยน..." ก็ต้องขออภัยนะคะ ที่เนื้อหามากไปหน่อย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกหนัก จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอ่านให้จบในคราวเดียวนะคะ ในห้องเรียนน้องไม่เคยสอนแบบถ่ายทอดความรู้ความคิด โดยให้ผู้เรียนั่งฟังอย่างเดียวหรอกค่ะ มีกิจกรรมให้มีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย มีเทคนิควิธีที่ทำให้ไม่เบื่อ ตอนที่ลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัย ไปนังดูแม่สอนเนื้อหาทางจิตวิทยา เธอยังบอกเลยว่า แม่สอนสนุก ไม่เหมือนที่เธอเรียนที่มหาวิทยาลัย อาจารย์จับนักศึกษาไปนั่งรวมกัน 200 คน และบรรยายให้ฟังอย่างเดียว

  • พี่ชายบอกว่า "กระบวนการผลิต การใช้พื้นที่ การแปรรูป เท่าฟังยังไม่เตรียม หรืออาจเตรียมแล้ว แตไมรู้ ก็ต้องชวนคิดต่อว่า เกษตรแบบพอเพียงที่แข่งขันและส่งออกสู่อาเซี่ยนแบบไหน" ตรงนี้แหละค่ะ บางเรื่องต้องคิดนอกกรอบถ้าพิจารณาไตร่ตรองแล้วพบว่า วิธีคิด วิธีปฏิบัติที่เราคิดเราปฏิบัติอยู่เดิมทำให้เสียเปรียบประเทศอื่น

  • ตอนนี้น้องกำลังปฏิบัติตามสโลแกนของพี่วอญ่า "เดินทางหมื่นลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม" แต่อยากจะคิดนอกกรอบด้วยสโลแกน "เดินทางทุกที มีหนังสือติดตัว" ค่ะ    

  •  

  • ขอบคุณ "คุณครู ธนิตย์ สุวรรณเจริญIco48" มากค่ะ ที่กรุณาเข้ามาอ่านและให้กำลังใจ
  • ขอบคุณที่อาจารย์บอกว่า "แต่ละบันทึกของท่านอาจารย์ละเอียดยิบ ทุกแง่ทุกมุมจริงๆ..ชื่นชมครับ" บางท่านก็บ่นว่า ยาวมาก ในทำนองขี้เกียจตามอ่าน จริงๆ แล้วก็คือ พยายามเขียนให้ครอบคลุมประเด็นอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า "ทุกแง่ทุกมุม" เพราะต้องการให้สารสนเทศแบบ "One Stop Service" ค่ะ คือ เวลาอ่านอะไร ที่มีเนื้อหาไม่ครบประเด็นที่ต้องการศึกษา ก็เป็นการลำบากที่ผู้อ่านต้องไปควานหาจากแหล่งอื่นอีก ซึ่งอาจหาไม่ได้ จึงพยายามเขียนให้ครอบคลุม โดยผู้อ่านท่านใดที่ไม่อยากอ่านจนจบ ก็เลือกศึกษาเฉพาะในส่วนที่ตนสนใจได้
  • ประทับใจจริงๆ ค่ะ ที่อาจารย์ร่วมสนุก "อยากทายครับ..รูปสามเหลี่ยมน่าจะเป็นใบหน้าของสุนัข และผู้วาดน่าจะเป็นเพศหญิง เพราะประสบการณ์ตัวเองที่ผ่านมา มักพบว่าสุภาพสตรีครับ ที่ยืดหยุ่นทางความคิดสูงกว่าชาย" ขอนำคำตอบของ "อาจารย์หมอป.Ico48" มาเทียบเคียงนะคะ "รูปสามเหลี่ยมเป็นหน้าของสุนัข (เดาว่าเด็กเติมหูสองข้าง เข้าไป) และเด็กที่วาดรูปสุนัขน่าจะเป็นเพศหญิงพราะถ้าหลุดกรอบ ผู้หญิงน่าจะมีแนวโน้มคิดถึงสิ่งมีชีวิตมากกว่าวัตถุแบบเด็กชาย)
  • แต่ขออนุญาตยังไม่เฉลยนะคะ   
  • อ่านแล้วให้ทายปัญหาอีกด้วย..ไม่น่าจะมีผิดถูกนะคะ..เพศไหนๆอาจคิดบางเรื่องเหมือนกันได้..
  • ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่Ico48" ค่ะ ที่กรุณามาให้กำลังใจ
  • ขอเรียนพี่ใหญ่นะคะว่า การให้ผู้เข้ารับการทดสอบต่อเติมรูปสามเหลี่ยมให้เป็นรูปภาพตามจินตนาการ เขาใช้วัดความคิดสร้างสรรค์ ถ้าให้วาดภาพเดียวอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใส่รายละเอียด และไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามขอเพียงให้มองออกว่าเป็นภาพอะไร จะให้คะแนนเฉพาะองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ด้านความคิดริเริ่ม (Originality) โดยมีหลักการว่า ยิ่งวาดซ้ำกับคนอื่นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าความคิดริเริ่มต่ำมากเท่านั้น โดยมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า ซ้ำกับคนอื่นกี่เปอร์เซ็นต์จะได้คะแนนความคิดสร้างสรรค์เท่าใดจาก 0-5 เช่น ถ้าวาดซ้ำ 12 % ขึ้นไป จะได้คะแนนความคิดริเริ่ม 0 ถ้าไม่ซ้ำกับใครเลยจะได้ 5 แต่ถ้าให้เวลาเพื่อให้ใส่รายละเอียดได้ จะให้คะแนนความคิดละเอียดละออ (Eraboration) เพิ่มเข้ามา โดยนับจากจำนวนรายละเอียดที่ต่อเติมแล้วนำไปเทียบกับเกณฑ์ เช่น เด็กที่วาดเป็นภาพจรวดจะได้คะแนนความคิดละเอียดละออน้อยกว่าเด็กที่วาดเป็นภาพสุนัข เพราะภาพสุนัขมีรายละเอียดมากกว่าจรวดค่ะ  
  • สำหรับเด็กที่ต่อเติมรูปสามเหลี่ยมเป็นรูปสุนัข น้องขอให้ผู้ฟังคิดว่าผู้วาดเป็นเพศใด และได้ใช้รูปสามเหลี่ยมเป็นส่วนไหนของสุนัข ซึ่งจะเฉลยตามข้อเท็จจริงที่เด็กวาด ส่วนการให้เหตุผลนั้นคงไม่มีถูกมีผิดค่ะ เป็นการตรวจสอบลักษณะการให้เหตุผลเท่านั้นค่ะ 
  • ครูที่เข้ารับการอบรมซึ่งมีทั้งผู้ที่จบปริญญาโทสาขาวิจัยฯ ผู้ที่สอนระดับปฐมวัย ประถม และมัธยม สอนคณิตศาสตร์ สอนสาระการงานพื้นฐานอาชีพ สอนคอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมร้อยละ 40 ได้คะแนนความคิดริเริ่ม 0 เพราะต่อเติมรูปสามเหลี่ยมเป็นภาพบ้าน (เกณฑ์มาตรฐานซ้ำ 12 % ขึ้นไปได้ 0) สำหรับการรับรู้รูปสามเหลี่ยมเป็นภาพปีรามิดของพี่ใหญ่จะอยู่ในกลุ่มภาพที่ได้คะแนนความคิดริเริ่ม 2 ตามเกณฑ์ที่น้องสร้างไว้จากการทดสอบกลุ่มตัวอย่างทุกเพศทุกวัย ทีมีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท มีอายุอยู่ในช่วง 17-60 ปี รวมจำนวน 512 คนค่ะ     
  • ขอบคุณค่ะ "ท่านผศ.เดชาIco48" ยินดีด้วยนะคะกับเข็มเชิดชูเกียรติที่ได้รับจากการเป็นครู ซึ่งอ.วิไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับดังที่เรียนให้ทราบในบันทึกของท่าน
  • ตอนนี้ยังอยู่ที่ห้องพักรีสอร์ตแห่งหนึ่งในอ.หางดง เชียงใหม่ค่ะ
  • ประทับใจรีสอร์ตที่อ.แม่ริม ที่ที่พักมีทั้งลำธารที่นั่งชมได้ที่ระเบียงหลัง มีเสียงจั๊กจั่นเรไร มีต้นไม้ร่มรื่นหลากหลาย เสียดายที่ไม่มีใครให้คำตอบชื่อต้นไม้ได้แม้แต่ชื่อเดียว จริงๆ แล้ว อ.วิก็รู้จักชื่อเกือบทั้งหมดและส่วนใหญ่ก็มีปลูกที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ค่ะ มีเพียงสองสามชนิดที่ไม่ทราบชื่อและไม่มีปลูกที่ฟาร์ม (ถ้ากัลยาณมิตรทราบชื่อไม้ดอกในภาพกลางแถวบนกรุณาชี้แนะด้วยนะคะ) จะต้องหาไปปลูกแล้วล่ะค่ะ ได้ขอแบบสอบถามที่มีภาษาอังกฤษพร้อมด้วยภาษาไทยไปเป็นสื่อเรียนรู้ของนัศึกษาในภาคเรียนหน้าด้วย และผจก.ฝ่ายการตลาดยังมอบ CD แนะนำรีสอร์ตให้ด้วย
  •  ส่วนรีสอร์ตที่พักคืนนี้ ขัดใจที่เอกสารทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมด จนต้องถามว่า ไม่ต้อนรับลูกค้าคนไทยหรือ ภาพบนขวาถ่ายจากระเบียงหลังห้องเช้านี้ค่ะ อาหารก็ราคาฝรั่ง เมื่อคืนวานลูกทั้งสองทานอาหารจานเดียว ราคาจานละ 250 บาท (แม่ไม่ได้ไปทานด้วย) คิดถึงตอนที่ตนเองไม่มีอะไรจะกิน ต้องกินข้าวเหนียวกับหัวหอมต้มจิ้มแจ่วในช่วงที่เรียนประถมฯ ...เฮ้อ! เศรษฐกิจพอเพียง...เรื่องการเดินทางและที่พักลูกชายเขาจัดการ (เขาเป็นประเภทรสนิยมสูงเลยเลือกที่พักหรูๆ ทั้งนั้น) ค่าใช้จ่ายนอกนั้นแม่รับผิดชอบ เช่น ค่าเช่ารถตั้งแต่ลงจากเครื่อง ค่าน้ำมันรถ ค่ากิน ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ เมื่อวานไปถ่ายภาพกล้วยพันธุ์ต่างๆ และผึ้ง 100 รัง ฯลฯ ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ และไปเที่ยวม่อนแจ่ม (บอกลูกชายว่า จะช่วยค่าที่พักเขาตอนหลังเพราะแพงมาก เขาจ่ายล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงจองแล้วค่ะ)

 

  • กลับจากภาคเหนือหรือยังครับอาจารย์แม่
  • ได้ข่าวว่าจะไปเกาหลีต่อหรือครับ
  • ขอให้มีความสุขกับการเดินทางครับ
  • ขอบคุณ "ลูกขจิตIco48" นะคะ ที่แวะมาถามข่าว อาจารย์แม่กลับจากเชียงใหม่ถึงกทม.คืนวันที่ 17 พ.ค. ค่ะ
  • และจากกทม.กลับถึงอุบลฯ ประมาณสองทุ่ม แล้วก็เข้าฟาร์มเลยค่ะ เลยเพิ่งได้ตอบลูกขจิตเพราะที่ฟาร์มมีสัญญาณน้อยมากค่ะ
  • ไปเที่ยวครั้งนี้ ลูกตั้มจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน และจัดการที่พักไว้หมดแล้ว รวมทั้งติดต่อเช่ารถ ทุกแห่งที่ไปเส้นทางน่ากลัวมากค่ะ ทั้งเส้นทางไปยังที่พัก และแหล่งท่องเที่ยว ต้องขับรถเลาะเลี้ยวไปตามภูเขาทั้งคดเคี้ยวและหักศอกไหนจะสูงชัน จ๊ะเอ๋กับรถที่สวนมาตรงมุมหักศอกก็บ่อย นี่ขนาดอาจารย์แม่ไม่ใช่คนขี้กลัวยังขนาดนี้ ถ้าเป็นพี่สาวสองคนคงขอลงข้างทางแน่ๆ เลยค่ะ
  • อาจารย์แม่ฝากภาพมาให้ดู 1 ภาพ มีแต่ภาพลูกๆ และที่พักค่ะ จ๊ะเอ๋เขาเลือกที่ท่องเที่ยวเป็นวัดทั้งนั้น อาจารย์แม่ขอไปชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (เน้นไปดูพันธุ์กล้วย) และลูกตั้มเลือกม่อนแจ่มค่ะ
  • บังเอิญจริงๆ ค่ะที่ Flight จากกทม.กลับอุบลฯ ที่นั่งซ้ายมืออาจารย์แม่ เป็นอาจารย์ที่เกษียณแล้ว 3 ปี จากมช.ขวามือเป็นชาวออสซี่จาก Perth, Western Australia เมืองที่อาจารย์แม่เคยไปเรียน 
  • อาจารย์จากมช. ท่านซื้อตั๋วได้ราคาถูกแค่่ 150 บาท และท่านจองโรงแรมไว้แล้ว จริงๆ ระยะนี้ที่อุบลฯ มีรถแท็กซี่มิเตอร์ 4 เจ้า แต่ไม่เห็นเข้าไปรับผู้โดยสารที่สนามบิน คงมีสัมปะทานและบริษิทที่ให้บริการที่สนามบินก็คิดราคาสองเท่าของแท็กซี่มิเตอร์ รถพ่อใหญ่สอรุ่นเก่าที่นั่งตอนหลังมีสัมภาระเต็มไปหมด อาจารย์จากมช.ท่านขอนั่งกะบะท้ายแต่ก็ไม่มีที่ว่างเพราะบรรทุกต้นลำดวนและทองกวาวเต็มรถเพื่อนำไปปลูกที่วัด และถึงไม่บรรทุกอะไรก็ไม่เหมาะที่จะให้ท่านไปนั่ง อาจารย์แม่ก็เลยให้พ่อใหญ่สอไปส่งท่านก่อนแล้วค่อยกลับไปรับอาจารย์แม่
  • วันที่ 23 พ.ค. อาจารย์แม่ก็ต้องบินเข้ากทม.เพื่อเตรียมเดินทางไปเกาหลีในวันรุ่งขึ้นค่ะ เที่ยวนี้ไปกับลูกเอ๋เพราะพ่อใหญ่สอเปลี่ยนใจไม่ไปเพราะสุขภาพไม่ค่อยดี อีกอย่างก็เคยไปมาแล้วปี 2549 ค่ะ

 

  • ขอบคุณ "Dr.Pop Ico48" มากนะคะ ที่แวะไปให้กำลังใจ

สวัสดี่ท่าน ผศ.วิไล ดีจังนะได้ไปเที่ยวเชียงใหม่.....จะเขียนเรื่องไปอุบลฯประมาณวันสองวันนี้...รอภาพบางภาพจาก ผศ.ดร.สุขชัย คณะกรรมการที่ไปด้วยกัน..คอยอ่านนะครับ

  • ต้องขออภัย "ท่าผศ.เดชาIco48" จริงๆ ค่ะ ที่ไม่ได้พาท่านไปเยี่ยมฟาร์มไอดินฯ เพราะอยู่ในช่วงของการเดินทางตามที่ท่านทราบ เอาไว้โอกาสหน้านะคะ ให้พ่อใหญ่สอสุขภาพดีกว่านี้ และอ.วิว่างกว่านี้จะได้ต้อนรับท่านให้สมกับที่มีน้ำใจไปเยี่ยมเยียนค่ะ

  • ถ้าท่านลงบันทึกช้า อาจต้องไปอ่านที่เกาหลีนะคะ เพราะเช้าวันที่ 23 พ.ค ต้องบินเข้ากทม.เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเกาหลีเวลา 3 ทุ่มของวันที่ 24 พ.ค. ค่ะ

  • ฝากภาพที่เชียงใหม่มาให้ดูอีกภาพค่ะ (ในภาพลงวันผิดค่ะ วันที่ 18 เป็น Friday ไม่ใช่ Thursday)

  • ขอบคุณ "คุณธ.วัชชัยIco48" มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของผู้สอน การให้ความสำคัญต่อภาษาอังกฤษอย่างยิ่งจังเสียที และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ได้แนวคิดดีๆ มากมาย เป็นข้อเขียนที่ละเอียด ลึกซึ้งมาก และมีประโยชน์ยิ่ง หวังว่าจะมีผู้สนใจนำไปใช้มากๆ

  • ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการพักผ่อน
  • เจอป้ายผิดอีกแล้ว
  • ครั้งนี้มาจากเชียงใหม่
  • เอามาจากที่นี่ครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/243015
  • ขอให้มีความสุขกับการพักผ่อนนะครับ

  • ขอบคุณ "ท่านผศ.ธวัชชัย นาคะบุตรIco48" มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่าน
  • ความเห็นของท่านที่ว่า "ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของผู้สอน การให้ความสำคัญต่อภาษาอังกฤษอย่างยิ่งจังเสียที และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ได้แนวคิดดีๆ มากมาย เป็นข้อเขียนที่ละเอียด ลึกซึ้งมาก และมีประโยชน์ยิ่ง หวังว่าจะมีผู้สนใจนำไปใช้มากๆ" แสดงว่าท่านอ่านจนจบ และอย่างใส่ใจในรายละอียด และเห็นคุณค่าของงานเขียนของดิฉัน
  • เป็นความเห็นที่สร้างพลังใจให้กับดิฉันมากค่ะ ขอเก็บไว้เป็นความสุขใจ และจะนำความเห็นของท่านไปลงในหนังสือ ที่จะแจกในงานเกษียณของตนด้วย (วางแผนไว่ว่า จะทำเป็นหนังสือที่เน้นการให้ความรู้ ข้อคิด ข้อปฏิบัติสำหรับอาจารย์รุ่นหลัง โดยซอยเป็นเรื่องย่อยๆ เรื่องละประเด็น ที่อาจารย์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับนักศึกษาค่ะ)   
  • ขอบคุณมากค่ะ "ลูกขจิตIco48"
  • การบริการของโรงแรมที่เกาหลีต่างจากไทยมาก นี่อาจารย์แม่อ่านจากเอกสาร ระบุว่า โรงแรมที่เกาหลีส่วนใหญ่จะไม่มีแปรงสีฟัน ยาสีฟัน แชมพูสระผม ผ้าเช็ดตัวที่นุ่งได้ ไม่มีน้ำดื่มบริการฟรี อาจารย์แม่จำได้ว่าปี 2549 ที่ไปเที่ยวกับคณะครุศาสตร์ ต้องซื้อน้ำดื่มที่บ้านเราขวดละ 5 บาท แต่ของเขา 120 บาท ขำที่พวกพี่ๆ ที่เขาเปิด TV ไม่ได้ เลยมาตามพ่อใหญ่สอไปช่วยเพราะแกจบป.โทเทคโนโลยีการศึกษา  แต่แกก็ช่วยไม่ได้ อาจารย์แม่ต้องเข้าไปช่วยแบบลองผิดลองถูก แต่ก็ได้ผล
  • อาจารย์แม่ไม่อยากไปเกาหลีหรอก เพราะก็เห็นเกือบหมดทุกแห่งที่สำคัญแล้ว แต่ผู้ประสานงานจัดบุคลากรที่จะเกษียณอายุกับกลุ่มของตนอยากไปเพราะไม่เดยไป ไม่ถามความเห็นอาจารย์แม่ซักคำ เพียงแต่แจ้งให้ทราบ ที่มรภ.อบ.อาจารย์แม่เป็นม้านอกสายตาเสมอ แต่ก็ชินแล้วค่ะ
  • แต่ก็คงเป็นโชคดีที่ลูกเอ๋อยากไปมานานแล้ว แม่ก็บอกว่าให้เก็บเงินไปเอง แต่พอพ่อใหญ่สอไม่ไป เลยเป็นโชคของเธอที่แม่จ่ายเงินให้แทน
  • เรื่องป้ายต่างๆ ในบ้านเรานี่ อาจารย์แม่แม่ก็ไม่เข้าใจว่า ผู้เกี่ยวข้องไม่รู้ว่าคำที่ถูกเขียนอย่างไร (ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเป็นคำง่ายๆ) หรือเกิดจากความไม่ใส่ใจที่จะดูแลตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง พบเห็นได้บ่อยมากค่ะ อย่างป้ายที่ลูกขจิตนำมาให้ดู ต้นฉบับที่เขียนสั่งทำคงถูกต้องแต่ตัว n และ U ลายมือเขียนอาจคล้ายกัน แต่เมื่อทางร้านเขียนเสร็จ ก่อนรับงานก็จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง และให้แก้ไขถ้าพบที่ผิด
  • การทำงานแบบสุกเอาเผากิน นี่ไม่ไหวเลยนะคะ

เรียน ท่าน ผศ.วิไล ผมไปดูงานโรงเรียนนอกกะลา มีสิ่งที่คิดนอกกรอบมากมาย - ไม่มีการสอบ - ไม่มีสัญญาณระฆัง - ผลงานต้องได้ดีมากทุกคน - นำจิตศึกษามาพัฒนาเด็ก - ใช้เสียงที่แผ่วเบา องค์ประกอบที่สำคัญการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ดูเหมือนคล้ายๆสิงคโปร์ เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ ครูเป็นคนหนุ่มสาว ความสำเร็จเริ่มที่การคิดนอกกรอบครับ ไม่สนใจที่มาของคำตอบ แต่สนในกระบวนการหาคำตอบมากกว่า

ชื่นชอบแนวคิดจังเลยนะคะ

 

  • ดีใจค่ะ ที่เห็นหน้า "ท่านผอ.พรชัยBlank" หลังจากที่ท่านได้เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์อาวุโส เป็นเวลาปีเศษ
  • เป็นผอ.นักพัฒนา โรงเรียนคงก้าวหน้าไปมากสินะคะ
  • ในบันทึกนี้ ได้นำภาพป้ายที่ท่านลงในบันทึกมาอ้างอิงด้วย ท่านคงเห็นแล้วนะคะ
  • การสนในกระบวนการหาคำตอบของนักเรียน มีความสำคัญมากนะคะ ครูส่วนใหญ่จะสนใจเฉพาะตัวคำตอบมากกว่า
  • ขอบคุณนะคะ ที่แวะมา จะหาโอกาสเข้าไปอ่านบันทึกของท่านบ้าง เดี๋ยวจะต้องของีบสักหน่อยเพราะต้องตื่นแต่เช้า ไปทำบุญที่วัดบ้านหนองฝางที่ตั้งฟาร์มค่ะ
  • ดีใจค่ะที่ "หนูอุ้มบุญBlank" แวะมา และขอบคุณที่บอกว่าชอบแนวคิด
  • ช่วงนี้เริ่มมีแก้วมังกรแล้วนะคะ แต่ผจก.ฟาร์มจะเดินทางไปรับการผ่าตัดกระดูกทับเส้นประสาทที่คอ ที่รพ.รามาพรุ่งนี้ ค่ะ ไม่ทราบจะอันตรายไหม กังวลและสงสารแกเหมือนกัน
  • ว่าจะงีบสักหน่อยก่อนเตรียมตัวเดินทางออกไปทำบุญที่วัดที่ตั้งฟาร์มค่ะ

พอถึงวันนั้นแล้วไม่รู้ว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน แต่ถ้าเยาวชนกล้าที่จะคิดนอกกรอบแบบที่อาจารย์ว่า ประเทศชาติของเราก็คงจะไม่น้อยหน้าใครเลยค่ะ

ชอบความคิดของอาจารย์มากในการเขียนงานหลายๆเรื่องทัศนคติแนวคิดของอาจารย์เยี่ยมมากเลยค่ะ

02 สุมิตรา 1486 กลุ่ม 2 เขียนบันทึกการประเมินครั้งที่2เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

02 สุมิตรา 1486 N1 กลุ่ม 2 เขียนบันทึกการประเมินครั้งที่2เรื่องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซต์หน่วยงานราชการเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท