เรื่องเล่าจากดงหลวงจะได้ตีพิมพ์


ผมจำได้ว่าผมก้าวมาเขียนบันทึกจากงานในหน้าที่รับผิดชอบอยู่ ก่อนหน้านั้นผมเป็นคนชอบอ่าน และบังเอิญผมมีโอกาสทำงานกับโครงการที่เป็นชาวต่างประเทศ ช่วงที่ผมรับผิดชอบด้านสังคมที่โครงการพัฒนาชลประทานในระดับไร่นา ที่เขื่อนลำปาว โดยรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ ผมมีหน้าที่ส่งเสริมกลุ่มผู้ใช้น้ำและกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยมีเจ้าหน้าที่สนามเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

เราจัดฝึกอบรม และจัดทำระบบเรียนรู้ระหว่างการทำงาน ตรงนี้เองที่ผมมองเห็นว่า หลังการฝึกอบรมแล้วนั้น น้องๆได้เรียนรู้ในห้องฝึกอบรมแล้วเอาหลักการไปใช้ในสนาม มันเละตุ้มเปะไปหมดในหลายคน บางคนก็พัฒนาได้เร็ว ผมคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะเติมเต็มสิ่งที่น้องๆไม่ได้ทำ หรือทำผิดพลาด หรือทำไม่เต็มที่ในสิ่งที่ควรทำ เพราะเธอเหล่านั้นขาดประสบการณ์นั่นเอง  ผมนึกถึงระบบโรงเรียนแพทย์ที่มีช่วงเป็น แพทย์ฝึกหัด เพราะชีวิตคนไข้ไม่ใช่ของที่ลองผิดลองถูก อาจารย์หมอจะกำกับแพทย์ฝึกหัด

ในระบบการทำงานพัฒนาชนบทก็มีระบบการประชุมในสนาม การทำ Mini workshop ผมคิดว่าไม่พอจึงคิดอ่านเพิ่มเติมโดยการสรุปประเด็นที่น้องๆยังขาดความเข้าใจในทางปฏิบัติ แล้วเอามาเขียนเป็น Memo เป็นประเด็นๆไป แล้วทำสำเนาแจกให้ทุกคน สัปดาห์ละ 2-3 ฉบับ

     

ผมรู้สึกสนุกกับการทำหน้าที่นี้ และประเมินว่าน้องๆก็ชอบเพราะเราได้เติมเต็มให้น้องๆเหล่านั้น ผมจึงเดินรุกหน้าในเรื่องนี้มากขึ้นโดยการแนะนำให้น้องๆเหล่านั้นฝึกเขียน ประสบการณ์งานในสนามของเขา ในเรื่องที่เขาถนัด และหรือในเรื่องที่เราแนะนำ น้องบางคนได้รวมเล่มผลงานของเขาและสามารถนำไปใช้เป็นฐานในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทก็หลายคน

ผมย้ายงานไปตามวาระ ตามวิถี และนำประสบการณ์นี้ไปใช้ แต่ไม่สำเร็จ ไม่ว่าที่โครงการพัฒนาระบบชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับกลุ่ม EURO Consult หรือที่ Save the Children (USA) ที่นครสวรรค์ หรือแม้แต่ที่ บริษัทที่ปรึกษาที่ผมสังกัดในปัจจุบัน

ตรงข้ามผมต้องรับผิดชอบเขียน Report มากขึ้น ทั้งรายเดือน รายไตรมาศ ฉบับ Final หรือ รายงานพิเศษเฉพาะเรื่อง มากมาย ซึ่งผมพบว่าในรายงานเหล่านั้นมี Format เฉพาะอยู่แล้ว สาระและทิศทางการเขียนจึงถูกจำกัด ในฐานะที่ทำมากับมือ คลุกคลีกับงามปฏิบัติ พบว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายที่ไม่สามารถใส่ไปในรายงานนั้นๆได้

เมื่อผมไปรับผิดชอบสนามที่มุกดาหาร พื้นที่ดงหลวง มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่ร่วมงานกัน แต่มีโครงการเดียวกันที่อยู่ในอีก 3 จังหวัด เราทำงานเหมือนกันแต่คนละพื้นที่ ภายใต้ สปก.ที่ได้งบประมาณมาตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจประเทศพังต้องไปกู้เงินจากญี่ปุ่น เรียกว่าเงิน มิยาซาวา  สปก.ได้งบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ชนบทที่เป็นพื้นที่ สปก.เพื่อฟื้นฟูสังคมส่วนนั้น

ผมเริ่มกลับมาเขียนความคิดเห็นของผมอีกครั้ง แต่เป็นแนวว่า ลงไปทำงานในพื้นที่ดงหลวง เห็นประเด็นอะไรก็เอามาเขียนผนวกความคิดเห็นของตัวเอง ในแง่มุมต่างๆ แล้วส่งเมล์ไปให้เพื่อนร่วมงานทุกคน ทุกจังหวัด ทุกระดับของโครงสร้างโครงการ แล้วชักชวนให้เพื่อนๆเขียนบ้าง ไม่มีใครเขียนครับ ยกเว้นบันทึกของเราไปกระทบอะไรเขาเข้า ท่านผู้นั้นก็จะเขียนอธิบายหรือตอบโต้ทันที

วันหนึ่ง “น้องกาเหว่า”ที่กำลังเรียนปริญญาเอกที่ มข.ในช่วงนั้นมาบอกผมว่า หนูอ่านบันทึกของพี่ทุกฉบับจากเพื่อนสนิทหนูที่ทำงานในโครงการนี้ หนูเป็นสมาชิก Go To Know (G2K) อยากแนะนำให้พี่ไปเขียนลงในนั้นด้วย... ผมไม่รู้จัก G2K ไม่รู้จัก Blog จึงเข้าไปดู เลยสนใจและเข้าไปเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า Blog และตระเวนไปทั่วในโลกสังคม Cyber แต่ก็มาสนใจ G2K จึงสมัคร และเขียนไปลงโดยใช้แนว ประสบการณ์งานในสนามที่ทำอยู่ ในลักษณะเรื่องเล่า จึงตั้งชื่อว่า “เรื่องเล่าจากดงหลวง”

เขียนได้พักหนึ่งก็ชวน “คุณเปลี่ยน” เพื่อนร่วมงานไปเขียนด้วย ซึ่งเข้าตาเปลี่ยนทันที  ผมสนุกมาก เพราะชีวิตที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพราะต้องไปทำงานที่มุกดาหาร เย็นวันศุกร์ถึงกลับบ้านขอนแก่น เช้าวันจันทร์ไปมุกดาหาร หลังเลิกงานผมไม่เที่ยว ไม่ดื่ม จึงมีเวลากับ Blog เขียนทุกวัน บางวันหลายบันทึกจนได้รับรางวัลสุดคะนึง ได้เสื้อมาตัวหนึ่ง ยังใส่หล่อจนทุกวันนี้ครับ

แนวการเขียนหลักคือ ประสบการณ์ แนวคิดในงานพัฒนาชุมชน รวมไปถึงหลักการหรือทฤษฎีในเรื่องนี้ด้วย อีกประการหนึ่งคือ ใช้บันทึกเป็นเวทีชาวบ้าน ดึงชาวบ้านที่มีผลงาน มีแนวคิดดีดี เอาออกมาให้สังคมรู้จัก... และ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับชนบท

ช่วงสิ้นสุดโครงการระยะที่หนึ่งนั้น มีการทำประเมินผลโดยชาวญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประเมินผลครั้งนั้นทราบว่าผมเอาประสบการณ์งานสนามไปเขียนใน G2K จึงขอตัวอย่างไปศึกษา เมื่อโครงการมีการดำเนินงานระยะที่ 2 ผมได้รับการเสนอให้รับผิดชอบ KM expert ในโครงการอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งผมก็วางแผนจัดทำ web Portal ของโครงการขึ้น โดนผมขอคำแนะนำจากดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ และทีมงานของท่านใน G2K ผมอบรมเจ้าหน้าที่โครงการ และดันเต็มที่ให้โครงการยกระดับการทำงานโดยใช้ portal.in.th เป็นอีกเวทีหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความเห็น ติดตามงาน เรียนรู้งานของกันและกัน...ฯลฯ

ผมล้มเหลวครับ มีแต่ผมทำคนเดียว เพื่อนๆในจังหวัดอื่นๆอีกสามแห่งไม่สนใจจะทำ งานชิ้นนี้ยังจอด เกยตื้นอยู่ใน portal.in.th ครับ และโครงการจบสิ้นไปแล้ว

เมื่อใกล้ปิดโครงการท่านผู้บริหารสูงสุดของโครงการคือ ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน ท่านสนใจเรื่องการสรุปบทเรียน และการจัดพิมพ์ประสบการณ์งานของโครงการ ท่านเรียกผมไปพบและสอบถามงานเขียนบันทึกของผมใน G2K ว่าท่านสนใจจะพิจารณาจัดพิมพ์.. ผมจึงรวบรวมบันทึกทั้งหมดมาคัดเลือก และจัดหมวดหมู่ ตรวจสอบทั้งหมด แล้วจัดทำรูปเล่มให้ท่าน ตั้งแต่กลางปี 2554 แล้วก็ลืมไปแล้ว เพราะไม่ได้ข่าวอีกเลย ผมเดาว่าท่านงานยุ่งและหรือท่านลืมไปแล้ว..   

เมื่อเช้านี้ขณะที่ผมปฏิบัติงานที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว ท่านโทรไปหาผมแล้วกล่าวว่าให้ส่งไฟล์เอกสารเรื่องเล่าจากดงหลวงให้ท่านด่วน ท่านจะจัดพิมพ์ให้.....

เรื่องเล่าจากดงหลวงนั้นเป็นเรื่องยาวผมแยกเป็นสองฉบับ โดยจัดระบบเรื่องและหมวดหมู่บันทึกไว้ ขณะเดียวกันท่านเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินยังกล่าวว่า สมัยที่จะสิ้นสุดโครงการนั้นผมได้เขียนรายงายพิเศษขึ้นมาหลายฉบับ ท่านสนใจจะจัดพิมพ์ฉบับเรื่อง “ระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมเชิงเขาแบบดงหลวง” ด้วยจึงให้ผมจัดส่งให้ด้วย....

 

ขอบคุณท่านเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน ท่าน ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ที่ให้ความสำคัญต่อบันทึกประสบการณ์ เรื่องเล่าจากดงหลวง และ เรื่อง “ระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมเชิงเขาแบบดงหลวง”

ขอขอบคุณทุกท่านที่ G2K ที่เปิดเวทีให้ผมได้เขียนบันทึกไว้ที่นี่ และทุกท่านที่ portal.in.th  

ท่านที่สนใจสามารถสืบค้นได้จาก เรื่องเล่าจากดงหลวงใน G2K แห่งนี้ครับ

คำสำคัญ (Tags): #dongluang
หมายเลขบันทึก: 486879เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ขอชื่นชมและยินดีด้วยครับ

...ยินดีด้วยคนครับ กับหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักเขียนบันทึกG2K อย่างผมครับ...

  • สวัสดีครับอาจารย์บางทราย
  • ยินดีด้วยครับ
  • "นักเขียนพูดได้ดังกว่านักพูด.."
  • เยี่ยมมากครับ

ยินดีด้วยครับพี่บางทราย ^^

ขอบคุณทุกท่านครับ คุณ พ.แจ่มจรัส, อาจารย์ ดร.ธวัชชัยที่รัก, น้องมะปรางเปรี้ยวที่คิดถึง, น้องสิงห์ป่าสักที่รักยิ่ง, AutumN

ยินดีด้วยครับ พี่บางทราย อยากอ่านบ้างอ่ะ :-)

พิมพ์แล้วจะส่งให้ครับ อ.ชิว

เรียนทุกท่าน งานพิมพ์มีอุปสรรคตลอดมาครับ แต่ก็แก้ไขลุล่วงไปได้ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก เข้าโรงพิมพ์ไปแล้ว ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ทุกท่านที่ช่วยกันครับ

คุณพี่บางทรายคะ

มายินดีและกระซิบว่าอยากอ่านบ้างค่ะ

ภูสุภาครับ อยู่มหิดลรู้จัก อ.ดร.กฤติยา อาชวนิจกุล ไหม ครับ เข้าใจว่าเกษียณแล้วแต่ทำงานต่ออีกครับ

วันนี้มีซองไปรษณีย์มาถึงชิ้นหนึ่ง รีบเปิดดู เป็นหนังสื่อ "เรื่องเล่าจากดงหลวง" เขียนโดยไพศาล ช่วงฉ่ำ...รีบเปิดดูข้างในที่มีข้อความด้วยลายมือเขียนมอบให้ในฐานะที่เคยเป็นลูกศิษย์ที่ คณะศึกษาฯ มช. ขอบใจมากศิษย์รัก ครูภูมิใจที่สุดที่ศิษย์เป็นผู้ที่มุ่งมั่นจผลักดันงานในโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรุปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน (คฟป.) สำนักงานปฏิรุปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 505) ...เป็นหนังสือที่ออกแบบรูปเล่มได้สวยงาม ตัวหนังสืออ่านง่ายสบายตา มีภาพประกอบที่่สวยงาม...ขอบใจจริงๆศิษย์รัก...ขอให้มุ่งมันทำงานที่ตนรักต่อไปนะ...


กราบขอบพระคุณครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท