ตอนที่ 6 : การนับถือพระพุทธศาสนาในสังคมไทย


คอลัมน์พิเศษ : มรน. ร่วม ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

เมื่อกล่าวถึงสังคมไทยกับพระพุทธศาสนา จำเป็นจะต้องย้อนเวลานับไปตั้งยุคแรกของการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาสู่ดินแดนนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ซึ่งเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” โดยมีคณะพระโสณะและพระอุตตระซึ่งเป็นสมณทูตสาย 1 ในบรรดาสมณทูต 9 สายที่พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองปาฏลีบุตร แคว้นมคธ (พ.ศ.270-311) แห่งชมพูทวีป หลังจากทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว ได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าดินแดนแถบจังหวัดนครปฐมของประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลางสำคัญของสุวรรณภูมิที่พระพุทธศาสนาเข้ามาตั้งมั่นเป็นที่แรกและแผ่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนาในโลก


          ในอดีตที่ผ่านมา สันนิษฐานว่าเดิมทีสังคมในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนที่นับถือพระพุทธศาสนานั้น มีลัทธิความเชื่อดั้งเดิมแพร่หลายอยู่ก่อนทั้งความเชื่อเรื่องผีสาง เทพเจ้า ไสยศาสตร์และลัทธิศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลอยู่ก่อน การเข้ามาของพระพุทธศาสนาจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนความเชื่อและวิถีชีวิตดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง คงเป็นไปได้เพียงค่อยๆ สร้างความสนใจ ความเข้าใจและความเคารพนับถือจากผู้คนไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะปรับตัวเข้ากับความเป็นดั้งเดิมนั้น แต่ในขณะเดียวกันแก่นหรือสาระเดิมแท้ที่เป็นหลักสำคัญอันได้แก่ความเชื่อและหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ที่เรียกว่า”พระธรรมวินัย” ก็จะต้องรักษาไว้ให้มั่นคงตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะนั่นคือวิถีแห่งสัจจะที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้


          เมื่อเป็นเช่นนี้ นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาในสังคมไทยจึงก่อเกิดภาพลักษณ์ 2 ด้าน กลายเป็นนัยแห่งพระพุทธศาสนา 2 แนว ดังที่กล่าวโดยสังเขปไว้แล้วในตอนก่อนหน้านี้และขอขยายความเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้


          1. พระพุทธศาสนาแนวจารีต หมายถึง พระพุทธศาสนานัยที่สะท้อนความเป็นจารีตดั้งเดิม ถือพระไตรปิฎกเป็นแก่นสาระสำคัญ เน้นการปฏิบัติตามวิถีแห่งมรรคเพื่อความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ในปัจจุบันพบได้ในแนวปฏิบัติของวัดที่เป็นสำนักปฏิบัติสายพระป่าเป็นส่วนมาก ที่ไม่เน้นการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เน้นอามิส ศาสนพิธีและประเพณีทางศาสนาที่ผิดหลักหรือคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยดั้งเดิม มีเป้าหมายของการปฏิบัติสู่พระนิพพานอย่างชัดเจน


          2. พระพุทธศาสนาแนวประชานิยม หมายถึง พระพุทธศาสนานัยที่สะท้อนวัฒนธรรมหรือความเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยที่ถูกเสริมแต่งหรือกลมกลืนกับพระพุทธศาสนา มีพุทธธรรมเป็นบ่อเกิดประเพณีและถูกสร้างสรรค์ให้มีความงดงามอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมทั้งพราหณ์และลัทธินับถือผีสาง เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ วิถีการปฏิบัติที่เห็นได้ชัดคือ การทำบุญตามประเพณีในเทศกาลต่างๆ การไหว้เจ้า ไหว้เจ้าที่ นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บนบานสานกล่าว ทรงเจ้าเข้าผี สะเดาเคราะห์ต่อชะตา เสริมดวงและความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่มีรูปแบบทางพุทธเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งดูจะเป็นความเชื่อและวิถีชีวิตของคนส่วนมากในสังคมไทย มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการความสุขสบาย โชคลาภ ความเจริญก้าวหน้าและสิริมงคลสำหรับชีวิตเป็นหลัก 


          การนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง 2 ลักษณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นคนละทางเดียวกัน คือ มิใช่ว่าจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งที่ศึกษาเรียนรู้และเข้าใจแก่นสำคัญของพระพุทธศาสนาก็จะมุ่งเน้นสู่การปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมวินัยดั้งเดิมเป็นหลัก เรียกว่า นับถือโดยการปฏิบัติธรรม แต่ด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยก็มิอาจละทิ้งวิถีสังคมที่ปฏิบัติกันในรูปแบบวัฒนธรรมไปได้ การร่วมงานประเพณีต่างๆ การปฏิบัติตามศาสนพิธีของท้องถิ่น การรักษาขนบธรรมเนียมต่างๆ และการปฏิบัติตามมารยาททางสังคมที่ถูกหล่อหลอมมาจากพุทธธรรม เป็นต้น ยังคงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตามโอกาส แม้กระทั่งพิธีที่ดูเหมือนจะมิใช่พุทธ เช่น การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา สืบชะตา เสริมสง่าราศีและประเพณีท้องถิ่นทั้งหลาย ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องปฏิเสธไปเสียที่เดียว เพราะพิธีเหล่านี้ก็มีนัยเชิงลึกที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาและความปรารถนาที่ดี เพียงแต่ว่ามิควรยึดติดหรือคิดสร้างสรรค์กันจนลืมแก่นธรรมะหรือแก่นสารที่ดีงามไปเสีย เครื่องชี้วัดอย่างง่ายที่สุดว่ายังอยู่ในร่องลอยพุทธที่พอจะรับได้กันหรือไม่ก็คือ


สิ่งเหล่านั้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ เป็นไปเพื่อความเดือนร้อนสับสนทางจิตใจหรือไม่ เป็นไปเพื่อความหลงมัวเมา เขลาปัญญาจนเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ หรือไม่ หากเป็นไปในทางคำถามเหล่านี้ ผู้ที่เรียกตนว่าเป็น “ชาวพุทธ” ก็ควรวางท่าทีให้ถูกเสีย ไม่ส่งเสริม สนับสนุนหรือมีส่วนร่วมเพราะจะพาให้ตัว “เสียศูนย์” เสียหลักความเป็นพุทธและอาจพบกับความ “สูญเสีย” ในที่สุด

 

 (โปรดอ่านต่อฉบับหน้าและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.gotoknow.org/blogs/books/view/buddhajayanti)

 

หมายเลขบันทึก: 485798เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท