มิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย


เพื่อนเยี่ยมเพื่อน...เพียงเพราะไม่อยากให้เพื่อนจากไป

มิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย

จุฬารัตน์ สุริยาทัย 

ประธานศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในชุมชนจังหวัดน่าน

 

         จังหวัดน่านเป็นจังหวัดชายแดนที่อยู่ห่างไกลหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย มีผู้ป่วยเป็นโรคโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียจำนวน 14 คน (ปี 2550) ด้วยความคิดที่ว่า ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียจังหวัดน่านต้องได้รับสิทธิในการรักษา และ ได้รับการดูแลรักษาที่ดี”  จึงได้จัดตั้งเครือข่ายผู้ป่วยสาขาจังหวัดน่าน ภายใต้มูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทยขึ้น  เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียและครอบครัวในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และยังผลักดันให้โรงพยาบาลน่านเป็นศูนย์รับดูแลรักษาและส่งต่อโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด  ตามโครงการของสปสช.  ในการดำเนินการพบว่ามีปัญหาและข้อจำกัดในการดูแลหลายด้าน เช่น  จำนวนแฟกเตอร์ที่จัดสรรอย่างจำกัด ระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พร้อม   ไม่มีศูนย์ข้อมูล ขาดแคลนแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ผู้ป่วยทุกรายมีปัญหาซับซ้อน  มีภูมิลำเนาห่างไกล  เศรษฐานะยากจน ปรากฏความพิการ ไม่สามารถดูแลตนเองได้ บางรายไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้  ใช้ยาเกินมากกว่าที่ สปสช.กำหนด  และการดำรงชีวิตในชุมชนมีความลำบาก

       การลดข้อจำกัดต่างๆ ด้วยการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังแบบองค์รวม ต่อเนื่องผสมผสาน  โดยเน้นชุมชนกับการจัดการหรือมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังกันเองในชุมชน และมีการดำเนินการ  “มิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย”  ควบคู่กันไปโดยคำนึงถึงการเข้าถึงบริการ การช่วยเหลือด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ การเผื่อแผ่ให้ผู้ป่วยอื่นและสังคมของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียและครอบครัว  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมสนับสนุนส่งเสริมดูแลผู้ป่วยและครอบครัวตามวิถีชุมชน   เปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ครอบครัวได้เสริมสร้างพลังอำนาจด้วยกันเอง เป็นการสร้างกำลังใจความเข้มแข็งได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ เพราะเราเข้าใจกัน “ก็หมอไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเราเป็น” อย่างไรก็ตามชีวิตโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาศัยในชุมชนของตนเองเมื่อเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ต้องรับการดูแลรักษาเบื้องต้นที่ชุมชนนั้นก่อนที่จะส่งตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่แต่ละแห่งมีต้นทุนในสังคมอยู่แล้ว  มีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  มีศักยภาพในการช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกในชุมชนเพียงแต่ขาดความรู้ความเข้าใจในโรคฮีโมฟีเลียเท่านั้น  จึงมีแนวคิดในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคฮีโมฟีเลียโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในจังหวัดน่าน   ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่ายในชุมชนจังหวัดน่าน” ขึ้น  โดยมีแนวคิดหลักคือ พวกเราจะสร้างชุมชนเป็นสถานบริการ  มีหมอประจำบ้าน พยาบาลประจำครัวเรือน  พวกเราเป็นเจ้าของสุขภาพ มีการพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วย ญาติ อาสาสมัคร และเพิ่มศักยภาพแก่ ผู้ป่วย ครอบครัว  อาสาสมัครในชุมชนในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยร่วมกัน  เผยแพร่ข่าวสารให้แก่สาธารณะ เพียงขอที่ยืนในสังคมให้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียเท่านั้น เราได้ส่งเสริมให้ผู้ป่วยลดภาวะพึ่งพา ขอให้มีโอกาสเข้าโรงเรียน โอกาสทำงาน และอาศัยอยู่ในชุมชนตนเองได้

         ในปี  2553 ที่ผ่านมาจังหวัดน่านได้สูญเสียผู้ป่วยจำนวน 1 ราย จากการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากปัญหาการปรับตัวด้านจิต-สังคม  และมีผู้ป่วยหลายรายที่เริ่มประสบปัญหาการปรับตัวในการดำเนินชีวิต  จึงได้ส่งเสริม “การเรียนรู้สู้ฮีโมฟีเลีย...อย่างมีความสุข”  โดยพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจังหวัดน่านอย่างมีส่วนร่วม  การเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยผู้ปกครองสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแล การปรับตัวตามช่วงวัยของการเจริญเติบโต ทุกครั้งที่พบกันจะมีกิจกรรมทำสมาธิไว้อาลัยแด่ผู้จากไป  เพื่อสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ป่วยเอง  พวกเขายังเสนอให้มีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านโดยกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันเองเพื่อเสริมสร้างกำลังใจแก่กันและกันที่เราเรียกว่า  “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน...เพียงเพราะไม่อยากให้เพื่อนจากไป”   นอกจากนี้มีผู้ป่วยหลายรายที่เริ่มประสบปัญหาการฉีดยาเพื่อรักษาภาวะเลือดออกในระยะเริ่มแรกที่บ้าน เนื่องจากมีผู้ที่ผ่านการฝึกฉีดยาไม่เพียงพอ  กลุ่มผู้ป่วยจึงเสนอให้มี  “พยาบาลประจำครัวเรือนคนที่สองของฮีโมฟีเลีย”   เพื่อฝึกทักษะการฉีดยาให้แก่ญาติเพื่อเป็นผู้ฉีดยาสำรองให้กับผู้ป่วย 

        ผลลัพธ์การดำเนินการพบว่า  ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ มียารักษาที่บ้านอย่างเพียงพอ   มีผู้ที่สามารถฉีดยาให้เมื่ออยู่ในภาวะเลือดออกเริ่มแรก  ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถไปโรงเรียนได้ ผู้ปกครองสามารถประกอบอาชีพ  มีรอยยิ้ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวบอกกับทีมผู้ดูแลว่าเป็น โครงการที่ สวรรค์ส่งมาให้พวกเขา  ได้รับความเอื้ออาทรจากทุกคน  ได้รับการช่วยเหลือจากชุมชน เพื่อนบ้าน อาสาสมัคร ที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย  

         การดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ในโครงการ “มิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย” พบว่าเป็นการให้การดูแลแบบยืดหยุ่น  เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เสนอแนะแนวทางการดูแลซึ่งเป็นการพบกันครึ่งทาง ทำให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยมากขึ้น การที่ทีมงานได้ลงไปสัมผัสวิถีชีวิตที่บ้านสะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการเดินทาง ดังนั้นการสอนและฝึกทักษะให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองมากที่สุด  มียารักษาที่บ้าน ฉีดยาด้วยตนเองได้ สามารถปฐมพยาบาลได้ถูกต้อง เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยต่อชีวิต ลดการนอนโรงพยาบาลลงได้  ในส่วนของชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ มีความสนใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการดูแลเพียงแต่ต้องการความชัดเจนความรู้ความเข้าใจในโรคฮีโมฟีเลียเท่านั้น การจัดการความรู้ที่ฝังลึกในการดูแลตนเองที่ไม่สามารถซื้อขายได้ในท้องตลาดกลั่นกรองออกมาเป็นประสบการณ์ที่ถ่ายทอดให้เพื่อนที่ประสบปัญหาสุขภาพเดียวกัน ให้ทุกคนผ่านพ้นความทุกข์ทรมานและอยู่กับฮีโมฟีเลียอย่างมีความสุข  โดยพวกเรามีความคาดหวังเพียงเพื่อมิตรภาพนี้ จะส่งผลให้ “เพื่อนช่วยเพื่อนเพียงเพราะไม่อยากให้เพื่อนจากไป”

 

หมายเลขบันทึก: 485791เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ห่างหายไปนาน กลับมาด้วยความมุ่งมั่นที่มีต่อผู้ป่วยเช่นเดิม ยินดีด้วยค่ะ

เป็นกำลังใจให้เสมอ และแอบชื่นชมความงดงามอยู่ห่างๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท