ตอนที่ 5 : จากการตรัสรู้สู่ความเป็นพุทธศาสนา


คอลัมน์พิเศษ : มรน. ร่วม ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีคุณค่าทั้งในแง่เป็นที่มาของหลักธรรมเพื่อชีวิตและเป็นศาสตร์และศิลป์เพื่อการพัฒนาดังที่กล่าวมาแล้วใน 2 ตอนก่อนหน้านี้  และหากจะสรุปภาพรวมของคุณค่าแห่งการตรัสรู้นั้นก็คือ การเป็นบ่อเกิดแห่ง “พุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนาสากลที่มีผู้นับถือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมดทั้งที่นับถือโดยการประกาศตนเป็นชาวพุทธและโดยการถือหลักปฏิบัติตามวิถีพุทธธรรมและมีวัฒนธรรมแบบพุทธ

          การเกิดขึ้นของพุทธศาสนานั้นมีลักษณะเป็นพัฒนาการนับตั้งแต่การตรัสรู้เป็นต้นมา โดยในระยะแรกของการตรัสรู้นั้น คำว่า “พุทธศาสนา” ยังไม่ปรากฎ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ อริยสัจ 4 นั้น เรียกว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นคำที่มีใช้อยู่ก่อนการตรัสรู้แล้ว ต่อมาทรงสั่งสอนธรรมในรูปแบบที่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐ เรียกว่า “พรหมจรรย์” ผู้ที่ออกบวชเป็นพุทธสาวกในยุคต้นนั้นจึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่เมื่อมีผู้ออกบวชมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุจูงใจให้บวชแตกต่างกันไป รวมทั้งความเข้าใจในหลักปฏิบัติพรหรมจรรย์ก็ผิดแผกแตกต่างกัน มีการปฏิบัติผิดหลักพรหมจรรย์เกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติ “วินัย” เป็นกฎกติกาเพื่อเป็นเครื่องป้องกันความเสื่อมเสียต่างๆ ปรับโทษผู้กระทำความผิด สร้างความเป็นเอกภาพ ความสง่างามและความผาสุกแห่งสงฆ์ โดยเรียกกริยาที่ล่วงละเมิดวินัยนั้นว่า “อาบัติ” สิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนในยุคนั้นจึงเรียกว่า “ธรรมวินัย

          ต่อมาหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เหล่าพระสงฆ์พุทธสาวกก็ได้สืบทอดพระธรรมวินัยมาโดยลำดับ นับตั้งแต่มีการทำสังคายนาครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานล่วงไป 3 เดือน เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอนให้เป็นหมวดหมู่ โดยในครั้งนั้นยังคงจำแนกเป็น “ธรรม” และ “วินัย” แต่ถัดจากนั้นเมื่อมีการสังคายนาครั้งต่อๆมา พระธรรมวินัยก็ถูกจัดเป็นหมวดๆ แบ่งเป็น 3 หมวด เรียกว่า “พระไตรปิฎก” ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกและนิยมเรียกพระธรรมวินัยที่บรรจุในพระไตรปิฎก(ด้วยภาษามาคธีหรือภาษามคธ)นั้นว่า “พระบาลี” หมายถึง “พระพุทธพจน์ที่รักษาสืบทอดมาโดยลำดับ” ( “บาลี” เป็นชื่อเรียกภาษามคธในความหมายว่าเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ภาษาบาลีจึงเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะในพุทธศาสนา)   

          เมื่อมีการสืบทอดหลักปฏิบัติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นศาสนาเหมือนอย่างลัทธิศาสนาอื่นๆ จึงค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีองค์ประกอบแห่งความเป็นลัทธิศาสนาสมบูรณ์ ได้แก่ มีศาสดา ศาสนธรรม ศาสนิก ศาสนพิธีและศาสนวัตถุ  คำว่า “พุทธศาสนา” จึงถูกเรียกโดยแพร่หลาย แต่เดิมความเป็นพุทธศาสนานั้นมีลักษณะเป็นจารีต คือ การถือปฏิบัติตามธรรมวินัยโดยมีรูปแบบของศาสนิกที่จำแนกมาตั้งแต่ต้น 2 แบบ คือ ผู้ครองเรือน(ฆราวาส)หรือคฤหัสถ์ ได้แก่ อุบาสกและอุบาสิกา และผู้ออกบวชจากเรือนหรือบรรพชิต ได้แก่ สามเณร สามเณรี ภิกษุและภิกษุณี การปฏิบัติก็ไม่เน้นพิธีกรรมทางศาสนาแต่เน้นการถือปฏิบัติธรรม เช่น การบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา      

          ต่อมาเมื่อปัจจัยทางสังคมเข้ามามีบทบาทต่อการปฏิบัติตามแนวจารีตมากขึ้น พุทธศาสนาถูกเผยแผ่ไปในสังคมต่างๆ แพร่หลายขึ้น มีการแข่งขันด้านมวลชนผู้นับถือลัทธิต่างๆ มากขึ้น พิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางวัตถุมากมายจึงค่อยๆ เกิดขึ้นควบคู่กับความเชื่อเรื่องโชคลาง ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  เพื่อเรียกศรัทธาและสร้างเอกลักษณ์ทางศาสนา การปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากจึงถูกหล่อหลอม ปรับปรุงและผสมผสานกับความเชื่อต่างๆ มีการสร้างสรรค์พิธีกรรมและวัตถุตามความเชื่อควบคู่กับการเผยแผ่ธรรม การนับถือและปฏิบัติทางศาสนาจึงมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดควบคู่กับวิถีชีวิตทางสังคม  กลายเป็นพุทธศาสนาในรูปแบบวัฒนธรรมหรือลักษณะประชานิยมนั่นเอง

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เมื่อเรากล่าวถึงพุทธศาสนา คนจำนวนหนึ่งก็นึกถึงความเป็นพุทธศาสนาแบบที่เห็นทางสังคม คือ ในลักษณะวัฒนธรรมหรือประชานิยม  แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็จะนึกถึงความเป็นพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นจารีตดั้งเดิม ซึ่งทั้ง 2 มุมมองนั้นล้วนมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตและสังคมทั้งสิ้น หากแต่ว่าชาวพุทธจะต้องทำความเข้าใจ แยกแยะและปฏิบัติให้เหมาะสม  ซึ่งแนวปฏิบัติที่เหมาะสมนั้นจะได้กล่าวไว้ในตอนต่อไป

                (โปรดอ่านต่อฉบับหน้าและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.gotoknow.org/blogs/books/view/buddhajayanti)

หมายเลขบันทึก: 485797เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ อริยสัจ 4 นั้น เรียกว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นคำที่มีใช้อยู่ก่อนการตรัสรู้แล้ว...

I would rewrite this --very carefully--.

What the Buddha discovered is not "ariya sacca".

"Ariya sacca" is as has been "the way of Ariyan" (a race of people which the Buddha was born into). This principle of analysis seems to have been practiced long before the Buddha time.

Please, search the Net and read about ปฏิจจสมุปบาท or 'what the Buddha discovered' to see the foundation of Buddhist concepts is about "factors and effects" (the webs of relations [over time and space] or the law of Kamma). It is agreed that the word 'Dhamma' was in use well before the Buddha time, and there are many 'meanings' for dhamma. 'Ariya sacca' (when 'religiously' practiced/used) is "a" dhamma in one meaning. The late venerable Buddhadaasa had offerred many more meanings: "duty", "way things are", "cleaning" (home and mind),...

We should help to clear the "way of the Buddha" from misconceptions and half-truth (half avijja).

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท