จาก “Hold 住” มาเป็น “เอาอยู่” จนถึง “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”


When Did It Become Okay to Text Mum "Happy Birthday"? --- ทุกอย่างถูกแทนที่ด้วย Emoticon

“Hold 住” (โฮลด์ จู้) วลีนี้ได้ยินครั้งแรกตอนไปเซี่ยงไฮ้ช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ เป็นวลีที่ติดกระแสมาก คนจีนก็เหมือนชาติอื่นๆ ที่เผลอไปนิยมศัพท์ตะวันตก แบบว่า จีนคำฝรั่งคำ

คำว่า Hold เราคงรู้ๆ กันว่า หมายถึงการถือ ยึด เกาะ คว้า รั้ง ครอง อดทน อะไรประมาณนี้ ส่วนคำว่า 住 [pinyin: zhù] อ่านว่า “จู้” ในที่นี้หมายถึง มั่น อยู่ ทำนองนี้ สรุปศัพท์สองคำนี้ มีความหมายคล้ายๆ คำว่า “เอาอยู่” ซึ่งก็เป็นวลีฮิตในประเทศไทย ใครๆ ก็รู้.... เอาอยู่

ในขณะที่ในจีนก็มีอีกคำในเชิงตรงข้าม ว่า “Hold 不住” (โฮลด์ ปู๋ จู้) คำว่า 不 [pinyin: bù] อ่านว่า ปู๋ แปลว่าไม่ “Hold 不住” (โฮลด์ ปู๋ จู้) จึงหมายถึง “เอาไม่อยู่” “ฉุดรั้งต่อไปไม่ได้” ประมาณนี้

วลีฮิตติดกระแสเหล่านี้ ล้วนมีที่มาแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ “Hold 住” (โฮลด์ จู้) เกิดจากกิจกรรมการแสดงในรายการ Variety show ของใต้หวัน ชื่อ “University”《大学生了没》เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ (๒๐๑๑) ซึ่งเป็นคำพูดในการแสดงโชว์ของ มีส หลิน Miss Lin ที่เรียนจบจากปารีส ฝรั่งเศส พูดจีนคำอังกฤษคำ ใช้วลีนี้หลายครั้งในหลายบริบท เช่น โหนรถเมล์ หรือการคุมสถานการณ์ (หน้าแตก) ไว้ได้ ถ้าฟังภาษาจีนออกจะสนุกและขำมาก[1] ซึ่งเมื่อรายการนี้ออกอากาศไป ศัพท์คำนี้ก็เป็นอันแพร่ระบาดไปทั่วทั้งใต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ในชั่วข้ามคืน ลองคิดดูว่าประเทศจีนที่ใหญ่ขนาดไหน ถึงกับได้รับรางวัลที่สุดของวลีฮิตติดกระแสโลกไซเบอร์ในอันดับที่ ๑ ของปี ๒๐๑๑ ในประเทศจีนเลยทีเดียว

เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ท่านนายกปูจะพูดคำว่า “เอาอยู่” ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมของไทยเมื่อปลายปี ๒๕๕๔ ซึ่งท่านก็คงไม่ได้เอามาจากคำว่า “Hold 住” (โฮลด์ จู้) อย่างแน่นอน แต่คำว่า “เอาอยู่” ของท่านได้กลายเป็นศัพท์ที่มีความหมายผิดเพี้ยนไปเล็กน้อยที่ออกไปในเชิงกระแนะกระแหนเสียมากกว่า ซึ่งก็นับเป็นวลีฮิตติดปากคนไทยไปอีกนาน

ก่อนจะมาถึงเรื่องราวของ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ที่จริงมีเรื่อง “ธนูปักเข่า” ที่น่าสนใจ "I used to be an adventurer like you, then I took an arrow in the knee.” ซึ่งแปลไทยก็จะได้ประมาณ “ฉันก็เคยเป็นนักผจญภัยเหมือนคุณ แต่โดนธนูปักที่เข่า (เลยต้องมาเป็นยามนี่แหละ)” ซึ่งเป็นคำพูดที่เหมือนกันของยาม (ร.ป.ภ.) ของทุกเมืองในเกมส์ที่ชื่อว่า “The Elder Scroll V: Skyrim”[2] ซึ่งเป็นวลีนิยมกันไปสักพักเดียว “ธนูปักเข่า” วันนี้แทบไม่มีคนพูดถึง หายไปไวมาก

แล้วก็มาถึง “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ซึ่งก็เริ่มง่ายๆ แค่เด็กนักเรียนห้องเดียวกันมีปัญหากันแล้วถ่ายคลิปมาต่อว่าเพื่อน เมื่อคืนวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมีคำลงท้ายคลิปที่ ๓ ว่า “เรื่อง-นี้-ถึง-ครู-อัง-คณา-แน่”[3] แล้ววลีที่ว่า “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ก็กลายเป็นวลีฮิตติดกระแสโลกไซเบอร์ในทันทีเหมือนกัน ซึ่งผู้เขียนก็ทราบวลีฮิตนี้ขณะอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ในประเทศไทย

ทั้งหมด เป็นเรื่องราวของการแพร่คำพูดหรือวลีที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ออกไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยระบบโครงข่ายโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบการส่งข้อความที่มากมายหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, MSN, Skype, QQ, Whatsapp, BBM, Line, FaceTime, Tango, KakaoTalk, Viber ฯลฯ ทำให้โลกแคบลง การสื่อสารถึงกันง่ายขึ้น ซึ่งก็มีคุณูปการที่นับไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มนุษย์ปัจจุบันใช้ผัสสะน้อยลง พิมพ์คำว่า “LOL” แทนเสียงหัวเราะ รู้สึกเฉยๆ กับการส่งข้อความ “Happy Birthday” ไปให้แม่ในวันเกิด โดยมักอ้างว่าไม่ว่าง ติดงาน เพราะเทคโนโลยีนี้เองที่ทำให้การไหว้-การรับไหว้ ความอบอุ่นจากการกอด รอยยิ้มบนใบหน้า และอะไรอีกหลายอย่างหายไป ทุกอย่างถูกแทนที่ด้วย Emoticon

เราจะใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีเหล่านี้ มาสร้างความเป็นมนุษย์ที่มีผัสสะกันได้อย่างไร... ช่วยกันคิด



[1] ดูแบบเต็มๆ ได้ที่ http://video.sina.com.cn/p/ent/v/2011-08-12/144861443235.html

หรือที่ YouTube ก็ http://www.youtube.com/watch?v=aqNsaEL-wM4

[2] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/tech/224956

[3] ดูคลิปได้ที่ http://www.techxcite.com/topic/9029.html

หมายเลขบันทึก: 484916เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในหลักภาษาไทยมีคำว่า "คำคนอง" วลีคนอง" ผ่านมาก็ผ่านไป แต่ที่น่าสนใจคือมันเป็นการสะท้อนถึงสังคมที่ที่อ่อนแอ ยังยึดติดกับสังคมศักดินา อุปถัมภ์ เรื่องนี้สิน่าคิดว่าคำคนองที่ผ่านมาแล้วผ่านไปซะอีก

การใช้เทคโนโลยีสื่่อสารเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อกันง่ายขึ้นสะดวกรวดเร็ว

ในยามที่ตัวห่าง ใจห่าง

ไม่ควรเหมาว่าคนที่เลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้หลงลืมจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ละเลยต่อผัสสะที่เพื่อนมนุษย์พึงมีแก่กัน

        เป็นเรื่องน่ากังวลใจมากกว่าหากพบว่าบางคนมีจิตกระด้างต่อความอ่อนไหวทางจิตวิญญาณของบุคคลอื่น

ทนได้กับการเห็นความเป็นทุกข์ของผู้อื่น

        และเมื่อบุคคลดังว่าผสานกับเทคโนโลยีที่เพียงต้องการสารมากกว่าความรู้สึกใดๆที่ส่งไปพร้อมสารนั้น 

         จะยิ่งทำให้ดูเหมือนทุกสิ่งอย่างเป็นความฉาบฉวยจากการใช้เครื่องมือแสนวิเศษเหล่านี้

 ทหากพิจารณาดูดีๆจะพบว่าหลายคนที่ จิตพร้อมสมบูรณ์ในการเปิดรับผัสสะที่เข้ามากระทบแต่ถูกขวางกั้นจากจิตกระด้างโดยอาศัยเทคโนโลยี ลอยแพตัดขาดการสื่อสารที่มาจากความรู้สึก และในที่สุดเทคโนโลยีก้อเปนเพียงแพะที่มารองรับการขาดผัสสะที่ควรมีของคนที่มีจิตกระด้างต่อความรู้สึกของผู้อืนนั่นเอง

บันทึกในวันที่ทุกความรู้สึกตกตะกอนดีแล้ว...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท