สิ่งพิเศษในมนุษย์


สิ่งพิเศษ ในมนุษย์ คือการทำแล้วรอผลในเบื้องหน้า ขณะที่สัตว์ทั่วไปที่ทำไปเพื่อผลที่อยู่ตรงหน้า

วันนี้ขณะออกตรวจผู้ป่วย คุณตาวัย 80 เดินเข้ามา..ข้าพเจ้าเหลือบมอง note เล็กๆ ที่เขียนไว้ใน OPD card ว่า "ความดัน, เบาหวาน"
ข้าพเจ้าถาม "เป็นอย่างไรบ้าง"
คุณตาตอบ "สบายดีครับ"
...แล้วก็เริ่มให้ประวัติที่ต่างจากคนไข้สูงอายุทั่วไป
ซึ่งแม้จะขึ้นต้นด้วยสบายดี ก็มักตามด้วย บ่นถึงอาการปวด นอนไม่หลับ etc.
แต่สิ่งที่คุณตาพรั่่งพรูออกมาโดยไม่ต้องถาม
" ตามีลูก 4 คน - คนหนึ่งเป็นหมออนามัย, คนหนึ่งเป็นวิศวะ, คนหนึ่งเป็นอาจารย์  คนสุดท้องเพิ่งจบโท"..."แต่พ่อมัน (ตัวคุณตา) ปั่นรถถีบ"
แกเล่าต่อถึงความภาคภูมิใจ
ที่ตัวแกและภรรยาได้รับการยกย่องเป็น "พ่อแม่ดีเด่น" ระดับจังหวัดปีก่อน
ข้าพเจ้าได้จังหวะนึกถึง AI :) 
" คุณตา ทำอย่างไร ลูกถึงเก่งๆ ทุกคน"
คุณตายิ้มจนตาหยี ก่อนตอบด้วยท่าทีจริงจัง 
" ตอนนั้นนะ ไม่มีเงิน ไม่ค่อยมีกิน..
แต่ตาอยากให้ลูกได้กินปลาเยอะๆ  
กลับจากปั่นสามล้อ ต้องเอาปืนไปหนอง ยิงปลาช่อนมาให้เขากิน..
แล้วก็บอกให้เขาขยันเรียน
ถ้าสอบได้ที่หนึ่ง พ่อจะซื้อนาฬิกา 70 บาทให้
(ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละบาท)..
ตอนนั้นแม้แต่เตี่ยวใส่เปลี่ยนปั่นสามล้อยังไม่มีเลย
แต่ดูสิ ตอนนี้ลูกๆ ซื้อซิ่น (ผ้าถุง) ซื้อสูท ให้แม่ให้พ่อจนเต็มบ้าน"
.
ว่าแล้วคุณตาอารมณ์ดี ก็ร่ายค่าว (บทกวีภาคเหนือ) ที่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ทั้งหมด
แต่ประมาณว่า คุณตาคุณยายเลือกเกิดไม่ได้แต่มีบุญวาสนามีลูกดีดั่งเทวดา..

.
ข้าพเจ้าเริ่มสนุก จึงถามต่อ
" คุณตาเลี้ยงลูกอย่างไร ถึงดีกับพ่อแม่ทุกคน"
คุณตาตอบ 
"ตาเคยบวชเณรนะ
ก่อนนอนก็จะเล่าเรื่องชาดกต่างๆ ให้ฟัง 
อย่างลูกชาย ตาจะบอกเขาว่า
ถ้าอยากมีเมียดี
ก็ต้องอยู่ในกรอบ ตั้งใจเรียน
พอทำงานดี ผู้หญิงดีๆ ก็สนใจเราเอง
แล้วเขาก็เชื่อ..มีพ่อตาแม่ยายใจดี..สบายไป
ตาบอกให้แต่ละคนตั้งเป้าแต่เด็กว่าอยากเป็นอะไร
ตอนนี้นะ..ถึงเป้ากันทุกคนเลย (ยิ้มฟันสวย)"

###

บทเรียนจากคุณตา ผู้มาโรงพยาบาลด้วยความเบิกบาน
ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึง คำพูดอาจารย์
เปรียบเทียบเป้าหมายการกระทำสองแบบ
แบบ  "ตรงหน้า - Immediat reward"
กับ   "เบื้องหน้า -Long term reward"
สัตว์ทั่วไป ออกหากิน เพียงเพื่อให้อิ่มท้อง
เช่นกระรอก ได้ผลไม้มาแล้วก็จัดการกับอาหารตรงหน้าจนเกลี้ยง
โดยไม่รู้วิธีถนอมอาหาร
ไม่รู้วิธีแบ่งปันเพื่อซื้อใจ
ขณะที่มนุษย์ แตกต่าง
เรารู้จักการทำ แยม ไปจนถึงการประดิษฐ์ตู้เย็น
เรารู้จักที่จะปลูก แล้วรอให้มันเติบใหญ่ออกดอกผล
รอให้ผล สุกก่อนจึงค่อยกิน "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"
...
มนุษย์มี สมองส่วนบางๆ
ที่สร้าง "จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า" 
มนุษย์เราต่างมีจินตนาการนี้
แล้วอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน ?
นักศึกษา อเมริกัน, ญี่ปุ่น และไทย ฟังคำถามแล้วมีปฎิกิริยาดังนี้
นศพ. แซม "อะไรคือนิยามความสำเร็จ?"
                แล้วนั่งถกกับอาจารย์
นศพ. คิขุ  : ...(เงียบ)  
            แล้วไปค้นหา internet เงียบๆ หนึ่งชั่วโมงก่อนกลับมาพร้อมคำตอบ
นศพ. เด็กดี : ...(เงียบ)
            แล้วเล่นเกมส์ใน facebook อย่างมีความสุข

 

หมายเลขบันทึก: 484912เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

เรียกว่าต้องมีสิ่งล่อใจให้ลูกหลานตั้งใจเรียนว่างั้น นะครับ

 

 

มนุษย์มี สมองส่วนบางๆ ....ที่สร้าง "จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า" 
มนุษย์เราต่างมีจินตนาการนี้..... แล้วอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จ...ไม่เท่ากัน ?

==  อะไรคือ ...... นิยามความสำเร็จ?


---- ดีมากเลยค่ะ ... อจ.หมอ ป. 

--- ได้ความรู้มากเลย

 

คุณตาเลี้ยงลูกได้ดีสมกับได้รับการยกย่องเป็น "พ่อแม่ดีเด่น" จริงๆ เลยนะคะ Long Term Reward จริงๆ....พ่อแม่แทบทุกคนหวังเช่นนั้น..

เกิดไม่ทันก๋วยเตี๋ยวชามละบาทค่ะ :)

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆ ค่ะ โชคดีที่ไม่ติดเฟสบุ้ค เลยอดได้เป็นเด็กดีค่ะอาจารย์

สวัสดีครับ อ. หมอ ป. ....นานๆได้แวะอ่านบันทึกของ อ. หมอ บันทึกนี้วิชาการน้อยหน่อย มนุษย์อย่างผมพอจินตนาการได้ถึง อยากให้ นศพ.อเมริกา ญี่ปุ่น ช่วยดึง นศพ. ไทยออกจากเกมส์ในfacebook จังครับ...

เอ.....สงสัยเราจะเป็นเด็กดี ???? ^__^

บางครั้งบางครา...เราก็เป็น แซม.....  เป็น คิขุ ^__^

 

นี่คงเป็นอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์.....

เลือกที่จะเป็นสิ่งใด สิ่งหนึ่งได้ ในบางเวลา

สุดแต่ใจจะไขว่คว้า

อาจารย์ของคุณหมอบางเวลา สอนได้ดีจังครับ ทำให้ผมกลับมานึกถึงอาจารย์ของครูที่ทำงานผม เขาจะสอนให้ลูกศิษย์ของเขาเป็นครูที่ดีบ้างหรือไม่นะ อย่างที่อาจารย์ของคุณหมอบางเวลาสอนให้คุณหมอเป็นคุณหมอที่ดี เป็นครูที่ดี

เรื่องเล่าในบันทึกมันเชื่อมต่อกับประสบการณ์ของผมแล้วคิดออกมาแบบนั้น

อีกประเด็นหนึ่ง ชีวิตของคนเป็นหมอจะได้รับประสบการณ์มากมายจากคนไข้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นแต่ละวันก็มีมากมาย มากมายจนสามารถใช้เป็นบทเรียนที่แลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี

สายตาแห่งความภาคภูิมิใจของคุณตาไม่โกหก เหมือนสายตาของเด็ก ๆ ที่อยู่ในห้องเรียนห้องหนึ่งคิดอย่างไรก็ให้ดูที่สายตา

บันทึกของคุณหมอก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีคุณค่าเช่นเคยครับ ;)...

สายตาสัมผัสใจ สื่อกันได้มิมีขอบเขต จินตนาการไกล

ชอบ...ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ อุ่นในใจ.....ฝันดีนะคะ

ชอบเรื่องคุณตาค่ะคุณหมอป. ทุกชีวิตล้วนมีเรื่องราวดีๆ

เพราะตราบที่ยังมีลมหายใจ ควรจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า

ทำให้นึกถึงประโยค เราเป็นอย่างที่เราคิดหวัง ขอบคุณค่ะ

  • และแล้วก็ได้กลับมาอ่านงานเขียนของผู้เขียนคนโปรด (My Favorite Blogger) เสียที
  • งานชิ้นนี้ ถ้าประเมินตาม Rubrics (ยังไม่เห็นศัพท์บัญญัติของคำนี้ค่ะ) ที่ยายวิสร้างขึ้นจะได้ระดับดีเยี่ยม ค่ะ
  • เป็น Rubrics ที่สร้างขึ้นเดี๋ยวนี้เองค่ะ ความ "เป๊ะ" ของงานเขียนของอาจารย์หมอป.ชิ้นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้สร้าง สร้าง Rubrics นี้ขึ้น ตอนนี้เพิ่งสร้างระดับเดียวคือ ระดับดีเยี่ยม ค่ะ ซึ่งจะขออนุญาตใช้งานเขียนนี้เป็นตัวอย่างประกอบเกณฑ์ระดับดีเยี่ยมค่ะ การพัฒนาทักษะการเขียนเพื่อสื่อความคิดของนักศึกษาในภาคเรียนหน้าค่ะ
  • เกณฑ์ของระดับดีเยี่ยม คือ "ชื่อเรื่องใช้ภาษาที่กระชับ (Concise) แต่สื่อความหมายชัดเจน (Clear) เนื้อหาสอดคล้องกับชื่อเรื่อง การดำเนินเรื่องจูงใจให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ มีตัวอย่างจริงประกอบแนวคิดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และ จบลงแบบให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน" ค่ะ
  • อ่านบทสนทนาของอาจารย์หมอป.กับคุณตาแล้ว ทำให้นึกถึงบทสนทนาของหมอกับคุณป้าที่นอนไม่หลับ ซึ่งเป็นบันทึกแรกของอาจารย์หมอป.ที่ได้อ่าน และได้นำข้อปฏิบัติ "กินกล้วยเพื่อช่วยการนอนหลับ" ไปใช้กับพ่อใหญ่สอมาตั้งตอนนั้น
  • ชื่อเรื่อง "สิ่งพิเศษในมนุษย์" มีความกระชับแต่สื่อความหมายชัดเจน การเริ่มเรื่องด้วยบทสนทนาระหว่างอาจารย์หมอป.กับคุณตา ทำให้อยากรู้ว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่อะไร จึงจูงใจให้ติดตามเพื่อหาคำตอบ และแล้วก็ได้คำตอบว่า "...บทเรียนจากคุณตา ผู้มาโรงพยาบาลด้วยความเบิกบาน ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึง คำพูดอาจารย์เปรียบเทียบเป้าหมายการกระทำสองแบบ "แบบตรงหน้า - Immediat reward" กับ   "เบื้องหน้า -Long term reward" สัตว์ทั่วไป ออกหากิน เพียงเพื่อให้อิ่มท้อง...เช่น กระรอก ได้ผลไม้มาแล้วก็จัดการกับอาหารตรงหน้าจนเกลี้ยงโดยไม่รู้วิธีถนอมอาหาร ไม่รู้วิธีแบ่งปันเพื่อซื้อใจ ขณะที่มนุษย์ แตกต่าง เรารู้จักการทำ แยม ไปจนถึงการประดิษฐ์ตู้เย็น เรารู้จักที่จะปลูก แล้วรอให้มันเติบใหญ่ออกดอกผล รอให้ผล สุกก่อนจึงค่อยกิน "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับชื่อเรื่อง เรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของคุณตา เป็นตัวอย่างจริงที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมประกอบการเสนอแนวคิด "สิ่งพิเศษในมนุษย์...การจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า" แล้วเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสภาพการณ์ในปัจจุบัน (การเลี้ยงดูกล่อมเกลาลูกๆ ของคุณตา) เพื่อให้เป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีในอนาคตของลูกๆ
  • แล้วก็มาถึงบทส่งท้าย "มนุษย์มีสมองส่วนบางๆ ที่สร้าง "จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า" ...แล้วอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน ? นักศึกษา อเมริกัน, ญี่ปุ่น และไทย ฟังคำถาม "อะไรคือนิยามความสำเร็จ?"   แล้วมีปฎิกิริยาแตกต่างกัน คือ นักศึกษาอเมริกันนั่งถกปัญหานั้นกับอาจารย์ นักศึกษาญี่ปุ่นขอไปค้นคว้าเพื่อหาคำตอบกลับมาตอบอาจารย์ ในขณะที่นักศึกษาไทย ไม่ใส่ใจที่จะตอบแต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างมีความสุข เป็นการจบที่ฝากให้ครูและผู้ใหญ่ไทยกลับไปช่วยกันคิด ว่า นี่กระมัง ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country ) ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) เหมือนญี่ปุ่นกับอเมริกา และจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
  • ขอย้ำอีกครั้งว่า "คบ (ดุษฎี) บัณฑิต (ดุษฎี) บัณฑิตพาไปหาผล" ที่เคยพูดกับอาจารย์หมอป.เป็นจริงเสมอ การอ่านบันทึกของอาจารย์หมอป.ครั้งนี้ ก็ทำให้ยายวิได้ทั้ง Rubrics ประเมินงานเขียนเพื่อสื่อความคิด และได้กรณีตัวอย่างที่จะนำไปอ้างอิงในบันทึกต่อไป "คิดนอกกรอบ...การเตรียมเยาวชนสู่ ASEAN COMMUNITY" ที่ยังไม่ได้เตรียมต้นฉบับค่ะ มีแค่ "แก่น (Theme)" ของเรื่องค่ะ จึงยังไม่มีกำหนดเวลาเพิ่มบันทึก   
      

     
      

ของหมอครับ..ใช้่้เลยแนว AI ครับ..ประมาณนี้ครับ.. เห็นเรื่องราวแล้ว่าทึ่งครับ...

ชอบมากๆ..เห็นภาพชัดจริงๆ..

AI ถ้ามาถูกแนว..จะได้เรื่องเล่าที่เห็นภาพชัดเลยครับ..

ฝากคุณหมอใส่ Keyword AI และ Appreciative Inquiry ไปด้วยนะครับ..เพื่อสะดวกต่อการสืบค้น..

เมื่อวานพึ่งคุยกับลูกศิษย์เรื่องคล้ายๆกันนี้พอดีเลย

ตอนบันทึก รู้สึกแบบอาจารย์เหมือนกันค่ะ
ว่า คุณตาใช้รางวัล ที่เป็นวัตถุ จับต้องได้มาแรงจูงใจ
ให้ลูกเรียน และอยู่ในกรอบของสังคม
ซึ่งอาจเหมาะในบริบท และช่วงเวลาเมื่อ 40-50 ปีก่อน
ในยุคอินเตอร์เนต อย่างปัจจุบัน
ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้หรือไม่
อย่างไรเสีย "ความรักอย่างเสียสละ" ที่พ่อแม่แสดงต่อลูก
คงไม่ตกยุคง่ายๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ P'Ple
คนไข้แต่ละคนเป็นครูผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เล่ามา
แอบกระซิบว่า ได้ update ข่าวสารบ้านเมือง ก็ทางนี้แหละค่ะ :)

"....ตอนนั้นนะ ไม่มีเงิน ไม่ค่อยมีกิน..
แต่ตาอยากให้ลูกได้กินปลาเยอะๆ  
กลับจากปั่นสามล้อ ต้องเอาปืนไปหนอง ยิงปลาช่อนมาให้เขากิน..
แล้วก็บอกให้เขาขยันเรียน
ถ้าสอบได้ที่หนึ่ง พ่อจะซื้อนาฬิกา 70 บาทให้....."

มีปรากฏการณ์และพัฒนาการทางสังคมจำนวนมากที่มีลักษณะอย่างนี้
ที่คนให้นิยามความสำเร็จในชีวิตและสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเอง บนความสุข ความสำเร็จ และความงอกงามที่ไม่ได้เกิดบนตนเองโดยตรง แต่เกิดที่คนอื่น ชีวิตอื่น แล้วตนเองค่อยได้รับผลแห่งความสำเร็จนั้นในภายหลัง คำว่า 'พ่อค้า' 'แม่ค้า' ที่มีใช้อยู่ในสังคมนั้น มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าคนทำอาชีพขายของเพื่อได้กำไรมากนัก แต่เป็นวิถีปฏิบัติอย่างหนึ่งที่คนทำมาค้าขายด้วยจิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ ปราถนาให้ผู้อื่นและคนอื่นเป็นสุขมากกว่ามุ่งได้แก่ตนเอง

สังคมไทยในอดีตก็มักเรียกกันว่าพ่อโน่นแม่นี่ น่าจะมีนัยะที่สะท้อนบางอย่างที่บอกว่าผู้คนเมื่อก่อนนั้น ให้วามนอบน้อมต่อความดีงามของผู้อื่น รวมทั้งปฏิบัติต่อผู้อื่นให้ได้ความดี งาม จริง อย่างพ่อแม่ทำสิ่งต่างๆให้แก่ลูก สำนึกและจิตวิญญาณของสังคมอย่างนี้เชื่อว่ายังมีอยู่อีกมากนะครับ บทสนทนาของคุณหมอกับคุณลุงยืนยันการยังคงมีอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่คนต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วยที่จะให้ความหมายความเป็นครอบครัว ขยายใหญ่ไปสู่สังคม มีความเป็นพี่น้องกันกับคนอื่น และเรียนรู้ที่จะร่วมชะตากรรม ร่วมทุกข์สุขกับผู้คนอย่างมีความเป็นญาติพี่น้องกันด้วย มากกว่าหยุดความเป็นครอบครัวให้นิ่งอยู่ในบ้านส่วนตัวของตนเอง นอกบ้านก็กลายเป็นคนอื่นไปหมด การปฏิบัติดีๆอย่างพ่ออย่างแม่ต่อกัน จึงเกิดขึ้นแต่ในบ้านแคบๆ ไม่สามารถเกิดพ่อค้า แม่ค้า พ่อโน่นแม่นี่ ที่มุ่งความสำเร็จและความงอกงามของชีวิต ผ่านการให้แก่ผู้อื่น ต่างให้กันและกันอย่างพ่อแม่ให้สิ่งต่างๆแก่ลูก ซึ่งแม้แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักสังคมที่จัดความสัมพันธ์แห่งการให้แก่กันอย่างนี้ด้วยเหมือนกันนะครับ

ชอบทั้งบันทึกและที่มาของบันทึกมากเลยครับ พอคุยเสร็จคุณลุงก็เดินปร๋อกลับบ้านอย่างมีความสุข ความเจ็บความไข้แม้นจะหายหรือไม่หาย สุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคุณลุง นอกจากก็ไม่ลดน้อยลงไปแล้ว ก็กลับเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างมหาศาลเลยใช่ไหมครับ

คุณตา น่่ารักจังค่ะคุณหมอ ^^

...อ่านแล้ว..คิดถึง..ทฤษฎี..ของ.ดารวิน..มนุษย์พัฒนา..ก็เพื่อ..ผล..ประโยชน์แห่ง."ตน"....(ยายธี)

สวัสดีครับ ชวนอ่าน...ชวนพินิจ...และชวนทบทวน เป็นบันทึกหนึ่งที่น่าอ่านจากปลายนิ้ว ที่กลั่นกรองจากก้นบึ้งของหัวใจและสมอง ของอาจารย์หมอเช่นเคยครับ ส่งความคิดถึงผ่านค่ำคืนวันสงกรานต์ และทุกวันตลอดไป ให้อาจารย์มีความสุขนะครับ

ลูกคือความหวังของพ่อแม่
เมื่อลองนำคำพูดของคุณตามาวิเคราะห์ก็พบว่า
แม้คุณตาจะพูดว่า "อยู่ในกรอบ"
แต่ให้ลูกแต่ละคน "ตั้งเป้าในชีวิต" เอง
นับเป็นวิธีเลี้ยง ที่ผสานตะวันออก ตะวันตกอย่างน่าสนใจค่ะ

...

สุขสันต์วันขึ้นปีใหม่ไทย (ณ สิงคโปร์นะค่ะ) 

ยินดีที่ได้ต้อนรับอีกครั้งค่ะ
คุณ พิชัย ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจ
แม้มิได้ตั้งใจจะเหมารวม 
เอาเป็นว่า ที่ตนเองพบเห็นมา..
เด็กอเมริกัน  จะไม่ยอมทำตามจนกว่าเขาจะเข้าใจแล้วอยากทำเอง
เด็กญี่ปุ่น  ทำตามเซนเซทุกประการ ไม่ท้วงติง แล้วรับผิดชอบงานนั้นสุดชีวิต
เด็กไทย   ไม่เถียง ไม่ถาม และไม่ทำ..ซะงั้น

เช่นกันค่ะพี่กระติก
อีกปัจจัยหนึ่งคือ "ใคร" เป็นคนถาม
ถ้าคนที่ถาม เปิดใจ ก็จะเป็นแซม + คิขุ
แต่บางครั้งเป็นการถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นการถามเพื่อสั่งสอน
ก็จะเป็น เด็กดี :) 

ขอบคุณค่ะ
นึกถึง อาจารย์หมอผจญ ท่านเป็นศัลยแพทย์ที่ชอบออกชนบท
กล่าวว่า คนเรามีสองแบบ
พวกชอบเป็น "ผู้เสพ" - เลือกทำงานที่สบาย ที่มีคนอื่นกรุยทางไว้ให้แล้ว
พวกชอบเป็น "ผู้สร้าง" - เลือกทำงานที่ต้องฝ่าฟัน  ริเริ่ม 
###

ผ่านไปหลายปี ก็ยังฝังใจ 

การคุยกับคนไข้...โดยมองตา (ไม่ใช่มองแค่จอคอม)
ช่วยการเรียนรู้ มากมายนักค่ะ 

สวัสดีวันปีใหม่ไทยและวันผู้สูงอายุค่ะ
ผู้สูงอายุแต่ละท่าน มี "ความรู้ตกผลึก-crystalized intelligence"
ให้ค้นหา

  • ประทับใจอาจารย์ที่เป็นนักวิเคราะห์ ที่สามารถสังเคราะห์บทเรียนแก่นักศึกษาอยู่เสมอๆ ค่ะ  นึกภาพตอนอาจารย์สอน สามารถตรึงความสนใจนักศึกษาได้เป็นอย่างดีด้วยคำอธิบายประกอบตัวอย่างจริง
  • ขออนุญาตใช้ Rubrics ของอาจารย์เป็นหลักการ (จากเดิมที่ลองผิดลองถูกอยู่นาน) ในการเขียนต่อๆ ไปอย่างยิ่งค่ะ ตอนนี้หลังเขียนเสร็จจะพยายามให้ครบเกณฑ์นี้
    - ภาษาที่กระชับ (Concise)
    - สื่อความหมายชัดเจน (Clear)
    - เนื้อหาสอดคล้องกับชื่อเรื่อง
    - การดำเนินเรื่องจูงใจให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ 
    - มีตัวอย่างจริงประกอบแนวคิดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม 
    - จบลงแบบให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน
  • ดีใจที่อาจารย์จำเรื่อง คุณป้ากล้วยหอมได้ค่ะ..เมื่อ "ฟัง" เรื่องเล่าของคนไข้ ทำให้เห็นว่า มนุษย์เราแต่ละคนมีอะไรแปลกๆ เป็นบทเรียนมีค่าซ่อนอยู่
  • อาจารย์ถอดรหัสที่แอบซ่อนไว้ ได้ตรงใจเลยค่ะ..เกิดจากขณะเขียน ก็แวบคิดขึ้นมา..คนไทยมีความสามารถ(กวาดเหรียญโอลิมปิกวิชาการ) แต่ทำไม ประเทศเราถึงพัฒนาไม่ทันเขาเสียที..
    สมมุติฐานแรก - เทียบกับเด็กชาติตะวันตก เด็กเราไม่ชอบถาม
    ก็แย้งว่า ลักษณะนี้เด็กเอเชียไหนๆ ก็เหมือนกัน รวมทั้ง ญุี่ปุ่น ด้วย
    แต่สิ่งที่ชัดเจน คือ แม้เขาไม่ถามออกมา แต่เขาก็ยังมีความสงสัย และใส่ใจพยายามหาคำตอบด้วยตัวเอง
    ดังนั้น สมมติฐานจึงเปลี่ยนใหม่เป็น สิ่งที่บ้านเราขาดคือ "ความสงสัย"
    การคิดว่า "ฉันรู้ดีที่สุด" หรือสุดขั้วคือแบบ "ช่างมันฉันไม่แคร์"
    อาจเป็นมูลเหตุความขัดแย้งในสังคมหรือไม่?
     
  • ใจจดใจจ่อรออ่าน "คิดนอกกรอบ...การเตรียมเยาวชนสู่ ASEAN COMMUNITY" อยู่นะค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณหมอป.

  • คุณตาเหมาะกับตำแหน่งพ่อตัวอย่างจริงๆนะคะ น่าชื่นชมมากค่ะ
  • คุณยายชื่นชมคุณหมอที่เก็บเกี่ยวสิ่งดีดีจากการทำงานมาบอกต่อด้วยค่ะ ขอบคุณมากๆนะคะ คุณยายเชื่อว่าท่านที่ได้อ่านบันทึกนี้จะต้องได้สิ่งที่ดีดีกลับไปแน่นอนค่ะ

..."จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า"

...เป้าหมาย...ตรงหน้า กับเบื้องหน้า...

(บอกตนเองว่า ระวังตื่นมาเจอตอเน้อ ฮาๆๆ... แตะรู้...เบาๆพอ สู้ๆค่า )

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์หมอ

หอบดอกโมกที่บ้านมาฝากอาจารย์ด้วยค่ะ :)


 

ขอบคุณค่ะอาจารย์ภิญโญ
ก่อนมารู้จัก AI ถ้าเจอแบบนี้ อาจบอกคุณตาให้ "เข้าเรื่องหน่อย"
-- เพราะเราอยากฟัง "Problem" ที่เราจะแก้ไห้ได้
แต่ AI ทำให้เราอยากฟัง "Wisdom" 
การออกตรวจคนไข้ จึงไม่น่าเบื่อเลยค่ะ 

มุมมองของอาจารย์ ลึกซึ้งและชวนให้ไปคิดต่อ...

"คนให้นิยามความสำเร็จในชีวิตและสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเอง บนความสุข ความสำเร็จ และความงอกงามที่ไม่ได้เกิดบนตนเองโดยตรง แต่เกิดที่คนอื่น ชีวิตอื่น แล้วตนเองค่อยได้รับผลแห่งความสำเร็จนั้นในภายหลัง"

ความหมายจากรากคำ 'พ่อ' 'แม่' ที่ชัดเจนอยู่แล้วในระบบครอบครัว
ขยายไปสู่ระบบชุมชน 

'พ่อค้า' 'แม่ค้า'
'พ่อครู' 'แม่ครู'

อาจารย์ยังเดาเรื่องต่อได้ถูกด้วยค่ะว่า พอคุยเสร็จ
คุณลุงแทบจะลืมเรื่องยาไปเลย
การได้เล่าถึงความภาคภูมิใจ เป็นการ "เยียวยา" อย่างหนึ่ง 

ขออภัย กลับมารายงานต่อค่ะอาจารย์

คราวที่แล้ว รับบทเรียนไปถอดไม่สำเร็จ ...อะไรทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ให้ทำอะไร

ตีโจทย์ไม่แตก เลยดุ่มๆ... เจอตอ เพราะตัวตนอัตตา...แตกตัวอะค่ะ

ตอนนี้ กลับเข้าที่ทำงานแล้ว ขอสอบซ่อมค่ะ

...ตรงหน้า กับ...เบื้องหน้า คือบทเรียนที่ขอนำไปถอดต่อ อย่างไม่ประมาท

ขอบคุณมากค่ะ


แวะมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์หมอ ป :)

ดอกโมกบานสะพรั่ง เห็นแล้วเย็นใจ..

ขอบคุณที่ช่วยสะท้อน
ตัวเองก็เป็นบ่อยค่ะ
ทำไปทำมาเจอ ตอ-ตัวตน
เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราท้อ
ทุกครั้งที่ความคิดแบบนี้ ผุดขึ้นมา
"ทำไมทำในสิ่งที่ (เราคิดว่า)ดี แล้วไม่มีใครเห็นความดี ไม่มีใครสนใจ"
...

ได้เรียนรู้ว่า ความใกล้ตัว ทำให้เรามักมองข้ามกันเอง
ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ดังนั้น วิธีคิดที่ใช้แล้ว รู้สึกได้ผลเวลาเจอ ตอ คือ..
1. เป้าหมายอยู่ที่เบื้องหน้า ตอนนี้ใครจะรู้จะเห็นหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ
2. การเจออุปสรรคคือการบริหาร ความแข็งแกร่งของปัญญา 
    นี่คือการลงทุน ลงแรงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าค่ะ

###

สวัสดีปีใหม่ไทย ขอให้เข้มแข็ง ด้วยพลังบุญนะค่ะ

สวัสดีวันสงกรานต์ค่ะ
ที่เชียงใหม่ เล่นน้ำคึกคัก ดีที่ปีนี้รณรงค์ถูกจุด
"ไร้แอลกอฮอล์"

จาก http://www.cm108.com/

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ พี่ใหญ่ และชาวไทยพาณิชทุกท่าน

ขอบคุณค่ะยายธี
ชาร์ลส์ ดาร์วิน สรุปได้น่าฟัง วิวัฒนาการทางสังคม ก็ด้วยประโยชน์ แห่งตน

ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ
เขียนเรื่องบอกเล่าจากคนไข้รายนี้
พยายามเป็น note-taker ไม่ดัดแปลง ใส่ความคิดตนเองลงไป
เหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ต้องฝีนตนเองอยู่เหมือนกันค่ะ 

สุขสันต์วันสงกรานต์และครอบครัวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท