๓๐๔.วิเคราะห์ตำนาน-ความเป็นมาชื่อบ้าน-นามเมืองริมกว๊านพะเยา


 

     ในประเด็นดังกล่าวนี้พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์เมืองพะเยา ได้ให้ข้อคิดไว้ในหนังสือความเป็นมาในอดีตของเมืองพะเยา และประวัติพระยายุทธิศเสถียร  เมืองสองแควว่าพญาทั้ง ๓ ได้ประทับนั่งเอาพระปฤษฎางค์ (หลัง) พิงกัน เพื่อดื่มเลือดสาบานกันริมแม่น้ำสายตาหรือแม่น้ำอิง ณ บริเวณวัดร่องขุย

                เมื่อเสร็จพิธีปฏิญาณแล้ว  ชาวบ้านชาวเมืองดีใจที่ไม่ต้องเกิดศึกสงครามกันระหว่างอาณาจักรภูกามยาวและสุโขทัย ก็แห่พญาทั้งสาม ขึ้นจากน้ำ  ท่าน้ำนั้นจึงเรียกว่า ท่าแห่  พญาร่วงและพญาเม็งรายก็แยกย้ายกันกลับเมืองโดยสวัสดี

                ตำนานเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา  มีทั้งข้อเท็จจริงและเรื่องเล่าผสมกันเพื่อให้ความกระจ่างแจ้ง  และมีความมันในการเล่ามากยิ่งขึ้น ขอยกประเด็นมาวิเคราะห์ ซึ่งทำให้เราได้ข้อคิดว่าการเล่าเพื่อผูกกันเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้ชื่อบ้านนามเมืองต่าง ๆ คล้องจองกัน นับว่าเป็นการหาข้อสรุปของนักเล่าเรื่องในอดีตเพื่อตอบโจทย์ ที่เป็นปัญหาสงสัยของคนในสมัยโบราณ

                หรืออีกประเด็นหนึ่ง เป็นข้อมูลเล่าขานมาจากฝ่ายเชียงใหม่แต่งขึ้นเพื่อเสริมบารมีพญาเม็งรายที่สามารถแผ่อิทธิพลจนอาณาจักรสุโขทัยและพะเยายอมเชื่อฟังปฏิบัติตามหรืออาจเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่รุ่นหลาน ๆ ที่มีชื่อพ้องกับปู่เกิดเป็นชู้กันจริง ๆ  หรือว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  ซึ่งขอให้ลองช่วยกันวินิจฉัยต่อไป  ดังศาตราจารย์ธวัช  ปุนโณทก  ได้เขียนไว้ในนิทานพื้นบ้าน(ทั่วไป)ว่า

                “.....ตอนที่กล่าวว่าพระยาร่วงเป็นชู้กับพระชายาของพระยางำเมืองน่าจะเป็นเรื่องเล่าแทรกเข้ามาเป็นนิทานอธิบายเหตุ เพราะว่าเน้นเรื่องการตั้งชื่อบ้านนามเมือง เช่น แม่ร่องช้าง หนองเอี้ยง บ้านตุ่น  ห้วยแม่ตุ่นและแม่อิง นักเล่านิทานนำชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่องอธิบายชื่อบ้านนามเมือง และได้เล่าขานกันมาจนถึงสมัยบันทึกพงศาวดารเรื่องดังกล่าวจึงแทรกอยู่ด้วย....”[1]

                และในเรื่องดังกล่าวนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้ข้อสังเกตไว้เหมือนกัน ว่า “....เหตุการณ์พระยาร่วงเป็นชู้กับนางเทวีพระยางำเมืองนี้ศาสตราจารย์ดร.ประเสริฐ  ณ นคร  เข้าใจว่าเขียนขึ้นเพื่อเสริมบารมีพญามังรายโดยถือว่าเป็นชู้เป็นโลกวิสัยแล้วอธิบายต่อไปอีกว่าความเป็นจริงแล้ว พระยาร่วงมิได้ทรงกระทำความผิดดังกล่าวเลยก็เป็นได้ เพราะถ้าจะอ่านเรื่องอย่างเดียวกันนี้จากพงศาวดารน่าจะได้ความว่าพญางำเมืองทรงหยอกพระนางฮั้วสิมว่าแกงใส่น้ำมากเกินไป พระนางฮั้วสิม ก็โกรธอย่างข้อความเดียวกับในตำนานเชียงใหม่  แต่พระนางฮั้วสิมไปได้เสียกับเจ้าเมืองปราดซึ่งเป็นโอรสกษัตริย์น่าน และต่อมาได้ครองเมืองนานชื่อพญาผานองซึ่งเป็นปู่ของพญาผากอง (ในจารึกหลักที่ ๔๕ ปู่หลานสบถกันเรียกพญาผานองว่าผากองและหลานก็ชื่อว่าผากองด้วยเช่นกัน (ซึ่ง) น่านและสุโขทัยสมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาเป็นชื่อหลานเพื่อเป็นสิริมงคลเช่นพระเจ้าเลอไทย และพระเจ้าลิไทยมีหลานชื่อว่าพระเจ้าไสยลือไทย)

                จึงทำให้เห็นว่าผู้เป็นชู้กับนางเทวีเป็นกษัตริย์น่านมิใช่พระยาร่วงอนึ่งน่าสังเกตว่าจารึกหลักที่ ๔๕ กล่าวถึงบรรพบุรุษของพระเจ้าไสยลือไทยของสุโขทัยมีชื่อพ่อขุนงำเมืองอยู่ในชั้นพ่อหรืออาด้วยตามธรรมเนียมที่นำชื่อบรรพบุรุษมาตั้งเป็นชื่อหลานเหลนนั้น  ทำให้น่าเชื่อว่ากษัตริย์ราชวงศ์พระยาร่วงองค์ใดองค์หนึ่งน่าจะได้แต่งงานกับพระธิดาของพระยางำเมืองจึงได้นำเอาชื่อบรรพบุรุษพะเยามาตั้งเป็นชื่อหลานหรือเหลนในราชวงศ์พระยาร่วงดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าเรื่องพระร่วงเป็นชู้กับนางเทวีของพระยางำเมือง....”[2]

                ชื่อบ้านในแต่ละท้องถิ่นนั้น มีที่น่าสนใจอยู่มาก  เพราะแต่ละแห่งก็ตั้งกันตามความเด่นของพื้นที่หรือภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น สำหรับพะเยานั้นที่มีมาในเรื่องเล่าจนเป็นตำนานก็คือช่วงที่พญางำเมืองมีเรื่องกับพระร่วงจนมีผู้คนโยงเป็นนิทานพื้นบ้านเอาไว้ โดยจะสรุปได้ดังนี้

-                   น้ำแม่ร่องช้าง คือขบวนที่พระยาร่วงเสด็จมาสักการะแม่น้ำโขงทุกปี  จนร่องน้ำลึกสามารถเป็นทางน้ำไหลผ่านได้ในปัจจุบันเป็นแม่น้ำสายหลักของเขตอำเภอดอกคำใต้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากตำนานช้างปู่ก่ำงาเขียวและน้ำแม่ร่องช้าง

-                   หนองเอี้ยง คือสถานที่ที่พระยาร่วงแปลงกายเป็นนกเอี้ยงแล้วบินหมดแรงมาตก ณ หนองน้ำแห่งนี้ปัจจุบัน  คือ ที่ตั้ง วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองพะเยา

                พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ให้ทัศนะว่า คติเรื่องหนองเอี้ยงมีที่มาเป็นนิทานอยู่ ๒ เรื่องคือ เรื่องพญาแปลงเป็นนกเอี้ยง  กับอีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกเอี้ยง  แล้วถูกเหวี่ยงจิกตีเป็นอาหารตายในหนองน้ำนี้ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดได้จากตำนานกว๊านพะเยา

-                   หนองวัวแดง  คือตอนที่พระยาร่วงแปลงกายเป็นวัวแดง  โดดหนีไปติดหล่ม  จึงตั้งชื่อหนองน้ำนั้นว่า  หนองวัวแดง  ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลแม่ใส  อำเภอเมืองพะเยา

-                   บ้านร่องไฮ  คือตอนที่พระยาร่วงแปลงกายเป็นตัวไรตัวเล็ก ๆ  เพื่อหนีการจับกุมซึ่งชาวบ้านเรียกว่าไฮ  ปัจจุบันคือบ้านร่องไฮ  อยู่ในเขตตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา (ผู้เขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรส)

-                   บ้านตุ่น  คือตอนที่พระร่วงแปลงกายเป็นตุ่นหนีไปปัจจุบันคือตำบลตุ่น  อำเภอเมืองพะเยา

-                   ห้วยแม่ตุ่น  คือร่องรอยที่ตุ่นหนีไปในการตามล่าของพญางำเมือง  โดยแบ่งเป็น ๒ ทัศนะ คือ ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก  บอกไว้ในหนังสือนิทานพื้นบ้าน(ทั่วไป)ว่าเป็นรูที่ตุ่นขุดหนีไปคือห้วยแม่ตุ่น

                ส่วนทัศนะของ สุจิตต์  วงษ์เทศ ในหนังสือประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยาว่า พญางำเมืองขุดหาตุ่นทำให้เป็นร่องน้ำ  จึงเรียกว่า ห้วยแม่ตุ่น

-                   บ้านสาง คือ ตอนที่พระยาร่วงแปลงกายเป็นเสือ  แต่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า  “สาง”  หรือใช้คู่กันว่า “เสือสาง”  ปัจจุบันแบ่งออกเป็นบ้านสางเหนือ  กับบ้านสางใต้  อยู่ในเขตตำบลสาง อำเภอเมืองพะเยา (ผู้เขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรส  เท่านั้น)

-                   บ้านต๋อม  คือ ตอนที่พระยาร่วงแปลงกายเป็นเสือโดดหนีพระยางำเมืองลงน้ำกว๊าน  จนเกิดเสียงดัง  ต๋อม  ปัจจุบัน คือตำบลต๋อม  อำเภอเมืองพะเยา  (ผู้เขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรส เท่านั้น)

-                   บ้านต๊ำ  คือ เครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่พญาร่วงไปติดอยู่แล้วถูกจับได้  ปัจจุบันคือ ตำบลต๊ำ  อำเภอเมืองพะเยา (ผู้เขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรส เท่านั้น)

-                   ไม้ตาหีบพระร่วง  คือไม้ตาหีบ  หรือ ตับปิ้งปลาของชาวบ้าน  มีปรากฎตอนที่มีคนนำน้ำและอาหารตามคำสั่งเพื่อถวายพญาร่วง  แต่วันนั้นไม่มีอะไรถวายจึงนำเอาไม้ตาหีบถวายจึงทำให้พระยาร่วงน้อยใจ  และตั้งอธิษฐานว่าถ้าตนเองรอดชีวิตไปก็ขอให้ไม้ตาหีบมีชีวิตแล้วงอกเงย  มีกิ่งใบออกดอกออกผล

-                   บ้านเกณฑ์  คือเมื่อพญาร่วงถูกจับได้  แลพญาเม็งราย  ให้มีการปรองดองกันจึงให้มีการรักใคร่สามัคคีกันเหมือนเดิม ณ บ้านแห่งนี้  หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ  พญาเม็งรายสั่งให้พญาทั้งสองให้มารวมกันอยู่  ณ บ้านแห่งนี้

-                   แม่น้ำอิง  คือแม่น้ำที่กษัตริย์ทั้ง ๓ นั่งสาบานกรีดเลือดอิงกันตามแบบเพื่อนที่ดีต่อกัน  ซึ่งตอนนี้บ้างก็ว่า  อิงกันแค่ ๒ เท่านั้น  คือ พญาร่วง กับพญางำเมือง

                เดิมแม่น้ำแห่งนี้ชื่อว่า “แม่น้ำสายตา” ในตำนานเดิมอิงกันตอนที่ผิดใจกัน  แต่ตำนานที่กล่าวมานี้มีการอิงกันสองครั้ง  คือก่อนเกิดเรื่องมีการนั่งเอาหลังพิงกันทั้ง ๓ พระองค์ ส่วนหลังจากมีเรื่องมีการอิงกัน ๒ พระองค์โดยสถานที่หรือบริเวณที่มีการนั่งเอาหลังอิงกันสาบานดื่มเลือดกันหลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ กล่าวว่า อยู่บริเวณวัดร่องสบขุยนั้นเอง

-                   บ้านกว้าน คือสถานที่ที่พระยาเม็งราย  ตั้งโรงศาลขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีความพญาทั้งสอง ซึ่งภาษาท้องถิ่นว่า  ตั้งกว้านขึ้น ปัจจุบัน คือบ้านกว้าน  อยู่ในเขตตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา

-                   บ้านป้อ คือสถานที่ที่ประชาชน  เป็นจำนวนมากมายมายืนกระจุกตัวกันเป็นจำนวนมาก  ภาษาไทยล้านนาเรียกว่า “ป้อ” เพื่อรอฟังผลของคดีความในครั้งนั้น

-                   ท่าแห่  คือ เมื่อ ๓ พระสหายเข้าใจกันดีแล้ว ชาวเมืองดีใจที่พญาทั้งสองพระองค์ตกลงกันได้  แล้วจึงได้จัดให้มีขบวนแห่เข้าเมืองเพื่อเฉลิมฉลองกันต่อไป

                ในเรื่องดังกล่าวนี้มีผู้ให้ข้อคิดว่า สระน้ำหน้าวัดศรีโคมคำเมื่อก่อนนี้ยาวมาจนถึงประตูหน้าวัด  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้ถมครึ่งหนึ่งเหลือไว้ครึ่งหนึ่ง  โดยพระเดชพระคุณหลวงปู่ให้เหตุผลว่า  ครูบาแก้ว – ครูบาปัญญา  ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งเอาไว้ว่า ถ้าจะถมสระน้ำแห่งนี้ก็ขอให้ถมครึ่งหนึ่ง 

                มีคนตั้งข้อสังเกตว่า  ทำไมท่านครูบาทั้งสองจึงสั่งไว้ให้ถมเพียงครึ่งเดียว  ท่านอาจจะได้ยินมาว่า “พญาทั้งสองกรีดเลือดสาบานกันต่อหน้าที่พระเจ้าตนหลวงแล้วมาล้างเลือด ณ สระน้ำแห่งนี้” ก็ได้ใครจะไปรู้ (ประเด็นข้อสงสัยที่แทรกเข้ามาภายหลัง)

                แต่ถ้าเทียบ  พ.ศ. ระหว่างการสร้างพระเจ้าตนหลวง กับช่วงที่เป็นยุคทองของพญางำเมืองนั้นคนละเรื่องกันเลย  คือห่างกันตั้ง  ๒๕๓  ปี กล่าวคือพญางำเมืองประสูติ  พ.ศ. ๑๗๘๑[3]  แต่ประวัติศาสตร์ระบุว่าการสร้างพระเจ้าตนหลวงเริ่มในปี พ.ศ. ๒๐๓๔


[1] ธวัช  ปุณโณทก :  นิทานพื้นบ้าน หน้า ๖๑ : ๒๕๒๑

[2] สุจิตต์  วงษ์เทศ : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา หน้า ๓๙ : ๒๕๓๘

[3] พระธรรมวิมลโมลี : ความเป็นมาในอดีตของเมืองพะเยาและประวัติพะเยา และพระยายุทธิศเสถียร  เมืองสองแคว  หน้า ๖

หมายเลขบันทึก: 484909เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในหลักวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ดีนั้นไม่ควรละเลยหลักฐานที่เป็นตำนาน แต่หากอยู่ที่การนำมาใช้ประกอบ ต้องรู้จักดึงเอาแก่นของเรื่องมาใช้จึงจะได้ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์

เจริญพรคุณโยมวาทิน เรื่องเล่า ตำนาน ประวัติศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือที่แตกต่างและลดหลั่นกันลงไป แต่อย่างน้อย เรื่องทุกเรื่องก็มีเค้าโครงแห่งความจริงอยู่บ้าง แต่เป็นข้อเท็จจริง ที่นักวิจัยต้องประเมินเอาเอง สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท