หิวบุญ


เจ็ดโมงเช้า ผมปั่นจักรยานออกจากหอเช่าที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ มุ่งหน้าไปตลาดพระอินทราชา ตลาดแห่งนี้คือศูนย์กลางของชาวหอ เพราะรอบตลาดพระอินทราชาจะมีหอพักให้เช่าสำหรับหนุ่มสาวโรงงานผู้จากบ้านป่านาดอนเข้ามาขุดทองในเมืองหลวง 

จริงอยู่ เขตชายแดนจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดอยุธยาต่อกัน ซึ่งเย็บร้อยด้วยเส้นด้ายคือถนนพหลโยธิน อาจไม่ใช่เมืองหลวงอย่างเต็มตัว แต่พื้นที่แห่งนี้ตลอดถึงไม่ไกลจากนี้ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น มินิแบ เขตอุสาหกรรมนวนคร เป็นต้น ดังนั้น จึงมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่า เป็นน้องๆของเมืองหลวงได้เลยทีเดียว

ชีวิตที่มั่งคั่งของเจ้าของกิจการ มีหนุ่มสาวโรงงานเป็นส่วนสนับสนุนด้วยประการหนึ่ง ส่วนแบ่งคือค่าแรงที่เจ้าของกิจการมอบให้หนุ่มสาวโรงงานแทนหยาดเหงื่อและแรงงานเพียงพอที่จะประทังชีวิตในระดับหนึ่ง หากใครต้องการค่าแรงที่มากกว่าปกติ เขาและเธอต้องลงแรงที่มากกว่าปกติเช่นกัน หลายคนมีทัศนะว่า การทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งคือค่าแรงจากนายจ้างมันคุ้มหรือไม่กับการต้องนำไปแลกเป็นค่ารักษาพยาบาลในอนาคต แต่เราไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร สิ่งที่เรารู้ในขณะนี้คือหากลงแรงเต็มกำลังเราจะได้ค่าแรงที่มากกว่าปกติ อันค่าแรงที่มากกว่าปกติคือแนวทางสู่แสงรำไรของชีวิตที่จะก้าวยืนขึ้นมาอย่างมีความสุขบนเครื่องมือเครื่องใช้ที่สะดวกสบายบนโลกใหม่

อนิจจา ชีวิตนี้เต็มไปด้วยทุกข์ ได้มามากเท่าไรก็จับจ่ายไปมากเท่านั้น เพราะทุกอย่างที่อยู่รอบกายเช่น โทรทัศน์จอแบน โทรศัพท์ไอโฟน พิซซ่า เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งล่อใจยั่วยวนตัณหาทั้งสิ้น แล้วเมื่อไร “ฉันจะรวยสักที”

เหนื่อยแสนเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายเหนื่อยเพราะตรากตรำทำงานหนักไม่ได้หยุดพัก จิตใจเหนื่อยเพราะความอยากอย่างหาประมาณมิได้ ตื่นขึ้นมาต้องรีบล้างหน้าแปรงฟันไปยืนรอรถเพื่อเข้าสู่ที่ทำงาน กว่าจะกลับมาถึงหอเช่าก็เหนื่อยอ่อนแทบขาดใจ แต่...เมื่อทิ้งท้องไร่ท้องนา แม้แต่เขียดปลาก็หากินแทบไม่ได้มาแล้ว จำต้องกัดฟันสู้ต่อไป บางครั้งมีเวลาว่างเล็กน้อยมาหวนคิดว่า “ฉันทำอะไรอยู่” “ฉันเป็นใคร” “ฉันเกิดมาผิดที่ผิดทางหรือไม่” คำถามในใจเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นคำถามเพื่อที่จะบอกว่า ตนด้อยกว่าคนอื่น

ชีวิตอันรันทดและขัดแย้งซ่อนเร้นลุ่มลึกในจิตใจ บางครั้งรุ่มร้อนผลักดันให้ทำในสิ่งที่สังคมรอบข้างไม่ต้องการ แต่บางครั้งกลับเงียบสงบเหมือนแผ่นน้ำไร้คลื่น ... แผ่นน้ำที่ไร้คลื่นดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรกับชีวิต แต่ความรุ่มร้อนกระวันกระวายในแต่ละวันต่างหากที่ผลักไสชีวิตให้ต้องดิ้นรนไม่จบสิ้น ท่ามกลางพื้นที่ชีวิตแบบนี้ “ฉันอ้างว้าง” “ฉันว้าเหว่” “ฉันสิ้นหวัง” จริงอยู่ บางคนทดแทนสิ่งนี้ด้วยการนำค่าแรงไปแลกเป็นความเพลิดเพลิน ปล่อยปล่อยตัวเองไปตามสายธารแอลกอฮอ แสง สี และเสียงเพลงจากนักเพลงวงดังในสังคม เมื่อฤทธิ์ของความเพลิดเพลินเบาบางลง เวทีชีวิตก็คืนกลับเข้าสู่โลกเดิมคือความสิ้นหวัง

เสียงธรรมจากวัดซึ่งไม่ไกลจากหอเช่าของหนุ่มสาวโรงงานแว่วผ่านเครื่องขยายขนาดใหญ่ “ญาติโยมทั้งหลาย ใครอยากรวยต้องหมั่นทำบุญเยอะๆ...”

“โอ..ฉันพบแล้ว” เปลี่ยนอิริยาบถจากการนอนมือก่ายหน้าผากเป็นพยุงกายขึ้นนั่งและยืน เดินไปล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำชำระสิ่งโสมมที่แตะติดอยู่ตามร่างกายในใจหมายมั่นตามคำพระบอก

เช้าๆในตลาดพระอินทราชา จะมีพระ (โดยมากเป็นพระสูงอายุ) ยืนบิณฑบาตบ้าง นั่งบินฑบาตบ้าง เฉพาะที่นั่งบิณฑบาตนั้น จะมีเก้าอี้ขาสูงรองรับพระอยู่ ส่วนที่พื้นจะมีเสื่อปูลาดซึ่งเหมาะกับการทำพิธีกรรมถวายทาน ชาวพุทธทั่วไปเชื่อตามคำบอกของพระว่า การถวายสังฆทานมีผลมากกว่าการถวายทานทั่วไป ดังนั้น การจัดที่แบบนั้นจึงเหมาะกับการประกอบพิธีกรรมแบบนี้เป็นอย่างดี หลังจากถวายทานเสร็จ เราจะได้ยินเสียงพระสวด ภาษาชาวบ้านคือ พระให้พร หรือ พระว่ายะถาสัพพี ขณะที่ผู้ทำบุญจะกรวดน้ำและเชื่อว่าการกรวดน้ำคือการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ตลอดถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อชีวิตบกพร่อง แนวทางหนึ่งของชาวพุทธหนุ่มสาวชาวหอพอที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็มได้คือการทำบุญ บางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบุญที่ว่านั้นคืออะไร เพียงการรับรู้จากบรรพบุรุษว่า การทำบุญส่งผลให้ชีวิตของเราดีขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตในคราวเพลิดเพลินสนุกสนานก็หลงใหลไปกับสิ่งเหล่านี้ แต่คราวที่หาทางออกของชีวิตไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่พอจะนึกขึ้นได้นั้นคือศาสนา

การปั่นจักรยานของผมมาในเช้านี้ ไม่ได้ไร้ค่าต่อความคิดเสียเลยทีเดียว อันที่จริงเป้าหมายหลักคือการนำเงินค่าจ้างในแต่ละเดือนไปซื้ออาหารประทังชีวิตในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง เนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุดราชการพิเศษ (๙ เมษายน ๒๕๕๕) การจะไปซื้ออาหารที่โรงอาหารใกล้ที่ทำงานจึงเป็นไปไม่ได้ ผมหันหน้าเบนเข็มไปที่ตลาดพระอินทร์ฯ เมื่อไปถึงจึงจอดรถไว้หน้าตลาดซึ่งคือริมถนนพหลโยธิน ไม่ลืมที่จะล็อกกุญแจให้เรียบร้อย เพราะทราบมาว่า ปัจจุบันโจรเยอะมาก แม้ว่าพื้นที่นี้จะมีตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนคอยดูแลอยู่ก็ตาม

เดินหาอาหารเช้า-เที่ยงรอบแรก เห็นมีแต่ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ไก่ทอด ซึ่งแม่ค้าพ่อค้าได้จัดทำไว้สำหรับหนุ่มสาวโรงงานโดยเฉพาะ ห่อหนึ่งเพียง ๑๐ บาทเท่านั้น ซึ่งพอจะบรรเทาน้ำย่อยในกระเพาะได้ในมื้อๆ หนึ่งทีเดียว นอกจากนั้นเป็นอาหารทั่วๆ เดินไปได้ครึ่งตลาดจึงวกเข้าภายในตลาดสด ระหว่างนั้นเห็นหนุ่มสาวชาวหอผู้ต้องการบุญกำลังถวายอาหารแด่พระที่กำลังยืนรับบิณฑบาตอยู่ก็มี บางรายมาพบรักกันที่โรงงานใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว วันนี้มานั่งบนสื่อปูลาดหน้าพระพร้อมกับถวายสังฆทาน ระหว่างเดินเราจะได้ยินเสียงพระให้พรดังมาเป็นระยะ

เมื่อชีวิตบกพร่อง บุญคือที่พึ่ง วันนี้หลายคนชีวิตบกพร่อง ดังนั้นจึงต้องหาที่พึ่งนั้นคือบุญ หลายคนทำบุญเพื่อหวังรวย จึงขอส่วนบุญกันยกใหญ่ “จากบุญที่ได้ทำวันนี้ ขออย่าให้ชีวิตขัดสนอีกเลย ขอให้ถูกหวยรวยเบอร์ ขอให้ ฯลฯ” แต่บางคนไม่ได้คิดว่าชีวิตบกพร่อง การทำบุญในวันนี้อาจเนื่องมาจากวันครบรอบวันเกิด ซึ่งแทนที่พ่อแม่จะได้กินอิ่ม กลายเป็นพระได้ฉันจนอิ่ม

เราจะสังเกตได้ว่า ข้างๆพระบางรูปจะมีย่ามใบใหญ่วางอยู่ ภายในบรรจุอาหารไว้เยอะแยะ ใกล้ๆนั้นมีร้านขายของคือข้าว กับข้าว และน้ำเพื่อการทำบุญโดยเฉพาะ สิ่งที่น่าคิดคือ การถวายพระเท่านั้นหรือที่เป็นบุญ ทำไมการถวายสังฆทานจึงดีกว่าการให้ทั่วไป สังฆทานที่เราเข้าใจนั้น เราเข้าใจแบบตรงไปตรงมาของสาระหรือว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนกันแน่ บุญเป็นที่พึ่งให้เราได้จริงหรือ การที่เราทำบุญแล้วจะทำให้เราร่ำรวย ไม่เป็นคนขัดสนจริงหรือ เพราะทันทีที่เราเอาเงินไปซื้อของทำบุญ เงินก็หายไปจากกระเป๋าเราส่วนหนึ่ง ยิ่งทำมากก็ยิ่งหายมาก เป้าหมายของการให้คือการได้เพิ่มหรือ

คำถามชวนสงสัยเหล่านี้จะไม่มีสำหรับผู้มีศรัทธาอย่างมั่นคง และผู้มีศรัทธาอย่างมั่นคงแม้จะมีแนวคิดที่ฟังดีมีเหตุผลมากระทบ ดูจะไร้ประโยชน์ หมายถึงคนเราถ้าจะเชื่ออะไรอย่างสุดจิตสุดใจแล้วก็ยากแท้ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดใดๆ

ผมเดินไปสังเกตไปให้ชื่นใจที่คนทั้งหลายได้ทำบุญ ช่วยเหลือนักบวชที่กำลังขอรับทานคือการให้จากผู้ต้องการบุญ หากมองในเชิงการพัฒนาสังคม องค์กรพุทธศาสนาน่าจะเป็นแหล่งรองรับผู้สูงอายุได้ โดยมีแนวคิดเรื่องบุญเป็นเครื่องมือสื่อถึงผู้สูงอายุเหล่านี้ แต่มีคำถามว่า พุทธศาสนาเกิดมาเพื่อเป้าหมายใด เฉพาะเพียงว่า บุญคือการให้ไปและได้มาก็น่าคิดพอสมควรอยู่แล้ว

เกี่ยวกับเรื่องบุญ อย่าว่าแต่ผู้อื่นเลย แม้แต่ตัวผมเองบางครั้งแสนจะหิวบุญ และน่าคิดอีกว่า ทันทีที่หิวบุญแล้วรีบสนองการได้บุญเป็นการสนองตัณหาหรือไม่ ข้อเขียนเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามชวนให้บ้าและเลือกหาทางของชีวิตไม่ได้ แต่ผมว่าตัวผมเองกำลังหาอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นคำตอบของชีวิต ซึ่งตลอดชีวิตเราไม่รู้ว่าจะหาสิ่งที่ไม่มีอยู่นี้เจอหรือไม่

รอบแรกผ่านไปไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือ สุดท้ายเห็นคนขายขนมปากหม้อ จึงนำเงินไปแลกกล่องละยี่สิบบาท นี่คงเป็นมื้อเช้า ส่วนมื้อเที่ยงเราจะกินอะไรดี ผ่านไปอีกหน่อยเห็นปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ อันนี้มากกว่าที่ควรเป็นมื้อเช้า จึงแลกมาด้วยเงินอีกยี่สิบบาท เวียนเข้ากลางตลาดสดอีกครั้งเป็นรอบสองเห็นสังขยาที่ผมชอบกินบางครั้ง จึงแลกเงินกับคุณป้าสิบห้าบาท เวียนออกมาหน้าตลาดไขกุญแจที่จักรยานปั่นผ่านตลาด เวียนเข้าบ้านเอื้ออาทรเชียงรากน้อย ออกมาหน้าหมู่บ้านและเข้าหอเช่า “ตอนนี้ยังไม่หิวบุญเท่าไร รอสักพักตัณหาเกิด อยากกินบุญ ก็คงแสวงหาที่ทำบุญกันอีกที”

หมายเลขบันทึก: 484913เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตั้งชื่อได้ดีมาก เป็นที่น่าติดตามทีเดียวครับ

...น่าติดตามว่าจะแสวงหาบุญยังไงต่อครับ เมื่อก่อนผมก็เกิดสงสัย(วิจิกิจฉา)เหมือนกกันครับว่าการให้ทานไม่ว่าจะใส่บาตร ให้ขอทาน ใส่ซองผ้าป่า ว่าเราให้เพื่อจะได้ตามคำขออธิษฐานและได้จริงหรือ พระอริยเจ้าหลายท่านสอนว่าการให้ทาน เป็นอุบายในการลดอัตตา ตัวตนของเรา แต่มันก็เหมือนประเพณีที่ติดตัวมานะครับเพราะทุกครั้งที่ให้ก็อดอธิษฐานไม่ได้ แสดงว่ามันก็ยังมีอัตตาอยู่อีกเยอะ (เฮ้อ)

....หิว..บุญ...(ไปเดิน.ดูรอยตีน..แถวหัว..หิน..ใส่บารตพระ..แลก..ความหิว"ตอนเช้า"..ด้วย..ธนบัตร..ใบละ..ร้อย)..เพื่อนบอกว่า..ใส่อะไรก็..ได้..บุญเหมือนกัน..อ้ะ....มีความรู้สึกว่า "อิ่ม..บุญ"..แต่ท้องหิว..อ้ะะๆๆๆ....(ยายธี)

  • ทำไมต้องเป็นบุญด้วยละครับ ถึงจะได้โน้นได้นี้ ทำไมไม่เป็นบาปล่ะถึงจะได้โน้นได้นี่ (ฮา วิจิกิจฉา)
  • พระท่านว่า ทำบุญอย่าสงสัยครับ เดี๋ยวบุญไม่เต็ม (ฮาฮา คิดดูถ้าคนไม่เต็มจะเป็นอย่างไร)
  • เอ้า เชื่อเื่รื่องบุญก็ทำบุญกันไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท