นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์และรถแทรกเตอร์ : อนุสรณ์ความสามัคคีและพลังความสำนึกต่อส่วนรวมของคนหนองบัว


แต่เดิมนั้น อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในบริเวณที่เป็นตัวเมืองดังที่เห็นในปัจจุบัน เป็นพื้นที่อยู่ชายขอบของป่าหนาแน่น มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าโปร่ง และมีความเป็นพื้นที่ดินดอน พ้นจากน้ำท่วม สามารถปลูกบ้านเรือน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และทำคอกให้วัวควายอยู่ได้ดีที่สุด ในขณะที่พื้นที่โดยรอบจะเป็นหนองน้ำและที่ลุ่มน้ำท่วมถึง อีกทั้งเป็นพื้นที่ป่าดงหนาแน่น เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและภยันตราย ดังชาวบ้านเกาะลอยได้ถ่ายทอดสภาพของป่าและชุมชนรอบเกาะลอยในอดีตเมื่อ ๕๐-๗๐ ปีท่านผ่านไปว่า ตกกลางคืนก็มีเสียงเสือ ช้าง และสัตว์ป่าออกหากิน ส่งเสียงร้องน่ากลัวและเป็นอันตรายทั้งต่อคน วัวควาย และสัตว์เลี้ยง ดังนั้น ที่ดินดอนตรงที่พัฒนาการมาเป็นตัวเมืองของหนองบัวในปัจจุบัน จึงเหมาะที่สุดสำหรับตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่ออยู่ร่วมกันสำหรับยุคนั้น กระทั่งรวมพื้นที่จากหลายเขตตั้งเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓

ต่อมา เมื่อชุมชนขยายตัว อีกทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป สภาพความเป็นที่ดินดอนที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและหมดความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเป็นลำดับ ก็ทำให้ความเป็นที่ดอนมาแต่เดิมของหนองบัว กลายเป็นทำเลที่มีความแห้งแล้งและกันดารมาก คนท้องถิ่นมักกล่าวกันว่า อำเภอหนองบัว อำเภอไพสาลี และอำเภอตากฟ้า เป็นพื้นที่กันดารและแห้งแล้งมากที่สุดของจังหวัดนครสวรรค์ และในจำนวนนี้ อำเภอหนองบัวจัดว่าขาดแคลนแหล่งน้ำและกันดารแห้งแล้งมากกว่าใคร

ประมาณทศวรรษ ๒๕๑๐ นายอรุณ วิไลรัตน์ นายอำเภอหนองบัว จึงได้นำชาวบ้านระดมทุนไปจ้างรถแทรกเตอร์มาขุดสระข้างอำเภอหนองบัว พร้อมกับขุดลอกหนองน้ำที่เกาะลอย และอีกหลายแห่งในหนองบัว จึงได้ชื่อว่าเป็นนายอำเภอนักพัฒนา ที่ชาวอำเภอหนองบัวรักและรำลึกถึงความริเริ่มและฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวหนองบัวหลายประการด้วยกัน

ต่อมา ประมาณปี ๒๕๒๕ นายสมหมาย ฉัตรทอง คนลพบุรีและในยุคนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์นั้น ท่านเป็นปลัดอำเภอ ได้มาเป็นนายอำเภอของหนองบัวในรุ่นต่อมา จึงได้นำชาวหนองบัวร่วมกันพัฒนาทางด้านต่างๆ รวมทั้งมุ่งหลอมรวมใจและระดมพลังความสามัคคีผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆในหนองบัว เช่น การจัดมวยระดมทุน และการจัดกีฬาฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน

นอกจากนี้ ก็ได้รณรงค์และระดมทุนชักชวนประชาชนและพ่อค้าในหนองบัวไปตามหารถแทรกเตอร์คันที่นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ได้จ้างให้มาขุดแหล่งน้ำต่างๆในหนองบัว ซึ่งในที่สุดก็ได้พบขณะเจ้าของเดิมกำลังจะขายทอดตลาดเป็นเศษเหล็ก จึงได้ร่วมกันรวบรวมเงินไปขอซื้อ ซึ่งเจ้าของเมื่อได้ทราบแล้วก็เกิดความซาบซึ้งใจ จึงขออาสาใช้รถบรรทุกของตนเองขนส่งรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวมาให้ชาวหนองบัวโดยไม่คิดเงิน

นายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ได้ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชาวหนองบัว ปั้นรูปเหมือนครึ่งตัวของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ พร้อมกับสร้างแท่นคอนกรีต นำเอารถแทรกเตอร์ที่ได้รับมาตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคีของชาวหนองบัว และประดิษฐานรูปปั้นครึ่งตัวนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ไว้คู่กับรถแทรกเตอร์ หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวกระทั่งปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงนายอำเภอนักพัฒนาในอดีตของหนองบัว ก่อนที่ชาวหนองบัวรุ่นต่อมาจะได้มีความสงบสุขอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า ดังเช่นทุกวันนี้.

 

 

ถ่ายภาพและเขียนเรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

แหล่งข้อมูล : จากการสนทนาเมื่อปี ๒๕๕๔ กับนายสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนายอำเภอหนองบัว รองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และผู้ตรวจราชการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

หมายเลขบันทึก: 483638เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2012 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องการระดมทุน ไปซื้อรถแทรกเตอร์แล้ว สนุกมากจริงๆ
ระดมทุนทั้งอำเภอ ทุกตำบล ทุกครัวเรือน ไม่มียกเว้น
โดยกำหนดทุน(เงิน)จากครัวละ ๓๐๐ บาท
เงื่อนไขของกำนันทุกตำบลมีข้อตกลงกันว่า ตำบลใดระดมทุนได้มากที่สุด
ตำบลนั้น จะมีสิทธิ์ได้รถแทรกเตอร์ไปขุดสระน้ำทำถนนในตำบลนั้นก่อน
แล้วเรียงตามลำดับจากงบสูงไปหาต่ำ(สมัยนั้นมีแค่ ๕ ตำบล คือหนองบัว,หนองกลับ,ธารทหาร,ห้วยใหญ่,ห้วยร่วม)

ปรากฏว่าำกำนันผล แสงสว่าง กำนันตำบลธารทหาร ระดมทุนได้มากที่สุด เลยมีสิทธิ์ได้รถแทรกเตอร์ไปใช้ก่อน ขุดทำถนนตั้งแต่ วัดป่าเรไร ถึงห้วยด้วน จากห้วยด้วน ถึงวังบ่อ เสร็จแล้ว ทำถนนจากห้วยด้วย ถึงหนองบัว

ตำบลที่มีคนมากสุดคือหนองบัว หนองกลับ แต่ระดมทุนได้น้อยกว่าตำบลที่มีประชากรน้อยกว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะตำบลที่มีคนมากแต่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องบริจาคครบตามที่ทางการกำหนด(สองร้อยบ้าง น้อยกว่านั้นบ้าง)

มีบางตำบลที่เคร่งครัดไม่มีผ่อนผันเลย คือขอร้องชาวบ้านว่าต้องให้ครบทุกบ้านและต้องได้ครบตามกำหนดด้วย

ความคิดของกำนันผล ที่กำนันทุกตำบลฟังแล้วต้องยอมโดยไม่โต้แย้งเลย เป็นเหตุผลง่ายๆ แต่ฟังแล้วไม่ใครเถียงท่านได้ คือกำนันผลบอกว่ารถแทรกเตอร์คันนี้ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ก่อนจะถึงหนองบัว ต้องผ่านตำบลธารทหารก่อน ฉะนั้น ไม่ควรให้รถผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย ไหนๆผ่านบ้านแกแล้ว ก็ควรจะใช้ประโยชน์คือขุดสระทำถนนให้เสร็จไปเลย แล้วค่อยไปทำที่หนองบัวและที่อื่นๆต่อๆไป

พอได้รถแทรกเตอร์มาแล้ว กำนันผลก็ทำบุญรับขวัญรถแทรกเตอร์ที่ห้วยด้วนเลย หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว ชาวบ้านอยากเห็นว่ารถแกทรเตอร์ที่ซื้อมานี้ มีพลังมากน้อยเพียงใด ท่านกำนันผล ก็ให้คนขับแทรกเตอร์ดันกอไผ่ใหญ่ๆ หมดไปหนึ่งกอ ชาวบ้านดูผลงานแล้วก็พอใจ

 

คงจะระดมทุนไปจ้างมาขุดสระทำถนน
แต่ชาวบ้านที่เล่าให้ฟัง
มักจะบอกว่า เรี่ยไรเงินชาวบ้านไปซื้อมา 

ขอชื่นชมชุมชนที่เข้มแข็งแห่งนี้ครับอาจารย์

 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านหนองบัวรักและศรัทธานายอำเภออรุณ
สมัยก่อนโจรขโมยลักวัว ลักควายมีมาก
เมื่อวัวควายของชาวบ้านหายหรือมีโจรมาลักไป
หรือเจ้าของวัวควายถูกโจรปล้น 

เมื่อมีคนมาแจ้งเหตุให้ทราบแล้ว ท่านจะไปทันที
โดยขับรถจี๊บออกตามล่าโจรไปกับชาวบ้านเลย
นายอำเภอมีปืนยาวไปด้วย๑กระบอก

เรื่องวัวควายหาย หรือถูกโจรปล้น
เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ทำนา ทำไร่
ต้องอาศัยวัวควาย ทำมาหากิน
เมื่อเครื่องมือทำกินไม่มีก็ลำบาก 

เหมือนสมัยต่อมา ถ้าไม่มีรถใช้
ผู้คนก็แทบจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย ประมาณนั้น

  • ความดีงามจะคงอยู่ตลอดไป ให้ผู้คนหรือคนรุ่นหลังได้ชื่นชม ระลึกถึง..
  • ขอบคุณความรู้และข้อคิดดีๆนี้ครับอาจารย์

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

ตอนที่รวบรวมเงินไปซื้อนี่ เป็นการไปซื้อตอนที่รถแทรกเตอร์เป็นซากเหล็กและระยะเวลาได้ห่างจากยุคที่บุกเบิกก่อสร้างสิ่งต่างๆของหนองบัวนับ ๒๐ ปีไปแล้วครับ ชาวบ้านคงจำปนกันกับเมื่อตอนไปติดต่อจ้างรถมาขุดสระและทำถนน

การไปติดตามหาซากรถแทรกเตอร์และเมื่อไปเจอแล้ว ก็กลับมาระดมทุน พากันไปขอซื้อเพื่อนำกลับมาเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนให้มีความรักความสามัคคีของคนหนองบัวนั้น ท่านสมหมาย ฉัตรทอง อดีตรองผู้ว่าและผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นอดีตนายอำเภอหนองบัว จดจำรายละเอียดและมีข้อมูลที่สามารถเล่าถ่ายทอดไว้ได้อย่างสนุกน่าประทับใจมากครับ ผมได้เรียนทาบทามท่านไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อเวทีคนหนองบัวเตรียมกิจกรรมในหนองบัวได้ดีพอสมควรแล้ว จะขอเรียนเชิญให้ท่านได้กลับมาหนองบัวบ้างสักครั้งหนึ่ง ทั้งไปคุยถ่ายทอดให้ความรู้และแบ่งปันปัญญาเป็นทานแก่ชาวหนองบัว และขอได้กลับไปดูความงอกงามต่างๆของหนองบัวที่ท่านก็ได้มีส่วนบุกเบิกริเริ่มสิ่งต่างๆไว้มากมาย ท่านบอกว่าด้วยความยินดีเสมอ และจะดีใจมากที่มีกิจกรรมอย่างนี้

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

ในแง่หนึ่ง ก็มีบทเรียนที่จะพยายามสื่อสารและถ่ายทอดแก่สังคมวงกว้างให้มากไปด้วยอยู่เสมอในด้านที่แสดงถึงโอกาสในการทำสิ่งต่างๆในบ้านเกิดและถิ่นอาศัย ในสภาพที่สังคมสิ่งแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารที่ดีขึ้น จะสามารถเอื้อให้เราได้เรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงตนเองกับชุมชนเชิงพื้นที่ในถิ่นเกิด เพื่อเป็นพลังสร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่พอเพียงและมีความเหมาะสมมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทำเพื่อสร้างความเป็นจริงใหม่ๆให้เกิดขึ้นด้วยความริเริ่มของตนเองของคนที่มีความสามารถในการรวมตัวและสร้างวัฒนธรรมการทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยทักษะใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ก็เสริมสร้างการเรียนรู้ให้ชุมชนมีความสามารถเข้าถึงระบบคุณค่าและความหมายที่ลึกซึ้งทางนามธรรมของสิ่งต่างๆที่มากไปกว่าความเป็นวัตถุ รวมทั้งทำเพื่อสร้างปัญญาและเกิดความรู้ทางการปฏิบัติ ทำให้ชุมชนเกิดประสบการณ์ทางสังคม สามารถเรียนรู้ความเป็นเจ้าของและทำสิ่งดีๆกับสังคมในขอบเขตต่างๆด้วยตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น

ผมเองนั้น ก็นำเอาสิ่งที่เราได้ทำหน้าที่ต่อสังคมมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเกิดพร้อมกับศึกษาเรียนรู้ไปด้วย โดยนอกจากกำลังทำหน้าที่เหมือนเป็นโค๊ชแล้ว ก็เหมือนกับกำลังทำหน้าที่ออกแบบและจัดวางทุกอย่างที่ชุมชนมีและเป็น ให้เป็นหลักสูตรการศึกษาเรียนรู้ ทำชุมชนให้เป็นหน่วยการเรียนรู้เพื่อมีกำลังบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆให้ชุมชนก่อเกิดสุขภาวะดังที่พึ่งประสงค์และมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ เหมือนกำลังช่วยชาวบ้านทำมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตบนหน่วยชุมชนระดับอำเภอ ใช้กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ มาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมของชุมชน ซึ่งก็ก่อเกิดสิ่งดีๆได้ดีมากทีเดียวครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
แง่มุมที่เป็นมุมมองของอาจารย์นี้ เป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะครับ และคิดว่าน่าจะเป็นบทบาทหนึ่งที่คนทำงานความรู้เชิงปฏิบัติการสังคมไปด้วยอย่างเราๆนี่จะทำให้กับสังคมได้ดีที่สุด ทำให้สังคมมีระบบเรียนรู้ตนเองและสั่งสมสืบทอดพัฒนาการทางด้านต่างๆ เพื่อเป็นทุนทางสติปัญญาสำหรับนำมาจัดการความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขแวดล้อมที่ไม่เหมือนอดีตอีกแล้ว ให้มีโอกาสและทางเลือกที่ดียิ่งๆขึ้นสำหรับการพัฒนาไปสู่อนาคต

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
ขอขอบคุณท่านอาจารย์ธนิตย์ คุณมะปรางเปรี้ยว ทิมดาบ และคุณแสงแห่งความดีด้วยครับ ที่แวะมาเยือนและฝากคลิ๊กทักทายกัน

ช่วงงานงิ้วที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมบ้านท่านสท.หนองบัวคนปัจจุบัน(สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหนองบัว)
ซึ่งในอดีตท่านเป็นสจ.เขตหนองบัวและเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสมัยนายก อำนาจ ศิริชัย

ท่านบอกให้ทราบว่าก่อนงานงิ้วได้ไปเยี่ยมลูกที่กรุงเทพฯ ได้เจอโยมสุทัศน์ คำศรีจันทร์
สท.บอกว่าพี่สุทัศน์ บอกผมให้ทราบเหมือนกันว่าน้องชายเป็นดร.ไปจัดนิทรรศการในงานงิ้วด้วย แกบอกว่าครอบคำศรีจันทร์นี้ ผมรู้จักดีมีสองคนคือพี่สุทัศน์ กับพีระ คำศรีจันทร์ ส่วนคนเป็นดร.ผมยังไม่รู้จัก

สท.ท่านนี้พูดสไตล์ท่านกำนันวิรัตน์ บัวมหกุล กำนันตำบลธารทหาร คณะกรรมการจัดงานงิ้วที่กล่าวในเวทีคนหนองบัวคืนวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่กล่าวแนะนำตนเองต่อชาวบ้านว่ารู้จักเจ๊กใหญ่ไหม ผมนี่แหละคือลูกเจ๊กใหญ่ละ ที่สมัยเป็นเด็กนั้น พอมีเกวียนชาวบ้านไปนาไปไร่ผ่านหน้าบ้านครั้งใด ก็จะชอบวิ่งไปเกาะท้ายเกวียนห้อยต๋องแต๋งเป็นประจำ

พอกำนันแนะนำตัวว่าเป็นลูกใครแบบนั้น ชาวบ้านก็ร้องอ๋อกันทั้งหมดเลย เมื่อรู้ว่าใครเป็นใครแล้ว หลังจากนั้นการพูดคุยก็เสมือนเป็นดุจดังญาติพี่น้องกันเวที

ที่แปลกใจและประทับใจในการพูดคุยกับสท.วันนั้น ก็คือท่านนั้นถือว่าคนตลาดเป็นลูกเจ๊กอาชีพค้าขาย แต่ท่านรู้จักวิถีชาวบ้านได้รอบด้าน เช่น ท่านบอกว่าคนหนองบัวเมื่อก่อน กว่าจะสร้างบ้านเรือนให้ลูกได้แต่ละหลังแต่ละนั้น ต้องไปนอนจักไม้(ไปนอนจักไม้นี้ต้องเป็นชาวบ้านถึงจะเข้าใจคำนี้) เลื่อยไม้ในดงในป่า เป็นการวางแผนสร้างอนาคตให้ลูกหลาน ที่หาไ้ด้ยาก ต่างจากชุมชนอื่นๆ(ท่านไม่ใช่คนรุ่นเก่า แต่ว่ามีวิถีชีวิตที่สัมผัสและเข้าถึงชาวบ้านได้ เหมือนคนรุ่นเีตี่ยของท่านที่คลุกคลีชาวบ้านได้ทั้งชุมชน)

ไม่ค่อยได้ยินความทรงจำวิถีชาวบ้านอย่างนี้บ่อยนักจากคนในตัวเมือง อีกอย่างท่านสามารถเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มได้ดีทั้งคนในเมืองและชาวบ้าน
เมื่อได้ฟังทัศนะสท.แล้วมีความหวังและัเห็นโอกาสแนวทางในการพัฒนาชุมชนดีๆอีกหลายอย่างในอนาคต 

  • วันสุดท้ายนั้น ก็มีอดีต สท.และ สจ. คนหนึ่งเข้ามาเดินดูนิทรรศการอยู่เป็นนานครับ แต่ตอนเดินออกผมก็คลับคล้ายคลับคลาว่าจะรู้จักเลยถามว่าใช่พี่....ไหม ปรากฏว่าใช่ ก็เลยคุยกันสักพัก หนึ่ง อาจจะเป็นคนเดียวกันนะครับ คงได้ทราบข่าวและเมื่อได้คุยกับพระคุณเจ้าแล้ว ก็เลยได้เดินเตร่ไปดู
  • กำนันวิรัตน์ บัวมหกุลนี่ เป็นผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ที่ใช้ได้เลยนะครับ

บรรพบุรุษแผ้วถางทาง อนุชนรุ่นหลังเดินตาม

สร้างตำนานแห่งความทรงจำและผูกพัน นะคะ

คืนวันที่๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ได้ฟังป้าอี๊ดหรือสาลี สายภู่ 
คนบ้านเนินน้ำเย็น(บ้านใน) มีช่วงหนึ่งท่านเล่าว่า
บางปีต้องไปหาบน้ำถึงทุ่งสะแกราชหรือบ่อโคก 
ทุ่งนี้อยู่ำำไกลจากหนองกลับประมาณ ๕ กิโลเมตร 

ไม่เคยทราบมาก่อนว่าคนบ้านในซึ่งอยู่คนละด้าน
กันกับบ้านนอกหรือหนองกลับ จะไปหาบน้ำถึงทุ่งสะแกราช
ถ้าอย่างนั้นจากบ้านในไปกลับสะแกราช ก็ ๑๐ กว่ากิโลเมตรเลยทีเดียว
(ทุ่งสะแกราช อยู่เขตหนองกลับ เลยชุมชนวัดเทพสุทธาวาส ไปสักครึ่งทาง
บ้านเขามะเกลือ ๔-๕ กิโลเมตร)

โอคนบ้านเราลำบากเรื่องน้ำกินกันถึงขนาดนี้เลยหรือนี่
เคยรู้มาเพียงแค่ว่าชาวบ้านแถวบ้านอาตมานั้น บ้านเนินตาโพ(บ้านหนองกลับ)
ไปหาบน้ำที่สะแกราช นี่มาทราบข้อมูลใหม่ว่าคนบ้านในก็ไปหาบน้ำถึงสะแกราชด้วย

ว่าจะสอบถามช่วงนั้นก็เกรงว่าจะขัดจังหวะการพูดคุย เลยจดไว้ว่าจะถามตอนหลัง
พอท่านลากลับ ก็ลืมถามอีก คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้กันอีกแล้ว

นี่ถ้าเปิดเวทีเรื่องน้ำ แหล่งน้ำ น้ำกิน กันสักเวทีนี่คงได้บทเรียนอะไรดีๆ
จากคนเฒ่าคนแก่อีกมากมากแน่นอน

ฝากความคิดประเด็นนี้ไว้ก่อน

สวัสดีครับคุณ Poo
คนรุ่นผมของหนองบัว กับคนร่วมยุคสมัยของเราของสังคมนี่ ก็เหมือนกับเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรุ่นความเปลี่ยนแปลงเหมือนกันนะครับ ที่หนองบัว นครสวรรค์นั้น หากพวกเราไม่ทันได้รวมตัวกันทำอย่างนี้ละก็ อีกไม่กี่ปีชุมชนหนองบัวก็จะมีสภาพเหมือนกับเมืองทั่วๆไปของประเทศและของโลก จะหวนคืนและนำเอาสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมมาซาบซึ้งก็ไม่ได้แล้ว เลยโชคดีที่พวกเราได้ทำกัน ในภาพรวมอีกหลายแห่งของสังคมไทยก็เช่นกัน คลื่นความเปลี่ยนแปลงของสังคมกำลังเคลื่อนไป และหลายอย่างกำลังหายไป

ลำบากมากครับ ผมนี่ทันเห็นการหาบน้ำและเข็นน้ำจากแหล่งต่างๆอย่างลำบากลำบน
และที่บ้านผมเองนั้น ก็เคยไปหาบน้ำถึงบ้านสระงามใกล้ชุมแสง ไปกลับนี่กว่า ๑๐ กิโลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท