การวิจัยเชิงคุณภาพ (๔): การวิจัยเชิงปฏิบัติการ >>> เก็บประเด็นจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล


เปิดกะโหลกตัวเองอีกครั้ง... "วิจัย" ที่เป็นสัจธรรม “หวานเป็นลม ขมเป็นยา”...ของผู้เขียน

ผู้เขียนพูดบ่อยครั้งว่า วิจัยเป็นยาขมของผู้เขียน แต่ก็ยังงงๆ กับตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นยาขม... ก็ยังแวะเวียนเข้าใกล้อยู่เรื่อย ทั้งโดยบังเอิญ...และโดยจงใจ โดยเฉพาะ “วิจัยเชิงคุณภาพ" ที่ผู้เขียนติดเสน่ห์ด้วยมองเห็นว่า...เป็นงานวิจัยคลาสสิค

ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้เพราะพื้นฐานผู้เขียนมอง “คน" ว่า “มีแต่ความไม่แน่นอน" ...ร้อยพ่อ พันแม่ จึงเกิด หมื่นแสนพฤติกรรมที่แตกต่าง ชนิด...จิตใจมนุษย์ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง

แล้วงานประจำที่ผู้เขียนปฏิบัตินั้นเกี่ยวข้องกับ “คน" โดยตรง อาศัยทีมที่ทำงานเป็น “คน" ซะเป็นส่วนใหญ่ การหาข้อตกลงร่วมระหว่างคนเก่ง ๆ ด้วยกันจึงเป็นเรื่องยาก ทำให้ผู้เขียน พลิกความคิดของการมองหาคำตอบเรื่องงานที่เกี่ยวกับคนได้เข้าใจมากขึ้น เมื่อได้เรียนรู้เรื่องวิจัยเชิงคุณภาพ...แม้จะยังทำวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงปฏิบัติการสำเร็จไม่ได้

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าต่อไปนี้มิอาจเป็นตัวแทนคำพูดหรือเนื้อหาที่อ้างอิงได้ ต้นฉบับเนื้อแท้เป็นของอาจารย์ของผู้เขียนท่านนี้... ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งหาหนังสือของอาจารย์อ่านได้ค่ะ

ผู้เขียนเพียงนำบางส่วนที่ฟังในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อาจารย์เน้นและอธิบายขยายความมาเล่าสู่กันฟังเท่าที่จดจำได้... และกัน (ตัวเอง) ลืม

เป็นการอบรมวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2555 ณ ห้องกวี ทังสุบุตร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโดยหน่วยระบาดวิทยาคลินิก

...อยากแอบบอกว่า เวลาฟังอาจารย์สอนด้วยการยกตัวอย่างวิจัยเชิงปฏิบัติการของจริง ฟังอาจารย์อธิบาย ขยายความ เหมือนฟังนิยาย... มันเพลิน ชวนติดตามไปเรื่อย ๆ แล้วจดย่อไม่ค่อยได้... ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

คงคล้ายเราลึกซึ้งความงามในบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็ยากเกินอธิบาย...ผู้ฟังต้องมาสัมผัสเอง

...ว่ากันสั้น ๆ เท่าที่เก็บได้นี่แหละ

วิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research : AR) เป็นหนึ่งในวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ผู้เขียนเคยเข้าอบรมและเล่าไว้บ้างแล้ว ในบันทึกเก่า...

การอบรมคราวนี้เป็นภาคสองต่อจากคราวที่แล้ว ที่พวกเราอยากให้มีการจัดอีก เพราะรู้สึกว่าอยากรู้ลึกซึ้งขึ้น... หน่วยระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดให้ผู้เข้าอบรมรับความรู้ต่อเนื่อง

อาจารย์ทบทวนกรอบแนวคิดเรื่องของพื้นฐานการวิจัย, การวิจัยเชิงคุณภาพก่อนนำสู่วิจัยเชิงปฏิบัติการ

  • วิจัยต้องทำให้เกิดความรู้ใหม่ ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนางาน
  • สิ่งที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัย ได้แก่ แรงจูงใจ มีความรู้และมีการสนับสนุน
  • การทำวิจัยจะไม่ได้ผลหากเป็นการเลือกทำในเรื่องที่ไกลตัว ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง และไม่มีความรู้
  • การวิจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะยากหรือง่าย... ต้องมีคุณภาพ
  • ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยแบบไหน จะต้องมี “กระบวนการวิจัย"

คุณสมบัติของ AR 9 ข้อ ได้แก่

1) เป็นการพัฒนากิจกรรมโดยเกิดการเปลี่ยนแปลง (improving by changing)

2) เป็นวิจัยที่ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม

3) เป็นการลงมือปฏิบัติที่อาศัยการสะท้อนของผู้ปฏิบัติในวงจร PDCA หลายๆรอบ โดยให้ปฏิบัติในสถานการณ์ธรรมชาติ(เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในภายหลัง)

4) วิเคราะห์สถานการณ์อย่างมีวิจารณญาณ(critical analysis) เพื่อความเข้าใจสถานการณ์ธรรมชาติที่แท้จริง

5) มีกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ (ประกอบด้วย situation analysis, action และ evaluation)

6) ควรเป็นเรื่องที่เป็นนโยบาย หรือได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายเนื่องจากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

7) มีการบันทึกความก้าวหน้าและสะท้อนการทำงานอย่างเป็นระบบ ตามกระบวนการวิจัย

8) ได้องค์ความรู้ใหม่จากการประมวลผลการศึกษา

9) เริ่มจากกลุ่มย่อยแล้วขยายวงกว้างขึ้น

ประเภทของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

Type 1 : แก้ปัญหาอย่างนักเทคนิค ผู้วิจัยทราบวิธีการหรือเทคนิคที่จะใช้เป็นอย่างดี ผู้เกี่ยวข้องนำวิธีการหรือเทคนิคไปใช้

Type 2 : ผู้วิจัยและผู้ปฏิบัติร่วมกันวางแผนและปฏิบัติจนได้วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมในหน่วยงาน

Type 3 : ทีมวิจัยเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้วิจัยเป็นเพียงผู้ประสาน(facillitator)ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้นๆ

สิ่งที่จะปรากฏในหลักการและเหตุผล

- การทำงานเดิมต้องมีรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว

- สถานการณ์มีปัญหาอะไร มีปรากฏการณ์อะไร ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ชัดเจน

- เป็นปัญหาเฉพาะที่ เฉพาะบริบท และโจทย์ปัญหานั้นนำมาซึ่งการแก้ปัญหา

- มีช่องว่างอะไรอยู่ ควรมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

- อาจเริ่มจาก descriptive study ก่อน

- บอกจุดยืนของตนเอง on phenomenology...เชื่อในอะไร หาจุดยืนในการเริ่มต้น มองให้ชัด มองให้คม

- เราต้องการแก้ปัญหาและพัฒนางาน ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

- อย่าลืมทบทวนวรรณกรรม

- จะทำอย่างไรอยู่ที่ทบทวนวรรณกรรม

- อย่าลืมว่าต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้นำ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้จริง

คำถามการวิจัยอาจได้จาก

- ปัญหาการทำงาน

- ความคิดของคนช่างคิด ช่างถามที่ไม่พอใจกับงานเดิม

- การอ่านหนังสือ

- การเสวนา เป็นต้น

ขั้นตอนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

ขั้นที่ 1 ศึกษาสถานการณ์ (Situation Analysis): เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์งานเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อดูข้อขัดข้องต่างๆ

ขั้นที่ 2 ลงมือปฏิบัติและปรับเปลี่ยน (Action): โดยนำสิ่งที่เราคิดว่านำมาใช้แล้วจะเกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมมาลองใช้ ขั้นตอนนี้ของการวิจัยเป็นการใช้วงจร PDCA (ที่เราคุ้นเคย)หลายๆรอบ นั่นคือมีการวางแผน นำไปปฏิบัติ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ พบปัญหา วางแผนใหม่...นำไปปฏิบัติ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ... ไปเรื่อยๆจนรู้สึกพอหรือได้คำตอบที่เราต้องการ

ขั้นที่ 3 สะท้อนปฏิบัติหรือประเมินผล (Evaluation): นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ขั้นตอนที่ได้ปฏิบัติ(หลายๆรอบในขั้นที่ 2) มาวิเคราะห์ร่วมกัน ประเมินว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงอย่างไร และทำไมจึงเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มี 2 ชนิด

1) เป็นคำบรรยายปรากฏการณ์ สถานการณ์ ความรู้สึก ค่านิยม ความสามารถ ความรู้ คุณค่าของคน สัตว์ สิ่งของหรือสภาพการณ์

2) เป็นข้อมูลแสดงลักษณะที่จัดกระทำเป็นรูปตัวเลข ข้อมูลประเภทนี้มักเป็นสากล เช่น ระดับสติปัญญา ความสูง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีสามเส้า (Triangulation) ซึ่งเป็นเครื่องมือของงานวิจัยเชิงคุณภาพยังเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการตรวจสอบความครบของมุมมองหลายๆมิติ หลายๆทฤษฏีได้แก่ การตรวจข้อมูลจากบุคคลต่างกัน จากต่างสถานที่ ในเวลาที่ต่างกัน ผู้เก็บข้อมูลต่างกัน ตรวจกับเจ้าของข้อมูลโดยตรง จากทฤษฎีที่ต่างกัน เป็นต้น

ในส่วนขั้นตอนเทคนิคการวิเคราะห์ ใช้แบบวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งประกอบด้วย

  • อ่านข้อความทั้งหมด
  • สกัดข้อความที่สำคัญ
  • รวบรวมความหมายต่างๆ
  • จัดกลุ่ม แยกแยะ ประเด็นหลัก
  • สร้างข้อสรุป
  • สกัดความหมาย
  • ตรวจสอบ

โดยในขั้นตอนดังกล่าวสามารถทวนกลับไปมาได้ตามเนื้อหาที่ได้

... ที่สำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการคือ ผลการวิจัยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดข้อสรุปใหม่ แนวทางใหม่ในบริบทเฉพาะตน

...อย่าลืมว่า

เป้าหมาย “เพื่อเปลี่ยน หรือปรับปรุง...สู่การเปลี่ยนแปลง (Change) ระดับความคิดและวิธีการ"

อย่าเอา Methodology เป็นตัวตั้ง ให้เอา คำถาม/ปรากฏการณ์/ วัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง แล้วจึงตามมาด้วยวิธีการสร้างเครื่องมือในภายหลัง

...

ขณะอบรม...

เวลามีคำถามเจาะลงลึกและพวกเรามักเมาวิชา อาจารย์ก็จะวกกลับมาที่พื้นฐานกระบวนการวิจัย และหากเราเมาในวิจัยเชิงปริมาณ อาจารย์ก็จะดึงเรากลับมาตั้งต้นใหม่ในแนวคิดวิจัยเชิงคุณภาพอยู่เสมอๆ (ซึ่งผู้เขียนมักเตือนตนเองด้วยคำสอนของอาจารย์บ่อยๆว่า...จะใช้วิจัยเชิงคุณภาพ เมื่อปัญหาหรือข้อสงสัยนั้นไม่สามารถตอบได้ด้วยวิจัยเชิงปริมาณ)

...

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจในตัวอาจารย์ก็คือ อาจารย์ไม่เคยปฏิเสธที่จะอธิบายขยายความในงานที่เรานำมาเป็นตัวอย่าง...แม้มันจะไม่ใช่วิจัยเชิงคุณภาพ แต่อาจารย์ก็จะช่วยตบแต่งให้งานที่พวกเราติดไม้ติดมือมาสมบูรณ์มากขึ้นได้

ท้ายที่สุดนี้ขอขอบพระคุณหน่วยระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำให้พวกเราได้มีความรู้เรื่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการและมากกว่านั้นคือความรู้การนำวิจัยทุกรูปแบบสู่การแก้ปัญหางานประจำ จาก ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ซึ่งมีคุณค่าต่อการบริการ(รักษาพยาบาล)เป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 483324เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2012 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณพี่ติ๋วที่นำมาแบ่งปันคะ

AR เป็นสิ่งที่อยากทำ  แต่ก็ได้แต่ อยาก......จด  จด จ้อง จ้อง  ยังไม่เคยลงมือ

เนื่องด้วยมองว่า......คงต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้อีก........

จะพยายามกินยาขม หม้อนี้ให้ได้คะ

ขอบคุณที่สรุปให้เรียนรู้ด้วยนะคะ

AR เป็นอะไรที่ดีมากครับ..ผมใช้เป็น Research Methodology หลัก ตอนที่ผมทำ ป.เอก เรื่อง Appreciative Inquiry ของผมครับ..เป็นวิจัยที่งดงาม และมีความเป็นมนุษย์สูง ให้ความเคารพต่อผู้มีส่วนร่วม...และยังต้องเคารพ และให้โอกาสตนเอง..ผมว่า AR คือเป็นปรัชญาจริงๆ..เปลี่ยนชีวิต และยกระดับความรู้ของผู้ทำและผู้มีส่วนร่วมมากๆ ครับ...

สวัสดีครับ พี่ติ๋ว

อาจารย์ศิริพร และอาจารย์อรุณ

ถ้าท่านสอนแพ็คคู่ท่านน่ารักมากครับ

.....

ตอนแรกผมกลัวท่านมากครับ

อาจารย์ของผมฝากฝังให้รู้จักทั้งสองท่าน

มาเรียนรู้งานวิจัยคุณภาพ...เชิงปฏิบัติการ

คุยกับท่านตอน ๆ แรก เหมือนเอาคอของผมไปให้ท่านตัด

(ไม่ได้ตัดครั้งเดียวแล้วขาดเลยนะครับ)

แบบหนังเปาบุ้นจิ้นครับ

.....

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนลืมเลือน

ผมกลับหลงรักอาจารย์ทั้งสองมากครับ

ปัจจุบันเจอกัน...ถ้าท่านดุ แสดงว่า ท่านรักเรามากครับ

ท่านใจดีและอ่อนโยน

เมื่อผมมีปัญหานิดหนึ่ง...ท่านอธิบายยาว ๆ จนเข้าใจ

ท่านเป็นครูจริง ๆ ครับ

ด้วยความระลึกกถึงพระคุณครูครับ

น้องกระติก

วิชาชีพพยาบาลอย่างเราๆเหมาะเหลือเกินกับการค้นหาสิ่งใหม่ๆ...เพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆด้วย AR ค่ะ

...น้องกระติกเริ่มทำเถอะ พี่จะคอยเอาใจช่วยและเรียนรู้ด้วยคนค่ะ...

Cheer!

พี่แก้ว...

ยินดีมากๆค่ะที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเปิดประเด็นการเรียนรู้ร่วมกันค่ะ

เรียน อ.ภิญโญ ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะที่แวะมาเติมเต็ม เชื่อมต่อความรู้ AR และ AI ให้พี่รู้สึกว่ามันเนียนเป็นเรื่องเดียวกันได้ มันสร้างและเสริมกันได้ ทำให้มีกำลังใจและมีพลังที่จะนำความคิดมุมมองเชิงบวกวางแผนพัฒนางานต่อค่ะ

พี่จะพยายามนำแนวคิด Connector, Marven และ Salesman ของอาจารย์มาบูรณาการใช้ใน AR เพื่อพัฒนางานวิชาชีพวิสัญญีพยาบาลให้ได้ค่ะ... คอยเป็นที่ปรึกษานะคะ

ขอบคุณค่ะ

ฮาๆๆ... น้องทิมดาบ

(ขอแอบเมาท์อาจารย์หน่อยนะ...) พี่ได้ยินกิตติศัพท์ของอาจารย์จากวงการผู้เข้าอบรมวิจัยระบาดวิทยามาก่อนบ้างเหมือนกัน เรื่องของการ...เป๊ะ! ในวิจัยเชิงคุณภาพ แต่พอได้เข้าคอร์ส การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพ ในระยะที่ 1-3 กับอาจารย์ทำให้พี่เข้าใจมากขึ้นเลยว่าทำไมอาจารย์ต้องเป๊ะ! กับคนทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะนักวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือวิจัยนั่นเอง...

โดยสรุป พี่ชอบสไตล์การสอนของอาจารย์มากๆ...ชอบความคม ชัด ในแนวคิดของวิจัยเชิงคุณภาพของอาจารย์... เรียกว่า โดน น่ะค่ะ

ขอบคุณน้องทิมดาบมากค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท