จึงเป็นอีกหนึ่งชีวิต...ที่สร้างความสุข


...ชีวิตรอดได้ หากให้โอกาส

มื้อเที่ยงวันนี้น้องๆพุดคุยกันเรื่องการเลี้ยงปลาในบ่อที่พอปลาตัวโตก็ไม่จับกินเพราะสงสาร

...พอพูดเรื่องความสงสาร ผู้เขียนก็บอกน้องว่า พี่มีเรื่องเล่า

 

...

เมื่อเดือนก่อนที่บริเวณหน้าบ้านของผู้เขียนพบขนนกเล็กๆสีขาวหล่นร่วงอยู่ราว 2-3 ชิ้น ผู้เขียนออกแปลกใจเพราะโดยปกตินกที่มาแอบกินข้าวเจ้าคอปเปอร์เป็นนกพิราบซะเป็นส่วนใหญ่...

2-3 วันต่อๆมาก็ได้ยินเสียงป๊าพูดว่า

“ขนนกมาจากไหนทำไมร่วงเยอะจัง”

“นกไม่สบายมาเกาะบ้านเราเหรอ เป็นหวัดนกหรือเปล่า เดี๋ยวติดนกบ้านเรา”

 

  ราวสัปดาห์กว่าจากนั้น...

วันนั้นป๊าขับรถเข้าบ้านหลังจากไปรับยายกีตาร์ ได้ยินเสียงป๊าบอกว่า ป๊าเห็นนกเขาตัวหนึ่งยืนอยู่ริมฟุตบาท คงเป็นตัวเดียวกับที่อยู่กลางถนนตอนป๊าขับรถออกไปแล้วป๊าเลยขับรถคร่อมมัน

ป๊ากำนกตัวนั้นในอุ้งมือ

“สงสัยมันจะไม่สบาย... สงสารกลัวแมวกิน ไหน...กรงนกเก่าเราอยู่ไหน?”

แล้วป๊าก็เอามันขังไว้ในกรงนกเก่า ให้น้ำให้ท่า แล้วเอาข้าวนกเลิฟเบิร์ดที่เราเลี้ยงไว้แบ่งให้มันกิน เอาผ้าคลุมกรงกันมันตกใจ

“มันจะเป็นไข้หวัดนกมั้ยเนี่ย?”

“ถ้าเป็นหวัดนกจริงมันคงตายไปแล้ว ไม่อยู่ทนมาเป็นอาทิตย์หรอก”

ป๊าเอามันไปไว้หลังบ้านให้ห่างเลิฟเบิร์ด

“ยาย...หายาให้มันกินหน่อยซี่” ป๊าบอกพยาบาลที่ทำตัวเป็นหมอชาวบ้าน

“ยาอะไรล่ะ?”

“ก็เอายาฆ่าเชื้อโรคที่เรามีดิ” นี่คำแนะนำป๊านะ...

ยาแอมม็อคซี่เป็นยาครอบจักรวาลของครอบครัวผู้เขียนในการรักษาทั้งคนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน แม้ผู้เขียนจะใช้มันบ่อยและใช้ไม่ถูกวิธี แต่มันทำให้ชีวิตการเจ็บป่วย เป็นหวัดเล็กๆน้อยๆของคนในบ้านไม่สร้างความวุ่นวายกับผู้เขียน ผู้เขียนเอาผงในแคปซูลโรยลงในน้ำนิดหน่อย กะเอาพอจางๆเพราะตัวมันเล็ก 

ป๊าเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปูพื้นกรงด้วย เราเลยเอาข้าวนกโรยบนพื้นกระดาษได้...

นกเขานอนซึมบนพื้นอยู่หลายวัน...และไม่ตาย

 

วันต่อๆมาเริ่มเห็นมันขึ้นเกาะคอนไม้ นอนหลับบนคอน หลบๆหลังผ้าคลุมกรงได้ ผู้เขียนหมั่นเอาหญ้าที่เก็บให้เลิฟเบิร์ดมาเผื่อ บางครั้งสุนัขคอปเปอร์ปีนรั้วชะโงกไปเก็บตะไครัข้างบ้านกิน ผู้เขียนก็ขอตะไคร้เพื่อนบ้านมาให้นกด้วย

ผู้เขียนเริ่มเห็นขนอกขาวสวยยาวคลุมขาเวลานกเกาะคอนนอน...เขาหันหน้าเข้าบ้าน

ราว 2 สัปดาห์จากนั้น เช้าวันหนึ่งก่อนป๊าขับรถออกไปทำงานผู้เขียนบอกป๊าว่าเราปล่อยนกได้แล้วมั้ง สงสารเห็นมันเดินไปมาแถวประตูกรง ดูท่าว่าอยากออก 

ป๊าเดินไปปล่อยมัน... มันบินออกนอกกรงแต่บินไม่ขึ้น ตกลงที่พื้น มันบินหนีห่างออกไปแต่บินได้สูงราว 1-2 ฟุตก็ตก มันบินไปเรื่อยๆ ทีละนิดจนออกนอกบ้าน ป๊าต้องเดินตามก้นมันไป... ป๊าหายไปพักใหญ่ก็ได้ตัวนกเขากลับมา ได้ยินเสียงป๊าบอกว่า ขนหางร่วงกราวเลย สงสัยยังไม่หาย

ป๊าเลยจับใส่กรงใหม่ เสียงบอกว่า “อยู่นี่ไปก่อน...” ผู้เขียนสังเกตเห็นขนหางของนกเหลือเพียง 2 เส้น

 เราเลี้ยงนกเขาต่ออีกระยะ...

ผู้เขียนสังเกตว่านกเขามีพัฒนาการจากเดินไปเดินมาเป็นขยับบินได้แข็งขึ้น เวลาตกใจบินเกาะข้างกรงสังเกตเห็นขนหางเริ่มงอกยาว นับได้ราว 4-5 เส้นนี่แหละ ผู้เขียนต้องพยายามตัดใจไม่ใจอ่อนรีบปล่อยไปอีก ตั้งใจว่าคราวนี้เลี้ยงไว้อีกราว 2-3 สัปดาห์ ให้ขนหางยาวหน่อย

ผู้เขียนยังคงเสริฟหญ้าและตะไคร้เหมือนเดิม เอาชมพู่ที่ตกมาให้บ้าง เผื่อมีหนอน จะได้กิน...

ต้นสัปดาห์ที่แล้วนี้ ลูกชายผู้เขียนปิดเทอมกลับมาบ้านบอกว่าตอนกลางวันได้ยินเสียงนกเขาขันกรุกๆๆๆ... จากนั้นมาในวันหลังๆป๊าบอกว่าได้ยินมันขันเหมือนกัน

  

วันมาฆะบูชาที่ 7 ที่ผ่านมา...ผู้เขียนตากผ้าหลังบ้านเห็นนกเขาแข็งแรงมากขึ้น กางปีกเกาะกรง ดูกระฉับกระเฉง ผู้เขียนรอจนป๊าตื่นแล้วบอกว่า วันนี้เป็นวันดีเราน่าจะปล่อยนกเขาได้แล้ว

ป๊าบอกว่าตามใจ  

“ป๊าเป็นคนจับมา... ให้ป๊าเป็นคนปล่อย” ผู้เขียนบอก

“ไม่เอา ยาย(ชื่อของผู้เขียนที่เรียกกันเล่นๆในครอบครัว)ก็ไปปล่อยเองซี่..." ผู้เขียนเงียบ

"ก็แค่เปิดประตูกรงทิ้งไว้ เดี๋ยวมันก็ออกไปเอง... ไม่อยากเห็น เดี๋ยวทำใจไม่ได้” น้ำเสียงช่วงท้ายราบเรียบ

ประมาณว่า ป๊าคงไม่แน่ใจว่านกแข็งแรงพอจะบินหนีแมวได้หรือเปล่า คงกลัวแมวจับแล้วช่วยมันไม่ทัน...ทำใจไม่ได้

ผู้เขียนเอาไม้หนีบผ้าหนีบประตูกรงเปิดไว้ แล้วแอบดู...

นึกได้ว่าน่าจะเอากล้องมาถ่ายรูปไว้เล่าให้เพื่อนฟัง... แต่ด้วยความที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนจึงได้แค่คิดเพราะกลัวจะไม่ทันเห็นตอนมันบินจากไป

เห็นเขายืนมองๆ เอียงคอไปมา... เดินมาที่ประตูแล้วก้าวขาเกาะขอบประตูกรงช้าๆ ชะโงกหัวออกนอกกรงนิดนึง มองซ้าย มองขวา คล้ายประเมินสถานการณ์เพื่อสำรวจสิ่งแวดล้อมสักครู่ แล้วกางปีกออกบินไปทางรั้วหลังบ้านลับหายไปบนชายคาอย่างสง่างาม...

ที่ผู้เขียนบอกว่าสง่างามนั้น ผู้เขียนหมายความอย่างนั้นจริงๆ เพราะเป็นการค่อยๆร่อนบินออกไปคล้ายเครื่องบินทยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ไม่แสดงอาการบินแบบตกใจ...

ภาพที่เห็นสร้างความสุขยิ่งนัก ผู้เขียนเดินกลับมาเล่าให้ป๊าฟังโดยละเอียด ป๊าฟังโดยไม่ขัดจังหวะแล้วพยักหน้าตาม พร้อมทั้งอมยิ้ม

...เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่รอดตาย เพราะเราให้โอกาส

....

เรื่องที่ผู้เขียนเล่าให้น้องฟังบนโต๊ะอาหารสั้น กระชับกว่านี้ (บันทึกข้างบนเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ปล่อยนก แต่ไม่มีโอกาสนำเสนอ)

จบเรื่องเล่าของผู้เขียนน้องถามว่า

“แล้วนกเขาที่บ้านน่ะ...ขันมั้ย?” ผู้เขียนนิ่งคิดนิดนึง นึกในใจว่า “ตัวไหนวะ? ที่บ้านเลี้ยงแต่เลิฟเบิร์ด" สักพักเห็นน้องๆบนโต๊ะเริ่มส่งเสียงกริ๊วกร๊าวกัน ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อ ตบโต๊ะฉาด...

“เออว่ะ...ไอ้ตัวที่บ้านมันไม่ขันเลย”

“ต้องเอาแอมม็อคซี่ให้กิน” น้องแนะนำ

“เออ...จริงด้วย แต่นกน่ะพี่ใส่ผงโรยๆไปนิดเดียวเอง”

“ใช่...พี่ต้องให้กินเยอะหน่อย”

“เออ...จริง เดี๋ยววันนี้ฉันจะเบิกไปสักซอง...แล้วจับกรอก”

ฮาๆๆๆ

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องของนกเขา
หมายเลขบันทึก: 481998เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2012 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เล่าได้สนุกเสมอ มาลับสมองได้ดี

ขอบคุณพี่แก้วและครูอ้อยค่ะ

 

บ้านฉันไม่มี amoxy มีแต่ viagra ใช้แทนกันได้ไหม

พ่อหมูอ้วน เพื่อนรัก

ถ้าจะใช้ทดแทนกันต้องตรวจสอบดีๆนะจ๊ะ...ว่าเป็นของปลอมหรือไม่ เพราะหากพ่อไปเดินซื้อตามฟุตบาทหรือตลาดนัดยามเย็นอาจเป็นของปลอมจ้า ฉันมีเพื่อนที่มีประสบการณ์ตรงถึงระดับเป็นผู้ชำนาญการเรื่องนี้เคยบอกไว้จ้า... อิอิ 

อ้อ...ได้ข่าวว่าไม่เกิน 5 ปีนี้ เขาจะทำเชี่ยวชาญเรื่องนี้แหละ...อิอิอิ

  • บ้านฉันมี ก็ไม่ได้หมายความว่า ฉันใช้จ้า
  • แม่แมงมุมรู้ละเอียดจัง เหมือนกับเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่ไม่ได้ฟังจากคนอื่นเล่ามานี่นา
  • ฝากบอกเพื่อนแม่แมงมุมด้วยว่า ถ้าจะเริ่มรับสมัครเคสเมื่อไร ก็บอกฉันบ้างนะ...มีคนสนใจ....ฉันไม่ได้บอกนา ว่าเป็นฉัน

พ่อหมูอ้วน...

ฉันก็เพียงห่วงใยเพื่อนจ้า กลัวว่าหากเป็นของปลอม ใส่ส่วนประกอบผิดสูตร...บางตัวมากไป บางตัวน้อยไป จะไม่ได้ผลตามต้องการ

ที่บ้านพ่อมีก็ระวังแล้วกัน...หากหยิบไปให้ใครใช้ก็อย่าลืมบอกเค้าล่ะ ว่าอาจได้ผลเพียง 50% หรือ 150%... จะเอาชัวร์ๆก็กลับมากินแอมม็อคซี่แบบนกบ้านฉันเหอะ...นะ...อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท