จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ตั้งหลักหรือถอยหนี วิสัยทัศน์ที่ต้องสร้าง


เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ด้วยความยังไม่ค่อยจะรู้จักมักคุ้นเท่าไรครับ เริ่มคุยเลยเกร่งๆ แต่พอเข้าประเด็นเลยออกประเด็นมาได้หลายประเด็นทีเดียว กลับมานั่งสรุปบทเรียนแล้ว เห็นหลายประเด็นมีความน่าสนใจสรุปเป็นองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านได้

ด้วยความเป็นโรงเรียนเล็กๆ ผมเลยถามผู้บริหารว่าจะเปิดขยายไป ม.ปลายหรือเปล่าครับ ท่านตอบว่า คงจะไม่ ถึงแม้ว่าตอนนี้ผู้ปกครองจะเรียกร้องมาก็ตาม อือ คำตอบน่าสนใจที่ต้องถามต่อว่า ทำไมครับ? ผมประมวลคำตอบแล้วแยกวิเคราะห์ประเด็นได้ดังนี้ครับ

ประเด็นแรกคือ วิธีการวัดความสำเร็จของนักเรียน ม.ต้นกับ ม.ปลายไม่เหมือนกัน ตัวชี้วัดความสำเร็จไม่เหมือนกัน เด็กจบ ม.ต้น เพียงแค่ได้เรียนตอน ม.ปลาย หรือไปสายอาชีพก็จบแล้วครับ แต่พอ ม.ปลายนี้ ตัววัดประเมินคุณภาพชัดเจนมาก คือ เรียนต่อมหาวิทยาลัยได้กี่คน สาขาวิชาเอกอะไรบ้าง มหาวิทยาลัยดังหรือเปล่า ซึ่งผลดังกล่าวส่งผลกับต่อความเชื่อมั่นต่อโรงเรียนด้วย

จากประเด็นแรกนำมาสู่ประเด็นคิดที่สองคือ โรงเรียนเล็กๆ จะสร้างคุณภาพในระดับ ม.ปลายได้ทัดเทียมกับโรงเรียนใหญ่ๆ หรือเปล่า ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่า ทำได้ยากมาก โดยท่านแจกแจงให้ผมฟังว่า อย่างแรกคือ ครูในระดับ ม.ปลายต้องมีความเชี่ยวชาญมากๆ ไม่ใช่ใครก็ได้สอนๆ ไปเถอะ อย่างนั้นรับรองได้ว่าเด็กไม่ได้อะไรเลย ทีนี้การจะจ้างครูเฉพาะทางและให้ครบถ้วนทุกวิชาที่สอนเป็นเรื่องยากลำบากกระทบต่อต้นทุนการบริหารของโรงเรียนด้วย ที่สำคัญโรงเรียนไกลเมืองครูที่ไหนจะมา ในเมื่อโรงเรียนใหญ่ๆ อยู่ในเมืองเยอะแยะ ที่สำคัญถึงหามาได้ก็ใช่ว่าจะอยู่ได้นาน เผลอๆ รัฐเปิดรับสมัครครูมา ก็ไปกันหมด ถึงเวลานั้นเดือดร้อนสุดก็ทั้งโรงเรียนละครับแล้วมันก็แก้ปัญหายากกว่าใน ม.ต้น 

นอกจากนี้ถึงจะมีครูดี แต่หากเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการจัดการเรียนการสอนไม่พร้อมแล้วสำหรับ ม.ปลายก็ยากที่จะทำให้ดีได้ ได้ครูดี แต่ไม่มีงบสำหรับซื้อสารเคมีมาให้ทดลอง แล้วเด็กจะเรียนรู้อย่างไร แต่พอซื้อโรงเรียนก็ซื้อน้อย กลายเป็นต้องซื้อในราคาแพง ก็เป็นปัญหา 

ประเด็นสามคือ ผู้บริหารบอกว่า ท่านไม่ต้องการให้โรงเรียนนี้ใหญ่เกินไป ด้วยศักยภาพที่มีเด็กสักสามร้อยนี้เหมาะแล้ว มากไปผู้บริหารดูแลเด็กไม่ทั่วถึง ท่านพอใจกับจำนวนเด็กเท่านี้ด้วยเหตุที่สามารถรู้จักเด็กได้เกือบทุกคน ตามพฤติกรรมให้การดูแลได้ เด็กหายไปจากห้องก็รู้ได้ แล้วไม่ต้องไปตาม วันหลังเจอเด็กก็ทักทายและซักถามได้ว่าหายไปไหน ซึ่งจะทำให้เด็กไม่กล้าหนีหายไปไหน ที่สำคัญผู้บริหารเชื่อมโยงไปยังชุมชนและผู้ปกครองได้ง่าย ซึ่งช่วยให้เกิดความผูกพันระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง  

จากข้อมูลข้างต้น ผมเกิดโจทย์คิดว่าหากผมต้องออกแบบแผนกลยุทธ์ให้กับโรงเรียน ผมจะสร้างภาพอนาคตองค์กรยังไง และสุดท้ายจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในมุมไหนได้บ้าง

ความจริงจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นความมุ่งมั่นของผู้บริหารโรงเรียนหลักๆ คือ คำว่า "คุณภาพและการให้การดูแลนักเรียนแบบใกล้ชิด" ส่วนประเด็นอื่นๆ น่าจะเป็นองค์ประกอบรอง 

คำว่า "คุณภาพ" ในมุมมองที่ถูกนำเสนอมาจากการสนทนาคือ ประกอบด้วย คุณภาพครู การสอนและสื่อการจัดการเรียนรู้ บทบาทของผู้เรียนในการเรียนรู้ ส่วนคำว่า "การดูแลนักเรียน"  ผ่านการปรับปรุงพฤติกรรมนักเรียน และการสร้างกิจกรรมเชื่อมโยงไปยังชุมชน

สององค์ประกอบสำคัญที่เป็นทุนเดิมของโรงเรียนเพื่อนำไปสู่การสร้างเป้าการพัฒนาของโรงเรียนครับ ซึ่งผมหยิบยกเอามาเพื่อสะท้อนคิดว่า การพัฒนาเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้สำหรับองค์การ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าการพัฒนาเป็นการขยายองค์การให้ใหญ่โตขึ้น เพียงแต่ควรใช้เพื่อการสะท้อนความเป็นตัวตนขององค์การให้ชัดเจนและโดดเด่นขึ้นครับ

หมายเลขบันทึก: 481292เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยครับ

พัฒนาองค์กร

ใช่ว่าเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น พอไม่ใหญ่ก็จะยุบ จะรวม

เล็กเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เด็กและครูมีคุณภาพ

และคุณภาพ..ก็อย่ามองกันที่คะแนนอย่างเดียว

แต่มองให้รอบด้าน หลายมิติ

อยาก ให้ ศธ , สพฐ.เข้ามาอ่านบทความของอาจารย์ จังเลย

ชอบความคิดของผู้บริหารจังเลยครับ แต่คิดถึงเตาฟิกมากกว่า 555

ขอบคุณครับ 

Ico48

จริงๆ เราน่าจะทำให้สิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่า มากกว่าทำลายทิ้งแล้วไปสิ่งใหม่

ขอบคุณครับป๋า 

Ico48

เดี๋ยวจะเอารูปเตาฟิกมานำเสนอครับ ฮิฮิ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท