แนะนำโมเดลเรียนรู้ คิด ทำ จำ แก้ และพัฒนา ให้กรมทางหลวง


ผมเรียนท่านว่า เราใช้รูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้าน คุณกิจ / ผู้เรียน หรือกลุ่มเป้าหมาย รู้จักคิด ทำ จำ แก้ไข และรู้จักพัฒนา
  • 31 ส.ค.49 กรมทางหลวง โดยกลุ่มแผนพัฒนาระบบงานและวิชาการ กองฝึกอบรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการความรู้สู่การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 -31 สิงหาคม ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซา ถ.ศรีวิชัย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  ผม ครูราญเมืองคอน และครูเกษมเมืองคอน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นนี้ จำนวน 78 คน
  • หกโมงเช้าผมพร้อมด้วยครูราญเมืองคอน และครูเกษมเมืองคอน ซึ่งเป็นทีมงาน KM ของ กศน.เมืองนครศรีฯ พร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย คือที่ กศน.อำเภอเมือง แขวงการทางนครศรีธรรมราช นำโดยพี่โสภา (จำนามสกุลไม่ได้) ก็มารับตรงเวลานัดหมาย จึงได้เดินทางไปสุราษฎร์ ชั่วโมงครึ่งก็ถึงที่ประชุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงที่อบรมก่อนเวลาพูดคุยเล็กน้อย ทำให้มีเวลาหาข้อมูลจากฝ่ายผู้จัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ผศ.ดร.ประศักดิ์ หอมสนิท รศ.ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาโครงการ  ทราบว่ากรมทางหลวงเป่านกหวีดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดลงมือทำงานในแบบ KM กัน มีการอบรมสัญจรแบบนี้กันมาหลายรุ่นแล้ว รุ่นที่ 4 นี้อบรมขึ้นในภาคใต้
  • การพูดคุยบนเวทีเริ่มขึ้นเก้าโมงตรง นำโดยทีมของผม 3 คน เป็นฝ่ายผู้เล่าผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ มี รศ.ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายบนเวที คอยตั้งคำถาม เชื่อมโยงประเด็น และสรุปการพูดคุยให้ แต่ละคำถาม พวกเราจะช่วยกันตอบและเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากคำถามต่างๆของอาจารย์อรจรีย์แล้ว ก็ยังมี คำถามจากผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งมี ผศ.ดร.ประศักดิ์ หอมสนิท ถือไมค์ตั้งคำถามเป็นหน้าม้าอยู่ข้างล่างในท่ามกลางผู้เข้ารับการอบรม ทั้งถามสดและเขียนส่งให้ รศ.ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง  ผู้ดำเนินการอภิปราย  เรียกว่าทีมของเราถูกสกัดความรู้จากรอบทิศทางครับ การสนทนาพูดคุยกันแบบนี้ผมว่าน่าสนใจไม่น้อย ผมคิดว่าหากปล่อยเราทั้งสามคนพูดไปเรื่อยๆแม้จะมีหัวข้อให้ก็ตาม พวกเราคงพูดให้ตรงใจผู้ฟังไม่ได้
  • บนเวทีอาจารย์อรจรีย์ถามเราหลายคำถาม คำถามหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก อาจารย์ถามว่า การส่งเสริมกลุ่มอาชีพก็ดี เครือข่ายกลุ่มอาชีพก็ดี การนำร่องจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชนในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช หรือแม้แต่จัดการความรู้แก้จนเมืองนครที่ผมและคณะเล่าไปนั้น ใช้โมเดลหรือรูปแบบการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ชาวบ้านอย่างไร ผมเรียนท่านว่า เราใช้รูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้าน คุณกิจ / ผู้เรียน หรือกลุ่มเป้าหมาย รู้จักคิด ทำ จำ แก้ไข และรู้จักพัฒนา โดยผมได้ขยายความว่า ให้คิดหมายถึงว่าให้คิดว่าจะทำอะไรจะเรียนรู้อะไรได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้วิธีไหนอย่างไร ให้สิทธิ์ที่จะกำหนดได้เอง ให้ทำก็คือให้ลงมือทำ คิดแล้วต้องนำไปปฏิบัติ ปฏิบัติตามที่คิดไว้นั่นแหละ ให้จำหมายถึงว่าในขณะที่คิดและทำนั้นได้เกิดทักษะประสบการณ์ตรงเป็นปัญญาปฏิบัติขึ้นมาก็ให้จดจำสิ่งนั้นไว้ใช้ทำงานต่อไป ขั้นนี้อาจจะมีเครื่องมือช่วยจำ เช่น บันทึกผู้เรียน บันทึกการทำงาน ทะเบียนต่างๆ ภาพถ่าย หรือใช้ IT ช่วย เช่น blog ถ้ามีความพร้อม เป็นต้น จำความรู้เอาไปเพื่อใช้งาน เช่น สังเกตความเปลี่ยนแปลงของพืชผักที่ปลูก แล้วจดค่าหรือข้อมูลต่างๆไว้ เพื่อใช้มูลนี้ดูแลพืชผักที่ปลูกต่อไป ไม่ใช่มุ่งจำและจดไว้ตอบข้อสอบ ให้แก้หมายถึงการให้นำความรู้ที่สั่งสมได้ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไปเพื่อการแก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน ไม่ใช่รู้แล้วก็ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ใดๆขึ้นมาเลย ส่วนคำว่าการพัฒนานั้นก็หมายถึงว่าเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด วิธีคิด วิธีทำ หรือความรู้ที่ค้นพบแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย ก็ให้ทบทวน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมอยู่เสมอเช่นกัน จะย้อนกลับไปปรับปรุงพัฒนาในขั้นตอนใดก็ได้
  • ส่วน ผศ.ดร.ประศักดิ์ หอมสนิท ก็ตั้งคำถามไปจากข้างล่างหลายคำถาม ที่น่าสนใจ เช่น คิดอย่างไรถึงได้ทำงานแนวนี้ ผมก็ตอบไปว่าเราต้องคิดว่าเราต้องทำงานเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น มีใจสาธารณะมากขึ้น และต้องละอายต่อบาปไม่อยู่เฉยๆกินเงินเดือนครับ ยกตัวอย่าง กศน.ที่มีวิสัยทัศน์ว่าให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆได้ทุกที่ทุกเวลาในทุกเนื้อหา ถ้าเราไม่มุ่งทำงานเพื่อคนอื่น ไม่มีใจสาธารณะ ไม่ละอายต่อบาป อยู่กันสบายๆไปวันๆ ไม่คิดนวัตกรรมใดๆขึ้นมา ทุกอย่างที่มุ่งหวังจะเกิดขึ้นดังวิสัยทัศน์ที่ว่าก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และอีกคำถามหนึ่งคือถามว่าจะแนะนำคณะผู้เข้ารับการอบรมให้กลับไปเริ่มทำอะไรก่อนที่สำนักงานของตัวเอง ผมก็แนะนำว่าให้ลองไปเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่ได้รับให้คณะที่ไม่ได้มาได้รับรู้รับทราบ เอาบันทึกความรู้ ภาพถ่าย เอกสารที่แจก ไปทบทวนตั้งวงเรียนรู้ และเอาร่างแผนงานการทำ KM -LO ที่ร่างในระหว่างอบรมนี้ไปคุยกันต่อที่ทำงานดู เริ่มได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอฤกษ์ใดๆ พร้อมๆกับหาทีมงานคนคอเดียวกันสะสมไว้เรื่อยๆ ค่อยๆขยายจำนวนไปเรื่อยๆเหมือนกับการคนขนมโค(ขนมพื้นเมืองปักษ์ใต้) คนไปบนถาดที่รองด้วยมะพร้าวขูด ก้อนแป้งข้าวเหนียวกลมๆที่ต้มแล้วซึ่งเหนียวๆก็จะพอกด้วยมะพร้าวขูดหนาขึ้นเรื่อยๆ ให้เพิ่มจำนวนคนคอเดียวกันให้มากขึ้น อย่างตอนนี้ผมไปไหนผมจะพาคนคอเดียวกันไปด้วยเป็นทีม

ครูเกษมเมืองคอน และครูราญเมืองคอน กรอกประวัติวิทยากร

ครูเกษม รศ.ดร.อรจรีย์ ผศ.ดร.ประศักดิ์ ครูนง และครูราญ

ผู้เข้ารับการอบรม ถ่ายจากบนเวที

ฝึกทำแผน KM-LO ในกลุ่มย่อย

วิทยากร ผู้เข้ารับการอบรม ถ่ายรูปร่วมกัน
  • นับว่างานนี้ผมได้เครือข่าย ได้คนคอเดียวกันอีกหลายคน โดยเฉพาะกับแขวงการทางนครศรีธรรมราชที่เราจับมือกันเรียนรู้การทำงานแบบ KM เพื่อนช่วยเพื่อนกันครับ ผมต้องขอขอบคุณแขวงการทางนครศรีธรรมราช โดยพี่โสภา (ขออภัยจำนามสกุลไม่ได้) ที่บริการรถรับส่งถึงบ้านและดูแลเป็นอย่างดี
หมายเลขบันทึก: 47886เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อ.จำนง

          บันทึกนี้ผมได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเลยครับ  ขอบคุณที่เก็บประเด็นที่มีประโยชน์มาฝาก  ผมชอบกินขนมโคครับ

     อ่านแล้วได้สาระดี ๆ จริง ๆ ครับ ตามมาดักไซ ไปแล้วครับ ได้ตัวเติบล่าววันนี้

  • อ่านบันทึกครูนงแล้วช่วยเปิดกะลาให้ผมได้เยอะเลยครับ
  • คำถามที่ฮิตเวลา ไปเล่าประสบการณ์ KM คือ กลับไปแล้วจะเริ่มอย่างไร
  • ฤกษ์ยามไม่สำคัญอย่างที่ครูนงเล่าครับ สิ่งสำคัญต้องทำเป็นทีม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท