ชีวิตที่พอเพียง : 102-2. เรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น


ศาสตร์และศิลป์แห่งความสุขในชีวิตที่สูงส่ง

ชีวิตที่พอเพียง  : 102-2. เรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

        เช้าวันเสาร์ที่ ๒ กย. ๔๙ ผมวิ่งออกกำลังเสร็จก็ออกมานั่งผึ่งลมให้เหงื่อแห้ง     ก่อนจะไปอาบน้ำแต่งตัวออกไปร่วมเวที ลปรร. R2R ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น     ฟังเสียงนกเขาคูด้วยความสดชื่น     และหยิบหนังสือ "รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น  ประจำปี ๒๕๔๙" มาพิจารณา     ถามตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรจากการที่ผมได้รับพรให้เข้ามาคลุกคลีอยู่กับกิจกรรมเพื่อส่วนรวม     ที่เป็นกิจกรรมอาสาสมัคร (ที่ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ เรียกว่ากิจกรรมปอเต๊กตึ๊ง) นี้

         แค่มองเห็นคุณค่าต่อสังคม ต่อบ้านเมือง ที่เข้าไปร่วมทำงานแบบนี้ จิตใจเราก็มีความสุขแล้ว      ผมจึงตอบตัวเองว่าผมได้เรียนรู้วิธีหาความสุขใส่ตัวจากการทำงานให้แก่สังคม โดยเราไม่หวังผลอะไรแก่ตนเอง      ผมคิดว่านี่เป็นศาสตร์และศิลป์แห่งความสุขในชีวิตที่สูงส่ง      ผมแปลกใจและเห็นใจคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้     กลับมองตรงกันข้าม     ว่าความสุขเกิดจากการเอาจากสังคม การสั่งสมเข้ามาเป็นของตน  การเพิ่มพูน "ตัวกู ของกู"     ผมคิดว่าผมได้ปฏิบัติธรรมจากการทำงานอาสาสมัครชิ้นนี้

        คนที่เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อคัดเลือกและยกย่องนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เข้ามาทำงานเพื่อสังคม เพื่อบ้านเมืองจริงๆ      ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง     ผมจึงได้เรียนรู้ความดีโดยการซึมซับจากท่านเหล่านี้     เริ่มจาก ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้ล่วงลับ     ดร. กอปร กฤตยากีรณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ท่านปัจจุบัน     ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์    ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์     ศ. ดร. อภิชาต สุขสำราญ  ฯลฯ      การเรียนรู้โดยการดูดซับความดี ดูดซับวัตรปฏิบัติที่ดี นี้เป็นการเรียนรู้ขั้นสูงมากนะครับ      ใครมีทักษะนี้ หรือฝึกฝนทักษะนี้จนได้วิทยายุทธแก่กล้า ก็จะมีชีวิตอันอุดมได้โดยไม่ยาก     และจะเป็นคนร่ำรวยมาก เป็นเศรษฐี โดยที่อาจไม่ค่อยมีเงิน (แบบผม)     คือเป็นเศรษฐีความดีและความสุข

       เอ๊ะ!  ไปๆ มาๆ ผมคิดว่าทุกย่างก้าวในชีวิตเป็นการปฏิบัติธรรมไปแล้วหรือนี่    

       ที่จริงผมคิดเรื่องนี้ คิดแบบนี้ไม่เป็นนะครับ     แต่พอมาคิดทบทวนตีความชีวิต ตีความกิจกรรมของตัวเอง ก็ได้ "ความรู้ฝังลึก" ออกมาอย่างนี้แหละครับ     แต่ก็ไม่รับรองว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง     และไม่แน่ใจว่าผมเขียนผ่านแว่นของการยกหางชูหัวตัวเองหรือไม่  

        เขียนมาถึงตอนนี้ผมก็คิดว่า แค่มีใจสบายๆ นั่งทบทวนตัวเองผ่านกิจกรรม รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ผมก็มีเรื่องให้บันทึกได้หลายตอนทีเดียว      ผมจะฝึกตัวเองให้เขียนบันทึก "ความรู้ฝังลึก" จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองออกมาในลักษณะที่ "เขียนจากการตีความ" ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป    

วิจารณ์ พานิช
๒ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47881เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบพระคุณมากครับ

  •  ผมว่า ทักษะการเรียนรู้โดยการดูดซับความดี ดูดซับวัตรปฏิบัติที่ดีนั้น ไม่ต้องฝึกเพราะคงฝึกได้ยากครับ
  • ทักษะนี้น่าจะเกิดได้จากเหตุใหญ่ 2 ประการ
         1. การมีความเห็นถูกต้องเรื่องชีวิตถึงระดับ โลกุตรธรรม และมีศรัทธาในความดีที่บริสุทธิ์
         2. การมีมหากัลยาณมิตร คือท่านที่เปี่ยมด้วยความดีอันบริสุทธิ์ เหล่านั้นเป็นแบบอย่างให้ได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิด

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์หมอครับ

ผมจะได้จดจำไว้เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน และเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน

ความสุข มีได้ทุกที่ จริงๆด้วยนะคะ
  • kead เคยมีโอกาสได้รับประทานอาหารร่วมกับอาจารย์หมอครั้งหนึ่งที่แพ พิษณุโลกพร้อมกับ อ.ถาวร พงษ์พานิชและดร.ภานุวัฒน์ ยังประทับใจทุกอริยาบทของอาจารย์ไม่รู้หาย ยิ่งได้อ่านบทความต่างๆด้วยแล้วยิ่งรับรู้ได้ว่าแค่มีใจสบายๆ นั่งทบทวนตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้มีความสุข สงบแล้ว 
  • และทำให้คิดถึงประโยคอยู่ประโยคหนึ่งว่าคงจะจริงถ้าเรารู้ "จนพอดี....เศรษฐีพอเพียง" ประเทศของพวกเราคงไม่วุ่นวายเหมือนปัจจุบันนี้

เช้าวันนี้อากาศที่สุรินทร์ สดใส ลมต้นหนาวเริ่มพัดโบกมา สัมผัสได้ซึ่งความสดชื่น กอปรได้อ่านบันทึกของอาจารย์หมอเหมือนได้เพิ่มวิตามินเป็นทวีคูณ ชอบใจเรื่องเศรษฐีความดีความสุข เพราะจะขัดใจมากที่เวลาทำบุญแล้วคนชอบอวยพรขอให้รวย ๆ ๆๆ ต่อไปจะเลิกขัดใจ(ให้ขุ่น) แล้วจะคิดว่า "ขอให้ข้าฯรวยความสุข ความดี"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท