AI & LOKM ชื่อนั้นสำคัญไฉน เมื่อรายการ เกมแฟนพันธุ์แท้ /เวทีวาที คืนชีพที่ รถไฟฟ้า BTS


พวกเราไม่รู้หรอกว่าเรากำลังทำ AI/LOKM กันอยู่ รู้แต่ว่าทำแล้วรู้สึกดี สนุก ได้ประโยชน์ บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้

 

 

ผมเคยมีความฝันว่าเราน่าจะจัดวิธีการเรียนรู้ด้วยการใช้เกมตอบปัญหาแบบแฟนพันธุ์แท้บ้างก็น่าจะดี แต่ก็ไม่มีโอกาสซักทีจนกระทั่งทีมงานของผมคนหนึ่งได้จุดประกายความคิดนี้อีกครั้ง ทำให้ฝันของเราเป็นจริง ทีมงานผมคนนี้เปรียบเหมือน Creative/Producerระดับมือพระกาฬทางด้านการจัดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เลยทีเดียว เคยมีผลงานจุดประกายเริ่มต้นกับการจัดการเรียนรู้ใน Concept “HAS” มาแล้ว (รายละเอียดอ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462299 ปฐมบทของเรื่องมาจากครูธรรศ ทีมวิทยากรในสังกัดของผม มาปรึกษาผมว่า Refresher Training ประจำปีของส่วนปฏิบัติการเดินรถในครั้งต่อไปของปีนี้น่าจะใช้กิจกรรมเกมตอบคำถามชิงรางวัลและการโต้วาทีดีมั้ย ผมก็ยินดีเลยครับ (กำลังอยากได้อยู่พอดี) เราก็ไปปรึกษาครูเศก (http://www.oknation.net/blog/sekyicy/) ปรมาจารย์ทางด้านการจัดกิจกรรม Softskill ของ BTS ดู ซึ่งก็ตั้งธงไว้ในใจแล้วว่าจะให้ครูเศกเป็นพิธีกรหลักสำหรับงานนี้ด้วย ตอนแรกผมก็ไม่อยากจะให้เป็นการโต้วาทีแต่อยากจะให้ใช้วิธีการแบบยอวาทีมากกว่าเพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งกัน แต่พอได้รับฟังความคิดเห็นของทีมแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยกับการโต้วาทีเพราะอย่างน้อยแต่ละคนต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ หลากหลายมาคุยกัน ความสนุกมันจะอยู่ที่การนำข้อมูลมารุก (เสนอ) และรับ (แก้ต่าง) กัน และเมื่อนำแนวคิดนี้ไปปรึกษาผู้บริหารและต้นสังกัดเราก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะจัดกิจกรรมนี้ให้สำหรับพนักงานในแผนควบคุมการเดินรถไฟฟ้า (Central Control Room) และแผนกควบคุมรถไฟฟ้า (Train CrewSection) กันโดยแบ่งการทำกิจกรรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 1 วัน แต่ละรุ่นแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมคละแผนกออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 4-5 คน แต่ละวันจะประกอบไปด้วยกิจกรรมเกมตอบคำถามชิงรางวัล (แฟนพันธุ์แท้) ในช่วงเช้า และกิจกรรมโต้วาทีในช่วงบ่าย

 

 

 

การทำกิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยทีมงานหลายทีมช่วยกันเตรียมทั้งข้อมูล สื่อ อุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งทุกคนก็ร่วมมือเต็มใจทำทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง รวมทั้งเด็กฝึกงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมคำถาม สื่อ Power Point การทำ Jigsaw ต่อภาพ การจัดหาเตรียมของรางวัล การจัดทำ Certificate การเตรียมอาหารกลางวัน เนื่องจากงบประมาณที่ได้ไม่ครอบคลุมอาหารกลางวัน เพราะติดเรื่องระเบียบของบริษัท แต่พวกเราก็ไม่หวั่น ช่วยกันลงขันคนละไม่เท่าไหร่ คิดว่าน่าจะได้มากกว่าเสีย เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พบปะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ พูดคุยกันเตรียมเรื่องราวเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการโต้วาทีในช่วงบ่าย และที่สำคัญเราสามารถควบคุมเวลาการทำกิจกรรมได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการรวบรวมผู้คนเพื่อเริ่มกิจกรรม เพราะถ้าออกไปรับประทานอาหารกันเองข้างนอกเราก็จะ ไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหนจะกลับเมื่อไหร่

 

 

และแล้ววันงานก็มาถึง เมื่อวานนี้ (วันที่ 6 ก.พ. 55) เป็นการทำกิจกรรมสำหรับรุ่นแรก เริ่มต้นงานตั้งแต่เวลา 9.00 น. ด้วยการเปิดการอบรมโดยพิธีกรสาวจากทีมของครูเศก (ครูจุ๋ม) เชิญผู้บริหารจากต้นสังกัดมาเปิดงานอย่างเป็นทางการ จากนั้นครูเศกก็เริ่มทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการแฟนธ์แท้ ซึ่งผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้ช่วยพิธีกรด้วย เริ่มต้นด้วยเกม Jigsaw  16 ช่องในภาพที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ สถานที่การทำงานในระบบ ระหว่างที่ดำเนินรายการ ผมกับครูเศกจะพยายามให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้คิดวิเคราะห์ หาความเป็นไปได้ ความเชื่อมโยง ซึ่งผลที่ออกมาทำให้เราพอใจพอสมควร พนักงานสามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว แม้เปิดไปแค่ 2-3 ช่องเท่านั้นเอง หลังจากที่ตอบคำถามได้ถูกต้องแล้วเราก็ได้พยายามให้ผู้ตอบคำถามอธิบายถึงภาพที่ตอบด้วยคำถาม 5W2 H ให้เพื่อนร่วมห้องได้ร่วมเรียนรู้กันด้วน เช่น ภาพนี้มันคืออะไร อยู่ที่ไหน ใครต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพนี้ ต้องใช้งานอย่างไร เมื่อไหร่ ทำกี่ครั้ง ด้วยระดับ/ปริมาณเท่าไหร่ เป็นต้น กิจกรรมนี้จบลงด้วยที่เวลา 10 โมงกว่าๆ กิจกรรมที่สอง เริ่มต้นที่เวลาประมาณ สิบโมงครึ่ง เป็นเกมตอบคำถามที่เราได้เตรียมไว้ การตอบคำถามเราพยายามให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเชื่อมโยงอธิบายองค์ความรู้ออกมาให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ตอบคำถามได้แล้ว เราก็จะเฉลยให้กระจ่างที่สุดเพื่อไม่ให้มีข้อกังขา โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจน เช่น ข้อกำหนด Procedure/WI Website หรือบางครั้งเราก็ต้องอธิบายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น กิจกรรมนี้จบลงประมาณเกือบเที่ยง เหลือเวลาให้ครูเศกนัดแนะเตรียมการทำกิจกรรมสำหรับช่วงบ่ายอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะไปพักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเราก็เตรียม ข้าวสวย ขนมจีน แกงเขียวหวานไก่ ไข่ต้มไว้รอตามอัตภาพ

 

 

กิจกรรมโต้วาทีในช่วงบ่าย ครูเศกยังเป็นพิธีกรหลัก โดยมีครูจุ๋มเป็นพิธีกรร่วม การจับคู่โต้วาทีเราจัดโต๊ะให้ประจันหน้ากันทีละ 2กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน แต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็นฝ่ายเสนอกับฝ่ายค้าน โดยให้พูดคนละ 3 นาที คนสุดท้ายของแต่ละกลุ่มเป็นคนสรุปให้พูดแค่ 1 นาที การควบคุมเวลาของกิจกรรมนี้ทำได้ง่ายและสะดวก โดยก่อนหมดเวลา ประมาณ1 นาทีจะเคาะแก้วเบาๆ เตือนก่อน จนกระทั่งหมดเวลา เราก็จะเป่านกหวีดไล่ลงเวทีทันที พูดจบหรือไม่จบก็ต้องลง หัวข้อในวันนั้นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบทั่วๆไป เช่น ขับรถ Siemens (German) ง่ายกว่า รถ CNR(จีน), มีที่กั้นชานชาลาดีกว่าไม่มีที่กั้น,กะดึกสบายกว่ากะเช้า เป็นต้น หลังจากที่จบการโต้วาทีในแต่ละคู่แล้ว ครูเศกยังได้ให้ผู้เข้าชม ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าวด้วย ลักษณะคล้ายๆ เวทีชาวบ้าน ผมคิดว่าการทำกิจกรรมลักษณะนี้เป็นการจุดประกายเชื่อมโยงความรู้ได้เป็นอย่างดี

 

 

หลังจากจบกิจกรรมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย รายการปิดท้ายคือการมอบรางวัล รางวัลที่มอบก็ไม่มีราคาค่างวดอะไรมากมาย แต่เป็นอะไรที่แสดงคุณค่าทางความทรงจำในความภูมิใจและความสนุกสนานร่วมกัน เหรียญทองที่เห็นในภาพทำจากช็อคโกแลตที่ได้จาก 7-11โดยรางวัลที่มอบเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือทีมชนะเสิศ สำหรับผู้ตอบปัญหาแฟนพันธุ์แท้ที่ได้คะแนนสูงสุด และรางวัลชนะเสิศโต้วาาที ซึ่งรางวัลชนะเลิศโต้วาทีนี้เราพิจารณาจากการโหวตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดที่พูดได้อย่างประทับใจ โดยเรียกชื่อรางวัลนี้ว่า “ขวัญใจช่างพูด” หลังจากนั้นก็ทำพิธีปิดโดยผู้บริหารจากต้นสังกัดกล่าวสรุป ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกตามประเพณี

 

 

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนหัวเรื่อง AI & LOKMชื่อนั้นสำคัญไฉน ตอนที่เราจัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นผมคิดว่าเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็น AI หรือ LOKM พอทำออกมาแล้ว ผมก็พบว่านี่เรากำลังทำทั้งสองอย่างที่ว่าเลยนะเนี่ย และก็แยกไม่ออกว่ามันเป็น AI หรือ LOKM เพราะมันผสมปนเปกันไปจนเป็นรูปแบบเฉพาะตัว โดยเฉพาะทีมงานที่ร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมนี้ออกมา พวกเราไม่รู้หรอกว่าเรากำลังทำ AI/LOKM กันอยู่ รู้แต่ว่าทำแล้วรู้สึกดี สนุก ได้ประโยชน์ บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ และยิ่งได้มาดูบันทึกของอาจารย์วิจารณ์  พานิช ที่ได้เขียนเรื่อง “AI : คู่แฝดของ KM (และ LO)” (http://www.gotoknow.org/blog/thaikm/29351) ก็ยิ่งทำให้ผมตอกย้ำความเข้าใจและมั่นใจยิ่งขึ้นในแนวทางนี้

 

หมายเลขบันทึก: 477891เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท