AI : คู่แฝดของ KM (และ LO) ตอนที่ 1


เป็นเครื่องมือพัฒนาองค์การโดยการ "ขยายบวก" หรือแนวทาง AI ดำเนินการโดยการเสาะหาส่วนที่ดีที่สุดที่มีอยู่ เอามาช่วยกันคิดว่าจะสามารถบรรลุอะไรได้ และร่วมกันทำสุนทรียสนทนา "สร้างฝัน" แนวทางนี้มององค์กรเป็นสิ่งลี้ลับที่จะต้องเข้าไปสร้างสรรค์

         AI ย่อมาจาก Appreciative Inquiry  เป็นทักษะสำคัญในการทำ KM   แต่เราอาจมอง AI ให้ใหญ่กว่านั้นได้   มองว่า AI โดยตัวของมันเองเป็นศาสตร์และศิลป์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง   โดยที่นัก OD (Organization Development) ก็มองว่า AI เป็นเครื่องมือสำหรับ OD   หรือเป็นเครื่องมือสำหรับทำ change management แนวใหม่ที่เน้นวิธีการเชิงบวก

          - AI เป็นกระบวนการค้นหาส่วนที่ดีที่สุดในคน,  องค์กร,  สังคมและเปิดช่องให้ส่วนที่ดีเหล่านั้นออกมาแสดงพลัง - พลังเชิงบวก
          - AI เป็นศิลปะและวิธีปฏิบัติในการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นพลังด้านบวก
          - AI เป็นการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน   ด้วยแนวคิดและวิธีปฏิบัติเชิงบวก  เชิงชื่นชมยินดี
          - ทักษะ AI ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการตั้งคำถาม   แต่ยังรวมไปถึงการสร้างบรรยากาศ   การสร้างความสัมพันธ์   การเล่าเรื่อง  การจัดทำ "ขุมความรู้" แบบเอาความสำเร็จมาบันทึก
          - AI : ดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอนในวงจร 4D
       : อาศัยหลักการอย่างน้อย 5 หลักการ
       : ไม่เน้นการ "แก้ลบ"  แต่เน้น "ขยายบวก"


วงจร 4D
         โปรดดู PowerPoint ที่นี่ (click)  ดูที่สไลด์ที่ 5
         ปฏิบัติการ AI ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหรือ 4D รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว   คือเวลาปฏิบัติจะทำไปพร้อม ๆ กัน  ไม่แยกว่า D ไหนหรือแยกไม่ออกว่า D ไหน   โดยที่ทั้ง 4D ดำเนินการพุ่งไปที่เป้าหมายที่ทรงคุณค่าที่ได้ร่วมกำหนดและร่วมกันกำหนดแล้วกำหนดอีกจนลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของสมาชิกของหน่วยงาน/องค์กรทุกคน

         Discovery  คือการค้นหาความดี  ความสำเร็จที่น่าชื่นชม   ทั้งที่เป็นตัวผลงาน  กิจกรรม  บุคคล  สำหรับการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่าที่กำหนด   การค้นหานี้จะค้นแล้วค้นอีกและค้นหาในลักษณะจ้องรอคอยการผุดบังเกิด (emergence)
         Dream  ร่วมกันฝันให้เป็นฝันที่ยิ่งใหญ่  ที่ไกล  ที่เหลือเชื่อ   เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่าที่กำหนด   ความฝันและเป้าหมายที่ทรงคุณค่าจะทำให้เกิดความมุ่งมั่น  ความเพียรพยายาม  มานะอดทน  เกิดจิตสำนึก  จิตใต้สำนึกและจิตเหนือสำนึก   ในการบากบั่นสู่เป้าหมายที่ทรงคุณค่า   ผมมองว่านี่คือวิธีเปิดประตูให้พลังปัญญาญาณ (intuition) ออกมาแสดงพลัง
         Design  นำสิ่งที่ดี/ผลดีในอดีตมาออกแบบกิจกรรมและสร้างสรรค์ต่อ   คำว่า "ออกแบบ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการออกแบบอย่างการออกแบบบ้านที่มีพิมพ์เขียวตายตัว   แต่เป็นการ "ออกแบบอย่างไม่ออกแบบ"   แต่เป็นการประกอบชิ้นส่วนความดี  ความสำเร็จที่สั่งสมขึ้นจนประกอบกันเป็นรูปร่างตามเป้าหมายและความฝัน
         Destiny  มีการดำเนินการเป็นวิถีชีวิตตามสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น ๆ   สิ่งที่ใช้ในการดำเนินการได้แก่  Continuous Learning (เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง),  Adjustment (มีการปรับปรุง  ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา), Improvisation (ด้นกลอนสด  ใช้สามัญสำนึกตามสถานการณ์ในขณะนั้น), Action Planning (ไม่ใช่วางแผนในกระดาษ  แต่วางแผนปฏิบัติ  วางแผนเพื่อการปฏิบัติและวางแผนโดยการปฏิบัติ), Implementation Strategies (ยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินการหรือการลงมือทำ  ไม่ใช่เขียนยุทธศาสตร์ให้คนอื่นทำ),  Sustainability (สร้างความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน)

         ผมมองว่าชื่อในวงจร 4D อาจต้องการเล่นตัวอักษรมากไปหน่อย   ความหมายของ Design คือการต่อชิ้นส่วน Jigsaw เข้าไปภาพใหญ่ที่เป็นความฝันและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่   ส่วน Destiny น่าจะหมายถึง Action


5 หลักการ
1. Constructionist  นักสร้าง   ชื่นชมความเป็นนักสร้าง   สร้างสรรค์วิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เมื่อประกอบชิ้นส่วนกันขึ้นแล้วก็สามารถบรรลุภาพฝันอันยิ่งใหญ่ได้
2. Simultaneity พร้อม ๆ กันเป็นธรรมชาติ   ชื่นชมการสร้างสรรค์ที่เป็นธรรมชาติ   ที่เกิดขึ้นแบบ "ด้นกลอนสด"  เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลากหลายจุดหลายประเด็น   มองให้เห็นความงดงามของสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันมากมาย
3. Poetic  มีการตีความ/ผลิตซ้ำ   ชื่นชมการตีความ "ต้นเรื่อง" ซึ่งเปรียบเสมือนเพลงที่แต่งขึ้นแล้วนักร้องหรือวงดนตรีเอาไปตีความร้องหรือเล่นได้หลากหลายแบบหลากหลายรสนิยม
4. Anticipatory  ภาพอนาคตกำหนดพฤติกรรมปัจจุบัน   ซึ่งหมายความว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่เป็นการดำเนินการแบบคาดหวังภาพฝันอันยิ่งใหญ่   มีความเชื่อว่าเมื่อมีความฝันสู่เป้าหมายที่ลึกในระดับจิตวิญญาณ  การกระทำ  การตัดสินใจของคน/กลุ่มคนจะโน้มเอียงไปสู่เป้าหมายนั้นโดยไม่รู้ตัว
5. Positive พลังเชิงบวก  ได้แก่  hope (ความหวัง),  excitement (ความตื่นเต้น),  inspiration (แรงบันดาลใจ,  caring (มุทิตา เอื้ออาทร),  comraderie (กัลยาณมิตร),  sense of urgent purpose (ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน) และการบรรลุปิติสุขจากความสำเร็จร่วมกัน

การ "แก้ลบ" กับการ "ขยายบวก"
         โปรดดู PowerPoint สไลด์สุดท้าย
         การพัฒนาองค์การโดยการ "แก้ลบ" (Problem Solving) ดำเนินการตามแนวทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  ซึ่งเป็นแนวทางที่เราคุ้นเคย  แนวทางนี้มององค์กรว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข
ในทางตรงกันข้าม   การพัฒนาองค์การโดยการ "ขยายบวก" หรือแนวทาง AI ดำเนินการโดยการเสาะหาส่วนที่ดีที่สุดที่มีอยู่   เอามาช่วยกันคิดว่าจะสามารถบรรลุอะไรได้   และร่วมกันทำสุนทรียสนทนา "สร้างฝัน"      แนวทางนี้มององค์กรเป็นสิ่งลี้ลับที่จะต้องเข้าไปสร้างสรรค์

         Ref. ดูได้ที่นี่ (click)

วิจารณ์  พานิช

 17 พ.ค.49

 

หมายเลขบันทึก: 29351เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  •  ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ
  • ได้รับประโยชน์อย่างเต็มอิ่มจากบันทึกนี้ครับ ทั้งตัวบันทึกเองและ สื่อ PPT. ที่ท่าน Link ให้ Download
  • ขออนุญาต นำ Link ของบันทึกนี้ ไปเผยแพร่ในทุกที่ ที่เห็นว่าควรทำครับ

ขอบคุณที่ให้ความกระจ่าง AI ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท