GotoKnow

การบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอบ้านตาก

Dr. Phichet Banyati
เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2549 12:59 น. ()
แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2555 10:10 น. ()
ถ้าเมืองหน้าด่าน(สถานีอนามัย)ไม่เข้มแข็งเมืองหลวง(โรงพยาบาล)ก็อยู่ไม่ได้

การบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอบ้านตาก
(Bantak CUP Management)
1.       บริบทของพื้นที่ อำเภอบ้านตากเป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดตาก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันอออกของจังหวัด มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 50,110 คน ประกอบด้วย 7 ตำบล 74 หมู่บ้าน มีสถานีอนามัย 15 แห่ง เป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ 3 แห่งที่จัดเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีแพทย์ออกไปร่วมให้บริการ มีโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงเป็นทุติยภูมิระดับ 1 จำนวน 1 แห่ง คลินิกแพทย์เอกชน 4 แห่ง ร้านขายยาเภสัชกร 2 แห่ง มีองค์การบริหารส่วนตำบล 6 แห่ง และเทศบาลตำบล 2 แห่ง มีประชาชนขึ้นทะเบียนบัตรทอง 40,000 คน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 160 คนและของสถานีอนามัย 55 คน ประชาชนเป็นคนไทยพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ มีชาวเขาประมาณ 1,000 คน อาชีพเกษตรกรและรับจ้าง ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
2.       แนวคิด ในการบริหารจัดการเครือข่ายใช้แนวคิดหลัก 9 ประการ เรียกว่าการจัดการสร้างเสริมสุขภาพโดยรวม (Total Healthy Management) เพื่อนำไปสู่Health for All, All for Health เพื่อจะนำไปสู่ Healthy Thailand ดังนี้
2.1    มุ่งเน้นสุขภาวะ(Focus on Health) โดยเน้นการทำงานเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ครบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเชาว์ปัญญา
2.2    นำพาด้วยกลยุทธ์(Strategic driven) เน้นการทำเชิงยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เกิดเป้าหมายร่วมกันของทีมงานและขับเคลื่อนไปทั้งระบบ ไม่เน้นการทำเป็นโครงการๆไป
2.3    ฉุดด้วยการเสริมพลัง(Empowerment) เน้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่แต่ละส่วนเกี่ยวข้อง

2.4    มุ่งหวังชุมชนและประชาชน(Community & Citizen focus) มองกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั้งอำเภอทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มป่วย กลุ่มเสี่ยงและพิการด้อยโอกาส
2.5    เปี่ยมล้นการจัดการกระบวนการ(Process management) เน้นการจัดกระบวนการให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ผสมผสานและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
2.6    สร้างสรรค์นวัตกรรม(Creativity & Innovation) เน้นการคิดรูปแบบกิจกรรมใหม่ๆในการแก้ปัญหาเดิมและปัญหาสุขภาพใหม่ๆที่เกิดขึ้น

2.7    ทำด้วยทีมที่มุ่งมั่น(Commitment) มีการทำงานเป็นทีมทั้งทีมในโรงพยาบาล ทีมในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทีมในสถานีอนามัย ทีมใน คปสอ. รวมทั้งเป็นทีมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเช่นท้องถิ่นหรือส่วนภูมิภาคอื่นๆนอกกระทรวงสาธารณสุข

2.8    สานฝันอย่างมีส่วนร่วม(Participation) เน้นการมีส่วนร่วมในการคิด การวางแผนการปฏิบัติและการประเมินผลในส่งที่ทำและร่วมกันทำ
2.9    รวมพลังอย่างยั่งยืน(Sustainability) มีการทำอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ไม่ทำแบบหวือหวาแต่ทำแบบธรรมดาไปเรื่อยๆพร้อมกับมีการเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

3.       รูปแบบ มีการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอบ้านตาก(คปสอ.บ้านตาก) เป็นผู้บริหารงานในทุกเรื่องทั้งเรื่องเครือข่ายบริการและเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีกรรมการจากโรงพยาบาล 8 คน จากสถานีอนามัยและจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 10 คน และจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 4 คน มีการประชุมร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง มีการกำหนดวาระการประชุมที่แน่นอน มีการนิเทศงานสถานีอนามัยปีละ 2 ครั้ง ร่วมกับการประเมินคุณภาพและการประเมินกิจกรรม 5 ส ของ ทุกสถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาล คปสอ.บ้านตากมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอบ้านตากเป็นรองประธาน
การขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพ สามารถขึ้นทะเบียนได้ที่งานประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลบ้านตากหรือที่สถานีอนามัยแต่ละแห่งขึ้นทะเบียนส่งรายชื่อมา โรงพยาบาลจะเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูล ออกบัตรและการติดตามการขึ้นทะเบียน
การจัดระบบบริการ มีบริการตามปกติในโรงพยาบาล สถานีอนามัยและจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน 3 แห่งที่เป็นการทำงานร่วมกันของโรงพยาบาลและสถานีอนามัย โดยทีมงานจากโรงพยาบาลจะมีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกรเข้าไปร่วมกิจกรรม ในส่วนของสถานีอนามัยได้จัดให้มีพยาบาลวิชาชีพและทันตาภิบาลอยู่ประจำทั้ง 3 แห่ง สามารถส่งตัวผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลบ้านตากหรือโรงพยาบาลทั่วไปได้โดยแพทย์ และเน้นกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีการทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์

การจัดสรรงบประมาณ เมื่อปี 2546-2547 จัดสรรตามรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ของสถานีอนามัยแล้วส่งยอดเงินให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอปรับยอดเงินตามความเหมาะสมและความอยู่รอดก่อนจัดสรรจริง ไม่เน้นการนำเอาจำนวนยอดผู้ป่วยมาจัดสรรเงินเพื่อจะได้จูงใจให้สร้างเสริมสุขภาพ ในปี 2548-2549 ได้สสจ.ตากมีการจัดสรรเงินเป็นค่าเหมาจ่ายให้แต่ละสถานีอนามัยและแยกงบส่งเสริมส่งตรงสถานีอนามัย ทางโรงพยาบาลบ้านตากจะสนับสนุนงบในส่วนของสถานีอนามัยที่มีปัญหาเงินไม่พอใช้เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการไปได้

การรับเรื่องราวร้องทุกข์ มีการจัดระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยมีศูนย์อยู่ที่งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลบ้านตาก มีการจัดตู้รับฟังความคิดเห็นในทุกสถานีอนามัยและติดตามทุกเดือนในที่ประชุม

การนิเทศติดตามงาน ติดตามผลงานและกิจกรรมในที่ประชุม คปสอ.ทุกเดือน และมีทีมออกนิเทศงานปีละ 2 ครั้ง
การพัฒนาคุณภาพบริการ มีผู้รับผิดชอบงานพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเป็นแม่งาน โดยการสนับสนุนจากทีมพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลบ้านตาก มีการพัฒนาสถานีอนามัยทุกแห่งด้วยกิจกรรมHealthy workplace (ตอนนี้ได้ระดับทอง 12 แห่ง ระดับเงิน 2 แห่ง ไม่พร้อมประเมินเพราะสร้างสอ.ใหม่ 1 แห่ง) มีการประเมินมาตรฐานPCU มีการประเมินกิจกรรม 5 ส ทุกแห่ง
การสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ ให้โรงพยาบาลเป็นคลังเวชภัณฑ์ของทั้งอำเภอ ให้สถานีอนามัยมาเบิกได้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย แต่มีการเก็บข้อมูลไว้เพื่อติดตามการเบิกจ่ายเทียบกับปริมาณผลงานเพื่อควบคุมมิให้มีการรั่วไหลและเกิดประสิทธิภาพ

การจัดสรรอัตรากำลัง มีการวางแผนร่วมกันในเรื่องอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ การจัดพยาบาลวิชาชีพลงในสถานีอนามัย
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลด้านต่างๆรวมทั้งข้อมูลด้านระบาดวิทยาที่ต้องนำเสนอในที่ประชุมทุกเดือน

4.       บทเรียนการบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิ
4.1    สถานีอนามัยต้องอยู่ได้แม้โรงพยาบาลจะเป็นหนี้ก็ตาม เพราะสถานีอนามัยมีศักยภาพในการหาเงินเองได้น้อยและเป็นด่านหน้าสำคัญในการส่งเสริมป้องกันโรค ช่วยให้คนเจ็บป่วยน้อยลง ถ้าเมืองหน้าด่าน(สถานีอนามัย)ไม่เข้มแข็งเมืองหลวง(โรงพยาบาล)ก็อยู่ไม่ได้

4.2    สถานีอนามัยต้องมียาใช้ ไม่ขาดยา จะอ้างกับชาวบ้านว่ายาไม่มีหรือไม่มียาให้เบิกยาไม่ได้
4.3    ทำงานด้วยกันต้องให้ใจ จึงจะได้ใจ แล้วก็สร้างทีม สร้างความไว้ใจแล้วจึงสร้างเครือข่ายขึ้นมาได้
4.4    เน้นให้มีการทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกัน ขยันทบทวน
4.5    โรงพยาบาลต้องออกหน้าด้วยคือทำให้ดูหรือเป็นผู้นำทางด้านส่งเสริมสุขภาพด้วย ไม่ใช่มัวเน้นจะเอาแต่เรื่องรักษาพยาบาล
4.6    ถ้าสถานีอนามัยยังทำไม่ไหวหรือยังไม่เห็นความสำคัญ โรงพยาบาลต้องทำเองก่อน ไม่ควรไปบังคับให้สถานีอนามัยทำแบบไม่เต็มใจเพราะจะไม่ยั่งยืน
4.7    ทีมงานต้องเจอกันสม่ำเสมอเพื่อกระชับความสัมพันธ์กันและติดตามงานได้ง่าย

4.8    ให้เครดิตสาธารณสุขอำเภอด้วย ต้องให้เขาได้มีอำนาจทางการเงินเพื่อดูแลลูกน้อง(สถานีอนามัย)ได้ด้วย จะได้ไม่ปีนเกลียวกัน งานก็จะราบรื่น
4.9    สถานีอนามัยมีพลัง มีแรง ส่วนโรงพยาบาลมีเงิน ถ้าเสริมกันได้ งานจะสำเร็จได้ดี
4.10 สถานีอนามัยโตแล้ว ไม่ใช่เด็กอมมือ ที่โรงพยาบาลจะมาคอยบอกให้เขาทำนั่นทำนี่ ไม่ทำนั่นไม่ทำนี่ ควรให้เขาตัดสินใจเองว่าจะทำกิจกรรมอะไร ไม่ต้องให้เขามาทำโครงการขอเงินเราเป็นครั้งๆ ให้เขาไปเลยจะทำอะไรก็ได้ในยุทธศาสตร์ของอำเภอ แต่เราจะดูผลลัพธ์
4.11 ให้มองภาพรวม สวมไปกับงานประจำ ตั้งเป้าร่วมกัน ตามให้ทันปัญหา จะพาไปสู่จุดหมาย
4.12 คุณภาพไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างทางกายภาพ อาคารสถานที่แต่อยู่ในเนื้องานประจำที่เราทำ


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย