(10 - 13 พ.ค. 49)
ร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานการส่งเสริมคุณธรรมของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
(ศูนย์คุณธรรม) ผู้ร่วมคณะ 35 คน
ประกอบด้วยพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวังโส ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ดร.รุ่ง
แก้วแดง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คุณมัณฑนา ศังขะกฤษณ์
คุณวินัย รอดจ่าย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
และคนอื่นๆจากหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการศึกษาและการพัฒนาคน
จุดที่ไปศึกษาดูงาน
ประกอบด้วย
1. An Duong Primary School กรุงฮานอย
ระดับประถมศึกษา
2. The Humanity Cultural Social Scientific
University กรุงฮานอย เป็นมหาวิทยาลัยระดับประเทศ
3. Baichay Halong School เมืองฮาลอง
ระดับประถมศึกษา
สลับกับศึกษาดูงานที่เป็นเนื้อหาสาระว่าด้วยการศึกษาและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง
ก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสัมผัสกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศและวิถีชีวิตของประชาชนชาวเวียดนามอีกพอสมควร
ได้แก่ การชมเส้นทางจากสนามบินโนยบายเข้ากรุงฮานอย
ย่านชุมชนเก่าแก่ในกรุงฮานอย
บ้านพักและที่ทำงานของท่านประธานโฮจิมินห์เมื่อยังมีชีวิตอยู่
มหาวิทยาลัยวันเหมียวที่มีอายุเกือบ 1,000 ปี สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1070
วัดเสาเดียว พิพิธภัณฑ์ทหาร พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ การแสดงหุ่นกระบอกน้ำ
การชมเส้นทางระหว่างกรุงฮานอยกับเมือง Halong Bay
การชมธรรมชาติทางทะเลของ Halong Bay ซึ่งเป็นมรดกโลก 1 ใน 5
แห่งของเวียดนาม
มีรายการแถมตามคำขอแบบทันทีทันใดของคณะศึกษาดูงาน
คือการเยี่ยมชมชุมชนหมู่บ้านชนบทที่อยู่ข้างเส้นทางระหว่าง
Halong Bay กับฮานอย
รายการนี้ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการล่วงหน้า
จึงพบเห็นสภาพที่เป็นธรรมชาติปกติของชาวหมู่บ้านชนบทเวียดนาม ได้แก่
สภาพบ้านเรือนแบบเรียบง่ายพออยู่ได้
การทำมาหากินที่ทุกคนได้รับการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐานโดยเฉพาะที่ดินอย่างเสมอภาค
หมู่บ้านที่เราแวะเยี่ยมชมคงจะมีรายได้คงเหลือพอสมควรเพราะกำลังสร้างศาลเจ้าใหม่สวยงาม
มูลค่าประมาณ 3 - 4 ล้านบาท
มีวัดแบบเรียบง่ายซึ่งมีบริเวณสำหรับกิจกรรมร่วมกัน เช่น
ลานสำหรับการออกกำลังกาย (ได้เห็นผู้สูงอายุรำพัดประกอบดนตรี)
ลานสำหรับหัดขับรถมอร์เตอร์ไซค์ ที่ประทับใจคณะผู้ศึกษาดูงานมาก
ได้แก่ ความเป็นกันเอง มีน้ำใจ
กระตือรือล้นที่จะต้อนรับขับสู้และอำนวยความสะดวกต่างๆแบบทันทีทันใด
สีหน้าที่แสดงถึงความสุขสงบ และชื่นบาน
รวมทั้งได้พบสนทนากับเด็กนักเรียนหลายคนซึ่งมีความกล้าพูดภาษาอังกฤษแบบไม่กี่คำกับพวกเรา
และแสดงออกอย่างมีชีวิตชีวาโดยไม่มีความขี้อายหรือหวั่นกลัว
สาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาดูงาน สรุปโดยย่อ
คือ
1.
รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในอันดับสูงสุด
จัดสรรงบประมาณให้มากเป็นพิเศษ
มีนโยบายจัดการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมให้ถือปฏิบัติทั้งประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน
2. ครูได้รับการสนับสนุนมากจากรัฐบาล
รวมถึงการจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้ผู้ต้องการมีอาชีพครูโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ให้เงินเดือนครูสูงเป็นอันดับสองรองจากทหารและทัดเทียมกับเงินเดือนแพทย์
ครูได้รับการนับถือและมีสถานะสูงทางสังคม
ครูมีการเรียนรู้และพัฒนาทั้งตามหลักสูตรพิเศษในช่วงปิดเทอมและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประจำสัปดาห์
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้ครูในเวียดนามเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
3.
ครูโดยเฉพาะในชั้นประถมมองตัวเองว่าเป็นทั้งครูและผู้ปกครองคนที่สองของนักเรียน
โรงเรียนจึงเป็นเหมือนบ้านที่สองของนักเรียนไปด้วย
มีความร่วมมือสูงระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและโรงเรียนกับชุมชน
โดยมีคณะกรรมการของชุมชนเป็นกลไกดำเนินการนอกเหนือจากการติดต่อโดยตรงระหว่างครูกับผู้ปกครองรายคน
4. ระบบการศึกษาในเวียดนาพยายามให้บ้านเป็นเสมือนโรงเรียนไปด้วย
เป็นการเรียนจากการปฏิบัติ เช่นในการช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน
และทำกิจกรรมในชุมชน เป็นต้น
ในภาคกลางของเวียดนามมีการกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาทำ
“การบ้าน 5 ข้อ” ทุกวันดังนี้*
(1) วันนี้หนูทำความดีอะไรบ้าง
(2)
วันนี้หนูช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านอะไรบ้าง
(3)
วันนี้ชุมชนของหนูมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง
(4)
ให้รายงานข่าวหนึ่งข่าวเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม
(5)
ให้รายงานข่าวหนึ่งข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โลก
การบ้าน 5 ข้อนี้ ส่งผลให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักคุณธรรมความดี รู้จักจริยธรรม รู้จักชุมชนตนเอง รู้จักครอบครัวตัวเอง รู้จักประเทศตนเอง และรู้จักสังคมโลก
5. การศึกษาในเวียดนามมีเข็มมุ่งอยู่ที่ “อุดมการณ์ 5 ข้อ”
ของประธานโฮจิมินห์ หรือ “ลุงโฮ” ของเด็กๆ
โดยทุกห้องเรียนจะมีเป็นแผ่นป้ายแสดงข้อความของอุดมการณ์ 5 ข้อ
ไว้อย่างเด่นชัดซึ่งได้แก่
(1) รักชาติ รักประชาชน
(2) เรียนดี
ทำงานดี
(3) สามัคคี
มีวินัย
(4)
รักษาอนามัยดี
(5) ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ
นอกจากนั้นยังมีแผ่นป้ายอีกแผ่นหนึ่งที่มีความเด่นชัดเท่าเทียมกัน
แสดงข้อความซึ่งเป็นคำกล่าวของประธานโฮจิมินห์ ว่า
“ประเทศชาติจะสวยงาม ชนชาติเวียดนามจะก้าวหน้า
เคียงบ่าเคียงไหล่กับ 5 ทวีป หรือไม่
ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน”
6. การศึกษาของเวียดนามเน้นการมีคุณธรรมและประพฤติดีเป็นอันดับต้น
แต่ก็มุ่งให้มีวิชาการและความสามารถด้วย
มีการให้รางวัลและสิ่งจูงใจแก่นักเรียนที่ประพฤติดีเรียนดีอย่างเป็นระบบ
เช่นการให้ผ้าผูกคอสีแดง การให้รางวัลระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด
ระดับประเทศ เป็นต้น เป็นการแข่งขันกันทำความดีตลอดเวลา
อย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง
7. มีการให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ครูได้ดีเช่นเดียวกัน
เช่นเป็นครูดีเด่นระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ เป็นต้น
โรงเรียน 2 แห่งที่เราไปเยี่ยมจัดอยู่ในกลุ่มโรงเรียนดีเด่น
มีครูดีเด่นและนักเรียนดีเด่นจำนวนมาก
บทบาทของครูใหญ่ก็มีความสำคัญสูง
เป็นผู้ดูแลให้ครูมีการจัดการเรียนการสอนได้ดี
มีการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงาน
เช่นการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อทบทวนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา
หาทางแก้ไขและป้องกันปัญหารวมทั้งพยายามพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกอยู่เสมอๆ
8. ทั้งครูและนักเรียนเขียนหนังสือแบบคัดบรรจงเป็นหลัก
ทั้งในเอกสารเตรียมการสอนของครู การเขียนบทเรียนบนกระดานหน้าชั้น
การเขียนหนังสือของเด็กในสมุดของทุกวิชา
ทั้งนี้โดยใช้ปากกาหมึกซึมซึ่งช่วยในการเขียนตัวอักษรให้สวยงามเป็นระเบียบ
ระบบนี้น่าจะช่วยสร้างสมนิสัยประณีต เป็นระเบียบ มีวินัย มีสมาธิ
มีสุนทรียภาพ
ที่มีคุณค่าต่อบุคคลและต่อสังคมรวมถึงคุณค่าในการปฏิบัติหน้าที่การงานให้ดี
9.
นักเรียนที่ได้ผ้าผูกคอสีแดงจะได้รับการดูแลเพิ่มเติมจากครูพิเศษเพื่อการนี้
นักเรียนมีการประเมินให้คะแนนกันเองในด้านต่างๆ
และให้ครูนำไปประเมินต่อ ในระดับเยาวชนมีการจัดกิจกรรมเยาวชน เช่น
เป็นกลุ่มอาสาสมัครไปทำความดีในลักษณะต่างๆ ได้แก่ การช่วยชุมชน
ช่วยผู้เดือดร้อน ช่วยดูแลการจราจร ช่วยแนะนำผู้มาสมัครเข้าเรียน
เป็นต้น
10.
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีบทบาทสำคัญมากในการบริหารประเทศรวมถึงในการบริหารการศึกษา
ซี่งถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาชาติด้วยการพัฒนาคนทั้งในด้านคุณธรรมความสามารถ
และการมีสุขภาพแข็งแรง
ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในระดับบริหารจะต้องเป็นสมาชิกพรรคซึ่งจะต้องผ่านเงื่อนไขที่เข้มงวดรวมถึงการมีทั้งความดีและความสามารถ
การเป็นสมาชิกพรรคจึงไม่ใช้เรื่องง่ายแต่ก็เป็นที่พึงปรารถนาของชาวเวียดนามโดยทั่วไปที่ประสงค์จะมีความก้าวหน้าในต่ำแหน่งหน้าที่การงาน
โดยนัยนี้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงเป็นทั้งกลไกการจัดการขนาดใหญ่สำหรับประเทศและสังคมของเวียดนาม
พร้อมๆกับเป็นกลไกส่งเสริมและควบคุมคุณภาพของบุคลากรไปในตัว
หมายเหตุ
1. รายละเอียดจากการศึกษาดูงานครั้งนี้มีอีกมาก
ผู้ร่วมคณะศึกษาดูงานแต่ละคนมีการบันทึกในลักษณะต่างๆกัน
คนหนึ่งที่บันทึกอย่างละเอียดเป็นรายวันรวมทั้งสรุปเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ด้วย
คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งได้เขียนบันทึกนั้นลงใน Webblog
“Gotoknow.org” ภายใต้ชื่อ Gotoknow.org/thaikm
2. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง
“คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประทศเวียดนาม”
ซึ่งทำการศึกษาวิจัยโดย รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์
โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาตีพิมพ์เป็นเอกสารเรียบร้อยแล้วและได้ใช้เอกสารดังกล่าวประกอบการศึกษาดูงานครั้งนี้ด้วย
3. ในระหว่างการศึกษาดูงาน
ได้มีกระบวนการสะท้อนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ ทำนอง
AAR (After Action Review) ซึ่งเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามาก
รวมทั้งได้นัดหมายที่จะให้คณะผู้ศึกษาดูงานได้พบกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่แต่ละคนได้ดำเนินการหรือจะดำเนินการ
รวมถึงกิจกรรมที่อาจจะดำเนินการร่วมกันโดยหลายคนหรือหลายฝ่ายด้วย
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
17 พ.ค. 49
ไม่มีความเห็น