กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๕๗) : ภาษาเพื่อชีวิต



 

ในภาคเรียนจิตตะนี้ หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๓ จับมือกับหน่วยวิชามานุษกับโลกสร้างสรรค์บทกลอนเพื่อแนะวิธีการประหยัดพลังงานตามแบบฉบับของตน

 

กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนเริ่มจากการให้นักเรียนดูตุ๊กตาดินปั้นรูปเด็กตัวเล็กๆ ที่ไว้ผมแตกต่างกัน ๔ ทรง คือ ผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ และผมเปีย  จากนั้นให้นักเรียนเดินพิจารณาตุ๊กตาเหนียวแต่ละตัวเงียบๆ  แล้วให้นักเรียนเลือกทรงผมที่ตนเองชอบ พร้อมให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกผมทรงนี้ และผมทรงนี้มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับตัวของนักเรียนบ้าง แล้วให้นักเรียนเขียนตอบใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่คุณครูแจกให้

 

จากนั้นจึงชวนกันดูภาพเด็กผมจุก ผมแกละ  ผมโก๊ะ และผมเปียผ่านภาพขนาดใหญ่ที่ฉายขึ้นจอ เพื่อให้สามารถมองเห็นทรงผมที่ตนเอง และเพื่อนๆ เลือกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ระหว่างที่ดูรูปภาพทรงผมแต่ละทรง คุณครูจะบอกเล่าถึงความเป็นมาในอดีตให้ฟังไปด้วย

 

เด็กผมจุก ผมแกละ  ผมโก๊ะ และผมเปีย จะเป็นตัวแทนของเด็กแต่ละคน ที่พวกเขาจะช่วยออกแบบแต่งกายที่สวยงามให้ด้วย  ส่วนเนื้อหาของบทกลอนที่แต่ละคนแต่งขึ้น ได้มาจากบทเรียนในหัวเรื่องพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่เรียนรู้กันในวิชามานุษกับโลก แล้วมาคิดต่อว่าควรจะใช้อย่างไรจึงเรียกได้ว่ารู้คุณค่าและประหยัด และเด็กผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ และผมเปียที่แต่ละคนเลือกไว้ จะเป็นผู้เล่าขานบทกลอนประหยัดพลังงานให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ และนำไปปฏิบัติต่อไป

 

เมื่อทุกคนแต่งบทกลอนมาแล้ว ขั้นสุดท้ายคือการตั้งชื่อให้กลอนแปดของตนเอง คุณครูจึงมีเทคนิคแนะนำให้นักเรียน โดยการบอกว่าการคิดชื่อกลอนก็คล้ายการเชิญชวนผู้อ่านให้สะดุดตา และรู้ว่าเรากำลังเขียนถึงอะไร และคุณครูอยากได้ชื่อที่เก๋ๆ ที่ใครๆ เห็นแล้วต้องร้อง “โอ้โห้!”

 

...ในที่สุดชิ้นงานนี้ก็ประสบความสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ทุกๆ คนได้ชื่นชมอยู่ ณ ขณะนี้ค่ะ

 

เอมี่ประหยัดไฟ

          มาร่วมด้วยช่วยกันประหยัดไฟ          วันต่อไปมีไฟใช้ไม่ขัดสน

เรื่องง่ายง่ายเราทำได้ทุกทุกคน                   เราไม่จนโลกไม่ร้อนตลอดไป

 

                                                          ด.ญ. ลลิล  ดวงพัตรา (เอมี่)

 

อนุรักษ์โลกอีกหนึ่งวิธี

          พลังงานจำเป็นในชีวิต                     ปิดสวิตช์เพื่อโลกอันสดใส

ช่วยกันทำร่วมแรงและร่วมใจ                       เพื่อมีไฟอยู่ไปเป็นนานปี

 

                                                           ด.ญ. ลินดา เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา


จ่ายเงินน้อยด้วยทีวี


         ดูทีวีอย่างไรให้ประหยัด                  เราต้องหัดเรียนรู้ปลูกนิสัย

จะได้จ่ายเงินน้อยกว่าใครๆ                       ไม่มีภัยมลพิษแก่โลกเรา

          เปิดเฉพาะรายการที่จะดู                 จบแล้วหนูปิดเสียไม่นั่งเฝ้า

หันไปทำอย่างอื่นบ้างเถอะเรา                    อย่ามัวเอาแต่นั่งดูทีวี

 

                                                         ด.ช. โอม  อวิหิงสานนท์

 

มาประหยัดไฟกัน

          คอมพิวเตอร์เครื่องมือแสนวิเศษ         ใช้เกินเหตุเปลืองไฟสายตาเสีย

นั่งหน้าคอมนานไปใจอ่อนเพลีย                   สมองเสียเรียนอะไรไม่เก่งเลย

 

                                                           ด.ญ. พิลาสสิริ  เทพานนท์




คุณครูกั้ง - สุริสา วารุณ บันทึก

หมายเลขบันทึก: 477890เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กลอนไพเราะจริงๆ คุณครูเก่งมากค่ะ...นักเรียนจึงได้มีโอกาสแสดงศักยภาพเต็มที่

จนมีผลงานที่น่าชื่นชมอย่างนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท