ความในใจของคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า


ผมแค่อยากเห็นการคุยกันของคนไทยด้วยสติปัญญา ต่อยอดทางความคิดซึ่งกันและกัน ใครคิดเห็นต่างก็ลองพยายามนำเสนอให้เค้าลองคิดตามเรา ไม่ใช่เอาแต่บอกว่าพวกที่คิดต่างคือคนโง่

ยอมรับตรงๆว่า ทุกวันนี้ผมแทบจะไม่อยากอ่านบทความอะไรที่เขียนกันขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าผมดัดจริตไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนในประเทศด้วยกัน แต่ผมอ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกเสียดายสิ่งดีๆที่เคยมีอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราคนไทยทุกคน เพราะสิ่งที่เขียนขึ้นมา น้อยครั้งนักที่อ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกว่า เป็นการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ผมพยายามติดตามอ่านความคิดเห็นของทุกฝ่าย และพยายามคิดตาม ผมยังเชื่อว่าในส่วนลึกๆแล้วทุกคนหวังดีต่อประเทศชาติ แต่อาจจะมีความคิดและกระบวนการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

 

ผมลองทบทวนในสิ่งที่ผมถือปฏิบัติมา ในเรื่องของการสื่อสาร ทบทวนข้อปฏิบัติ ข้อห้ามต่างๆ แล้วก็พบว่าบทความต่างๆที่สื่อออกมาในปัจจุบัน มีกระบวนการสื่อสารที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก ผมขออนุญาตเล่าแนวทางการปฏิบัติในการสื่อสารที่ผมมีไว้ใช้มาให้ฟัง และชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดกับการสื่อสารในยุคนี้ของคนไทยกันนะครับ

 

      1. ก่อนจะสื่อออกไป เราต้องคิดก่อนว่า อยากจะให้ผู้รับ (ผู้อ่าน ผู้ชม หรือผู้ฟัง) มีปฏิกริยาอย่างไร

จริงๆแล้วผมถูกสอนมาว่า ในทุกประโยคที่เราจะนำเสนอออกไป ขอให้คิดตามว่าจบประโยคนั้นแล้ว ผู้รับจะเกิดปฏิกริยาอย่างไร ถ้าอยากจะโน้มน้าวเค้าเชื่อตาม ก็อย่าทำให้เกิดการขุ่นเคืองจนเค้าปิดใจไม่เปิดรับฟังต่ออีกแล้ว

ในเรื่องนี้ผมเห็นได้ชัดจากการสื่อสารในปัจจุบัน ที่เริ่มต้นมาก็สาดเสียเทเสียกันด้วยคำด่า เปิดตัวมาด้วยการชวนทะเลาะกันก่อน เย้ยหยันกันว่าโง่ ไม่มีความคิด ส่งกระบือออกมาเดินสวนสนามเป็นพรวน เมื่อเปิดเรื่องมาแบบนี้ ก็ยากที่ส่วนต่อๆไปที่นำเสนอจะถูกยอมรับ เพราะคนเราทุกคนไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาต่อว่าต่อขานเราหรอกครับ คนนะครับไม่ใช่พระโสดาบัน จึงจะตัดสิ้นแล้วซึ่งความโกรธ   

สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ผมต้องคิดถึงอยู่เสมอก่อนจะนำเสนออะไรที่ขัดแย้งก็คือ ให้ชี้ให้เห็นข้อดีของสิ่งที่เราจะไปแย้งก่อนและกล่าวในสิ่งที่น่าชื่นชมก่อน เพื่อสร้างความรู้สึกที่เปิดรับซึ่งกันและกันก่อน ผมจะคิดตลอดว่าทุกสิ่งมีส่วนที่ดีๆอยู่ทั้งนั้น ถ้าเราหาไม่เจอไม่ใช่ว่าเค้าไม่มี แต่เรายังไม่ได้ทำความเข้าใจเพียงพอที่จะหาเจอต่างหาก เพราะฉะนั้นให้ใช้เวลาทำความเข้าใจให้ดีพอ ก่อนที่จะสื่อสารออกไปดีกว่า

      1. นำเสนอในสิ่งที่ผู้รับต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้สื่ออยากสื่อ

หลายคนคงเคยตกอยู่ในสภาพที่ต้องนั่งทนฟังใครสักคน อวดภาพที่ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มานำเสนอรูปตัวเองกับสถานที่โน้นสถานที่นี้ พร้อมคำบรรยายสรรพคุณการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่อย่างเต็มที่ ทั้งๆที่เราเองไม่ได้สนใจจะฟังเรื่องของเค้าเลย เราอยากจะดูภาพสถานที่สำคัญๆหรือศิลปะวัฒนธรรมมากกว่าภาพซารังเฮโยของป้าๆลุงๆทั้งหลาย

ผมมักจะมีภาพนี้อยู่ในใจเสมอ แล้วก่อนจะนำเสนออะไรผมก็มักจะคิดว่า ผมกำลังทำร้ายผู้ฟังของผมด้วยเรื่องที่เค้าไม่อยากฟังอยู่หรือเปล่า บ่อยครั้งเวลาที่ผมฟังการนำเสนอ กว่าผมจะทราบผลในส่วนที่ผมต้องการจะรู้ ผมต้องมารับรู้เรื่องกระบวนการความทุกข์ยากของเค้าว่า งานนี้ผมล่าช้าเพราะทะเลาะกับแฟนมา เค้าจะฟ้องหย่าเอารถเอาบ้านไป ชีวิตผมอับเฉายิ่งนัก ลูกก็สอบเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ … เอ่อ... ตกลงว่าที่พูดมาเกือบชั่วโมงนี่ เพื่อที่จะบอกผมว่า งานยังไม่เสร็จ แค่นั้นใช่ไหมครับ

ทุกวันนี้ เวลาของเราน้อยลง เพราะฉะนั้น สื่ออะไรออกมา ขอให้สื่อในสิ่งที่ผู้ฟังต้องการอยากจะฟังดีกว่านะครับ เอาให้กระชับ เอาให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เหมาะสม

      1. นำเสนอในภาษาของผู้รับ

เรื่องนี้เข้าใจว่าคงเคยเจอกันมาทั้งนั้นครับ ล่าสุดเรื่องข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมอ่านสิ่งที่เค้านำเสนอแล้วนะครับ แต่ต้องบอกว่า สงสัยผมต้องไปเรียนเพิ่มเติมด้านกฏหมายก่อน เพราะภาษาที่เค้าสื่อออกมา ผมอ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ในรายละเอียดและวัตถุประสงค์ คงเป็นเพราะภาษากฏหมายต้องเขียนแบบนี้ แต่จริงๆแล้วพอผมมาคิดอีกที พวกนักวิทยาศาสตร์เค้ายังมีทีมสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนเอาภาษาวิทยาศาสตร์ที่บอกกันว่ายากสุดๆ มาเปลี่ยนเป็นภาษาที่พวกเราเข้าใจได้มาให้อ่านกันจนคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้เลย แล้วทำไมภาษากฏหมายถึงไม่สามารถทำให้อ่านได้เข้าใจได้บ้างหรือ

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินการตำหนิว่า ...ก็เขียนไว้แล้วไม่ยอมอ่านกันเอง... ผมมักจะต้องลองกลับมาทบทวนเลยล่ะครับว่า สาเหตุที่เค้าไม่อ่านกัน เป็นเพราะเค้าโง่และไม่ใส่ใจหรือเป็นเพราะเราเขียนให้เค้าอ่านไม่เข้าใจหรือไม่อยากอ่านครับ ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นอย่างหลังมากกว่าครับ

เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจผู้รับสารของเราสักนิดนะครับ ว่าเค้าไม่เหมือนกับเรา ไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆเหมือนกับเรา ถึงแม้เค้าจะจบปริญญาเอกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะเข้าใจและพูดภาษาเดียวกันกับเรานะครับ เพราะจบมาต่างแขนงวิชา ก็พูดกันคนละภาษาแล้วครับ ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เราจะนำเสนออะไรออกไป ต้องนำเสนอในแบบที่คนอื่นจะสามารถเข้าใจได้ด้วยครับ

      1. เตรียมเนื้อหาให้น่าสนใจ ในทางสร้างสรรค์

ข้อนี้เป็นปัญหาที่ผมเจอประจำในประเทศไทย ไม่รู้เพราะว่าเราสนใจในเรื่องของอารมณ์มากกว่าเนื้อหาหรือเปล่า แต่ข้อความที่เขียนกันส่วนใหญ่ เน้นเรื่องของการกระทบกระทั่งกันมากกว่าจะให้ข้อมูลเชิงสร้างสรรค์

เวลาที่เราจะนำเสนออะไรไปให้ผู้ฟังคิดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เค้าลบล้างในสิ่งที่เค้าเชื่อมาก่อน แล้วหันมาเชื่อตามเรา จะต้องมีการนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบที่ชัดเจน ชี้ประเด็นให้เห็นข้อดีข้อเสียของทั้งสองด้าน รวมถึงสรุปด้วยว่า ถ้าเป็นแบบเดิมแล้วโอกาสจะเป็นอย่างไร ถ้าหันมาทำในแบบใหม่ๆแล้วจะโอกาสที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าต่อว่ากันแค่คำว่า ถ้าเชื่อแบบโน้นก็เป็นพวกโง่... อ้าว แล้วมันโง่อย่างไร ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้อีกสักนิดนะครับ

ผมว่าเรื่องนี้ในวงการโฆษณาชำนาญมากครับ เวลาจะขายสินค้า เค้ามีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกันอย่างชัดเจน เอาสเปคมาเทียบกันว่าของเราดีกว่าอย่างไร ไม่ใช่แค่กล่าวลอยๆ ผมเป็นคนที่ชื่นชอบตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติมาก ถ้าทำได้ ทำตารางเปรียบเทียบมาให้ผมเห็นเลยว่าสองสิ่งที่นำเสนออยู่นี้ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร จะทำให้ผู้ฟังที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรอย่างผม เข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้นครับ

ปิดท้ายด้วยคำว่าสร้างสรรค์ เป็นคำที่ผมอยากเน้น แต่ก็ไม่กล้าจะพูดมากเท่าไร ผมแค่อยากเห็นการคุยกันของคนไทยด้วยสติปัญญา ต่อยอดทางความคิดซึ่งกันและกัน ใครคิดเห็นต่างก็ลองพยายามนำเสนอให้เค้าลองคิดตามเรา ไม่ใช่เอาแต่บอกว่าพวกที่คิดต่างคือคนโง่ เพราะยิ่งทะเลาะกันยิ่งต่อว่าต่อขานกัน โอกาสที่จะไม่รับฟังและทำความเข้าใจกันก็ยิ่งยาก หากเรานำเสนอแล้วเค้าไม่เห็นด้วย เค้าก็จะมีขอโต้แย้งมา ทำให้เราได้นำไปคิดต่อ ก็จะช่วยต่อยอดทางความคิดให้กันและกันครับ

หลักๆก็มีเพียงสี่ข้อนี้นี่แหละครับ ที่ผมมองว่าสำคัญมากในการจะนำเสนอความคิดของเราออกไป ผมเองก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไร แต่ก็พยายามที่จะนำเอาทั้งสี่ข้อนี้มาฝึกหัดใช้ พยายามกลั่นกลองการสื่อสารของตัวเอง และผมเองก็ชอบรับฟังคำวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ของทุกๆความคิดเห็นด้วยครับ ถ้าท่านใดมีอะไรอยากจะแนะนำเพิ่มเติม ก็เรียนเชิญได้เลยนะครับ ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ … แต่ก็ขอให้อยู่บนหลักการการสื่อสารที่ดีของท่านเองด้วยนะครับ...แหะๆ... อย่ามาถึงก็ยกฝูงกระบือหรือวรนุชมาให้ผมล่ะ....

 

หมายเลขบันทึก: 477639เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2012 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทักษะ สุ จิ ปุ ลิ สำคัญอย่างยิ่งค่ะ ขอบพระคุณสำหรับบันทึกที่ถอดบทเรียนของการสื่อสารได้อย่างน่าอ่านมากๆ ค่ะ 

และขออนุญาตแนะนำเชื่อมโยงกับทักษะสุนทรียสนทนาในวงการ KM นะคะ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/tag/สุนทรียสนทนา 

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท