PLC_มหาสารคาม_02 ณ เชียงยืนพิทยาคม "ทักษะสำหรับอนาคต ในบริบทของตนเอง"


วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จัดประชุมเสวนาจัดการความรู้ ในหัวเรื่อง"ทักษะสำหรับอาคต ในบริบทของตนเอง" ผมตั้งชื่อหัวเรื่องนี้หลังจากที่ วง KM ปิดลง เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ได้บรรลุในกิจกรรมที่เราทำรวมกัน... ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหัวเรื่องก่อนเริ่มวง "21st Century Skills ทักษะสำหรับอนาคต ที่ลูกหลานเราต้องมี เพื่อชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ 21" แต่เพียงต้องการเน้นถึงจุดเด่นประเด็นสำคัญที่เราคิดและทำร่วมกัน

เย็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เรา (ผม ครูเพ็ญศรี คุณอ้อ คุณตูน คุณเจี๊ยบ) ร่วมกันออกแบบกิจกรรม ให้เน้น "บริบทของตนเอง" คือ จะไม่ให้เป็นการบรรยาย (lecture) เกี่ยวกับทักษะสำหรับอนาคตให้ครูฟัง แต่เราจะเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆ อันเกิดจากที่โลกเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนแปลง นักเรียนเปลี่ยนไป ชีวิตเปลี่ยน ดังนั้นทักษะที่เราต้องการให้มีในตัวนักเรียนจึงต้องเปลี่ยน แล้วทักษะอะไรหล่ะที่เราต้องการ? แล้ว วิธีการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนไปอย่างไร? เพื่อให้เกิดทักษะเหล่านั้น... การแบ่งครูออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน แล้วช่วยกันกำหนดทักษะที่ต้องการ โดยใช้ประสบการณ์และมุมมองของครูที่แต่ละคนทำงานมาแล้วหลายปี บางท่านหลายสิบปี น่าจะสะท้อนให้เห็น "ทักษะสำหรับอนาคต ในบริบทของเราเอง" ได้

ในวัน KM กำหนดการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และบรรยายกาศขณะนั้นๆ สดๆ...โดยเริ่มจากการ บรรยายชี้เห็นว่าทำไมต้องมาคุยกันวันนี้เรื่องทักษะสำหรับอนาคต จากนั้นแบ่งกลุ่มๆ 5 คน ให้ช่วยกันเขียนทักษะที่เราต้องการให้เกิดในตัวนักเรียน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วกลับมาสลับกันนำเสนอ ก่อนจะพักเที่ยง ก่อนเที่ยงคุณอ้อพาทำกิจกรรมที่ผมเองประทับใจกับวิธีชี้ชวนให้ครูสะท้อนความรู้สึกกับการทำงานของตนเอง ด้วยการให้ครูแสดงออกผ่านสัญลักษณ์มือ...ตอนบ่ายเรากลับมาเริ่มด้วย กิจกรรมดึงสมาธิฝึกสมองของคุณครูสุกัญญา ที่เราได้ไปเรียนรู้มาจากลำปลายมาศพัฒนาอาทิตย์ก่อนโน้น จากนั้นผมบรรยายชี้ให้เห็นความสำคัญของความรู้ฝึกลึกในตัวคน (tacit knowledge) ก่อนที่เราจะแบ่งกลุ่มๆ ละ 3 คน ผลัดกันเล่าเรื่องประสบการณ์ประทับใจในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนของตนเอง เพื่อนคนหนึ่งฟังและคอยซักให้ชัดขึ้น อีกคนหนึ่งฟังแล้วเขียนเรื่องที่ได้ฟังลงบนกระดาษ...กิจกรรมนี้เราเรียนรู้จากเวที PLC ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพ... น่าเสียดายที่เวลาน้อยไปนิด เราไม่สามารถให้คุณครูทักท่านเล่าประสบการณ์ของตนเองต่อ วง KM ได้ จึงได้เพียงตัวอย่างจากคุณครู 2-3 ท่านเท่านั้น สุดท้ายเราปิดวงด้วย AAR สไตล์จิตตปัญญา.... ประเมินด้วยตนเอง ผมมีความสุขมาก 

ผมรู้สึกมั่นใจขึ้นอีก เมื่อคุณอ้อคุยกับผมเรื่องแผนดำเนินการต่อไป ผมบอกคุณอ้อว่า ผมเห็นเป้าหมาย เห็นทางเดิน เห็นวิธีการชัด ว่าจะเริ่มและสร้างเครือข่ายในจังหวัดต่อไปอย่างไร แต่ผมมองยังไม่ออกว่า เครือข่ายที่นี่จะไปเกี่ยวข้องกับกลไกขับเคลื่อนระดับบนของประเทศอย่างไร... สรุปตอนนี้ผมเข้าใจว่า คุณอ้อจะช่วยเราสร้างครูฟา (facilliteacher) และคอยให้คำแนะนำในส่วนที่ผมยังมองไม่ออกที่ได้บอกไปข้างต้น

ผมเน้นให้คุณครูตระหนักว่า ทักษะสำหรับอนาคตตามเอกสารที่แจกให้นั้น (สรุปจากหนังสือที่ ศ.นพ.วิจารณ์ แนะนำ) เป็นผลการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผ่านการทำงานวิจัยกว่าหมื่นชิ้น ของต่างชาติ เขาทำวิจัยบนฐานบริบทของเขา ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากไทยเรา หรือแตกต่างจากไทยอีสานเรา... หากเราจะช่วยกันวิเคราะห์และสังเคราะห์จากประสบการณ์ของเราเองว่า ทักษะที่เราต้องการมีอะไรบ้าง คำตอบของเราอาจจะแตกต่างจากเขาก็ได้ ซึ่งหลังจากที่คุณครูแต่ละกลุ่มนำเสนอ ผมจับประเด็นทักษะที่เพิ่มเติมแตกต่างจาก "ในหนังสือ" ดังนี้

ทักษะสำหรับอนาคต ทักษะสำหรับอนาคตในบริบทของตนเอง
ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ 1.ทักษะการให้ หรือแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ หรือ ช่วยเหลือผู้อื่น 2. ทักษะการรับ รับความช่วยเหลือ หรือ ทักษะการพึ่งพาตนเอง 3. ทักษะการยับยั้งใจ พอเพียง พอประมาณ 4.ทักษะด้านการรักษาศีล ๕ และ 5. ทักษะการทดแทนบุญคุณ กตัญญูรู้คุณ 6. ทุกษะด้านการแสดงความน้อบน้อม สัมมาคารวะ เคารพผู้ใหญ่ 7.ทักษะการสร้างวินัยให้ตนเอง 8.ทักษะด้านศิลปะและวัฒนธรรมของตนเอง 8. ทักษะด้านอาชีพในท้องถิ่น
ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม  1. ทักษะด้านการคิด (คุณครู้เสนอกว้างๆ ยังไม่ชัดเจนว่าด้านใดบ้าง) 2. ทักษะการมีความคิดเป็นของตนเอง ความมั่นใจในตนเอง 3.ทักษะการตั้งคำถาม และช่างสงสัย 4. ทักษะการสังเกต
ทักษะด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และเทคโนโลยี ไม่แตกต่าง และไม่ครอบคลุม คุณครูทุกกลุ่มจะเน้นเรื่อง ทักษะการพูด และนำเสนอเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้กล่าวถึงทักษะการฟัง มีทักษะการใช้นวัตกรรม แต่ไม่ได้พูดถึงทักษะการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ความรู้ในวิชาหลักและความรู้เฉพาะสำหรับอนาคต  1. ทักษะเรื่องเพศศึกษา 2. ทักษะด้านการใช้จ่าย 3. ทักษะด้านการปรับตัว

มีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ผมสรุปอย่างมั่นใจว่า สมมติฐานในใจผมเกี่ยวกับความแตกต่างของทักษะสำหรับอนาคตจะแตกต่างกับที่อ่านในหนังสือ หรือแม้บางอันจะไม่แตกต่างเพราะเกี่ยวเนื่องกัน แต่จุดเน้น การให้ความสำคัญแตกต่างกันมาก จะเห็นว่าส่วนที่แตกต่างมากที่สุด คือ "ทักษะชีวิต" ส่วนทักษะอีกสามด้านที่เหลือนั้น มีทักษะที่คุณครูเสนอแตกต่างจาก "ในหนังสือ" ไม่มากนัก แต่ที่น่าสนใจไม่ใช่ความแตกต่าง แต่เป็นการขาดพร่องไป เพราะยังเหลืออีกหลายทักษะที่ครูไม่ได้เสนอ นั่นอาจคิดได้ว่า ทักษะเหล่านั้นเรายังขาดอยู่

ด้านทักษะชีวิต  แสดงให้เห็นแล้วว่า บริบทของเรา เด่นและเน้นคุณธรรม จริยธรรม ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมการพึ่งพา อาศัย ช่วยเหลือกัน ซึ่งสืบทอดต่อกันมา สิ่งที่คุณครูกำหนดอยากให้มีในนักเรียนนั้น ไม่ได้มุ่งพัฒนาตนเองให้โดดเด่น แต่มุ่งพัฒนาตนเองพร้อมๆ กับการช่วยเหลือสังคม

ยกตัวอย่างเช่น ทักษะการให้ หรือช่วยเหลือ หากเราหันมาพัฒนาด้าน "การให้" ในสังคมไทย ปรับปรุงการให้ที่ก่อให้เกิดผลเสีย การให้ที่ไม่สมเหตุสมผล (ไม่เกี่ยวการเมืองนะครับ) ความจริงเรามีวัฒนธรรมที่ดีในการให้อยู่แล้ว สังเกตจากคำพังเพย "พ่อแม่รังแกฉัน" เป็นต้น 

"ทักษะการรับ" ก็สำคัญจริงๆ ตรงประเด็นกับคนไทยที่ไม่ค่อยหวังพึ่งตนเอง แต่รับได้รับอย่างเดียว หากนักเรียนมีทักษะการเลือกรับความช่วยเหลือแต่พอควร ผมว่าเราจะ "พลิก" วิกฤตหลายอย่างกลับมาได้... เช่นเดียวกัน ทักษะอันนี้เราก็มีมานานแล้วเช่นกัน แต่เราไม่เน้นในส่ิ่งที่เราควรเน้นนี้ ตัวอย่างหลักฐานคือคำสอนเรื่อง "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" นั่นไง

ผมขอยกตัวอย่างเท่านี้.....เขียนยืดยาวต่อไปคงไม่จำเป็น.... ผมคิดว่า ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันสำคัญ และจำเป็น ที่จะหันมาเห็นความสำคัญ และเรียนรู้จาก "ฐาน" ของเราเอง

 

หมายเลขบันทึก: 477633เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2012 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณคณะวิทยากรที่ให้ความอนุเคราะห์ชาวเชียงยืนโอกาสหน้าขอใช้อีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท