คำสอนแบบ "กระตุกโพธิ์" ของท่านพุทธทาส


เรื่องเล่าในชีวิต / ปลุกให้ตื่นให้รู้ตัวเอง / สอนแบบ "กระตุกโพธิ์"


วันที่ / เดือน (จำไม่ได้) พ.ศ.2523 ที่สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย)

หลังจากสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเสร็จสิ้นในเย็นวันนั้น ผมก็มายืนรอเพื่อนนักเรียน 2 คน ที่แลกเปลี่ยนแนวความคิดร่วมกันมาตลอดการเรียนชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนอำนวยศิลป์ (พญาไท) หนังสือ แด่หนุ่มสาว ของ กฤษณมูรติ แปลโดย พจนา จันทรสันติ ที่เราอ่านแล้วอ่านอีก พูดคุย ตีความ รวมทั้งแสวงหาแนวความคิดในความเป็น อิสรชน จากเวทีเสวนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลักดันให้เรา 3 คนสัญญากันว่า ทันทีที่เสร็จสิ้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราจะเดินทางไปสวนโมกข์ ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยกัน เพื่อค้นหาตัวเอง แสวงหาคำตอบอะไรบางอย่างที่เราคิดว่า มีอยู่ที่สวนโมกข์

ผมซื๋อตั๋วรถไฟชั้น 3 ของตัวเองเอาไว้แล้ว และยืนชะเง้อคอยแล้ว คอยอีก ก็ไม่เห็นวี่แววของเพื่อนทั้ง 2 คน เมื่อระฆังสัญญาณว่าถึงเวลารถออกดังขึ้น ผมก็ตัดสินใจว่า เป็นไงเป็นกัน ผมไปคนเดียวก็ได้ ไหน ๆ ก็ตั้งใจมาแล้ว

ในรถไฟ ผมอาศัยที่ว่างระหว่างตู้โดยสาร (ข้อต่อ) ปูกระดาษหนังสือพิมพ์ เอากระเป๋าหนุนหลัง หลับ ๆ ตื่น ๆ จนถึงสถานีรถไฟไชยาในช่วงสาย ๆ สอบถามแม่ค้าที่ขายของหน้าสถานีได้ความว่า จะต้องขึ้นรถโดยสารตรงไหนจึงจะไปถึงสวนโมกข์ ได้คำตอบแล้วก็เดินทาง

เมื่อไปถึงสวนโมกข์ ก็เดินเข้าไปแบบเก้ ๆ กัง ๆ ไม่มั่นใจตัวเองมากนัก เจอพระรูปแรกก็บอกท่านว่า เราจะขอมาเรียนรู้ อะไรบางอย่าง... ท่านคงจะมองสภาพของเราออกจึงได้นำไปพักที่ศาลารูปเรือ ชั้น 2 หลังโรงมหรสพทางวิญญาณเพียงคนเดียว มี “ร้าน หรือเตียงไม้ ปูเสื่อผืนหนึ่ง ดูเหมือนว่าจะไม่มีหมอน ไม่มีมุ้ง ไม่มีผ้าห่ม แต่เพียงเท่านั้นก็ดีใจแล้วเพราะรู้ว่า เรามีที่พักของเราแล้ว

เสร็จจากภารกิจอาบน้ำ แปรงฟัน ที่ บ่อน้ำล้น ซึ่งต่อท่อมาจากลำธาร กลับมาถึงที่พักก็พบว่า มีกล้วยน้ำว้า 1 หวี วางอยู่ปลายเตียง นี่คงเป็นอาหารเช้า-เที่ยง (รวมทั้งมื้อเย็นเพราะไม่ได้ตั้งใจจะถือศีลแปด)

หลังจากนั้น การเดินไปยังที่ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นทั้งวัน เดินดูงานศิลปะในโรงมหรสพทางวิญญาณ ภาพละนาน ๆ เพราะเรามีเวลา ...ทั้งวัน ...หลายวัน เดินเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของพระ เห็นกุฏิไม้หลังเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ในป่า คุยกับหลวงตาที่โรงปั้นปูนปลาสเตอร์ ขออนุญาตนั่งฟังพระอาวุโสสอนธรรมะให้กับพระบวชใหม่ รู้เรื่องบ้าง...ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็พยายามนำมาจดบันทึกลงสมุด

ทุกครั้งที่เดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาส เห็นท่านพุทธทาสนั่งอยู่บนม้าหิน มีสุนัขและไก่แจ้ คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปพูดคุยซักถาม ได้แต่ยืนมองท่านห่าง ๆ

ที่พักซึ่งเป็นศาลารูปเรือทั้งหลังโปร่งโล่งตรงกลาง และมีขนาดใหญ่โต แต่ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัวอะไร อาการกลัวผี หายไปตั้งแต่อยู่ชั้นประถม (ป.6) เพราะมีประสบการณ์ที่สรุปกับตัวเองได้ว่า ถ้าเราไม่คิดมันก็ไม่กลัว

ช่วงค่ำ มักจะมีฝนตก จำได้ว่ามีไฟฟ้าเปิดอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งและปิดเมื่อถึงเวลา ในความมืดได้ฟังเสียงธรรมชาติ สายฝน กบเขียด หริ่งหรีดเรไร ก่อนนอนสวดมนต์ได้เพียงบทสั้น ๆ จากที่เคยสวดในโรงเรียน ไม่ได้นั่งสมาธิเพราะยังนั่งไม่เป็น แต่ชอบหลับตาดูภาพที่ปรากฏขึ้นมาในจิตสำนึก ดูไปเรื่อย ๆ โดยพยายามไม่จับมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์ จำได้ว่า หนังสือของกฤษณมูรติ สอนให้ดูภาพเคลื่อนไหวเหมือนดูภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียง สักพักหนึ่งก็สว่างจ้าไม่มีอะไรให้ดู จนหลับไป

ตอนเช้ามืด ตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงสวดมนต์จากคณะสงฆ์ที่มาทำวัตรเช้าในศาลารูปเรือ จะนอนฟังท่านสวดมนต์เฉย ๆ ก็รู้สึกว่าไม่สมควร จึงลุกขึ้นมานั่งพนมมือ ดีที่สวนโมกข์สวดมนต์แปลจึงทำให้เข้าใจความหมายของบทสวดในระดับหนึ่ง เมื่อท่านทำวัตรเสร็จก็แยกย้ายกันไปบิณฑบาต รอบ ๆ ตัวยังมืดเกินกว่าที่จะทำอะไรได้ จึงหลับไปอีกงีบหนึ่ง ตื่นมาตอนเช้าก็พบว่า มีกล้วยน้ำว้าหวีใหม่มาวางอยู่ที่ปลายเท้า แทนที่หวีเดิมซึ่งหมดแล้ว ดีเหมือนกันไม่ต้องใช้เงินซื้ออาหาร เพราะต้องประหยัดไว้เป็นค่ารถกลับบ้าน

ฟ้าสว่างอาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว ก็ออกเดินไปเรียนรู้ดูโน่นดูนี่ เห็นท่านพุทธทาสอยู่ไกล ๆ แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปพูดคุยสนทนา เพราะไม่รู้จะถามอะไรจากท่าน เข้าใจว่าท่านก็คงจะเห็นเราเช่นกัน เป็นอย่างนี้อยู่ 3 วัน 3 คืน ถามตัวเองว่าได้อะไรบ้าง ก็ยังตอบตัวเองได้ไม่ชัด แต่เพียงรู้สึกว่าความสับสน ตึงเครียดจากการผ่านช่วงเวลาก่อนสอบเอ็นทรานซ์ มันคลายลงไป อาจจะเป็นเพราะว่า ได้มีโอกาสอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ กับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ จนถึงเช้าวันที่สี่ ก็คิดว่าถึงเวลากลับบ้านได้แล้ว

เมื่อหิ้วกระเป๋าเดินผ่านกุฏิท่านเจ้าอาวาส เห็นท่านพุทธทาสนั่งอยู่ที่เดิม มีพระเลขาฯ นั่งอยู่ด้วยใกล้ ๆ พระเลขาฯ ท่านนี้ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาก็ได้สวัสดีทักทายท่านบ้าง แต่ไม่ได้พูดคุยอะไร ท่านก็คงจะมองเราออกว่าเป็นนักเรียนหัวเกรียน ๆ คนหนึ่งที่มาเดินอยู่ในวัด 3 วันแล้ว บอกกับตัวเองว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้พูดคุยกับท่านพุทธทาส จึงได้รวบรวมความกล้าเดินเข้าไปกราบท่าน บอกท่านว่า ได้เดินทางมาสวนโมกข์ 3 วัน 3 คืนแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้อะไร ยังไม่เข้าใจคำสอนต่าง ๆ เท่าที่ควร จะขอคำแนะนำจากท่านว่า เราควรปฏิบัติตัวเช่นไร ?

ทั้งหมดเป็นคำพูดที่รวบรวมขึ้นมาถาม จากความคิดของเด็กนักเรียนที่สับสนคนหนึ่ง และหวังว่าจะได้รับคำแนะนำด้วยวาจาที่เปี่ยมด้วยความเมตตาจากท่านผู้ที่เรานับถือเสมือนเป็นอาจารย์ เป็นปูชนียบุคคล แต่คำตอบที่ได้รับกลับ ช็อค !! ความรู้สึกอย่างรุนแรง

ท่านตอบเป็นภาษาใต้ว่า สู...บอกว่ามาสวนโมกข์ 3 วัน 3 คืนแล้ว ยังไม่ได้เรียนรู้อะไร มาขอคำแนะนำเราในตอนที่จะกลับ อย่างนี้เขาเรียกว่า คนไม่รู้จัก กาละ-เทศะ เขาเรียกว่าเป็น คนโง่... คนบ้า...

ในตอนนั้นบอกตรง ๆ ว่า มึนไปหมด คิดอะไรไม่ออก ไม่นึกว่าจะเจอคำตอบเช่นนี้ รู้แต่ว่ามันน้อยใจคนที่เรานับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ จึงก้มลงกราบแล้วค่อย ๆ ถอยออกมา

เมื่อเดินไปเกือบจะถึงทางออกวัดสวนโมกข์ ก็ได้ยินเสียงพระเลขาฯ เรียกตามมาข้างหลัง ท่านคงเป็นห่วงเห็นว่าเราเป็นเด็กจึงตามมาพูดคุย ท่านบอกผมว่า โยมต้องกลับไปคิดให้ดี คำว่า ไม่รู้จัก กาละ-เทศะ, คนโง่-คนบ้า มีความหมายเป็นภาษาธรรม ท่านไม่ได้ใช้แบบภาษาคน จำได้ว่าตอนนั้น รับคำแนะนำของท่านไปแบบในสมองยังอื้ออึงด้วยถ้อยคำของท่านพุทธทาส น้อยใจ และงง เกินกว่าจะโต้ตอบอะไรได้

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมานับจากวันนั้น คำว่า ไม่รู้จัก กาละ-เทศะ, คนโง่-คนบ้า คือ สิ่งที่ผมเตือนตัวเองอยู่เสมอ ๆ  เข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และรู้สึกซาบซึ้งในคำสอนแบบ กระตุกโพธิ์ ของท่านพุทธทาส.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พุทธทาส
หมายเลขบันทึก: 47682เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ประทับใจและขอบคุณไอศูรย์
ที่นำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ น่าดีใจที่คุณไอศูรย์ตัดสินใจเดินเข้าไปหาท่านก่อนกลับนะคะ ทำให้ตัวเองได้"ภาษาธรรม"ติดตัวมา แล้วยังได้เอามาเผื่อแผ่ คิดว่าคงจะ"ติด"อยู่ในหัวอีกหลายวันค่ะ ลึกซึ้งจริงๆ

ขอรบกวนอธิบายคำว่า "กระตุกโพธิ์" ให้กระจ่างนิดได้ไหมคะ สงสัยว่าหมายความว่ายังไง อ่านแล้วอยากเข้าใจ คิดๆแล้วเหมือนจะเข้าใจ แต่คิดว่าอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ จึงต้องขอให้"ต้นเรื่อง"อธิบายดีกว่า ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอบคุณครับ คุณโอ๋-อโณ

ลืมบอกไปว่า ผมนำประสบการณ์เรื่องนี้มาเล่าเพราะได้อ่านบันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์ เรื่อง เรียนรู้จากสวนโมกข์เสวนาสัญจร มีเรื่องเล่าดี ๆ ของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์ เห็นว่ามีเรื่องเล่าคล้าย ๆ กัน จึงนำเสนอ

คำว่า "กระตุกโพธิ์" ผมได้มาจากการอ่านบทความของ อาจารย์เสฐียรพงศ์ วรรณปก ท่านใช้คำนี้ในการกล่าวถึงวิธีการสอนของท่านพุทธทาส

ขอเวลาให้ผมหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมจะนำมา "เล่าสู่กันฟัง" ครับ

จะรออ่านค่ะ ดีใจที่เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกันอีกแล้วค่ะ ชอบสิ่งที่อาจารย์เสฐียรพงศ์ วรรณปก เขียนเสมอ แต่ยังไม่ได้อ่านข้อเขียนของท่านมากพอจะพบคำคำนี้ค่ะ ถ้าไม่ลืมจะลองไปเปิดพจนานุกรมของท่านดูค่ะ ว่ามีคำนี้ไหม
  • ผมชอบการเก็บบัตรทั้งสองใบของอาจารย์ไอศูรย์จัง
  • มองบัตร มองภาพพระพุทธทาส อ่านบันทึก ทำให้หวนนึกถึงคำพูดของคนหลาย ๆ คนที่ว่า สังคมไทยขี้ลืม เป็นสังคมขาดการเรียนรู้
  • ท่านอื่น ๆคิดอย่างไรหนอ ?

 

ระหว่างเรียนชั้น ม.ปลาย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยผมก็ไปสอนโมกข์หลายครั้ง

ครั้งแรกโรงเรียนจัดไป (ครั้งนั้นได้รู้จักกับนักเรียนหัวเกรียนต่างโรงเรียนคนหนึ่ง

ที่ผมทึ่งความคิดความอ่านของเขา หลังจากนั้นติดต่อกันทางจดหมายตลอด

เขาส่งหนังสือให้ผมอ่านอยู่เรื่อยๆ และแนะนำให้ผมรู้จักเพื่อนของเขาบางคน

ต่อมาหลังสอบเข้าจุฬาฯ ได้แล้ว จึงได้เจอกันบ่อยๆ แม้อยู่กันคนละคณะ

เขาเป็นรุ่นพี่ผมปีหนึ่ง ชื่อ ประชา หุตานุวัตร)

ครั้งหลังผมไปเอง และอยู่หลายวัน พระที่ดูแลสถานที่จัดให้ผมพักในกุฏิหลังหนึ่ง

อยู่คนเดียว และก็ได้ฟังท่านพุทธทาสบรรยายธรรมที่ลานหินโค้งอยู่เรื่อยๆ

ผมชอบการปรากฏตัวของท่านมาก ในขณะที่ทุกคนจะเงียบหมด

จะมีเสียงไม้เท้าท่านปักลงในทรายดัง สวบ สวบ สวบ เป็นจังหวะๆ

ขณะเขียนเล่านี้ เสียงไม้เท้าปักทรายนั้นยังผุดขึ้นในหัวได้แม่นยำ

จำได้ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงวันจะกลับไปกราบลาท่านที่กุฏิท่าน

ท่านพูดกับผมว่า "เด็กสมัยนี้ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่"

ซึ่งผมยังจำความรู้สึกได้ว่า ทันทีที่ได้ยินคำนี้ ข้างในผมรู้สึกปั่นป่วน

คล้ายจะเถียงท่านอยู่ข้างในว่า "ไม่จริงๆๆๆๆ"

แต่ผมเก็บความรู้สึกไว้ ไม่แสดงออกอะไร

นับสิบๆ ปีจากวันนั้น ที่ผมไม่สนใจคำสอนของพระรูปนี้เลย

จนกระทั่งหลังจากท่านมรณภาพแล้ว ผมเริ่มสนใจเรื่องการค้นหาความหมายของชีวิต

มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของท่าน เช่น ตัวกู-ของกู คู่มือมนุษย์ และอื่นๆ อีกหลายเล่ม

จึงเกิดความประทับใจในคุณูปการของท่านที่มีต่อพุทธศาสนาและสังคมไทยมากที่สุดรูปหนึ่ง

โดยเฉพาะการทำให้คนไทยได้เข้าใจว่านิพพานไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ที่แท้ก็เพียง "ตายก่อนตาย" เท่านั้นเอง

วิธีการสอนแบบตัวต่อตัวของท่านในสไตล์แบบพระเซ็น ที่ใช้วิธี "ดักคอ" แรงๆ

เหมือนตบกระโหลกเรา(ให้ตื่น) ซึ่งก่อนนี้ผมก็ไม่เข้าใจ เวลาที่บางคนไปถามอะไรท่าน

แล้วท่านตอบสั้นๆ ว่า "โง่" บ้าน "เรื่องของคุณ" บ้าง ฯลฯ

ท่านมรณภาพไปนานแล้วผมจึงสามารถค่อยๆ ทำความเข้าใจในความ "ลึก" ในพุทธธรรมของท่านได้มากขึ้น

และคงมีอีกมากมายที่ผมยังต้องเรียนรู้ต่อไป

แต่ก็รู้สึกยินดีที่เกิดมาชาตินี้ได้มีโอกาสพบและสนทนากับพระอริยบุคคล

แม้จะเป็นการพบแบบกามนิตพบพระพุทธเจ้าแล้วแต่ไม่รู้

ขอบคุณคุณไอศูรย์ที่เขียนบันทึกนี้ ทำให้ผมได้นึกถึงเรื่องคล้ายๆ กันของตนขึ้นมาด้วย

สุรเชษฐ

๙ ธ.ค.๕๒

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท