ทำอย่างไรจึงจะใช้การ "เสพ" เป็นการสร้าง "ศรัทธา" เพื่อพัฒนา "LO"


....ถึงเราจะสามารถ "เรียนลัด" ได้จากการอ่านหรือการฟังก็ตาม แต่การเรียนรู้ที่สวยงามและคมชัดที่สุดนั้นต้องมาจากประสบการณ์ตรงครับ..
         หลายท่านคงจะทราบดีว่าในปี 2549 นี้ สคส. ได้มีนโยบายที่จะไม่รับบรรยายเรื่อง KM ทั้งนี้เนื่องจากเห็นพ้องต้องกันว่า คนในสังคมไทยมักสนใจแต่การ "เสพ" ความรู้ KM แต่ไม่ยอมลงมือ "ทำ"  วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนส่วนใหญ่ อาศัยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของ "ผู้อื่น" ไม่ยอม "ลงทุนลงแรง" เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของ "ตนเอง"
        เวลาที่ผมรับเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง KM นั้น รู้ตัวเหมือนกันครับว่ายังคงมีอคติกับผู้ฟังอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ฟังที่เป็นครูอาจารย์ เพราะมักจะรู้สึกเสมอว่า ที่ท่านเหล่านี้เข้ามาฟังเรื่อง KM นั้น เป็นเพราะต้องการจะรู้ไว้เพื่อเอาไปใช้สอนต่อ ผมว่ามีน้อยมากที่คิดว่ามาเรียนรู้เพื่อจะนำเรื่องนี้กลับไปทำในหน่วยงานของตน หลายคนมองไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่าตนเองเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่อง KM นี้ คิดไปว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ KM (ที่ในหน่วยงานตั้งขึ้นมา) มองไม่เห็นว่าตนเองจะทำอะไรในเรื่องนี้ได้ บางท่านยิ่งได้ฟังการบรรยายมามากมายหลายตำราก็ยิ่งทำให้สับสนกลายเป็นคนที่ต่อต้านเรื่องนี้ไปโดยไม่รู้ตัว
        การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นนั้น นั่นไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ด้วยหนทางแห่งการปฏิบัติเท่านั้นแหละครับ ที่จะทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ ชัดขึ้นมาเรื่อยๆ การที่เราได้มีโอกาสทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความเข้าใจ นั่นแหละครับคือการเรียนรู้ที่แท้จริง การเรียนรู้ที่แท้จริงจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับ "คำตอบสุดท้าย" เพราะในชีวิตจริงนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "คำตอบสุดท้าย" หรอกครับ ....ถึงเราจะสามารถ "เรียนลัด" ได้จากการอ่านหรือการฟังก็ตาม แต่การเรียนรู้ที่สวยงามและคมชัดที่สุดนั้นต้องมาจากประสบการณ์ตรงครับ
        โจทย ์ใหญ่ที่อยู่ในใจผมเรื่อยมา ก็คือคำถามที่ผมถามดัวเองอยู่เสมอว่า .. นอกจากทางเลือกที่ว่าจะไม่บรรยายแล้ว มีทางเลือกอื่นไหม? ...เพราะการที่ได้รู้ว่าจริตของคนส่วนใหญ่นั้นต้องการที่จะเสพ ...เรามีเทคนิคอะไรไหมที่จะทำให้การเสพครั้งนี้ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ ถือโอกาสใช้การบรรยายจุด "ไฟในใจ" ของผู้ฟัง...ทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกดีกับ KM ต้องการจะกลับไปทดลองทำ ครั้นเมื่อได้ทำ ก็ได้เรียนรู้ ยิ่งทำก็ยิ่งได้เห็นพลังของ KM ยิ่งทำก็ยิ่งมีความหวัง เกิดพลังคิดจะสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน เรียกได้ว่าเกิดศรัทธาเกิดแรงบันดาลใจที่ทำให้ได้พัฒนางาน เกิดการเรียนรู้ เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กรไปโดยไม่รู้ตัว .....ถึงตอนนั้นใครจะมาบอกเราว่าเราว่าเป็น LO แล้ว หรือไม่? ...ก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร!!
คำสำคัญ (Tags): #lo#แรงบันดาลใจ#km
หมายเลขบันทึก: 47522เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อาจารย์ประพนธ์ค่ะ ดิฉันขอเสนอแนวคิดต่อยอดบันทึกนี้ค่ะ ในฐานะที่ดิฉันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ดิฉันมีความคิดเห็นว่า อาชีพอาจารย์ยังคงเป็นอาชีพที่มีความอิสระค่อนข้างชัดค่ะ คือ ไม่ว่าจะสอน ไม่ว่าจะทำวิจัย ก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นมากมายนัก เป็นนักคิดเป็นนักเขียนเป็นหลักจะว่าอย่างนั้นก็ได้

ดังนั้น หากจะให้ครูบาอาจารย์หันมาใช้ KM นั้น อาจจะเน้นที่ "Personal KM" ของแต่ละท่านค่ะ เช่น เน้นเรื่องการบันทึกความรู้ประสบการณ์ ให้มากเข้าไว้ เช่น นำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องเทคนิคต่างๆ ในการบันทึกความรู้ อันจะช่วยให้เกิดเป็น ตำราเรียน เอกสารวิจัย เอกสารประกอบการสอน บทความ ได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เป็นต้นค่ะ

ส่วนการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น คงต้องมาเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรกันขนานใหญ่ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ประพนธ์...                   

  • ขอโอกาสครับ...
  • แบบอักษรของบันทึกตัวเล็กมาก > เรียนเสนอให้ใช้ Tahoma font ขนาด 12 พอยต์ครับ
  • ขอขอบพระคุณ

อ.คะ หนูพยายามอ่าน ค่ะแต่ตัวเล็กมากจริงๆ ค่ะ

  • 555 สงสัยจะถูกท่าน อาจารย์ประพนธ์ วางยาเสียแล้ว
  • ผมเลยต้องแก้โดยปรับ Veiw Textsize เป็น Larger ถึงอ่านได้ครับ

ขอโทษจริงๆ ครับ ...ผิดพลาดทางเทคนิค (อีกแล้ว!!) ...คราวหน้าจะระมัดระวังยิ่งขึ้น ...จะไม่เชื่อ Technology จนเกินไป (....โทษเทคโนโลยีซะนี่ ทั้งๆ ที่เป็น "คน" ที่ทำพลาด!!)

ในส่วนของผู้ที่อาจารย์เคยมาให้ความรู้ถ้ามีโอกาสมาตามดมตามชมและเติมในส่วนที่ขาดก็จะเป็นพระคุณมากค่ะ     การทำKMมีปัจจัยค่อนข้างมากเพราะมันเริ่มจากการให้   ให้ความรู้ (ต้องรักถึงจะให้)    ให้เวลาและประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้     เคยอ่านของอาจารย์วิจารณ์ที่จะให้เด็กๆมาshare    เวลาทำจริงๆถ้าผู้บริหารเก่าๆที่มีวัฒนธรรมในการสั่ง    ถ้าไม่สั่งอย่ามาเสนอทำให้เด็กติดกับวัฒนธรรมแบบนี้    ขี้เกียจคิดค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์นันทวันค่ะที่กลุ่มอาจารย์อาจจะได้ความรู้จากอาจารย์ในพลังของการจด   บันทึก   ทำให้พัฒนาตัวเองขึ้นมา    

การเป็นLO     ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมมากเลยค่ะ

 

อ.คะ ได้เคยฟัง อ.บรรยายเนื้อเรื่อง KM หลายครั้ง แต่ละครั้งได้เสพ ในสิ่งที่แตกต่าง และต่างจากการบรรยายของวิทยากรอื่นๆ (ที่ไม่คิด หรือสนใจด้วยซ้ำว่า....ผู้ฟังสนใจแต่การ "เสพ" ความรู้ KM แต่ไม่ยอมลงมือ "ทำ")   การที่ วิทยากร รู้ทันผู้ฟังว่าเสพ มากกว่า ทำและมีวิธีดักทางผู้ฟังแบบนั้น จะมีประโยชน์มากว่า วิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยาย รับเงิน โดยไม่สนใจอนาคต ของผู้เชิญ...ค่ะ  ....
       โจทย ์ใหญ่ที่อยู่ในใจอาจารย์เรื่อยมา ก็คือคำถามที่ท่านดัวเองอยู่เสมอว่า .. นอกจากทางเลือกที่ว่าจะไม่บรรยายแล้ว มีทางเลือกอื่นไหม? ...  ดิฉันเห็นควรคิดกลับไปกลับมาอย่างยิ่ง....หาก สคส.เป็น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  เพราะเป็นความจริงว่าผู้เสพส่วนใหญ่....เมื่อไม่ได้รับการตอบรับ การเป็นวิทยากรจากท่าน ก็จะหันหา วิทยากรท่านอื่น ที่บรรยายเสร็จ จบ ชม. โดยไม่สนใจอนคตของ ผู้เชิญ.... ก็มีมาก....มากกว่า....ดิฉันชักไม่แน่ใจว่ารับการบรรยาย  กับการไม่รับบรรยายของท่าน อย่างไหนจะเสียหายกว่ากัน...

    หลักคิดว่า KM ต้องไม่เรียนแบบเสพอย่างเดียว ผมได้ฟังได้อ่านมาจาก สคส. และเห็นด้วยกับหลักคิดดังกล่าว และสามารถนำหลักคิดไปเผยแพร่นำไปสู่การปฏิบัติจริงขยายออกไปในวงกว้างในองค์กร

    หากครั้งแรกไม่ได้ฟังบรรยายจาก อาจารย์คงต้องอาศัยเวลาอีกมากกว่าจะค้นพบสื่งที่ สคส.ได้ค้นพบไว้นานแล้ว  ผมจึงเห็นว่า สคส.ควรจัดบรรยายต่อไปเพื่อให้หลักคิด KM ไม่มุ่งเรียนรู้แบบ "เสพ" อย่างเดียวต้องหัดนำไปปฏิบัติทดลองเรียนรู้ด้วยตนเองได้ขยายออกไปได้อย่างรวดเร็ว

     การบรรยายยังจำเป็นสำหรับการเรียนรู้แบบไทยที่ถูกปลูกฝังในการเรียนการสอนมาตั้งแต่ชั้นประถมเรื่องใดครูยังไม่ได้สอนห้ามทำต้องรอให้ครูสอนก่อน 

    แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการมุ่งเน้นฟังบรรยายเพื่อหาความรู้โดยไม่ลงมือปฏิบัติ เห็นว่าควรจัดบรรยายในช่วงเริ่มต้นเพียงครั้งสองครั้งเพื่อประคองพอให้เดินเองได้ ตรงแนว  โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก

 

   

   

ถ้าอาจารย์ไม่รับบรรยายน่าจะเปลี่ยนเป็นจัด workshop โดยให้คนในหน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้ร่วมจัด

ใช้เวลามากกว่าแต่น่าจะได้เรียนรู้ และได้แกนในหน่วยงานนั้นๆ

 

จากยุคสมัยของการบริหารงานนโยบายจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง(top down) เป็นจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน(bottom up)  ผมของเสนอว่า การบรรยายของอาจารย์นั้นเป็นเพียงการชี้ทาง หรือแนวทาง นั่นเป็นส่งที่อาจารย์ทำได้ แต่ที่อาจารย์ทำไม่ได้ก็คือ ทำอย่างไรจะให้ผู้ฟังบรรยาย หรือหน่วยงานที่ฟังบรรยายนั้นนำเรื่องที่ฟังไปสู่การปฏิบัติจริง

จนกว่าจะเกิดความตระหนัก หรือเห็นความสำคัญของการปฏิบัติจึงก่อให้เกิดการกระทำ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการตอบสนองอยู่สองทาง คือ ไม่ปฏิบัติตาม และปฏิบัติตาม จาก thinking นำไปสู่ action แต่ล่ะคนไม่เหมือนกัน

และนั่นไม่ใช่ความล้มเหลวของอาจารย์หรือของหน่วยงาน หากวันนี้อาจารย์หยุดที่จะชี้ทาง แล้วเมื่อไหร่ คนอื่นจะรู้ทาง

หากวันนี้อาจารย์สามารถที่จะพาหน่วยงานหรือองค์กรเดินตามทางได้ หากหน่วยงานหรือองค์กรไม่เห็นความสำคัญ หรือยังไม่ตระหนัก ผมไม่คิดนะครับว่า เขาอยากจะเดินทางนั้น

หากเกิดความตระหนักในการจัดการความรู้หรือแนวทาง แม้ว่าหากต้องเดียวคนเดียว หรือไม่มีใครไปด้วยแล้ว เราก็จะเดิน (อาจจะเหมือนกันหน่วยงานของอาจารย์ หรือเปล่า)

อาจารย์ประพนธ์คะ

  • จากวันที่อาจารย์มาบรรยาย KM ที่บำราศครั้งแรกเมื่อ 9 ส.ค. 2548 ผ่านมา 1 ปี 1 เดือน ถึงวันนี้พัฒนาการของบำราศที่เกิดคือ..
  • มีคุณเอื้อ...คือผ.อ. ที่ผลักและดันจน KM ของบำราศเริ่มชัดเจน...มีคุณอำนวย คุณกิจเกิดขึ้นมากมาย บำราศมี blogger ที่เขียนบันทึกใน G2K ถึง 20 กว่าบล็อก
  • เราเริ่มรู้ว่า "การพัฒนาคุณภาพทุกเรื่องจะมี KM เป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ด้วย จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน"
  • ดิฉันยังมองว่าการบรรยายของอาจารย์ยังมีพลังอยู่เสมอค่ะ
  • น่าเสียดายสำหรับหลาย ๆคนที่จะไม่มีโอกาสฟังอาจารย์บรรยายนะคะ
  • อ้อ...หากอาจารย์ไม่รับบรรยาย แต่ถ้าจะเชิญให้อาจารย์มาเล่าแทนละคะอาจารย์จะรับเชิญมั๊ยคะเนี่ย ? (ขำ.ขำ..ค่ะ)

 

ตกข่าวมากครับ ไม่ทราบมาก่อนจริงๆ จนพี่เล็กพูดถึงว่า อ. เคยมาบรรยายที่บำราศมาก่อน

ผมไม่แน่ใจครับว่าการทำ KM ต้องทำมากแค่ไหนจึงจะเรียกว่าสำเร็จ

ทุกวันนี้ได้แค่ สุ จิ ปุ ลิ ก็ยังทำครบบ้างไม่ครบบ้างเลยครับ

แต่สิ่งที่ทำให้ผมหันมาสนใจอ่านและติดตาม คือ

ผลประโยชน์ต่อตัวเราครับ+กำลังใจ+ความเชื่อมั่นในการทำครับ

ไม่ทราบว่าพอเป็นประโยชน์ได้ไหมครับ

 

พลัง KM  ที่จะทำให้เกิด LO ได้นั้นต้องเป็น "ไตรพลัง" คือเป็นพลังที่มาจากทั้ง 3 ระดับครับ 1. ระดับองค์กร (Shared Vision, Leadership, Knowledge Asset, etc.) 2. ระดับทีม (Team Learning, Knowledge Sharing, blog, etc.) และ 3. ระดับปัจเจก (สุจปุลิ, ไตรสิกขา, อิทธิบาทสี่, ect.)

ขอชื่นชมกับทางบำราศที่มีความก้าวหน้าทั้งสามระดับที่ว่านี้ครับ

ครูณัฐ สถาบันฯสิรินธร

อาจารย์ประพนธ์คะ

          ดิฉันอยู่หน่วยงานสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ทำหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียน เริ่มเดิมที  ดิฉันไม่เข้าใจเรื่องการจัดการความรู้  หรือ KM  เลย  ได้อ่านหนังสือ  "การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ"  ที่อาจารย์เขียน  ยอมรับว่าเขียนดีมาก ๆ ทำให้มีความรู้เรื่องการจัดการความรู้มากขึ้น  และในเดือนมิถุนายน 2549 ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) จัดอบรมเรื่องการจัดการความรู้ให้กับผู้บริหารและบุคลากร กศน. ทั่วประเทศ โดยใช้หนังสือ "การจัดการความรู้  ฉบับมือใหม่หัดขับ"  เป็นแนวทางให้ผู้เข้าอบรมได้ศึกษาล่วงหน้าก่อน  การอบรมเป็นไปด้วยดีพอสมควร มีเรื่องเล่ามาเล่าสู่กันฟังอย่างมากมาย แต่สิ่งที่ได้จากเรื่องที่เล่าไม่แน่ใจว่าเป็นขุมความรู้หรือไม่  แต่ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จไปในระดับหนึ่ง วัดจากความพอใจของผู้เข้าอบรม

          ดิฉันชื่นชมและประทับใจในงานของอาจารย์มาก ติดตามอ่าน Blog ของอาจารย์มาตลอด (รู้เรื่อง Blog นิดหน่อย)  ในงานแถลงข่าวมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 3 ที่ สกว. ในวันที่ 10 ตุลาคม 2549  กศน.มีโอกาสได้ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย  พวกเราดีใจที่จะเห็นตัวจริงของท่านอาจารย์  รวมทั้ง นพ.วิจารณ์  พานิช  ด้วย ก็แอบชื่นชมในใจ  เมื่อมาอ่านประสบการณ์ที่อาจารย์ไปเป็นวิทยากรจากหลายที่มาแล้ว  ทำให้ได้ประโยชน์สำหรับตัวดิฉันมาก  ดิฉันก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ให้กับหน่วยงาน กศน.หลายจังหวัด ซึ่งจากประสบการณ์ที่เป็นวิทยากร  ไปบรรยายอย่างเดียว คนฟังนั่งฟังตาใส แต่เข้าใจอย่างลึกซึ้งหรือไม่ก็ไม่ทราบ  จึงใช้วิธีการใหม่ ดิฉันและเพื่อนจึงใช้ VCD  ของ รพ.บ้านตาก เป็นสื่อการอบรม  เปิดให้ชมก่อน แล้วร่วมกันอภิปรายเรื่องราวใน VCD  ทำให้เขามองเห็นภาพชัดขึ้น และกระตุ้นให้เกิดคำถาม จากนั้นจึงเชื่อมโยงเรื่องการจัดการความรู้กับงาน กศน. ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร

          คราวหน้า  ดิฉันจะขอมาแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์อีกนะคะ 

ฟังครูณัฐเล่าถึงพัฒนาการด้าน KM แล้ว...ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ผมเชื่อว่าถ้าอาจารย์เข้างานมหกรรม KM ครั้งที่ 3 แล้ว รับรองว่าพัฒนาการจะต้องเป็นแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน เพราะจะได้เรียนลัดจากหน่วยงานหลายๆ แห่ง....แล้วพบกันในงานวันที่ 1-2 ธันวา นะครับ
อาจเข้ามาช้าไป แต่ขอร่วมเจมด้วย สืบจากเรื่องของครูณัฐ ผมเป็นคนหนึ่งในกศน. และได้ร่วมรับการอบรมที่ครูณัฐว่า ในสคบศ.ยอมรับว่า KM กระตุกต่อมเรียนรู้ของผมมากทีเดียว กลับมาผมอ่านและศึกษา KM อย่างมีความสุขและมีเป้าหมาย แต่การอยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบราชการไทย ๆ คงต้องค่อยเรียนรู้ที่จะทำใจว่าอะไรก็ไม่ได้ดังใจเท่าใดนัก แต่ก็ไม่คิดท้อ อย่างน้อย KM ทำให้ผมได้อะไรมากกว่าที่คิด (ระดับปัจเจก พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ขอบคุณที่จุดประกายคน กศน.ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท