รอยยับทับรอยยิ้ม


แสดงให้เห็นว่า “ชนชาติไทย” เมื่อได้รู้ได้เห็นเรื่องราวของชาวบ้าน แล้วมีความสุข “อ๋อ! ยังมีคนที่แย่กว่าเรา” แค่นี้ท่านที่ได้รู้ได้เห็นก็มีรอยยิ้มในหัวใจ มีเรื่องราวเอาไปเม้าท์ เป็น “Talk of the Town บอกเล่าเคล้าความเห็น เน้นการคาดเดา เขย่าให้มันส์” ทั้งๆ ที่เรื่องนั้น “ไม่มีอะไรเลย!”

แม้น้ำจะท่วมหนักเพียงใด แต่รอยยิ้มไม่เคยจางหายจากใบหน้าของชาวไทย จะยิ้มน้อย ยิ้มมาก ยิ้มลำบาก ยิ้มฝืด ก็ยังถือว่ายิ้ม แม้จะฝืนยิ้มเพราะใจห่อเหี่ยว แต่พฤติกรรมที่ดีงามของชาวไทยที่ใส่ใจเรื่องรอยยิ้มจึงได้เห็นในภาวะวิกฤติ รอยยิ้มดีๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกำลังใจ
 
เรื่องของเขาเราอยากรู้อยากเห็น!
ในแม่น้ำลำคลอง น้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีบางท่านชื่นชอบการยืนดูว่า “มันจะขึ้นสูงไปถึงไหน?” พร้อมๆ กับการลุ้นระทึก จนลืมการเตรียมพร้อมที่บ้านของตัวเอง อาจจะเรียกว่า “อยากรู้อยากเห็นในเรื่องของผู้อื่น!”
 
แสดงให้เห็นว่า “ชนชาติไทย” เมื่อได้รู้ได้เห็นเรื่องราวของชาวบ้าน แล้วมีความสุข “อ๋อ! ยังมีคนที่แย่กว่าเรา” แค่นี้ท่านที่ได้รู้ได้เห็นก็มีรอยยิ้มในหัวใจ มีเรื่องราวเอาไปเม้าท์ เป็น Talk of the Town บอกเล่าเคล้าความเห็น เน้นการคาดเดา เขย่าให้มันส์” ทั้งๆ ที่เรื่องนั้น “ไม่มีอะไรเลย!”
 
แล้วส่วนมากก็ชอบเชื่อในเรื่องมันส์ๆ คันๆ ของชาวบ้านชาวช่อง! กลับไม่เชื่อเรื่องราวแห่งความเป็นจริง ทั้งๆ ที่เจ้าของเรื่องยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ตะแคงยัน ก็กลับถูกตอบกลับว่า “แก้ตัวล่ะสิ!”
 
ซึ่งที่จริงก็คงมีอยู่ในทุกชาติ เพียงแต่มักจะได้ยินคำว่า “ไทยมุง” มากกว่า “ฝรั่งมุง” เป็นไหนๆ
 
แต่เพราะเวลาที่เกิด “ไทยมุง” จะใช้เวลา “มุง” นานกว่าชาวต่างชาติ ขนาด “จะเข้าทำงานสายก็ยังไม่วายขอมุง!” เพราะอยากทราบว่า เรื่องราวจะจบแบบไหน ใครจะเป็นยังไงบ้าง? ต่างกับชนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มาเที่ยวในเมืองไทย หากเห็นและทราบว่า เกิดอะไรขึ้นก็จะถอยห่างออกไป หรือเพราะฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง!
 
“สื่อ” นำเสนอดีมีแต่เรื่องน่าดู(ทั้งนั้น!)
ในมุมของความทุกข์ร้อนที่ทั้งสื่อมวลชน พยายามนำเสนอข่าว ด้วยความเข้มข้น Update ตามสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งที่สื่อนำเสนอ มักเป็นในมุมมองของความหดหู่ หมดกำลังใจ เห็นคราบน้ำตา การพลัดพราก แม้กระทั่งบทเพลง ก็ยังฟังแล้วห่อเหี่ยวหมดเรี่ยวแรง ไม่อยากจะทำอะไร
 
ทำได้แค่เพียง รอรับอาหาร รอรับการเจือจานจากหน่วยงานต่างๆ  เพราะ “อยู่อย่างไร้ความหมาย บ้านช่องกระจัดกระจาย จะอยู่ไปก็รกโลก” กระนั้นหรือ?
 
เปลี่ยนใหม่ได้ไหม? ท่านสื่อมวลชนทั้งหลาย! นำเสนอในด้านสร้างสรรค์ แบ่งปันกำลังใจ ให้เห็นความสามัคคีของหมู่บ้านหรือกลุ่มชุมชนที่มีระเบียบวินัย ใส่ใจความกลมเกลียว รักใคร่สามัคคี ซึ่งมีการนำเสนอน้อยนิด หากเทียบสัดส่วนกับความหดหู่ ทุรกันดาร ความเครียดของการลุ้นระทึกกับ “หัวน้ำ” ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การนำเสนอสูงกว่า
 
รอยยับจงหาย อยากได้รอยยิ้ม
คนไทยในเวลาวิกฤตต้องการรอยยิ้ม ต้องการเสียงหัวเราะมากกว่าปกติ แม้ว่าที่อยู่ของบางท่าน อาจจะไม่เหมือนเดิม ไม่สุขสบายเหมือนอย่างเคย ก็เพราะ “ของมันไม่เคย” แต่สิ่งที่เคยๆ คือ “รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ” สื่อสารมวลชน ต้องเพิ่มบทบาทด้านสร้างสรรค์ให้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ต้อง สามารถสร้างกำลังใจได้ หากจิตใจไม่หมกมุ่น ลุ้นแต่เสนอข่าวสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคม
 
โดยเฉพาะชุมชนใกล้เคียงที่เขม่นมองตาแล้วไฟฟ้าช็อต เพราะต่างไม่พอใจที่ “บ้านฉันท่วม บ้านนายทำไมไม่ท่วมอย่างบ้านฉัน” จึงไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกันทั้งๆ เป็นบ้านใกล้เรือนเคียง
 
เลิกได้ไหม? กับการนำเสนอความจริงที่จริงเกินไป! ยิ่งเสนอเหมือนยิ่งสนอง ดังกองฟืนถูกสาดน้ำมันโหมไฟให้แรงขึ้นเรื่อยๆ กระตุ้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับข่าวสารข้อมูล ชักจะเริ่มคิด “ต้องเอาบ้างจะได้เป็นข่าว หน่วยงานจะได้มาดูแล”
 
ซึ่งแท้ที่จริงก็ “รู้ๆ กันอยู่” ว่าเรื่องราวเป็นเช่นไร เพราะในโลกไซเบอร์ก็ฟาดฟันจนจอกระจาย จอไหม้ ERROR กันไปเป็นแถวๆ
 
ทั้งๆ ที่บุคคลบนจอบางท่าน ยังไม่เคยเจอน้ำท่วมเลย แต่ก็วิจารณ์คนนั้นคนนี้ ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ เมื่อยัง “ตกกระแส” บ้านไม่โดนท่วม เชื่อว่าอีกหลายๆ ท่านก็คงภาวนาให้ท่านที่ขยันวิจารณ์ “โดนจัดหนัก” สักดอกสองดอก เมื่อนั้นก็คงวิจารณ์ไม่ออก เพราะต้องเอาตัวรอดบ้างเหมือนกัน!
 
รอยยับช่วงวิกฤต ที่ควรจะพลิกเป็นรอยยิ้ม สามารถเริ่มได้ทุกวัน อย่าให้ข่าวสารแต่ละวัน ก่อกวนรอยยิ้ม ให้กลายเป็นรอยยับ ยิ้มยังไม่หดหายไปไหน เพียงแต่เราๆ ท่านๆ ได้รับทราบเรื่องราวเศร้าๆ เหงาๆ แสนสลดแต่เพียงด้านเดียว แล้วจะเอาเรี่ยวแรงจากไหนมาเพิ่มรอยยิ้มบนใบหน้า
 
ทุกท่านสามารถรับทราบข่าวสารได้ แต่อย่าให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือดำเนินชีวิต ท่านต้องหนักแน่นกับความคิดและทัศนคติที่ดีงามเท่านั้น แม้ทุกวันนี้จะหลีกเลี่ยงได้ยากเย็นก็ตามที!    
 

www.trainerpatt.com

[email protected]

หมายเลขบันทึก: 474449เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท