กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๕๓) : สนุกกับกลโคลง (๔)


 

การสะท้อนหลังสอน

 

คุณครูปุ๊ก – จินตนา  แผนนี้คิดเสร็จก่อนหยุดปีใหม่ ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมาก ได้คิดกับแผนอย่างเต็มที่ เข้าใจแผนอย่างถ่องแท้ และทำไปทีละขั้น  พอนำเข้าสู่ชั้นเรียนเด็กเริ่มตอบว่า “ไม่ยาก” และเริ่มมีคลังคำสวยๆ ออกมา  เมื่อมีการวางกิจกรรมการเรียนรู้อย่างระบบ เด็กมีความเข้าใจว่ากลโคลงคืออะไร และเดินไปตามขั้นตอนที่เราวางไว้เป็นลำดับ

 

ตอนที่เขียนสรุป เขียนไว้ที่มุมด้านล่างของกระดาน ทำให้เด็กที่นั่งอยู่ข้างหลังมองไม่ค่อยเห็น เวลาที่เด็กนำเสนอบางคนยังเสียงค่อยทำให้เพื่อนคนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มั่นใจว่าได้เห็นเด็กทุกคน และได้ปรับแก้เด็กจริงๆ โดยรวมแล้วเด็กมีความเข้าใจมากขึ้น ดูจากสายตาแล้วคิดว่าดีกว่าครั้งก่อนๆ

 

คุณครูชนก (ครูคู่วิชา) ครั้งนี้ครูปุ๊กดูเป็นตัวของตัวเองมาก อาจเป็นเพราะได้ศึกษาแผน และทบทวนมาอย่างดี  การเรียนรู้ชัด การเชื่อมบทเรียนลื่นไหล มีการให้เด็กสรุปความรู้ และครูพูดอย่างชัดเจน ทำให้เด็กเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายซ้ำ  เป็นตัวอย่างของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดอาการ “ดวงตาเห็นธรรม” เพราะแต่เดิมเคยรู้ว่าควรทำอย่างไร แต่ไม่เคยเห็นตัวอย่างจากห้องเรียนมาก่อน

 

คุณครูก้อย – จุฑารัตน์  ครั้งนี้ได้เข้าใจอิทธิฤทธิ์ของ met before อย่างชัดเจน เพราะตัวเองก็ไม่เคยรู้จักกลโคลงมาก่อน ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ในช่วงที่ห้องเงียบ ครูปุ๊กแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กอ่านโคลงพร้อมกัน เป็นการกระตุ้นให้ห้องตื่นตัวอีกครั้ง

 

ในช่วงการเสนอความคิดเห็นยังมีเด็กหลายคนรอที่จะจดบันทึกข้อสรุป และยังไม่มีการเสนอความคิดเห็นอย่างทั่วถึง การเขียนบทสุปหากมีการเน้นให้เด่นชัด และเขียนในตำแหน่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งเด็กและครู

 

คุณครูนัท – นันทกานต์  วันนี้เห็นว่าครูปุ๊กมีสายตาในการสังเกตเด็กดีขึ้น  อาจเป็นเพราะได้ไปตั้งสติ ได้เตรียมตัวมาดี  ขอเพิ่มเติมในเรื่องของการฟังคำตอบของเด็ก และการเขียนคำตอบขึ้นกระดานว่าหากสามารถใช้คำที่เด็กพูดออกมาเด็กจะสนใจมาก เหมือนเขาจะรอให้ครูเขียนคำของเขา แต่พอครูไม่เขียน เขาก็ขาดแรงบันดาลใจที่จะตอบต่อไป จากนั้นก็เริ่มที่จะไม่ฟังทั้งครูและเพื่อน ในเรื่องการใช้สื่อ ถ้าเขียนเส้นทางเดินของโคลงลงไปในผังกลโคลงด้วยเด็กจะเห็นภาพชัดขึ้น และเป็นการใช้สื่อที่คุ้มค่ามากขึ้นด้วย

 

คุณครูกั้ง – สุริสา   อยากขอบคุณคุณครูปุ๊กที่ช่วยให้วันนี้ได้เห็นห้องเรียนที่ใช้กระบวนการแบบ open approach ชัดเจนมาก  แต่จะขอเพิ่มเติมเรื่องการเขียนกระดานว่า ครูยังไม่ค่อยได้เขียนในสิ่งที่เด็กพูด แต่จะเขียนออกมาเป็นคำสรุปเชิงนิยาม หรือเขียนเฉพาะสิ่งที่ครูอยากได้ยิน

 

คุณครูตั๊ก – รัตดารา  ก่อนการให้การบ้านอยากให้เด็กได้เห็นตัวอย่างที่สมบูรณ์จากงานที่ชั้นเรียนช่วยกันประกอบส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อที่ว่าเขาจะได้กลับไปทำเองได้เลย  ชั้นเรียนวันนี้ขาดช่วงของการให้เด็กถอดผังกลโคลงที่แต่งออกมาเป็นโคลง ทำให้ครูต้องมาอธิบายเสริมในช่วงที่ให้โจทย์การบ้านว่าครูต้องการให้ทำอะไรบ้าง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 474445เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Large_photo47k 

เด็กเอ๋ยเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ

คือทายาทแห่งความหวังในวันหน้า

จงหมั่นเพียรฝึกฝนเรียนวิชา

ทั้งจรรยาศีลธรรมน้อมนำตน

 

นงนาท สนธิสุวรรณ

๑๒ มกราคม ๒๕๕๕

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท