"หนูจะไม่รอเวลาเพื่อดูแลพ่อแม่อีกแล้ว" ... (คำตอบที่ได้มาจากการตอกย้ำอีกครั้ง)


หลังจากนำเสนอบันทึก "หนูเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างเยอะเลยคะอาจารย์" ... (คำตอบหนึ่งที่ผมถามตอกย้ำจากข้อสอบกลางภาค) ซึ่งเป็นตัวอย่างความคิดเห็นของนักศึกษาคนหนึ่งที่เล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงของตัวเองให้ฟัง

มีกัลยาณมิตรมากมายได้เข้ามาเยี่ยมเยียน ก็รู้สึกดีใจที่เห็นหลายท่านให้ความสนใจ

 

ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปหลายปีก่อน กว่าจะได้กระบวนการแบบนี้ก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกมาหลายปี อยากย้อนเวลากลับไปสอนแบบนี้กับนักศึกษาที่ไม่ได้เรื่องได้ราวหลาย ๆ คนที่เห็น

แต่กระบวนการก็ยังไม่ชัดเจนนักในความรู้สึก หากคำตอบที่หลายท่านต้องการ คือ คำตอบที่ต้องมีการอ้างอิงหลักการและทฤษฎีที่มักจะนิยมเวลาเราเขียนผลงานวิชาการ ทำวิจัย ผมคิดว่า ตัวเองมีไม่มากพอ

 

เพื่อนสนิทผมอยู่เอกวัดผลการศึกษา ในบางเรื่องที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมยังเห็นเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจการวิจัยในเชิงคุณค่าทางจิตใจ การเปลี่ยนเลย ทุกอย่างเป็นตัวเลขที่พยายามวัด และจะวัดให้ได้ สิ่งใดก็ตามที่วัดไม่ได้ มักจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือทางวิชาการ

หลัง ๆ นี้เท่าที่เห็นและพอจะทำได้คือ Content Analysis คือ การนำสิ่งที่เราค้นหามาได้มาไล่ความถี่ ทำให้อาจจะพอเห็นเลา ๆ ได้ว่า สิ่งที่เราได้กระทำลงไป อาจจะปรากฎบ้าง

 

การออกข้อสอบอัตนัย ที่ตั้งคำถามให้นักศึกษาได้ทบทวนตัวเองอีกรอบนั้น เป็นการย้ำความคิดอ่านของเขาอีกรอบ เพื่อป้องกันการหลงลืมในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ไปจากสื่อการสอนและจากครูผู้สอนเอง

แน่นอนคำว่า คำตอบที่ต้องการเป็นปลายเปิด และเป็นปลายเปิดที่มีวัตถุประสงค์ลึก ๆ คือ "การเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น" โดยให้เขาเป็นคนวิเคราะห์ตัวเอง และเราเองก็ต้องเชื่อใจเด็กว่า เขาพูดความจริง ถึงแม้บางคนอาจจะเพียงแค่คิด นั่นก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่ให้คะแนนในใจ คือ

๑. การเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองในทุกด้าน

๒. การเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองที่มีคุณพ่อคุณแม่

๓. การเปลี่ยนความคิดและการตั้งเป้าหมายในอนาคตของตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

สิ่งเหล่านี้ สามารถตีค่าเป็นคะแนนได้โดยอาศัยประสบการณ์จากครูผู้สอน ความเปลี่ยนแปลง ความเข้มข้นของการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

แต่ไม่มี Rating วางคะแนนเอาไว้ว่า ถึงตรงนี้ ได้เท่านี้ ... ไม่มี

หัวใจที่มีคุณค่า ... วัดไม่ได้ แต่มองเห็นแนวโน้มที่ดีได้

 

เขียนมายาว เพราะเห็นควรว่า ตัวเองต้องพยายามอธิบายแนวคิดให้ฟังก่อน

การนำเสนอตัวอย่างเพียงคน สองคน ไม่ได้ทำให้กัลยาณมิตรเข้าใจในวิธีการได้

 

ผมตรวจงานมาเป็นพัน ๆ ชิ้นแล้ว ผมจึงเข้าใจลิมิตของตนเอง แต่หากท่านอ่านเพียงชิ้นเดียว อาจจะยังไม่เห็นครับ

แต่ผมยืนยันว่า ผมจะทำให้มันเป็นงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือออกมาให้ได้

 

มนุษย์มีสิ่งเหนือความคาดหมายมากกว่าที่ตาเราเห็น

 

ดังนั้น บันทึกขอยกตัวอย่างความคิดเห็นของเด็กอีกสักคนนะครับ ;)...

เรียนรู้ร่วมกันนะครับ

 

 

 

ตัวเล็ก ... ผมอ่านให้ฟังครับ ;)...

 

 

หลังจากที่ได้ชมวีดิทัศน์ทั้งสองเรื่องแล้วนั้น มุมมองในชีวิตฉันก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนก็คือ นิสัยของตนเอง จากเมื่อก่อนเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ อยากทำอะไรก็ต้องได้ทำ ถ้าไม่อยากทำ แล้วมีคนมาบังคับก็จะรู้สึกหงุดหงิด และเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรที่ยาก ชอบทำแต่สิ่งที่ได้มาง่าย ๆ

แต่พอได้ดูวีดิทัศน์ เกี่ยวกับเรื่อง "ตัวอย่างของคนที่มีคุณค่า" ก็รู้สึกว่า ในบางครั้งที่เรายอมแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้สึกว่ายาก แต่ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่พยายาม ตั้งใจทำให้ถึงที่สุด รู้สึกว่ามันเสียดายโอกาสตรงนั้น

 

ดิฉันมีความใฝ่ฝันอยากจะเรียน มช. อยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ดิฉันมีความฝันแบบนี้มาตลอด แต่ดิฉันไม่ได้ลงมือทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ตอนที่เรียนอยู่มัธยม ดิฉันไม่ได้ตั้งใจอ่านหนังสือ เตรียมสอบเข้า มช. เพราะคิดว่า มันอีกไกล อ่านตอนใกล้ ๆ ก็ได้ ดิฉันปล่อยให้เวลาและโอกาสนั้นหายไป และมันก็กลับคืนมาไม่ได้

แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ดิฉันก็ได้เรียนสายครู แม้ว่าจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ดิฉันใฝ่ฝันไว้ก็ตาม แต่ดิฉันก็จะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำโอกาสนี้ไม่ให้มันหลุดลอยไปไหน ดิฉันอยากจะเรียนได้เกียรตินิยม และดิฉันก็จะทำให้ได้

 

และหลังจากที่ดิฉันได้ชอม การสัมภาษณ์ พ.อ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา ก็ทำให้ดิฉันคิดได้หลาย ๆ อย่าง

จากเมื่อก่อน เวลาที่แม่บอกให้ดิฉันทำอะไร แล้วดิฉันไม่อยากทำ ดิฉันก็จะอ้างนู้นอ้างนี่สารพัด จนแม่ต้องทำเอง แต่จากนี้เวลาที่แม่ให้ทำอะไร ดิฉันก็พร้อมที่จะทำให้แม่ทุกอย่าง และดิฉันจะพูดเพราะ ๆ กับท่าน เพราะเวลาที่ท่านถามอะไรดิฉัน แล้วดิฉันบอกไปแล้ว พอท่านถามอีก ดิฉันก็จะตะเบ็งเสียงใส่ท่าน สีหน้าของท่านนั้นสลดลง ดิฉันเองก็รู้สึกเสียใจและโกรธตัวเองเหมือนกันที่ได้กระทำสิ่งนั้นลงไป

 

สำหรับพ่อแล้ว พ่อเป็นคนที่ไม่ชอบพูด วันนั้นดิฉันไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วกลับบ้านค่ำ พ่อโทรศัพท์ไปหาดิฉัน แต่ดิฉันไม่ได้รับ พอกลับมาถึงบ้าน พ่อนั่งรออยู่หน้าบ้าน พอพ่อเห็นดิฉัน พ่อไม่ได้ดุด่า แต่แค่ถามว่าไปไหนมา กินข้าวมาหรือยังเท่านั้น

จากนี้ไปดิฉันก็จะทำตัวเป็นลูกที่ดีของท่าน จะดูแลท่าน ณ ปัจจุบันนี้และตลอดไป จะไม่รอให้ดิฉันเรียนจบหรือให้พ่อแม่แก่ชราก่อนแล้วค่อยดูแล (ตรงนี้เป็นคำที่ผมสอนเขาเอง)

 

..............................................................................................................

 

ชีวิต คือ การเรียนรู้

การที่เขาได้มองเห็นชีวิตของคนอื่น มันสะกิดความหลังที่เขาเคยทำความผิดพลาดเอาไว้

ยิ่งพ่อกับแม่ด้วยแล้ว ... ความรู้สึกผิดมันเกาะกินใจของเขามาตลอด แต่ไม่กล้า รู้สึกอาย ในสิ่งที่ควรทำ ซึ่งอาจจะเป็นด้วยวัยของเขา

หน้าที่ของเรา คือ เตือนโดยใช้สื่อ เราบอกตรง ๆ ไม่ได้ เขายังไม่เชื่อ จนกว่าจะได้เห็นของจริง

เมื่อวีดิทัศน์และครูผู้สอนอย่างผม สะกิดเขาเสร็จแล้ว

เขาจะรู้ด้วยตัวเองว่า ...

หากมันสายเกินไปล่ะ มันไม่ผิดตลอดชีวิตหรือ

ผลจึงเห็นดั่งตัวอย่างที่นำเสนอไว้ครับ ;)...

 

เชื่อไหมครับว่า เกือบทั้งห้องคิดออกมาในแนวทางแบบนี้

 

บุญรักษา ทุกท่านนะครับ ;)...

 

..............................................................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 472701เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2011 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

คิดเพียงว่า หากเด็กมีจิตสำนึกเรื่อง ความกตัญญู ทำอะไรให้คิดถึงพ่อแม่ ก่อน

รู้ว่าตัวเองรัก ถนัดอะไร และมีความมุ่งมั่น จะเรียนหรือทำอะไรก็ราบรื่นเสมอ

และอ. อคลมน ก็สัมฤทธิ์ผล แล้วกับช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือน ส่งกำลังใจเจ้า :)

ยอดเยี่ยมครับ อ่านแล้วรู้สึกปีติ ตื้นตันใจอย่างยิ่งครับผม

นั่นคือแก่นหลักเลยครับ คุณ Poo ;)...

การเริ่มต้นด้วย "ความกตัญญู" จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น

๒ เดือนผ่านไป คงต้องตามต่อไปครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ธนากรณ์ ใจสมานมิตร ที่ติดตามต่อเนื่อง ;)...

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • อ่านแล้วชื่นใจไปกับอาจารย์ค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ทำต่อค่ะอยากให้อาจารย์ท่านอื่นเอาไปใช้ด้วยค่ะ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ พี่พยาบาล สุภัทรา - เจติโคตร ;)...

หากมันสายเกินไปล่ะ มันไม่ผิดตลอดชีวิตหรือ

ชอบจังประโยคนี้....ขอบคุณบทความดี-ดี ที่ได้ตระหนักรู้

นมัสการครับ พระคุณเจ้า Phra Anuwat ;)...

ขอบพระคุณมากครับท่าน ;)...

สวัสดีค่ะ

..การทำความดี..ไม่ต้องรอเวลา..

ใกล้ปีใหม่แล้ว...สุขให้มีความสุขและสมปรารถนาในสิ่งที่ตั้งใจนะคะ

มาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ Was

  • ชอบวิธีการออกสอบข้อสอบของอาจารย์มากครับ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เขาต้องผุดรู้ขึ้นมาเองแบบที่อาจารย์สร้างประสบการณ์ให้แบบนั้นนะครับ ผมต้องลองเอาไปใช้บ้าง
  • อยากถามว่า เป็นการสอบแบบ formative หรือ summative ครับ เพราะถ้าเป็นการสอบแบบเพื่อได้/ตกอาจารย์คงหนักใจเรื่องเกณฑ์การให้คะแนนแหงๆ
  • อยากถามประสบการณ์อาจารย์ด้วยว่า อาจารย์คงอารมณ์ของตัวเองในการให้คะแนนตอนตรวจข้อสอบได้ยังไง เวลาต้องตรวจข้อสอบอัตนัยมากๆ สมมุติว่า ตรวจข้อสอบไปครึ่งทาง แล้วต้องวางมือไปเข้าประชุมก่อน แล้วหงุดหงิดกลับมาตรวจข้อสอบต่อ เรามีโอกาสให้คะแนนนศ.ครึ่งหลังลดลงมั้ย
  • ผมเป็นคนชอบออกข้อสอบอัตนัยเหมือนกัน แต่นศ.ผมมีแค่ไม่เกินสิบ ไม่เป็นร้อยอย่างของอาจารย์ ก็เลยใช้วิธี ต้องให้เวลาตรวจข้อสอบด้วยอารมณ์เดียวกันให้เสร็จทั้งหมด ไม่ให้มีอะไรมาขัดจังหวะระหว่างทาง

 

  • เวลาที่ผมให้เขาเขียนตอบเรื่องความประทับใจ หรือ การพัฒนาตนเองแบบเขียน portfolio ผมจะกังวลเรื่อง bias ของ narrative ตรงที่ นศ. มักจะเขียนแต่ส่วนที่ดี ส่วนที่ตนเองทำดี ส่วนที่อยากเล่าอยากเขียน ผมก็เลยกำหนดเป็นหัวข้อแยกกัน ให้เขียนทั้งเชิงบวกและลบครับ เช่น อะไรเป็นสิ่งสนับสนุน กับ อุปสรรค ในการพัฒนาตนเองด้านนั้น
  • ถามไปถามมา พิมพ์ไปพิมพ์มา ความยาวจะกลายเป็นบันทึกย่อยๆบันทึกหนึ่งแล้ว

ดีใจให้กับการมีชีวิตจะถึงปีใหม่อีกแล้วรีบทำส่ิงดีๆๆให้กับชีวิตเวลาผ่านไปเรียกคืนไม่ได้อย่าให้เวลาผ่านไปเสียเปล่ามาร่วมกันแสดงความกตัญญกับผู้มีพระคุณที่ใกล้ตัวก่อนคนอื่นนะค่ะ สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุขในครอบครัว สมหวังดังใจคิด จ๊ะดีใจที่ยังพบกันอีกปีมะโรง รักษาสุขภาพไว้ทำความดีไม่ให้โลกไม่ลืมชื่นะจ๊ะ

ไม่รอครับ คุณ กิ่งไผ่ใบหลิว ;)...

เราจะทำความดีไปเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่วินาทีกันเลย

ขอบคุณมากครับ ;)...

เรียน อาจารย์หมอ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ;)...

การแลกเปลี่ยนแต่ละประเด็น ทำให้ผมเปิดห้องสมุดส่วนตัวกันจ้าละหวั่นทีเดียวครับ อิ อิ

คำถามแรก : เป็นการสอบแบบ formative หรือ summative ?

ขอตอบว่า : ข้อสอบข้อนี้ น่าจะไม่เข้าข่าย ทั้ง formative (สอบย่อย) หรือ summative (วัดผลเมื่อสิ้นสุด) เลยครับ

หากจะใกล้เคียงก็อาจจะเป็น formative ... ใกล้เคียงเพราะเป็นเหมือนส่วนเกินที่เกาะอยู่กับการสอบเนื้อหาอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์เท่านั้นครับ

กระบวนการสอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เตือนสตินักศึกษาให้มีโอกาสทบทวนชีวิตของตนเอง ดังนั้น ผมยอมใช้คะแนนส่วนหนึ่งของเนื้อหามาวางเป็นเงื่อนไขให้เขา (เป็น formative ในคาบเรียน ซึ่งเขาต้องเขียนบรรยายไปแล้ว ๑ รอบ หลังจากชมวีดิทัศน์จบ)

แต่การนำคำถามมาแทรกไว้ในข้อสอบกลางภาค ก็เป็นการยอมเสียคะแนนจากเนื้อหาอีกครั้ง (๑๐ ใน ๑๐๐ คะแนน)

ทำเพื่อติดตามความก้าวหน้า ความคงทนในความจำ ความตั้งใจระดับขั้นของการคิดเปลี่ยนแปลงตนเอง

ดังนั้น ภายในคาบผมก็ให้เขา ๑๐ คะแนน สอบกลางภาคแบบนี้ ผมก็ยังให้เท่ากันเหมือนเดิม

การตรวจข้อสอบเพื่อให้คะแนนข้อนี้ จึงมีข้อมูลเบื้องต้นไปแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะเป็นถามครั้งที่สอง เพื่อตรวจสอบดังที่กล่าวมาครับ โดยตัวเขาเองจะวิเคราะห์ตัวเองได้อย่างแน่นอนว่า ตัวเองเปลี่ยน หรือ ไม่เปลี่ยน มาก หรือ น้อย และอย่างไรครับ

ถึงผมอาจจะสอนเด็กเป็นจำนวนมากกว่าของอาจารย์หมอ แต่ผมอาศัยการสังเกตของตัวเองในพฤติกรรมส่วนตัว และชิ้นงานที่ได้ลงมือทำ

โดยเฉพาะชิ้นงาน มันมีกรอบการให้คะแนนบางอย่างที่จะทำให้เด็กเขาเข้าใจจากผมว่า หากเขาต้องการคะแนนจากผมในทุก ๆ ด้าน เขาควรจะต้องทำอย่างไร

แน่นอนว่า ผมเน้นความซื่อสัตย์ การเปิดใจ หิริ-โอตัปปะ

ผมจึงชิ้นงานย่อยมากกว่าคนอื่น เพราะงานชิ้นย่อยจะค่อย ๆ กล่อมเกลาให้เขา เข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการให้เขา "เปิดใจ" ออกมา

คะแนนที่ออกจึงสรุปทุกครั้งว่า ทำไมครูให้คะแนนแบบนี้ เพราะเหตุผลที่กล่าวมาครับ โดยเฉพาะใครเปิดหัวใจมา ครูจะให้คะแนนเยอะ

กล่อมเกลาด้วยงานไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงข้อสอบกลางภาคข้อนี้ครับ

ความเชื่อถือและความเชื่อมั่นจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ยิ่งประสบการณ์แนวทางการสอนแบบนี้หลาย ๆ ปี ช่วยได้ง่ายมากครับ

สมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ เด็กอย่างไรก็คือ ผ้าขาว ผ้าเทา แต่ไม่ถึงผ้าดำ แน่นอนครับ

 

คำถามที่สอง : เรื่องการตรวจข้อสอบอัตนัย

ขอตอบว่า : ผมถูกสอนจากนักวัดผลมือฉมังว่า การตรวจสอบอัตนัยนั้น ให้ตรวจทีละข้อ ทีละข้อให้ครบทุกคน รวดเดียว

เมื่อเสร็จข้อแรก ก็ให้ตรวจข้อต่อไปอีกรวดเดียว

พักได้ แต่ห้ามไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ เพราะโอกาสของคะแนนจะขึ้น ๆ ลง ๆ จะไม่เท่ากัน เพราะสภาวะอารมณ์และมาตรฐานที่ของมนุษย์มันไม่แน่นอน

เป็นเหมือนกันทุกคนแหละครับ

ดังนั้น ผมจะหาเวลาที่ไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ ตรวจทีละข้อให้จบ แล้วพัก เมื่อมีเวลาว่างอีก ก็จะตรวจอีกข้อให้ครบคน

รักษา BIAS จากตัวเองไงครับ ;)...

ครูต้องรักษาความยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบน่ะครับ

 

คำถามที่สาม : เรื่องความไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่นักศึกษาเขียนมานั้น

ขอตอบว่า : ผมเองก็ไม่รู้จะตอบอาจารย์หมออย่างไรดี

เอาความคิดเห็นส่วนตัวแล้วกันนะครับ ...

ดั่งที่ผมกล่าวไว้ในคำตอบข้อแรก ... กว่าจะมาถึงข้อสอบข้อนี้ได้ เขาต้องเรียนรู้ความเป็นเรา ความเป็นเขา รูปแบบ คำสอนที่เขาให้เขาไว้ โดยมีคะแนนเป็นเงื่อนไขเล็ก ๆ จากกิจกรรมหรือชิ้นงานที่เรามอบให้เขาไว้

แต่ละชิ้นงานมีวัตถุประสงค์แฝงในเรื่องจิตพิสัยเสมอ ไม่สอนแต่พุทธิพิสัยอย่างเดียว ให้คะแนนแต่เนื้อหาแล้วเลิก แบบนี้คะแนนจะเป็นใหญ่กว่าสิ่งที่เราให้เขาเป็น

เขาจะโกหก หลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ เห็นแก่ตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะเท่านั้น

อีกเรื่อง คือ การวางคะแนนครับ

ผมตั้งคะแนนการสอบไว้น้อยมาก เมื่อเทียบกับชิ้นงานที่เขาต้องทำ สอบกลางภาคและปลายภาค อย่างละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จิตพิสัย ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ งานเท่านั้น

หากจิตพิสัยมีปัญหา ผมจะหักข้ามกองมายังงานอีก ไม่มีการล็อกกองคะแนน

ดังนั้น คำตอบในข้อนี้ คือ กว่าจะมีถึงข้อสอบข้อนี้ มันต้องวางกระบวนการนำร่องมาก่อนครับอาจารย์

ความเชื่อมั่นในคำตอบนั้น จึงจะเกิดได้

 

ขอบคุณอาจารย์หมอเต็มมากครับ ที่ชวนผมคิดได้ยาวขนาดนี้

ทำเป็นบันทึกเสียเลยดีไหมครับเนี่ย 555 

ขอบคุณมากครับ พี่ มะลิ มะลิ สิงห์ชัย ;)...

สบายดีนะครับ

  • อาจารย์ Was ทำให้ผมเข้าใจแจ่มขึ้นถึง กระบวนการ สอนและสร้างคน มันต้องวางแผน เชื่อมโยงจากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่ง อย่างใจเย็น
  • ผมตั้งคำถามมาก เพราะสนใจเรื่อง reflective learning อยู่ด้วยครับ
  • คงไม่ได้รบกวนอาจารย์จนเกินไปนะครับ
  • ขอบคุณอีกครั้ง ได้คำตอบแล้ว คืนนี้ผมคงหลับฝันดี ขอให้อาจารย์ฝันดีด้วยเช่นกันนะครับ

อาจารย์หมอ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ครับ ;)...

ไม่รบกวนแต่อย่างใด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนฯ ที่ทำให้ผมต้องปลุกความคิดขึ้นมาจากภวังค์ เพื่อให้สามารถตอบให้อาจารย์หมอ (พอ) เข้าใจในกระบวนการที่มันจับมาปะติดปะต่อ โดยอาศัยประสบการณ์การสอนหลาย ๆ ปีของผม จึงได้เกิดผลอย่างที่อาจารย์หมอได้อ่านไป

"ผลการสร้างคนดี" มันหอมหวลและชื่นใจครับ

ฝันดีเช่นกันครับ ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชื่นชมอาจารย์ค่ะ การพาเรียนรู้ที่มากกว่าการสอน เกิดการเปลี่ยนแปลง

ชื่นชมนักศึกษาในจิตสำนึกดีๆต่อพ่อแม่

เวลามีค่านัก

อ่านแล้วได้ข้อคิดค่ะ ทำดีวันนี้ดีกว่ารอจนสายเพราอาจเป็นเป็นสิ่งที่ค้างคาใจและความรู้สึกผิดในภายหลัง

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

ยินดีและขอบคุณเช่นกันครับ คุณ ถาวร ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท