งานหนักมากไป น่าจะเป็นผลร้ายต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย


เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำงานในจุดที่เป็นการทดสอบพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องทำด้วยวิธี manual คือหยดๆ เติมๆ หยอดๆ ผสมๆ ในหลอดทดลองแบบที่นักเคมีทั้งหลายเขาทำกันให้เห็นในหนังนั่นแหละค่ะ ปกติการทดสอบพวกนี้จะมีไม่กี่รายในแต่ละครั้ง เราจะแบ่งกลุ่มให้กระจายกันไป และแยกทำในแต่ละวันไม่ให้งานหนักเกินไป แล้วยังต้องรับงานเช่น ตรวจเช็คผลซ้ำ เป็นบางวันด้วย

ปรากฏว่าโชคดีมหาศาล มีการขอสั่งทำการทดสอบ 17-KGS ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนในปัสสาวะ ถึง 7 ราย การทดสอบนี้ไม่มีการขอทำมาตั้งแต่ ปี 2544! และส่วนใหญ่จะขอมาแค่เพียง 1-2 ราย ตัวเองได้รับการต้อนรับด้วยจำนวนขนาดนี้ ตอนแรกรู้สึกคึกคักมาก ถือว่าเป็นโชคดี แต่....

พอลงมือทำจริงๆ ขั้นตอนการทำประกอบด้วยการสกัดด้วยสารเคมีที่ดุเดือดเช่น กรด acetic, กรด hydrochloric แล้วแถมด้วยสารอินทรีย์ที่มีกลิ่นแรงๆหลายตัว รวมทั้ง dichloroethane เวลาทำก็ต้องใส่หน้ากาก ทำในตู้ดูดควัน แต่ที่ร้ายก็คือมีขั้นตอนการเขย่าหลอดอ้วนๆ (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วกว่าๆ) ทั้ง 7 หลอด ทีละ 15 นาที 2-3 ครั้ง ต้องปั่นให้แยกชั้น แล้วดูดเอาส่วนที่แยกมาสกัดต่อ ทุกขั้นตอนล้วนแต่ส่งผลให้คนทำต้องสูดดมกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา แถมเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนร่วมห้อง lab ด้วย เรียกว่าทรมานกันถ้วนหน้า แม้จะมีตู้ดูดควัน แต่หลายขั้นตอนก็ต้องทำนอกตู้ ขั้นก่อนสุดท้าย ต้องเอาไปทำให้ระเหยด้วยก๊าซไนโตรเจน ใน water bath อุณหภูมิ 57 องศาเซลเซียส ทรมานสุดๆเพราะเวลา set up ไอระเหยมันลอยเข้าตา ขนาดใส่แว่นก็ยังแสบตา กว่าจะปล่อยให้มันตั้งอยู่เองได้ กระบวนการทั้งหลายนี้ใช้เวลา 2 วันค่ะ แถมเนื่องจากไม่มีการทดสอบนี้มาตั้ง 4-5 ปีแล้ว สารเคมีทั้งหลายที่ใช้ หลายตัวก็ต้องเตรียมใหม่ อุปกรณ์ก็ต้องหากันเป็นอลเวง ยังดีที่พี่นุชรัตน์ ทำ test ที่เป็นกลุ่มเดียวกัน คือ 17-KS และ 17-OHCS ซึ่งขั้นตอนน้อยกว่า แต่มีอุปกรณ์ร่วมหลายอย่างที่ทำให้มีคนช่วยหา และต้องเขย่าเป็นเพื่อนกัน

ปรากฏว่า ทั้ง 2-3 วันที่ทำการทดสอบนี้ ล้าไปหมดเลยค่ะ รู้สึกว่าตัวเองเครียดและในจมูกสะสมกลิ่นกรดเอาไว้ หลังจากที่ทำเสร็จ หมดแรง ใจแฟบไปเป็นกองเลย หัวสมองอ่อนล้า คิดอะไรไม่ออกไปเลย ค้นพบเลยว่างานหนักแบบนี้ มีผลกระทบมากกว่าที่คิดมากจริงๆ

เขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นที่ระลึกว่า เราปิดทองแผ่นใหญ่ใต้ฐานพระ กว่าจะได้ผลออกมาเป็นตัวเลขเพียงไม่กี่ตัว เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคให้แก่คนไข้ ซึ่งเมื่อนึกถึงแล้วจะทำให้ความหนักเหนื่อยของเราเบาลงไปมาก เพราะการเป็นโรคคงจะทำให้ทุกข์นานและหนักกว่าเราหลายเท่านัก

หมายเลขบันทึก: 47159เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ขอบพระคุณมากครับที่ทำให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของคนทำงาน ที่หลายคนคิดว่าน่าจะสบาย
  • ขอส่งกำลังใจมาให้ชาว Lab ทุกๆ ท่านด้วย สู้ๆ ครับ
       สู้ๆ ค่ะพี่โอ๋ เข้าใจความรู้สึกนี้ดีมากๆ เพราะวันนี้เป็นวันที่เจอกรณีเดียวกับพี่เลย  แต่อาการไม่สาหัสมากเพราะไม่มีกลิ่นรบกวน จงภูมิใจในวิชาชีพของเราค่ะเพราะเราไม่ได้ทำงานโดยอาชีพ  
โดยเฉพาะงานทางพิษวิทยา(TOXICO)  ยังต้องใช้เทคนิคเหล่านี้อยู่เยอะเลย นอกจากทนกรดทนด่างแล้วยังมีOrganic solvent อีกเพียบที่พิษสมชื่อ  ตอนนี้แขนเป็นมัดๆ อดใส่แขนกุดเลย
ไม่รู้จะ response อย่างไร มีข้อเสนออะไรก็บอกนะคะ

ในที่สุดเราก็ตัดสินใจขอยกเลิกการตรวจ 17-KGS แล้วค่ะ เดือนมิถุนายน 2553 ขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์กันหน่อย หวังว่าการตรวจ urine free cortisol ที่แพทย์ต้องการแทนจะมีให้บริการในเมืองไทยในอีกไม่นานข้างหน้านะคะ (ยังไม่รู้ว่าหวังเกินจริงไปหรือเปล่านะคะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท