ถึงเวลา...เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ


การจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับภัยพิบัติให้กับนักเรียนเป็นการช่วยลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

           นับวันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังถูกภัยคุกคามจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster)มากขึ้น และรุนแรงขึ้น  มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาเกิด  สึนามิครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็ยังไม่สามารถต้านความรุนแรงของภัยพิบัติ   สึนามิไว้ได้ มีผู้คนเสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก และล่าสุดที่ประเทศไทย สิงหาคม-พฤศจิกายน 2554 เกิดมหาอุทกภัยหรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ภาคเหนือจรดกรุงเทพฯ มูลค่าความเสียหายนับแสนล้าน คงถึงเวลาแล้วกระมังที่มนุษย์ และคนไทยเราต้องเปลี่ยนท่าทีและวิถีชีวิตให้สามารถเอาตัวรอด หรือปรับตัวอยู่กับสถานการณ์อันวิกฤติให้ได้  

           ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster Preparedness)น้อยมาก ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงปริญญาตรีมีการซ้อมอพยพหนีภัยแผ่นดินไหวหรือสึนามิ อย่างน้อย    ปีละ 1 ครั้ง หากเกิดแผ่นดินขนาดต่ำกว่า 5 ริกเตอร์ จะไม่มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตเลย เพราะพวกเขามีความรู้และทักษะในการเอาตัวรอดเป็นอย่างดี  หรือกรณีทิลลี่ สมิธ เด็กหญิงวัย 11 ขวบ ชาวอังกฤษ ที่จดจำและนำความรู้เกี่ยวกับสึนามิที่ได้รับจากการเรียนวิชาภูมิศาสตร์  ในชั้นเรียนระดับประถมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  และสามารถช่วยชีวิตครอบครัวของตนเอง ตลอดจนเพื่อนนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนกว่า 100 คน ให้รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศไทย (ยอดเยี่ยมจริง ๆ ทิลลี่)

              

           การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติให้กับนักเรียนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตผ่านการจัดการศึกษาจึงเป็นการพัฒนาที่ถูกทางและยั่งยืน (Sustainable) อีกไม่นานเราคงเห็นเด็กไทยตามโรงเรียนต่าง ๆ มีการซ้อมแผนอพยพ (Evacuation Drill) เพื่อเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Response) การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย (Hazard Map) จัดกิจกรรมการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) การจัดเตรียมชุดฉุกเฉิน (Emergency Kit) กิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย  ผู้ปกครองและชุมชนคงต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนฉุกเฉินของโรงเรียน (Emergency Plan) นึกภาพแล้วเด็ก ๆ คงมีความตื่นเต้นเมื่อได้ฝึกซ้อมแผนอพยพ คงมีความสนุกในการลงภาคสนามทำแผนที่เสี่ยงภัย

           ผู้ปกครองที่บ้านเอง หากตระหนักในเรื่องของการเตรียมความก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกวันนี้เราไม่อาจเป็นฝ่ายตั้งรับได้อีกแล้ว เราต้องช่วยกันเป็นฝ่ายตอบโต้ภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว ความสูญเสียและความเสียหายคงไม่เกิดหรือเกิดน้อย หากเรามีการเตรียมความพร้อมที่ดี คงถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันแล้วนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 469469เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยาวชนต้นกล้า อาสาแจ้งเหตุเตือนภัย ที่ปากพะยูนทำงานกัน จนผู้ใหญ่ต้องหันมาทำตามเด็ก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท