อ้วน ทำไมเราถึงอ้วน


  ทำไมเราจึงอ้วน? 

การที่เราอ้วน อาจมีสาเหตุมาจากสภาพหรือพฤติกรรมดังต่อไปนี้ :

1. กินอาหารมากเกินไป? 

อาหารมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยร่างกายนำไปใช้ ในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนสึกหรอ อีกทั้งยังใช้เผาผลาญเป็นพลังงานให้ร่างกายได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ถ้าหากรับประทานเข้าไปมากเกินไป และใช้ไม่หมด เช่นไม่มีการออกกำลังกาย หรือไม่มีกิจกรรม ที่ต้องใช้พลังงาน อาหารก็จะเปลี่ยนไปเป็นไขมัน สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อสำรองไว้ใช้ในเวลาจำเป็น จึงเป็นสาเหตุของความอ้วน
    ดังนั้น ยิ่งบริโภคมาก ก็ยิ่งอ้วนมาก และถ้าอยากจะลดความอ้วน ก็ต้องลดการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน หรือบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ หรือพร่องไขมัน
     นั่นเป็นข้อมูลที่แพทย์และนักโภชนาการส่วนใหญ่ ชักชวนให้ท่านเชื่อ และปฎิบัติตาม แล้วท่านก็เชื่อ เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอาหารและความอ้วน แล้วผลเป็นอย่างไร? ท่านก็เลยอ้วนตามคนอื่นเขา    ความอ้วนได้กลายมาเป็นแฟชั่นของรุ่นใหม่ไปแล้ว

2. ความผิดปกติของต่อมที่ควบคุมการเจริญเติบโต 

คนที่เป็นโรคที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานในระดับต่ำกว่าปกติ (hypothyroidism) ทำให้มีอัตราการเมตาบอลิสซึมช้าลง โดยเฉพาะไปเพิ่ม LDL แต่น้ำมันมะพร้าวสามารถเปลี่ยน LDL ให้เป็นเปรกนีโนโลน (pregnenolone) โปรเจสเตอรอล (progesterol) และดีไฮโดรเอบปิแอนโดรสเตอรอล (dehydroepiandrosterol - DHEA) สารเหล่านี้ ช่วยทำให้คงระดับการเผาผลาญอาหาร จึงไม่มีอาหารสะสมเป็นไขมัน (Lee, 2005) ในทำนองเดียวกัน ผู้สูงวัยก็มักจะอ้วนขึ้น ทั้งนี้เพราะความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ 

3. กินไขมันไม่เพียงพอ 

     คุณเป็นคนอ้วนด้วยคนหนึ่งใช่ไหม?  แล้วคุณก็ได้พยายามลดความอ้วนโดยการรับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่สำเร็จ (เพราะถ้าสำเร็จ คุณก็คงไม่ต้องพยายามหลายครั้งหลายหนหรอก!)  คุณไม่ใช่คนเดียวหรอก ที่อ้วน เพราะคุณมีสมัครพรรคพวก ที่นับวัน ก็จะกลายเป็นคนหมู่มากในสังคมปัจจุบัน และทุกคน ก็หาวิธีลดความอ้วนต่าง ๆ นานา
      มีสถิติที่น่าสนใจ กล่าวคือ คนอ้วน 2 ใน 3 คน ที่ลดน้ำหนักได้โดยการรับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำ  กลับเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีกภายใน 1 ปี  และหลังจากนั้น 5 ปี  97 คนใน 100 คน กลับอ้วนขึ้นดังเดิม (Fife, 2008)  นั่นหมายความว่า การลดน้ำหนักโดยการรับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำ เป็นความล้มเหลวถึง 97%
การที่คุณอ้วน เป็นเพราะคุณบริโภคไขมันไม่พอ  ถูกแล้วครับ ประโยคที่คุณเพิ่งอ่านผ่านไป ไม่ผิดหรอกครับ เหตุที่คุณคิดว่าผิด ก็เพราะว่าคุณได้รับข้อมูลที่ว่า ไขมันเป็นตัวการของความอ้วน ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย พยายามที่จะปรักปรำไขมัน จนทำให้ทุกคนพากันรังเกียจ และคิดเอาว่า ไขมันคือไอ้ตัวร้าย ที่ต้องหลีกเลี่ยงในการบริโภคอาหารแต่ละมื้อ เดี๋ยวนี้ เราพากันบริโภคไขมันน้อยลง 
      แต่ก่อน เรากินนมเต็มส่วน (whole milk) เนย และไข่ และยังชอบรับประทานไขมันที่ติดมากับเนื้อ หมู และไก่ (เพราะมันอร่อยดี)  อาหารที่ผัด/ทอด ต้องใช้น้ำมันหมู หรือน้ำมันมะพร้าว 
      แต่เดี๋ยวนี้ เราขยะแขยงไขมันราวกับว่ามันเป็นผีห่าซาตาน ตามชั้นในร้านชำ หรือซุปเปอร์มารเก็ต ก็เต็มไปด้วยอาหารที่มีฉลากระบุว่าเป็นอาหารพร่องไขมัน ไขมันต่ำ หรือปราศจากไขมัน ที่ขายกันในราคาสูงลิบลิ่ว  ภัตตาคารและร้านอาหารทั่วไป ก็บริการท่านด้วยอาหารไขมันต่ำ หรือพร่องไขมัน  ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เราบริโภคไขมันลดลง 11% และลดแคลอรีรวมลงไป 4 % (Heini and Weinsier, 1997) ถึงกระนั้น พวกเราส่วนใหญ่ ก็กลับอ้วนเอา ๆ
     ในปัจจุบัน คนอเมริกันเกือบ 60% มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ในจำนวนนี้ 31% เป็นโรคอ้วน ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของเมื่อ 20 ปีก่อน  แม้แต่เด็ก ๆ ของเราก็อ้วนขึ้น ในบรรดาเด็กที่มีอายุ 6-19 ปี 15% มีน้ำหนักเกินอย่างรุนแรง สำหรับเด็กอเมริกัน มีจำนวนถึง 9 ล้านคน มากเป็นสามเท่าของเมื่อ 30 ปีก่อน นับตั้งแต่กระแสการบริโภคไขมันต่ำเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษปี 1970 เราทุกคนต่างก็อ้วนขึ้นและอ้วนขึ้น
     มีความจริงอันหนึ่งก็คือ ใครก็ตามที่ลดการบริโภคไขมันมากที่สุด และกินน้อยที่สุด กลับมีปัญหามากที่สุดในการลดน้ำหนักตัว  คุณเคยเห็นคนที่มีรูปร่างบอบบาง ที่กินอาหารที่มีแต่ไขมันอย่างพายุบุแคม แต่ไม่ยักกะอ้วน บ้างไหม?   แต่ตัวท่านเอง ซึ่งไม่ยอมกินข้าว กินแต่ผักสลัด ราดด้วยน้ำสลัดไขมันต่ำกลับมีน้ำหนักเพิ่มเอา ๆ
     มีผลงานวิจัยที่แสดงว่า คนที่บริโภคอาหารที่มีไขมันอย่างพอเพียง จะกินอาหารน้อยกว่าคนที่พยายามลดปริมาณไขมันในอาหาร  ยิ่งคุณกินน้อยลงเท่าไร ปริมาณแคลอรีก็จะน้อยตามไปด้วย การได้ปริมาณไขมันในอาหารอย่างพอเพียงมีความจำเป็นสำหรับการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างถาวร
     มีหลักทางจิตวิทยาอันหนึ่ง ก็คือ เมื่อคนเราหิวหลังจากกินอาหารแต่ละมื้อ เราจะกินอาหารมื้อต่อไปมากขึ้น  เหตุผลอันหนึ่งที่ไขมันมีความจำเป็นสำหรับการลดความอ้วนก็เพราะมันทำให้เราอิ่มทน ไม่หิวเร็ว ดังนั้น จึงไม่เกิดความอยากกิน ผลก็คือ เรากินอาหารน้อยลง ไขมันเป็นตัวการที่ทำให้ท้องว่างช้าลง เราจึงรู้สึกอิ่มนานขึ้น เมื่อเราหิวน้อยลงระหว่างมื้ออาหาร เราก็จะเลิกกินจุกกินจิก และกินอาหารในมื้อต่อไปน้อยลง ผลก็คือ เราบริโภคแคลอรีโดยรวมต่อวันน้อยลง 
      แม้ว่าไขมันจะมีแคลอรีมากกว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต แต่ผลที่มันไปลดความอยากกิน ก็มีมากเกินกว่าปริมาณแคลอรีที่มันมีมากกว่า และนี่เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องของเราอิ่มนานขึ้น จึงกินอาหารในมื้อถัดไปน้อยลง
 

4. อาหารที่มีไขมันต่ำ หรือพร่องไขมัน

   ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือ? 

      มีความจริงอันหนึ่งที่น้อยคนจะรู้ นั่นก็คือ อาหารไขมันต่ำไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักอย่างถาวรแต่อย่างใด ถ้าคุณสามารถอดอาหารได้ คุณอาจจะลดน้ำหนักลงได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่คุณต้องทนหิวอย่างสุดแสนจะทรมานตลอดเวลา และเพื่อที่จะลดน้ำหนักส่วนเกินของคุณออกไป คุณต้องจำกัดจำนวนอาหารที่คุณกิน และทนหิวตลอดไป
    จะมีใครสักกี่คนที่ทนสภาพที่แสนจะทรมานเช่นนี้ได้? อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะน้ำตาล จะถูกใช้ไปเพื่อสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายทันที จึงไม่มีหลงเหลือในกระเพาะ ที่จะช่วยให้อิ่มท้อง ผลก็คือต้องรับประทานอาหารเข้าไปเพื่อให้หายหิว จึงทำให้อ้วนขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่จะกินอาหารไขมันต่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ และคนส่วนใหญ่ จึงกลับไปกินอาหารแบบเดิม และนี่เอง ที่ทำให้เพิ่มน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม
    ได้มีการทดลองเกี่ยวกับผลของไขมันต่อ การกดความอยากกิน หลายเรื่องด้วยกัน เช่น ในการทดลองอันหนึ่ง  ผู้ทดลอง (Rolls and Miller, 1997) ได้ให้อาสาสมัครสตรีกลุ่มหนึ่งกินโยเกิร์ตในตอนสาย ตามด้วยอาหารกลางวัน และอาหารเย็น มีโยเกิร์ตสองชนิด คือมีไขมันเต็มบริบูรณ์ กับไขมันต่ำ ปิดฉลากไว้ แต่ไม่บอกปริมาณแคลอรี (ซึ่งมีเท่ากัน) ทุกคนมีสิทธิ์เลือกกินโยเกิร์ตชนิดใดก็ได้ เมื่อถึงเวลากินอาหารกลางวัน ผู้ที่กินโยเกิร์ตที่มีไขมันเต็ม กินอาหารน้อยกว่าผู้ที่กินโยเกิร์ตไขมันต่ำ
     ทั้งนี้เพราะไขมันในโยเกิร์ตช่วยชะลอความหิวได้นานกว่า จึงกินอาหารกลางวันน้อยกว่า  ครั้นถึงเวลาอาหารเย็น ผู้ที่กินโยเกิร์ตไขมันสูง ก็ไม่ได้กินอาหารเย็นมากไปกว่าผู้ที่กินโยเกิร์ตไขมันต่ำแต่อย่างใด เพราะพวกเธอไม่ได้หิวเพราะกินอาหารกลางวันน้อยกว่า สรุปได้ว่า ตลอดทั้งวัน ผู้ที่กินโยเกิร์ตไขมันสูง บริโภคแคลอรีน้อยกว่าผู้ที่กินโยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำ
   การบริโภคอาหาร หรือแคลอรี่รวมต่อวันน้อยลง
ย่อมส่งผลให้ไม่สะสมไขมันเพิ่มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่อ้วนขึ้น
 
 
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ น้ำมันมะพร้าวลดความอ้วนได้อย่างไร?
โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา
ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี
หมายเลขบันทึก: 467325เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กำลังหาวิธีลดความอ้วนด้วยตัวเองอยู่   มีวิธีที่น่าสนใจอยู่ในนี้  จะลองทำดูขอบคุณค่ะ

ขอลดมั้งครับ แต่ตอนนี้ลดยากเหรือเกิน

  • พี่กานดาจ๋า...ตอนนี้ลดยากจริง ๆ จ๊ะ คงอายุมากขึ้นด้วยมังค่ะ
  • แต่ขอแค่ระวังเรื่อง "การรับประทาน" + ออกกำลัง จ้า...
  • แต่ความจริงแล้ว น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์มาก ๆ เลยค่ะ...ขอสนับสนุนค่ะ

ลดหลายวิธีแล้วคุณกานดา ....สุดท้ายก็แพ้ท้องทุกที(ท้องมันร้องเรียกอาหาร)

เยี่ยมเลยครับ จะนำไปแนะนำเพื่อน

สวัสดีค่ะ   Ico48   Ico48   Ico48   Ico48  Ico48

 

คุณครูสอน  ค่ะจริงๆแล้วการลดน้ำหนักที่ได้ผล อยู่ที่การห้ามใจไม่มานของอร่อยที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกายของคนในแต่ละวัย ซึ่งมีไม่มากที่จะคำนึงถึง ส่วนใหญ่จะไม่ทราบ ว่าวัยนี้ควรงดหรือทานให้น้อยลง มาเบรคกันจริงจังเมื่อจะเริ่มเป็นโรคต่างๆแล้วหรืออ้วนเกินไป  พอถึงเวลานั้นการจะงดอาหารอร่อยก็ลำบากใจมาก 

อ.โสภณ  ค่ะพยายามตั้งใจมากสักนิดก็สำเร็จได้ค่ะ งดอาหารแป้ง และน้ำตาล ไขมันอันตราย โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็นและค่ำ ได้ผลค่ะ

คุณบษยมาศ  ค่ะตั้งใจให้แน่วแน่ก็ลดได้ค่ะ แต่บางครั้งทานหลายๆคนมีความสุขก็งดไม่ได้นะคะ พี่ดาล่ะเป็นประจำ ตั้งใจไม่แน่วแน่ ใจอ่อนกับของอร่อยไม่ผอมสักที

   ค่ะน้ำมันมะพร้าวดีจริงๆหากใช้แต่ละอย่างกับร่างกายได้พอดี ได้ทุกส่วนของร่างกายทีเดียวค่ะ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของเราทุกคน ของธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาค่ะ

คุณวอญ่า  ค่ะดาก็เป็นแพ้ท้องอยากทานของชอบอร่อยทุกที

คุณบีเวอร์   ค่ะฝากบอกต่อด้วย  พี่ดาอ่านบทความนี้ครั้งแรกก็คือการเปลี่ยนแปลงมองอาหารไขมันได้ถูกต้อง เข้าใจสิ่งที่ผิดๆมาก็ต้องเข้าใจกันใหม่

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท