คันกั้นน้ำกับพลังของน้ำ


หากมีข้อมูลทุกด้านของน้ำที่เดินทางมานี้ ก็น่าจะพอนำมาคำนวณได้ว่า การสร้างแนวกั้นกันน้ำนั้นควรจะมีความแข็งแรงเพียงใดจึงจะพอควรแก่การป้องกันตนเอง

เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เห็นภาพข่าวน้ำทะลัก ตีแนวกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร พัง ราวยักษ์ทุบของเด็กเล่น สงสารพนักงานที่ตื่นตระหนกหนีน้ำกันมาที่ถนน และผู้คนหลายฝ่ายที่พยายามช่วยกันซ่อมแนวกั้นน้ำที่แตกหลายจุด

เห็น SMS ตัววิ่งใต้ภาพข่าวช่องทีวีไทย ของผู้ชมรายหนึ่ง ส่งมาว่า ที่ประกาศให้ อพยพ ออกมาจากน้ำที่เข้าท่วมนวนคร น่าจะบอกว่า ประกาศ ให้หนีตาย ออกมามากกว่า 

รู้สึกยะเยือกจากภายในกับฤทธานุภาพของน้ำที่ไม่ได้คลายความแรงลงเลย ทั้งๆที่ก็เข้าขยี้เมืองมาตามรายทางและนิคมอุตสาหกรรมมาหลายแห่ง

๑๘ ตุลาคม กลางดึก คันกั้นน้ำ คลองระพีพัฒน์ ๓-๔-๕ แตก อลหม่านกันไปหมดเพราะเป็นเวลามืดค่ำ

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ข่าวน้ำพังคันกั้นน้ำแถบบางบัวทอง ทะลักเข้าตลาดบางบัวทอง แม่ค้า พ่อค้า เก็บของกันไม่ทัน สินค้าลอยไปกับสายน้ำ ไม่กี่อึดใจน้ำท่วมเป็นเมตร

หวังว่า นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จะสามารถป้องกันความเสียหาย รอดพ้นได้สักแห่งก็ยังดี

 

 เป็ดของเพื่อนบ้านเข้ามาว่ายโชว์ตัว

 

เห็นแนวกระสอบทราย คันดิน กำแพง ที่พังลงอย่างง่ายดาย ไม่เป็นท่า ทำให้นึกสงสัยว่าการทำแนวกั้นเช่นนั้นได้ใช้ ข้อมูลอย่างมีหลักการเกี่ยวกับมวลน้ำ ที่มาอย่างไร ไม่เห็นมีข้อมูล ความรู้เช่นนี้ปรากฏทางสื่อต่างๆเลย มีแต่ข้อมูลวิชาการอะไรไม่ทราบฟังแล้วยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโง่กว่าเดิม

ที่ได้ยิน ได้ฟังมาตลอดช่วงน้ำท่วมเป็นเดือนก็คือ จะมีน้ำมากและ ปริมาณ- ปริมาตรของน้ำที่เขื่อนจะปล่อยมาต่อนาที/วินาที เป็นข้อมูลที่ทางผู้ใหญ่บ้าน-อบต. ได้รับก็เอามาประกาศปาวๆออกเสียงตามสาย ฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ก็ยังไม่แจ่มแจ้งว่า แล้วน้ำมันจะสูงขึ้นอีกสักเท่าไร ในสิบห้านาที-ครึ่งชั่วโมง-ชั่วโมงหนึ่ง แต่ก็ยังดีที่เขาก็สำทับว่าให้ยกของสำคัญให้พ้นน้ำ

ขอบอกว่าที่ยังอยู่สบายได้ เพราะใช้ประสบการณ์ของครอบครัวที่อยู่กับน้ำท่วมมาถึง สองครั้งใหญ่ๆ ไม่เชื่ออะไรกับการแจ้งข่าวของทางการ

เมื่อวาน เพิ่งได้อ่านข้อมูลจาก คอลัมน์ลมเปลี่ยนทิศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนว่า คุณ ชวลิต จันทรรัตน์ ซึ่งเป็นวิศวกรด้านน้ำ ระบุว่า ความเร็วของกระแสน้ำที่เข้าถล่มพื้นที่ต่างๆ นั้น คือ

๓ เมตร/ วินาที หรือ ๑๘๐ เมตร/นาที หรือ ๑๐.๘ กิโลเมตร/ชั่วโมง

เพราะว่าไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยยังสงสัยอยู่ดีว่า ความเร็ว เชี่ยวกรากของกระแสน้ำขนาดนี้ กับ ความมหึมา มหาศาลของมวลน้ำที่มา ก่อให้เกิดเป็น พลังงาน ความแรง หรือ แรงอัด-แรงดัน ขนาดไหน

ข้อมูลทุกด้านของมวลน้ำนี้ เมื่อได้แล้ว ยังควรนำมา แปลความหมายสื่อสารให้คนธรรมดาๆเข้าใจด้วย จะได้ช่วยเหลือ ป้องกันตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้ระดับหนึ่ง

หากมีข้อมูลทุกด้านของน้ำที่เดินทางมานี้ ก็น่าจะพอนำมาคำนวณ(ทางวิศวกรรม?)ได้ว่า การสร้างแนวกั้นกันน้ำนั้นควรจะมีความแข็งแรงเพียงใดจึงจะพอควรแก่การป้องกันตนเอง ยิ่งนึก ยิ่งสงสารผู้คนธรรมดาที่ระดมช่วยกันทั้งสร้าง ทั้งซ่อม ทำแบบใช้แรงงาน ใจเกินร้อย แต่ขาดข้อมูลวิชาการมากำกับ-สนับสนุนให้การต่อสู้มีประสิทธิภาพ ได้ผลคุ้มกับแรงและใจที่ใส่ลงไป

ไม่อยากเชื่อว่า นักวิชาการไม่ได้ใช้ข้อมูลคำนวณ หรือ วิชาที่เรียนมานำมาใช้ไม่ได้ในสถานการณ์จริง? 

ที่จริงก็น่าจะรู้ว่ากำลังสู้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินมนุษย์ เป็นศึกที่ไม่มีวันชนะอย่างยั่งยืน

การต่อสู้นั้นจึงต้องพ่ายแพ้ เหมือน สร้างแนวกั้นขนาดของเด็กเล่นเพื่อกันยักษ์ใหญ่ที่จะมาบุกเมือง

 

 

แต่ข้อดีที่เกิดขึ้นในวิกฤตครั้งนี้ คือ การที่คนไทยแสดงความสามัคคี ช่วยเหลือกันเต็มที่ในการสู้กับน้ำ และการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยต้องออกจากบ้านตนเองไปอยู่ตามศูนย์อพยพ หรือ นำความช่วยเหลือไปสู่ผู้คนในท้องที่ต่างๆ เป็นพลังที่น่าตื้นตันจริงๆ

ทว่า ในอีกมุม น้ำหลาก ได้สร้างตะกอนใจแห่งความขัดแย้งสองฟากฝั่งของแนวคันกั้นน้ำแทบทุกที่ที่น้ำบุกไปถึง สิ่งนี้ไม่เคยปรากฏในอดีต เพราะ ในอดีต น้ำหลาก เป็นฤดูกาลที่ผู้คนยอมรับ สิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่ได้รังเกียจ อยากผลักไส ปิดประตูใส่หน้า เหมือนในยุคปัจจุบัน

พิบัติภัยจากลม จากน้ำ จากดินถล่มในระยะไม่กี่เดือนมานี้ เกิดบ่อยทั้งในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีภัยอื่นๆที่เกิดในซีกโลกอื่น ทำให้นึกถึงเรื่องที่อ่านจากหนังสือ จุดประกายปัญญา เขียนโดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ท่านได้กล่าวถึงหลักของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยอายุขัยของมนุษย์และภัยธรรมชาติ พอสรุปสั้นๆได้ว่า เมื่อก่อนโน้นนานมากๆมาแล้วมนุษย์เคยอายุยืนมาก เมื่อมนุษย์มีความเสื่อมศีลธรรมมากๆ เบียดเบียนกัน เบียดเบียนโลกอย่างยิ่ง มนุษย์ก็เริ่มอายุสั้นลงๆ

ปัจจุบันเป็น ช่วงอายุขัยขาลงที่มนุษย์จะมีอายุขัยต่ำกว่า ๑๐๐ ปี และสั้นลงๆเรื่อย ภัยธรรมชาติที่เกิดในช่วงอายุขัยขาลงนี้จะทำให้มนุษย์มีความทุกข์สาหัส ล้มตายเป็นอันมาก

ท่านชี้ไว้ว่า ภัยธรรมชาตินี้จะมีอยู่ ๘ ประการด้วยกัน

๑.     วาตภัย จะเกิดลมพายุใหญ่ทั้งบนบกและในทะเล

๒.    อุทกภัย จะเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง

๓.    ธรณีภัย จะเกิดแผ่นดินถล่มและแผ่นดินไหว

๔.    อัคคีภัย จะเกิดความแห้งแล้ง ไฟไหม้ป่า

ภัยธรรมชาติอื่นๆก็จะเกิดตามมา ได้แก่

๕.    มลพิษภัย จะเกิดมลภาวะร้ายแรง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์อย่างมาก

๖.     โรคภัย จะเกิดโรคระบาดนานาชนิด

๗.    ทุพภิกขภัย จะเกิดความอดหยาก ข้าวยากหมากแพง

๘.    โจรภัย ภัยจากกลุ่มคนพาล จี้ ปล้น ขโมย

เป็นภัยธรรมชาติที่จะมีมากขึ้น จะเกิดต่อเนื่องทุกฤดูกาล และมีความรุนแรงอย่างยิ่ง  จะไม่มีใครเอาชนะภัยธรรมชาตินี้ได้แต่อย่างใด ทั่วทุกมุมโลกจะมีภัยธรรมชาติอย่างนี้ อย่างนั้นเกิดขึ้น ทำให้แต่ละประเทศล้วนได้รับผลกระทบถ้วนทั่ว ช่วยตัวเองก็ยังแทบไม่ไหว ดังนั้นจะให้ข้ามแดนไปช่วยกันก็จะยิ่งยาก

แต่แค่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก็ได้เห็นภัยทั้ง ๘ ประการ ครบ แต่บางข้ออาจยังไม่รุนแรง นี่คงเป็นแค่การปลุกให้มนุษย์ตื่นจากความหลงระเริง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็บ่งชี้ตรงกันว่าสภาพของโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก ส่งผลให้จะเกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นแน่ๆ

 

หากมนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อธรรมชาติ และ ต่อมนุษย์ด้วยกัน หลายท่านรวมทั้งผู้เขียนคงใจตรงกันที่ไม่อยากกลับมาเกิดบนโลกใบนี้อีกเลย แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เรามาช่วยกันทำให้โลกใบนี้กลับมาเมตตาเราอีกครั้งเถิดนะคะ ไหนๆก็เป็นเพื่อนทุกข์ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 465307เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

๑๐.๘ กิโลเมตร/ชั่วโมง

ขอบคุณคะ

น้ำวิ่งเร็วเกือบเท่า รถไฟราง (วิ่งด้วยความเร็ว 15 กม./ชม) เรียกว่าชนคนก็เจ็บทีเดียว

คันกั้นที่เป็นดินคงรับไม่ไหว คงต้องใช้หิน หรือ ปูนซีเมนต์แท่ง แต่แบบนี้ถ้าถล่มคงอันตรายเข้าไปใหญ่

แต่อย่างไร ธรรมชาติก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเอาชนะ

เห็นด้วยคะ ว่า เปลี่ยนวิธีคิด หันหน้าเข้าหากัน แล้วหาทางปรับตัวเข้ากับธรรมชาติดีกว่า

เชิญอาจารย์ ดร

มาฟังธรรมของพระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมมจิตตโต) เรื่อง มาแต่น้ำคนไม่มา

ท่านกล่าวถึงเรื่องน้ำท่วมเมืองไทยด้วยครับ

พี่นุชยังสบายดีนะคะ

เรื่องพลังน้ำ..คงต้องเข้าห้องเรียนกันใหม่..ยาวเลยค่ะ

สวัสดียามเช้าค่ะ มาเยี่ยมกันแต่เช้าเลย ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ

  • อาจารย์โสภณ เปียสนิท. ทำให้แปลกใจนิดๆค่ะ ไม่นึกว่าโพสต์เรื่องแต่เช้าๆปุ๊ป อาจารย์ก็มาให้กำลังใจกันเลย
  • คุณหมอ ป.ขอบคุณค่ะที่มาช่วยทำให้ข้อมูลเป็นภาพที่ชัดขึ้น เห็นข่าวคันกั้นน้ำแตกเป็นแห่งๆแล้วละเหี่ยใจแทนผู้รับเคราะห์ตรงๆค่ะ ใช้วิธีเดิมๆ ได้ผลเดิมๆ ก็ยังทำอยู่ แต่ก็พยายามคิดว่านี่เป็นครั้งแรกของเมืองไทยยุคใหม่ที่โดนน้ำท่วมรุนแรงเช่นนี้ ครั้งหน้าคงแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
  • ขออนุโมทนาบุญกับคุณ คนบ้านไกล ด้วยค่ะที่ได้ฟังธรรม จะดาวน์โหลดคำเทศนาท่านไว้ฟัง ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ
  • ค่ะคุณครูป.๑ บทเรียนราคาแพง ต้องนำมาเรียนรู้กันให้มากๆ เหลือเชื่อว่า ความรู้เรื่องการอยู่กับหน้าน้ำของคนไทยแทบสูญหายไปหมด

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขอบคุณความรู้และทุกๆเรื่องราว... ขอบคุณค่ะพี่นุช

ปล.อย่างดูแลรักษาสุขภาพด้วยน่ะค่ะ:)

 

หากมนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อธรรมชาติ และ ต่อมนุษย์ด้วยกัน หลายท่านรวมทั้งผู้เขียนคงใจตรงกันที่ไม่อยากกลับมาเกิดบนโลกใบนี้อีกเลย แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เรามาช่วยกันทำให้โลกใบนี้กลับมาเมตตาเราอีกครั้งเถิดนะคะ ไหนๆก็เป็นเพื่อนทุกข์ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

ขออภัยค่ะ พิมพ์ผิด...

"ปล. อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพด้วยน่ะค่ะ:)"

  • พี่นุชครับ
  • เรามีฐานข้อมูลองค์ความรู้เรื่องคันกั้นน้ำน้อยไป
  • ถึงพังไม่เป็นท่า
  • มาให้กำลังใจทุกคน
  • เมื่อเช้าส่งน้ำไปช่วยชาวบัวทอง
  • พี่นุชดูแลสุขภาพด้วยนะครับ

เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางด้านความรู้มากขึ้น มนุษย์จึงอยากเอาชนะทุก ๆ สิ่งในโลกให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ธรรมชาติ

สร้างตึก แต่ตัดต้นไม้ไว้ก่อน แทนที่จะออกแบบให้เข้ากับต้นไม้ที่มีอยู่เดิม

สร้างกระเช้าขึ้นภู แทนการค่อย ๆ เดินขึ้นเหมือนสมัยก่อน

สร้างเขื่อนใหญ่ ๆ ไปเลยทีเดียว แทนที่จะสร้างฝายเล็ก ๆ รับน้ำเป็นระดับ

มนุษย์ไม่เคยเอาชนะธรรมชาติได้ เพียงแต่ทำอย่างไรจึงจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างรู้ทัน

บันทึกดีจังครับพี่นุช ;)...

  • มนุษย์คิดว่าจัดการทุกอย่างได้ แม้แต่การเอาชนะธรรมชาติ แต่บทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็ไม่อาจเอาชนะมันได้
  • ขอเพียงเราเข้าใจธรรมชาติ และอยู่กับมันอย่างเป็นมิตร ไม่ทำลายมิตรไมตรีที่เขามีต่อเรา เขาก็จะมีไมตรีตอบเช่นกัน
  • ธรรมชาติคือชีวิต ชีวิตคือธรรมชาติ เราและธรรมชาติคือกันและกัน ต้องอิงอาศัยกันและกัน นี่ความจริงแท้

สวัสดีค่ะคุณนุช...เราเรียนรู้และเราคิดว่าเราเรียนรู้.."ธรรมชาติ"..สอนเราว่า..ที่ๆเรียนมา"ไม่ได้"อยู่กับการคำนวน..ใส่กระดาษ.ประกาศไปปาวๆ..ถึงคุณค่าของการเรียนรู้ ผ่านประกาศนียบัตรกับเกียรติประกาศข้างท้ายด้วยคุณค่าเงินตราที่ตนตั้งไว้..หากแต่ว่าสัญชาติญาณ..ความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็น คน หรือ สัตว์ ต้นไม้..นั้น ตั้งอยู่ บนพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้น...."เราจะอยู่กับสิ่งที่เรียนมาผิดๆอีกได้นานแค่ไหน"คงเป็น..คำถามที่ไม่มีคำตอบเช่นเคย...เพราะ"ยายธีแอบถามตัวเองเจ้าค่ะ"....(สงบ..สว่าง..ว่าง..สบายๆ..นะเจ้าคะ..แล้วบุญมีเราคงได้พบกันอีก...ยายธี).....

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ให้บทเรียนมากมาย และแม้จะเริ่มชินตากับสภาพน้ำท่วมเต็มบ้านเต็มเมือง..แต่บนความยากลำบากเช่นนี้ เราไม่ทอดทิ้งกันค่ะ

Large_11-10-17-ng_03

อิ่มนี้จาก SCB เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม อาหารวันละ 1,000 กล่อง ที่ศูนย์อพยพมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.อยุธยา

ขอบคุณค่ะน้องหนูรี ถึงพิมพ์ผิดพี่ก็เดาออกอยู่ดี ใจถึงใจ เข้าใจในความห่วงใยค่ะ^___^

ดูหนังแนวโลกอนาคตหลายเรื่องที่เมืองล่มสลาย ผู้คนหลบซ่อน ต่อสู้ อดหยาก หากมีชีวิตในยุคแบบนั้นแสดงว่าต้องมีกรรมเยอะมากเลยนะคะ

พี่ก็เห็นด้วยค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ว่าเรายังมีความรู้เกี่ยวกับน้ำท่วม-วิธีการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินน้อยมาก หรือว่ายิ่งมีทรัพย์สินมากก็เลยยิ่งเสียหายมาก

ครั้งนี้ไม่ว่าการจัดการอะไรจะบกพร่องก็ต้องให้อภัยกันไป เพราะเมืองไทยไม่เคยเจอภัยใหญ่ๆแบบทั่วถึงอย่างนี้มาก่อนนะคะ ทุกคนต้องร่วมกันช่วยผู้คนที่กำลังเดือดร้อนค่ะ

ยังมีเรื่องให้ต้องช่วย ต้องทำอีกมากมายเลยนะคะ ทั้งเพื่อการฟื้นฟู และการเรียนรู้เป็นบทเรียนให้ทำได้ดีขึ้นในครั้งหน้า (มีแน่)

ยุคที่ความเร็วแปลว่า มีประสิทธิภาพสูงค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn ดูข่าว อ่านข่าวน้ำท่วมมานี่เห็นว่าไม่ว่าจะเร็วแค่ไหน เทคโนโลยีอะไร ก็เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ แต่ก็พยามสุดฤทธิ์ที่จะต่อต้าน

เห็นพื้นที่หลายแห่งถูกน้ำท่วมมาแล้วเกือบสองเดือน สงสารคนในพื้นที่มาก ที่ความพยายามต่อต้าน ต่อสู้ของคนสองฟากฝั่งตลอดทางน้ำ ทำให้น้ำไม่ใช่แค่ผ่านพื้นที่แต่กลับท่วมขัง มันวิปริตไปหมดค่ะ

ใช่เลยค่ะ คุณพ่อน้องซอมพอ ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาตินั้นสำคัญอย่างยิ่ง ก็เพราะโลกทัศน์ของคนยุคพัฒนา ยุคที่คิดว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพาชีวิตให้รุ่งเรือง เปลี่ยนไป พากันเห็นว่า ธรรมชาติเป็นแค่สิ่งที่จะตักตวงเอาประโยชน์ เมื่อธรรมชาติแผลงฤทธิ์ก็ต้องสะกัดกั้น

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ฝากบทเรียนสำคัญไว้ให้ ไม่ทราบว่าส่วนใหญ่จะเกิดการตระหนักรู้หรือเปล่านะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณยายธี ความรู้สมัยใหม่ มีใบปริญญาบ่งชี้ว่า มีความรู้ แต่นั่นคือความรู้แค่ knowledge/intelligence คนที่อยู่กับธรรมชาติมาหลายชั่วคน สั่งสมความรู้คู่คุณธรรม เป็น Wisdom ที่คนยุคนี้ไม่ค่อยให้คุณค่า

เมื่อไหร่มนุษย์มีสัมมาทิฐิ ก็จะพบความสุข ใครมีได้ก่อน ก็มีความสุขอันสงบงาม พอเพียง อยู่ได้แบบไม่ทุกข์นักค่ะ

เห็นแล้วอิ่มใจเลยค่ะพี่ใหญ่ ลงมือทำกันเอง เป็นการให้ที่ประณีตจริงๆ

 

ผู้ได้รับอาหารคงได้ทาน อิ่มอร่อยทุกคำ ด้วยความซาบซึ้ง ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ mee_pole , คุณJeera, คุณคนบ้านไกล , ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ , และ

คุณบุษยมาศ , ที่แวะมาเยี่ยมมอบดอกไม้เป็นกำลังใจกันค่ะ


อ่านบันทึกของคุณนายด็อกเตอร์แล้วนึกถึงตอนฟังข่าว ยิ่งฟังยิ่งงงค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเห็นด้วยครับตามที่อาจารย์เขียนมาโดยทั้งหมด

มีเพื่อนfacebook ผมท่านหนึ่งเขียนว่า

"เพราะเราไม่รักเขา (น้ำ) ปิดกั้นเขาทุกที่ที่เขาไป" เขาจึงดิ้นรนหาพื้นที่อยู่

ไม่ว่าจะกั้นขนาดไหน ก็พ่ายแพ้พลังของน้ำ

ขอบคุณคุณอำพร วุฒิฐิโกค่ะที่มาเยี่ยม เราคนบ้านน้ำท่วมด้วยกัน^___^

ข่าวมาหลายทาง ภาวะเช่นนี้ข่าวลือก็เยอะ แถมไอ้ที่เป็นข้อมูลก็ฟังไม่รู้เรื่องเสียอีกและถึงรู้เรื่องจะเชื่อถือได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ เชื่อสัญชาติญาณและปัญญาของเราในการหาข้อมูลและสังเกตสิ่งรอบตัวดีกว่า ดูข่าวมากๆก็เครียดเปล่าๆ

คุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ล่ะคะเป็นอย่างไรบ้าง คงดูแลสมบัติหนีน้ำ และรักษาตัวเองให้ปลอดภัยนะคะ

พี่ดูข่าว ดูวิธีการแก้ปัญหาหรือป้องกันด้วยการกั้นน้ำ แล้วก็ทะยอยพัง แตก เป็นที่ๆไปก็ยังคงทำอยู่ ก็สงสารคนทำค่ะ

สงสารคนสมัยนี้ที่เห็นน้ำหลากเป็นภัยพิบัติ ที่จริงน้ำมาถล่มอย่างนี้เป็น ผล ของการกระทำของมนุษย์  ไม่ใช่เหตุ น้ำกลายเป็นจำเลย ถูกรังเกียจในทุกที่ที่ไปถึง

ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

มนุษย์เรียนรู้จากความฉลาดของธรรมชาติทั้งนั้น แทนที่จะสำนึกบุญคุณกลับทำลายล้างหลงลืมความสำคัญ หันกลับมาเข้าใจใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่มนุษย์เอาชนะไม่ได้ จะอยู่โดยปราศจากเขาไม่ได้กันดีกว่านะนุช ขอบคุณบทความดีฯที่อ่านแล้วไหลลื่นไปกับความคิดเชิงบวกจ๊ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาอ่าน มาร่วมให้ความเห็น มาให้ดอกไม้-ให้กำลังใจค่ะ

เห็นคุณ "ต้นกล้า" แวะมาหลายบันทึก รวมทั้งบันทึกแรกสุดที่พี่มาเป็นสมาชิกบ้านหลังนี้

ดีใจที่เพื่อนรัก "วิลาสินี" คนอยู่เมืองชายทะเล ก็มาเยี่ยม

ไม่ได้เข้ามาในบล็อกหลายวัน น้ำที่บ้านกำลังลงต้องจัดการอะไรหลายอย่างในการล้างทำความสะอาดค่ะ นึกเห็นใจอีกหลายพื้นที่ที่แม้อยู่ไม่ไกลกันแต่น้ำยังขังยาวนาน อย่างที่อำเภอบ้านแพรก -โรงพยาบาลบ้านแพรก เมื่อวานได้คุยกับคนที่นั่นทางโทรศัพท์ น้ำเพิ่งลงไปได้แค่สิบเซ็นต์ ส่วนคนกรุงเทพก็ยังเผชิญชะตากรรมที่อยู่บนความลุ้นระทึก ขอส่งคำอธิษฐานไปเป็นพลังให้ทุกท่านฝ่าฟันวิกฤตไปได้ อย่างไรเสียน้ำก็ต้องไปตามทาง ไปตามจังหวะของเขาที่ต้องไปสู่ทะเลนะคะ

3/11/54 1900 น. ขออนุญาตแชร์ข้อมูลไปลงเฟสบุ๊คด้วย ขอบคุณมากนะคะ

ณ บัดนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เห็นพายเรือ บนไฮเวย์กันแล้ว แต่ที่เจ็บปวดมาก ก็คงเป็นเศษขยะ ปฏิกูล ที่เน่ามาซ้ำเติมด้วยค่ะ ไม่ทราบจะเอาไปทิ้งตรงไหน 3/11/54


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท