ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกพุ่ง7.6พัน นักช็อป-แม่บ้าน-ครูกลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกพุ่ง7.6พัน นักช็อป-แม่บ้าน-ครูกลุ่มเสี่ยง

แพทย์เผยนักช็อป-แม่บ้าน-ครู-นักกอล์ฟ-คนทำสวนเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อก ระบุ 3 ปีคนไทยป่วย 7,600 ราย กลุ่มหญิงวัย 40-50 ปี เสี่ยงกว่าชาย 4 เท่า หากปล่อยไว้เข้าขั้นรุนแรงถึงพิการ

น.พ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคนิ้วล็อก โรงพยาบาลเลิดสิน เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่าผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะผู้ป่วยขั้นรุนแรงที่ผ่าตัดที่โรงพยาบาลเลิดสิน จากที่ในปี 2542-2543 มีผู้ป่วย 200 ราย ต่อมาในปี 2546 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันต้นๆ แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยราว 7,600 ราย พบในหญิงอายุ 40-50 ปี ถึง 80% ส่วนชายพบแค่ 20% เฉลี่ยแล้วคนไทยเป็นโรคนี้เฉลี่ยบ้านเว้นบ้าน บ้านละหลายคน คนละหลายนิ้ว

น.พ.วิชัย กล่าวด้วยว่า กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อก ได้แก่ นักช็อปปิ้งและแม่บ้านแล้ว ครู ผู้พิพากษา นักเขียน นักบัญชี รวมถึงนักบริหาร นักกอล์ฟ คนที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือพิมพ์ดีดวันละหลายชั่วโมง คนทำสวน ช่างแขนงต่างๆ หมอนวดแผนโบราณ ช่างตัดผมและช่างตัดเสื้อ มีความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะเกิดจากการใช้งานของมือในท่ากำบีบอย่างแรงซ้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดการบดกันของเข็มขัดรัดเส้นเอ็น จนเกิดอาการบวมอักเสบ กลายเป็นพังพืดยึดแข็งตัวจนเสียความยืดหยุ่น ไม่ยอมให้เส้นเอ็นวิ่งผ่านไปมา เวลากำนิ้วมือหรืองอนิ้วไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ

ผู้เชี่ยวชาญโรคนิ้วล็อก กล่าวด้วยว่า อาการของโรคเริ่มตั้งแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้วนั้นๆ มีอาการปวดชาตลอดเวลา นิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหว สะดุด หรือกระเด้งเวลางอหรือเหยียดนิ้ว และเมื่อเกิดอาการล็อก ถ้างอหรือกำนิ้วมือจะเหยียดออกไม่ได้ ต้องใช้อีกมือมาง้างออก หากปล่อยไว้นานจะทำให้นิ้วมือโก่ง งอ บวม เอียง และถ้าปล่อยไว้ต่อไปข้อต่ออาจจะยึด ขยับไม่ได้ ถึงขั้นมือพิการได้

น.พ.วิชัย กล่าวอีกว่า วิธีรักษาโรคนิ้วล็อกขึ้นอยู่กับอาการของโรค หากเป็นระยะแรกให้ใช้วิธีการพักมือ บีบนวดหรือแช่น้ำอุ่น หากมีอาการรุนแรงขึ้น ต้องให้ยาต้านการอักเสบของไขข้อ และฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในปลอกหุ้มเอ็น ใช้เวลา 3-6 เดือนถึงจะกลับมาเป็นใหม่ แต่หากจะให้หายเด็ดขาดต้องผ่าตัดเสียค่าใช้จ่าย 3000-5000 บาทต่อนิ้ว

คำสำคัญ (Tags): #โรคนิ้วล็อก
หมายเลขบันทึก: 46427เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถนอมนิ้วมือสักนิด ถ้าไม่อยากถูกล็อก!!

เชื่อหรือไม่ล่ะคะว่า แค่หิ้วถุงช็อปปิ้ง หิ้วตะกร้าจ่ายตลาด ซักผ้า บิดผ้า ถือตะหลิวผัดกับข้าว เป็นประจำทุกวัน ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแม่ศรีเรือนอย่างเราๆ ก็อาจขยับนิ้วไม่ได้...กลายเป็นโรคนิ้วล็อก ไม่ สามารถงอหรือเหยียดนิ้วได้ตามปกติ!!

แรกๆจะเริ่มเจ็บฐานนิ้ว โคนนิ้วด้านฝ่ามือ นิ้วฝืด สะดุด กำมือหรือเหยียดมือไม่สะดวก ยิ่งนานวันไปก็อาจเลยเถิดถึงขั้นนิ้วล็อกเหยียดหรืองอไม่ได้ มือไม้ก็ไม่มีกำลังวังชา หรือบางรายอาจมีอาการนิ้วชารวมอยู่ด้วย เป็นนิ้วไหนก็ได้ จะกี่นิ้วก็ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับอาชีพ และความหักโหมในการใช้งานนิ้วมือ!! ถ้าเข้าข่ายที่ว่านี้ เตือนตัวเองไว้เลยค่ะว่า โรคนิ้วล็อกกำลังกล้ำกรายชีวิตคุณแล้ว!! “น.พ.วิชัย วิจิตรพรกุล” เขียนไว้ในหนังสือ “นิ้วล็อก” ว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงวัย แต่แม่บ้านอายุ 45 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากที่สุด!! โดยเฉพาะประเภทที่ชอบหิ้วของหนักๆ ช็อปปิ้งเป็นงานอดิเรก ต้องซักบิดผ้าเป็นประจำ ส่วนผู้ชายที่มีแนวโน้มเป็นโรคนิ้วล็อก มักจะเป็นพวกช่าง, คนสวน, นักตีกอล์ฟ จำพวกที่ใช้มือหนักๆ แม้แต่นักบริหาร, นักบัญชี, ครู และผู้พิพากษา ก็เสี่ยงเป็นโรคนี้ เพราะโหมใช้ งานนิ้วโป้งมือขวาหนักเกินไป!!

ถึงโรคนี้จะรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณหมอแนะนำว่า ทางที่ดีควรกันไว้ดีกว่าแก้ ด้วยการระมัดระวังตัวเอง เช่น เวลาหิ้วถุงควรหิ้วให้เต็มฝ่ามือแทนการใช้นิ้วเกี่ยว หรืออาจใช้ผ้ารอง พึ่งบริการรถเข็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เวลาเป็นควรไปหาหมอแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการพักมือ, แช่น้ำอุ่น, บีบนวด, ทานยาแก้อักเสบ หรือฉีดยา อย่าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงถึงขั้นนิ้วเสียรูป และต้องผ่าตัดสถานเดียว!!

 

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 57 ฉบับที่ 17574 3/4/2006

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท