น้ำท่วม..ท้องถิ่นทำเองได้..หนึ่งตัวอย่างดีๆ


ในยามที่ใครต่อใคร กำลังเดือดร้อน และพูดถึงน้ำท่วมกันอย่างกว้างขวาง

ข้าพเจ้าได้เพียง ส่งกำลังใจ ติดตามข่าวอยู่ห่างๆ
ดูภาพน้ำท่วมเชียงใหม่ ที่กัลยาณมิตร tag มาให้ดู 
ก็นึกถึงสมัยเป็นนักเรียน โรงเรียนติดน้ำปิงแห่งหนึ่ง
ช่วงหน้าฝน ถ้าฝนตกหนักๆ ติดต่อกัน 2-3 วัน เตรียมตัวได้ว่า
จะมีกิจกรรมขนเก้าอี้ โต๊ะ หนีน้ำ
จำได้ว่า เป็นบรรยากาศ เฮฮาตื่นเต้น (และแอบดีใจที่จะมีวันหยุดพิเศษ)
แต่หลังจากน้ำลด กลับมาเรียน ก็ไม่สนุกนัก
ต้องมาขัดโคลน พร้อมๆ กับเจอสหาย "ไส้เดือน" เกลื่อนกลาด
..
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ  จึงขอนำข่าวน่าสนใจ อีกมุมหนึ่งมาเล่า
ในข่าว อาจมีความเห็น ที่ฟังแล้วไม่เห็นด้วยทุกอย่าง
แต่จะขอ "Discovery :-)" ค้นหาสิ่งดีๆ ของตัวอย่างดีๆ นี้
...
บทความเต็มๆ อ่านได้ที่นี่คะ แหล่งที่มาจาก นสพ.ไทยรัฐ
http://www.thairath.co.th/today/view/205388
ศูนย์เรียนรู้สุขภาพชุมชน ต.อุทัยเก่า จ.อุทัยธานี
.
ที่มีภาคีจัดการระบบป้องกันน้ำท่วมด้วยตนเอง สามารถป้องกันพื้นที่ตนเองให้รอดพ้น โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากส่วนกลาง
ในมุมมองข้าพเจ้า "ทางสายกลาง" น่าจะเป็นกุญแจสำคัญ ของความสำเร็จ
.
1. มองปัญหา ไม่ใหญ่ไป ไม่เล็กไป
ไม่ใหญ่ไป : คนในชุมชน เชื่อว่า ปัญหาในพื้นที่ตนแก้ได้ด้วยคนในพื้นที่  
 "หากต้องการให้ไข้น้ำท่วมหายขาด ต้องแก้ด้วยศักยภาพของตัวเอง"
ไม่เล็กไป :  มีการจับมือร่วมกันกับพื้นที่ใกล้เคียง  " ไม่เพียงชาวบ้านในตำบลใดตำบลหนึ่งสามัคคีกัน ต้องจับมือกับตำบลอื่นด้วย เพราะพื้นที่น้ำท่วมนั้นกว้างเกินกำลัง ตำบลใดตำบลหนึ่ง"
.
2. แก้ปัญหา ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป
ไม่ตึงไป : ไม่วู่วามเก็บข้อมูล รอจนจังหวะเหมาะสมค่อยลงมือ  " ตอนน้ำท่วม ก็แค่จดจำว่าน้ำมาทางไหน ล้นตลิ่งตรงไหน.. รู้และจำไว้ ตอนน้ำท่วมก็ไม่ต้องทำอะไร ทำไปก็เสียเงินเปล่า รอให้น้ำลดก่อน.."
ไม่หย่อนเกินไป : เมื่อรู้ว่าต้นเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก ทางระบายน้ำถูกบุกรุก ก็ใช้กฎระเบียบเอาจริงกับผู้ฝ่าฝีน
   " อย่างคลองทับเสลา เดิมกว้าง 60 เมตร ชาวบ้านรุกเข้าไปจนคลองเหลือ 30 เมตร เราจึงต้องใช้วิธีให้ชลประทานมาใช้อำนาจกฎหมาย
ขีดเส้นแนวให้ชาวบ้านรื้อถอน.." 
.
3. ชาวบ้าน ได้เป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ
เป็นผู้ให้ : "...ใช้ภูมิปัญญาและแรงงานชาวบ้าน นำทรายผสมกับปูนซีเมนต์ใส่กระสอบปุ๋ยไปเรียงเป็นผนังกั้นไม่ให้น้ำเซาะ 
                    ถูกกว่าซื้อหินมาเรียง และดีกว่าทรายที่ถูกเซาะง่าย"
เป็นผู้รับ : " ชาวบ้านรายไหนอยากขุดสระแก้มลิงในพื้นที่นา ทาง อบต จะติดต่อขอเครื่องมือจาก อบจ.มาให้ โดยชาวบ้านออกแต่ค่าน้ำมันรถขุด"
(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง "แก้มลิง" ตามพระราชดำริได้ที่นี่คะ )
.
4. ทั้งปรับธรรมชาติเข้าหา และปรับหาธรรมชาติ
ปรับธรรมชาติเข้าหา : ทำระบบบริหารจัดการน้ำอย่างมีวิชาการ "ก่อนฤดูน้ำหลาก จะประสานกับเจาหน้าที่อ่างน้ำระบายน้ำมาก่อน เพื่อเตรียมกักเก็บน้ำรอบใหม่.."
"หน้าแล้งก็ไม่มีปัญหา เพราะอ่างน้ำมีเก็บไว้จ่าย แล้วยังมีแก้มลิงในนา.."
ปรับหาธรรมชาติ  : ปรับฤดูทำนาให้เร็วขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ( ทำในหน้าแล้งได้เพราะข้อที่กล่าวมาข้างบน)
...
.
แม้ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ เรื่องเกษตรเลย
แต่ขอชื่นชมชุมชนนี้ด้วยใจจริง :-)
.
ใครอยาก dream, design และ deliver ต่อบ้างไหมคะ
#####
พอดีเห็นมีบันทึกดีๆ เรื่องบ้านลอยน้ำ ของท่าน ดร.เอมี และ รศ.เพชรากร  เห็นบ้านแบบนี้ใกล้ๆ ที่พักเลยเก็บมาฝากคะ
.
หมายเลขบันทึก: 463373เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)

"ให้ดอกไม้" ๑ ดอก สำหรับบันทึกนี้ครับ คุณหมอ ป.กุ้งเผา ;)...

เป็นชุมชนตัวอย่าง ที่รู้จักพึ่งตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดี แก่ชุมชนอื่น

ขอ.อย่าใช้...กำลัง ขอ...ขู่เข็ญ...และ โทษคนอื่น .....

หันกลับมาช่วยเหลือตนเอง และคนอ่อนแอบ้าง...น่าจะดีกว่า..นะคะ

สวัสดีครับ...

ผมชอบบันทึกนี้

เป็นวาระแห่งชาติ gotoknow ได้นะครับ

เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทพื้นที่ และวิถีชีวิตมากครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะที่เผยแพร่ในเรื่องมีประโยชน์ต่อสถานการณ์ยามนี้ ..พี่ใหญ่พึ่งตนเองเช่นกันค่ะ ..ทั้งเตรียมย้ายของขึ้นชั้นบน หากระสอบทรายมากั้นทางน้ำเข้า สำรองที่อยู่แห่งที่สองหนีน้ำ ฯลฯ ..หลายๆคนขำๆว่า ตื่นตัวมากเกินไปหรือเปล่า??

ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยๆ มากน้อยต่างกันไป

วางแผนการเตรียมรับมือระยะยาวน่าจะคุ้มค่า

เป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านคิดโครงการ

นำเสนอของบประมาณ คงดีแน่ แต่..

อย่าหักร้อยละ ก่อนก็แล้วกันนะครับ เจ้านาย

ขอบคุณคะอาจารย์ ได้ข่าวเชียงใหม่น้ำลดแล้ว หรือเปล่าคะ ยินดีด้วย :-)

สวัสดีค่ะ

Ico64

ขอชื่นชมชุมชนตัวอย่าง...การยอมรับสภาพและการปรับตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น...เป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้ตนเอง...ขอเป็นกำลังใจนะคะ...แต่มีข้อคิดในเรื่องการขุดสระแก้มลิงในที่นา...ที่จริงแล้วลักษณะภูมิประเทศของไทยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม...พื้นที่ส่วนไหนที่ต่ำมากนั่นคือแก้มลิงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ...พอมีคนไปสร้างบ้านเรือนและทำเป็นพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่แก้มลิงเมื่อน้ำมาจึงท่วม...ประเทศไทยแต่เดิมจะมีคูคลองในเมืองต่างๆเพื่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ...แต่ปัจจุบันมีการถมคูคลองให้เป็นถนน...ถึงแม้จะมีท่อระบายน้ำมาแทนคูคลองต่างก็ไม่สามารถระบายน้ำจำนวนมากๆได้ทันและที่สำคัญขาดการดูแลรักษามีเศษขยะอุดตันอีก...การแก้ไขระยะยาวต้องมีการวางผังเมืองที่ถูกต้องตามลักษณะภูมิประเทศซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก...หรือไม่ก็ต้องพัฒนาบ้านเมืองให้ลอยน้ำได้ซึ่งก็ยิ่งยากกว่าอีกเช่นกัน...

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ขอส่งแรงไจไปช่วยอีกคนค่ะ

 

เห็นด้วยคะคุณครู ขอความร่วมมือแบบฉันมิตร ให้เขาร่วมคิดร่วมทำ

เรื่องผิดพลาดในอดีตก็คืออดีต แทนที่จะแก้ลบ ลองมาเสริมบวก บ้างเป็นไร :-)

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอ

ชื่นชมชาวบ้านค่ะ ร่วมแรงใจ มองปัญหา เดินสายกลาง หาทางแก้ได้ถูกจุด

เป็นกำลังใจให้พี่น้องเราที่ประสบภัยน้ำท่วมค่ะ

ขอบคุณสำหรับมุมข่าว เล่าน่าสนใจมาก แทรกข้อคิดดีๆค่ะ

  • ชาวบ้านต้องรู้จักพึ่งพาตนเองก่อนโดยเฉพาะบางแห่งที่่ท่วมเป็นประจำ
    รู้จักวางแผนเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสนะคะ
  • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกดี ๆ ที่อ่านแล้วต้องชื่นชม

เป็นวาระแห่งชาติของ gotoknow จริงๆ คะ ช่วยๆ กันเสนอแต่ละแง่แต่ละมุม

อยากให้ชุมชนที่แก้ปัญหาน้ำท่วมตนเองสำเร็จมาช่วยแชร์ กลวิธีด้วยคะ 

ถ้าพี่ใหญ่สำรองแห่งที่สองหนีน้ำ อยากเชิญมาอยู่ที่เชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยด้วยกันคะ :-)

 

สวัสดีค่ะ

แวะมาชมบันทึกนี้ค่ะ

เป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ^^

มาแนวสะเก็ดข่าวเลยนะคะอาจารย์

หากมีทีมนักวิชาการ ให้คำปรึกษาโครงการ ยิ่งดีคะ

ขอบคุณ การวิเคราะห์แก้มลิงอย่างน่าสนใจคะ อาจารย์
เมื่อประชากรมากขึ้นแล้วไปอยู่อาศัยในที่ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ จึงเป็นปัญหา
มีผู้ใหญ่ เล่าว่า สมัยก่อน แม่น้ำปิงกว้างกว่ายุคนี้สองเท่าได้
แสดงว่า บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำปิง นั้นตั้งในที่ซึ่งเป็นของแม่น้ำมาก่อน
เมื่อน้ำเอ่อ ส่วนที่อยู่ข้างแม่น้ำจึงโดนท่วมบ่อยกว่าใคร..

เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว เห็นทีคงต้องหาทางปรับความเป็นอยู่ให้เข้ากับธรรมชาติด้วยคะ

อย่าง เรื่องบ้านลอยน้ำ ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะบ้านส่วนที่ตั้งในแก้มลิงหรือริมแม่น้ำ 

 ขอบคุณคะพี่แดง ชื่นชมกับการช่วยเหลือโรงเรียนแม่ลาน้อย

ในบันทึก "น้ำใจ" เช่นเดียวกันคะ :-)

ขอบคุณคะ เชื่อว่าคนชุมชนนี้ทำสำเร็จ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างแบบที่คุณถาวรว่าคะ

คือ ความสามัคคี  เลือกทางสายกลาง พึ่งตนเองในการแก้ปัญหา

ขอบคุณคะ คุณครูวราภรณ์  

อ่านบันทึกล่าสุดคุณครูแล้วถึงคิดได้อีกอย่างว่า

การลงมือทำด้วยตนเอง เกิดจากการได้คิดด้วยตนเองด้วยคะ :-)

ขอบคุณคะน้องต้นเฟิร์น ที่บ้านน้ำท่วมไหมคะ หวังว่าสบายดีถึง smile :-)

สวัสดีค่ะคุณหมอป.

  • คุณยายมาส่งกำลังใจในวันทำงานค่ะ

 

 

 

ขอบคุณคะ ขอให้เป็นวันทำงานที่มีความสุขอีกวันนะคะ :-)

  • ขอบคุณคุณหมอ
  • ที่เอาข้อมูลดีๆมาฝาก
  • ต้องการลูกยางไหม
  • เอหรือว่ามีประจำตัวแล้ว 555

พี่หมอนำข้อมูลดีๆ ที่เป็นชุดความรู้สำหรับการนำไปใช้ในการพึ่งพาตนเองได้แจ่มเลยค่ะ ^^

ลูกยาง = ห่วงยาง ? หรือเปล่าคะ

ถ้ามีก็แค่ยางจักรยาน ยังไม่พอช่วยลอยน้ำคะ :-)

ขอบคุณคะ เป็นกำลังใจให้สอบผ่านฉลุยเช่นกันนะคะ :-)

หลังจากแอบติดตาม
จึงขอยืมการมองแบบ Appreciation inquiry ของท่าน ดร.ภิญโญ 
ตามความเข้าใจ คงไม่ว่ากันนะคะ 

 

ครับเข้ามาเยี่ยมชมตามปกติครับ

ขอบคุณคะ เป็นกำลังใจให้ รณรงค์รักษาธรรมชาติอีกแรงนะคะ

มีความสุขกับทุกๆวัน พี่เกดส่งกำลังใจมาให้ค่ะ :-)

ขอบคุณคะ น้ำท่วมเพียงไร ก็ไม่กระเทือน R2R นะคะ :-)

ตอนนี้กระแสชุมชนเข้มแข็ง

ชุมชนจัดการตนเองกำลังมาแรง โหมให้หลายชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง

แต่ในเวทีถกแถลง ยังค้นฐานคิดจัดการตนเองของชุมชนยังไม่ชัด....

หากพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ลองจัดการตนเองของชุมชนเรื่องภัยพิบัติ...

จะได้เรียนรู้ ป้องกัน อพยพไม่ให้เกิดการเสียหายมากนัก

ทั้งการเยียวยาฟื้นฟู จัดการให้เห็นเป็นพื้น ในการจัดการตนเอง

ขอบคุณคะ 

ติดใจคำว่า "ค้นฐานคิดจัดการตนเองของชุมชน"

ทำให้คิดไปถึง เครื่องมือเพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งภายใน (พัฒนาจิต) และภายนอก ( เช่น mindmap) ที่ท่าน อ.วิรัตน์ เคยแสดงความเห็นไว้ที่นี่คะ

  • สวัสดีค่ะ
  • ที่ใกล้ๆบ้านชุมชนเขาทำคันกั้นน้ำเตรียมไว้สองชั้นค่ะ
  • ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้เปลืองไหม
  • เขาบอกว่า...
  • เผื่อคั้นนอกพังจะได้มีเวลาแก้ไขทันแทนที่จะทะลักท่วมเราจะแก้ได้ทัน
  • มองว่าวีธีคิดของเขาเยี่ยมค่ะ
  • แสดงถึงการเป็นนักวางแผนที่ดีค่ะ

น่าชื่นชมทั้งคนทำ และคนสังเกตคะ

แทนที่จะทำคันกั้นชั้นเดียว แต่ถ้าพังขึ้นมาเสียหายมากกว่ากั้นไว้อีกชั้น 

ช่วงน้ำท่วมเป็นวิกฤตที่แฝงโอกาส ของการเปิดใจเรียนรู้ร่วมแก้ปัญหา

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี ขอบคุณคะ

 

 

ขอบคุณคะ เห็นที่พิจิตรมีน้ำท่วมเหมือนกัน

ขอส่งกำลังใจให้คะ

แวะเอาสุขา ลอยน้ำมาฝากคะ

ช่วงไปช่วยน้ำท่วมที่โคราชปีที่แล้ว

ขอบคุณคะพี่กระติก เป็นไอเดียที่ช่วยเรื่องพื้นฐาน หลายคนมองข้าม

เยี่ยมจริงๆ คะ (นางแบบดูภูมิใจมากเลย :-)

ครับคุณหมอ โมเดล หนองบัว คือความหวังที่อยากเห็น

อาจารย์ วิรัตน์ ยิบยื่นโอกาสให้เรียนรู้ ด้วยหนังสือที่สร้างสุขให้ชุมชน

ได้เป็นแนวทางในการออกไปทำแผนทำโครงการด้านสุขภาพให้ หมออนามัย

เป็นความภาคภูมิใจของ พนักเปล ก้าวข้ามความคิดตำแหน่งงานหน้าที่

เจริญพร คุณหมอ

  • อนุโมทนาขอบใจมากที่แวะเข้าไปเยี่ยมและแสดงความเห็นที่ http://www.gotoknow.org/blog/true-love/436840?page=1 ในหัวข้อ ความตาย พระพุทธเจ้าสอน สตีพ จ๊อบส์ปฏิบัติ
  • เมื่อได้กลับมาอ่านงานที่คุณหมอเขียนเกี่ยวกับน้ำท่วมได้แง่คิดในทางภาษาธรรม
  • น้ำท่วมที่น่ากลัวที่สุด "หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าท่วมกาย (Phiysical)" ประเด็นนี้ก็ใช้ เพราะท่วมครั้งใด ทุกข์ทรมานใจเหลือคณานับ
  • หากมองในทางภาษาธรรม น้ำท่วมที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ "ท่วมใจ" (Mental)
  • โดยเฉพาะ (๑) น้ำคือความโลภ (๒) น้ำคือความโกรธ (๓) น้ำคือความลุ่มหลงมัวเมา  คราวใดที่น้ำทั้งสามคลื่นถาโถม และซัดกระหน่ำ คราวนั้น ผู้ที่ถูกน้ำท่วมใจจะทุักข์ทรมานประดุจตายทั้งเป็น
  • ฉะนั้น ควรอย่างที่เราจะใช้น้ำที่ "ใส นิ่ง และเย็น"  มาเป็นเครื่องมือในการชำระล้างใจตัวเอง ให้รู้ ตื่น และเบิกบานอยู่เสมอ
  • แนวทางจะเป็นอย่างไรนั้น อาตมาจะหาโอกาสเขียนเพิ่มเติม แต่ตอนนี้ฝากเอาไว้ให้คุณหมอช่วยกรุณาคิดต่อด้วย จะเป็นพระคุณต่อจิตใจของคุณหมอต่อไป
  • ด้วยสาราณียธรรม

เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชม บังวอญ่า ด้วยใจจริงคะ

เป็นตัวอย่างคนทำงานเพื่อส่วนร่วม

กล้าคิด กล้าทำ และอบอุ่นจริงใจ

น่าสนใจ model หนองบัว
ทิศทางการวิจัยเพื่อพัฒนา คือการค้นหาและเรียนรู้จาก model ตัวอย่าง "ที่มีอยู่จริง"
กันมากขึ้น

นมัสการพระคุณเจ้าคะ 

รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับประโยชน์จากข้อคิดเห็นลึกซึ้ง

(๑) น้ำคือความโลภ
(๒) น้ำคือความโกรธ
(๓) น้ำคือความลุ่มหลงมัวเมา 
คราวใดที่น้ำทั้งสามคลื่นถาโถม และซัดกระหน่ำ คราวนั้น ผู้ที่ถูกน้ำท่วมใจจะทุักข์ทรมานประดุจตายทั้งเป็น

น่าคิดว่า น้ำ ที่ท่วมภายนอกนั้น สร้างความเสียหายทางวัตถุก็จริง

แต่ น้ำแห่งความโกรธ โลภ หลง ภายในใจยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก

ทำอย่างไร ให้น้ำไม่ท่วมใจ น่าสนใจและจะติดตามบทความของพระคุณเจ้า ในเรื่องนี้อย่างแน่นอนคะ 

 

 

ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจ เยี่ยมเยียนกันยามน้ำท่วมนะคะ

ระยะสองสามปีมานี้ชุมชนเริ่มแข็งแรงเห็นชัดมากขี้นนะคะ วิกฤตแต่ละแบบ แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นชุมชนได้เรียนรู้และลุกขึ้นมาพยายามยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้ง มีตัวอย่างดีๆมากมาย ตัวอย่างที่คุณหมอนำมาให้ได้อ่านที่นี่ดีมากค่ะ หลังน้ำท่วมน่าจะมีการรวบรวมปัญหาและวิธีการแก้ การจัดการ ที่ชุมชนมีบทบาทสูง เพื่อสังเคราะห์ ชี้แนะ ให้ได้เรียนรู้วิธีคิดตั้งแต่ระดับท้องถิ่นพวกอบจ. อบต. ไปจนถึง รัฐบาลบ้าง น่าจะเป็นประโยชน์ ใช้บทเรียนครั้งนี้ให้คุ้มค่านะคะ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่าคนในท้องถิ่นจะสามารถเป็นพลังช่วยเหลือกันเองได้

 

ขอบคุณคะ ช่วงน้ำท่วม ได้อาศัยหลายสาขาวิชาชีพเข้ามาช่วย เข้าไปอ่านแล้ว เจอบางสิ่งน่าสนใจ 

ควรบรรจุทรายแค่เพียงครึ่งหนึ่งของถุงเท่านั้น และควรมัดปากถุงให้ใกล้กับด้านบนถุง แต่หากบรรจุทรายเต็มถุงและมัดปากถุงสูงเกินไป จะทำให้น้ำซึมผ่านเข้ามาได้ง่าย

 

ขอบคุณอาจารย์มากคะ และเชื่อว่า โครงการสังเคราะห์บทเรียนปัญหาน้ำท่วมที่ชุมชน/ท้องถิ่นมีส่วนร่วม จะเป็นประโยชน์ต่อ การบริหารจัดการน้ำท่วมในอนาคต
โมเดลที่เรานำมาจากต่างประเทศ อาจไม่ดี เท่ากับเรียนรู้บทเรียนในอดีตของเราเอง

ชื่นชมความคิดริเริ่มนี้อย่างยิ่งคะ

บันทึกนี้เตือนสติให้ได้เรียนรู้แนวทางการป้องกันทุกขภาวะทางธรรมชาติอย่างดี

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณคะ อ.ดร.ป๊อป

มีบทความ ของท่าน อาจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เขียนไว้อย่างน่าประทับใจ ที่นี่คะ

"...แต่ถ้าเราแตกแยกกันน้ำจะท่วมอีก และประเทศไทยจะวิบัติ

เราอย่าให้การรวมใจหายไปพร้อมกับน้ำลด ต้องรักษาสปิริตแห่งการรวมใจไว้ให้ได้ เพื่อสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันรัฐบาลควรนำการสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน มาเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน เหมือนการร่วมมือในการบรรเทาอุทกภัยคราวนี้..."

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท