จริงหรือที่ว่า ...สยามเมืองน้ำ มีน้ำมากท่วมสยาม


คนข้างกายผู้เขียนชอบพูดเสมอว่า ความรู้และสุนทรียศาสตร์ในการดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษเรานั้น ถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาแบบสมัยใหม่ ตลอดเวลาสี่สิบถึงห้าสิบปีที่ผ่านมา ความรู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้ ไม่ได้ถูกปรับและสร้างขึ้นใหม่ คนที่จำได้แม่นยำก็แทบจะลาโลกไปหมด ที่เหลือก็อยู่ก็เป็นคนชราที่ หลงลืม คนรุ่นใหม่ก็ไม่เคยได้รับการถ่ายทอดปลูกฝัง จึงเป็นผู้ไม่รู้ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่ก็เป็น ผู้มีความสนใจใคร่รู้

ข่าวน้ำท่วมรายวันมีแต่จะเปิดเผยความเสียหายและการแผ่ขยายเพิ่มขึ้นของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ปีนี้ที่แห่งใดไม่ถูกพิษน้ำท่วมถือว่าดวงดี ใครๆคงอยากแห่กันไปอยู่

วันนี้ (๑ ตุลาคม ๒๕๕๔)น้ำท่วมที่ ลพบุรี และ อยุธยา หนักมาก

ที่ วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ มีพระนอนองค์ใหญ่ เรียกกันว่าหลวงพ่อโต ตรงนั้นก็น้ำท่วมทุกปีเหมือนกัน อยู่ติดกับเขื่อนพระรามหก ปีที่แล้วท่วมมากผิดปกติจากในรอบหลายสิบปี  ชาวบ้านเขาพูดกันว่า หลวงพ่อโตท่านอยากสรงน้ำ(อาบน้ำ) แต่ปีนี้ท่านอยากสรงเกศ (สระผม) เพราะน้ำยิ่งหนักกว่าปีที่แล้ว

ที่บ้านเราก็ได้องค์พระเตือนบอกระดับน้ำเช่นกัน จึงเฝ้าระวังเหตุการณ์ด้วยใจสงบ นอบน้อม

 

ผู้เขียนยังอยู่บ้านริมน้ำป่าสักทุกวัน แม้ว่าต่อนี้ไปน้ำจะท่วมหนักๆอย่างนี้ทุกปี ก็จะยังคงอยู่ ซึ่งน่าจะสุขสบายและง่ายกว่าการย้ายบ้านหนีน้ำท่วมแล้วไปเจอปัญหาอื่น จึงต้องอยู่ศึกษา เรียนรู้เพื่อปรับใจ ปรับการดำรงชีวิตค่ะ

คนข้างกายผู้เขียนชอบพูดเสมอว่า ความรู้และสุนทรียศาสตร์ในการดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษเรานั้น ถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาแบบสมัยใหม่ ตลอดเวลาสี่สิบถึงห้าสิบปีที่ผ่านมา ความรู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้ ไม่ได้ถูกปรับและสร้างขึ้นใหม่ คนที่จำได้แม่นยำก็แทบจะลาโลกไปหมด ที่เหลือก็อยู่ก็เป็นคนชราที่ หลงลืม  คนรุ่นใหม่ก็ไม่เคยได้รับการถ่ายทอดปลูกฝัง จึงเป็นผู้ไม่รู้ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่ก็เป็น ผู้มีความสนใจใคร่รู้  

...ผู้หลงลืม ผู้ไม่รู้ และ ผู้สนใจใคร่รู้ น่าคิดนะคะ

เพื่อให้ตนเองมองเห็นภาพใหญ่ของพื้นที่น้ำท่วมและแบ่งปันเรื่องราวกับท่านผู้อ่าน วันนี้จะขอคุยถึงภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มน้ำนี้ บันทึกนี้ได้ข้อมูลมาจากสามแหล่ง คือ

  • เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ หนังสือพิมพ์มติชน หน้าพิเศษ “ประชาชื่น” มีคอลัมน์ที่น่าสนใจมากคือ น้ำท่วมเจ้าพระยา สมัยโบราณดินอุดมสมบูรณ์ และ คอลัมน์สยามประเทศไทย โดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่อง สยามเมืองน้ำ มีน้ำมากท่วมสยาม อ่านแล้วทำให้ฉุกคิด หวนคิดไปหลายประการ ประการหนึ่งคือ คนยุคปัจจุบันลืมเลือน ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของสภาพภูมิศาสตร์และระบบนิเวศที่ตนเองดำรงชีพอยู่ ระบบการศึกษาที่ทำให้เรารู้ทั่วโลกยกเว้นเรื่องของตัวเองกำลังทำลายเราอย่างรุนแรง จะกลับลำ แก้ความเสียหายกันทันไหมหนอ

 

  • ผู้เขียนได้อ่านหนังสืออีกเล่มของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ชื่อ “อยุธยา ยศยิ่งฟ้า:ว่าด้วยวิถีชีวิตของไพร่ฟ้า ข้าไท สมัยกรุงศรีอยูธยา” พบข้อมูลที่ตัวเองแม้เคยอ่านก็หลงลืมไปเหมือนกัน มาอ่านตอนน้ำท่วมอีกครั้งทำให้ เข้า ถึง ใจ ยิ่งขึ้น

 

  • “จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม”  แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๘ ในบทที่หก ว่าด้วยที่ประกอบกสิกรรมและอู่ข้าวอู่น้ำของสยาม

 

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หมายถึง บริเวณที่ราบริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ภาคกลางตอนล่างของไทย มี แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประธาน มีแควไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ สาย คือ แม่น้ำสะแกกรัง และ แม่น้ำป่าสัก

ลุ่มน้ำนี้มีอิทธิพลและความสำคัญต่อประชากรในพื้นที่ภาคกลาง ๑๑ จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ และ สมุทรปราการ

 

 

จากภาพแผนที่แสดงเขตลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่ง มติชนได้มาจาก “แผนที่ความรู้ท้องถิ่นไทยภาคกลาง” โดย กวี วรกวิน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๒๗ จะเห็นเส้นโยงใยเป็นข่ายสายน้ำมากมายจริงๆ  ก็สมเหตุสมผลที่สยามจะเป็นประเทศที่มีน้ำมาก อุดมสมบูรณ์

นอกจากมีลำน้ำหลายสายแล้ว บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างนี้ยังเป็น ที่ราบลุ่มต่ำ ภาพจากดาวเทียมตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “จากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย” หน้า ๒๔๔-๒๔๕ ซึ่ง ปรากฏในหนังสือ “อยุธยายศยิ่งฟ้า” หน้า ๕ จะเห็นภาพร่องรอยของทะเลอ่าวไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว น่าอัศจรรย์ เพราะมีชายฝั่งทะเลกว้างขวางลึกเข้าไปกว่าปัจจุบันมากมาย ให้ดูบริเวณสีเข้มๆ คือทะเลอยู่ลึกเข้าไปผ่าน อยุธยา ไปจนถึง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ทีเดียว

 

 

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า “...อ่าวสยามโบราณที่กว้างขวางดังกล่าวมิได้อยู่คงที่ เพราะแผ่นดินงอกออกไปเรื่อยๆโดยรอบตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ ชายฝั่งทะเลก็หดเลื่อนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นอ่าวสยามอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ และจะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก

เหตุที่แผ่นดินงอกและชายฝั่งทะเลหดเลื่อน ก็เพราะการทับถมของตะกอนหรือโคลนตมที่ล้นทะลักไหลมากับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำบางปะกง...”

หลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียม จากประวัติศาสตร์และโบราณคดี จึงบอกให้เราทราบว่า “...เมื่อหลายพันปีก่อนหรือประมาณหมื่นปีมาแล้ว บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างนี้เป็นท้องทะเลอ่าวสยามและบริเวณราชธานีกรุงศรีอยุธยายังอยู่ใต้ทะเล...”

ลา ลูแบร์ อัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งได้เดินทางมาเมืองไทยอยู่ช่วงสั้นแค่สามเดือนกว่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แต่ลาลูแบร์เป็นคนฉลาด(ก็ฝรั่งเศสเขาคงคัดแล้วว่าไม่เอาคนปัญญาทึบมาเจริญสัมพันธไมตรี) ช่างสังเกตและเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็นตามที่เขาตีความ ตรงกับความเป็นจริงบ้าง เพี้ยนๆอ่านแล้วน่าขำหรือประหลาดใจบ้าง จดหมายเหตุลา ลูแบร์ จึงเป็นหนังสือแปลที่มีคุณค่า น่าศึกษาว่าลา ลูแบร์ได้เห็นอะไร และฝรั่ง-คนนอกคิดอย่างไรกับเมืองไทย

ข้อสังเกตประการหนึ่งของ ลา ลูแบร์ คือ เรื่องพื้นดินที่เพาะปลูกและการมีน้ำท่วมทุกปีของสยาม(กรุงศรีอยุธยา) เขาเขียนไว้ว่า

๑.    เมืองสยามเป็นดินโคลน

พื้นดินของประเทศสยามมิใช่ดินปนหิน จะหาหินปนอยู่ในดินสักก้อนก็แสนยาก ด้วยประการฉะนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่า ประเทศสยามน่าจะเป็นเหมือนที่เขาว่ากันถึงประเทศอียิปต์ ว่าพื้นดินนั้นเกิดจากโคลนที่น้ำฝนชะไหลลงมาจากภูเขา...

๒.    การมีน้ำท่วมทุกปีทำให้พื้นดินสยามอุดมขึ้น

ฉะนั้นดินโคลน(ที่น้ำฝนชะ)ไหลลงมาจากภูเขานี้เองเป็นตัวสาเหตุอันแน่นอนที่ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีพื้นดินอันอุดมดีนักในที่ทุกหนทุกแห่งที่มีน้ำท่วมไปถึง...

...การมีน้ำท่วมเป็นประจำปี ย่อมเป็นประกันแก่ประเทศสยามในด้านความอุดมสมบรณ์ในการทำนาข้าว และทำให้ราชอาณาจักรนี้เป็นอู่ข้าอู่น้ำของหลายประเทศทีเดียว.

๓.    น้ำท่วมทำลายตัวแมลงต่างๆ

การที่น้ำท่วมนั้น นอกจากจะทำให้พื้นดินมีปุ๋ยอันอุดมดีแล้วยังช่วยทำลายตัวแมลงร้ายๆ ให้หมดไปได้มิใช่น้อย แม้จะยังเหลือตกค้างอีกเป็นอันมากและทำความรำคาญกับบ่อนทำลายการกสิกรรมเป็นที่สุด ธรรมชาติได้เสี้ยมสอนให้สัตว์ทุกประเภทในประเทศสยามรู้วิธีเอาตัวรอดเมื่อถึงคราวน้ำท่วม บรรดานกที่ไม่เคยจับอยู่กับที่ในเมืองเรา เช่นนกกระทาและนกพิราบเป็นต้น ก็ขึ้นเกาะจับเจ่าอยู่ตามต้นไม้เป็นฝูงๆ พวกมดซึ่งมีความรอบคอบเป็นพิเศษก็ขึ้นทำรังและคลังเสบียงของมันบนต้นไม้

สรุปตามความเข้าใจของผู้เขียนก็คือ พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้ ก็เป็นที่งอก พื้นที่ต่ำ มีลำน้ำมากมายมารวม มาไหลลงทะเล และการอยู่ในเขตที่มีฝนชุกจากมรสุม ได้น้ำฝนมาก มีน้ำหลากลงมาจากทางเหนือจึงเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ในรอบสิบปีมานี้ น้ำมากจนเสียหายเหลือคณา คนปัจจุบันยุคนี้ต้องหาสาเหตุให้พบ เพื่อช่วยกันทำให้ น้ำมาก เป็นสิ่งเป็นคุณ มากกว่าเป็นโทษ และมอง น้ำ ว่าเป็นทรัพยากรที่เราต้องใช้อย่างชาญฉลาดและรู้คุณ

ท่านผู้อ่านคงได้จินตนาการสภาพภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ กรุงศรีอยุธยาแต่กาลก่อนจากข้อมูลที่นำมาฝาก ตอนหน้าจะขอเขียนถึงเรื่อง น้ำหลาก-น้ำท่วมกับการทำนาในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เอาแค่พอเพลิดเพลินต่อการได้เรียนรู้ตามอัธยาศัยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 463353เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • พี่นุชเจ้า..
  • 

ตามมาเรียนรู้ ด้วยความรื่นรมย์ค่ะ ^^  แต่อะไรที่มากไปก็ไม่ดีนะคะ  อย่างเช่น "น้ำ" เป็นต้น   แล้วจะทำอย่างไรให้ "โทษ" จากน้ำ กลายมาเป็น "คุณ"  หล่ะเนี่ย..ย..ย ^^

 

 

•สวัสดีค่ะพี่นุช

•ขอขอบคุณความรู้จากบันทึกนี้

•หนูแวะมาเยี่ยม ด้วยความห่วงใยค่ะ :)

ชื่นชมการเผชิญภาวะน้ำท่วมด้วยอารมณ์สุนทรีและแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่น่าสนใจค่ะ ขอให้กำลังใจนะคะ

บ้านพี่ใหญ่ที่กทม.อยู่ในช่วงเฝ้าระวังและเตรียมการช่วยตนเองเท่าที่จะคิดได้ ไม่เคยมีประสบการณ์แบบสาหัสมาก่อนค่ะ

เป็นข้อมุลเก่าๆ น่าศึกษาแก้เครียดนะครับ

เห็นภาพชัดเจนขึ้นมาเลยล่ะค่ะอาจารย์

เกี่ยวเนื่องกับน้ำ การจัดการน้ำ

เคยไปพูดคุยกับ อ.สุรจิต ชิรเวทย์ สว.สมุทรสงคราม

แล้วได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง "คนแม่กลอง"

แต่คำว่าคนนั้น ท่านใช้ ค.คน ที่หัวแตก นะคะ

ถ้าอาจารย์ได้อ่าน คาดว่าอาจารย์ต้องสนุกแน่ ๆ เลยค่ะ

คุณต้อมเนปาลีเจ้า  จะทำให้น้ำมาก กลายเป็นคุณได้ คงทำได้หลายวิธีนะคะ อย่างแรกคือ ท่าที โลกทัศน์ของเราที่มีต่อสายน้ำยามปกติ ว่าเราใช้อย่างไร บริหารจัดการ "คน" ที่ใช้น้ำอย่างไร พี่เห็นว่าคนยุคนี้ส่วนใหญ่ใช้สายน้ำแค่เป็น น้ำใช้ ไม่ได้รู้ค่า รู้คุณ ก็เหมือนกับใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เห็นเป็นแค่ "สิ่ง" ที่เอามารับใช้ชีวิต ตราบใดที่เรายังหยาบกร้านไปจนถึงหยาบคายกับการใช้สายน้ำ เราก็จะไม่มีความระมัดระวัง ไม่คิดที่จะเรียนรู้ธรรมชาติของสายน้ำ

อย่างคำที่นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ ...สิ่งที่มีคุณอนันนต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์ หากไม่รู้จักใช้

แย่ตรงที่ธรรมชาติไม่ได้เลือกไปตอบโต้ต่อคนที่กระทำหยาบหยามแก่ธรรมชาติ คนจน ชาวบ้านที่อาจไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ กลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

การบริหารจัดการน้ำโดยภาครัฐควรให้ผู้คนในระดับพื้นที่ ระดับชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ อย่างใช้ความรู้ เพราะเมื่อเกิดภัยชาวบ้านจะเป็นผู้รับผลร้าย และส่วนใหญ่โครงการใหญ่ๆในการจัดการน้ำ ใช้น้ำ คนที่ได้ประโยชน์มากมักเป็นคนในเมืองนะคะ

ขอบคุณค่ะน้องหนูรี น้ำท่วมก็เป็นโอกาสให้อยากทำความเข้าใจภูมิศาสตร์ที่ตัวเองอยู่มากขึ้นค่ะ พี่คิดว่ายุคนี้ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ใครอยู่ตรงไหนก็ควรศึกษาทำความเข้าใจพื้นที่นั้นๆ และลองฟังขอความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเขาเคยอยู่กันอย่างไร เกิดปัญหาแล้วแก้หรือปรับตัวอย่างไร

ขอบพระคุณค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ขอให้ผลบุญรักษาคุ้มครองพี่ใหญ่ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะคะ

 

ค่ะอาจารย์โสภณ เปียสนิท เราก็ได้เรียนรู้จากเรื่องราวที่มีการบันทึกไว้เช่นนี้ ได้อ่านก็ทำให้เห็นที่มาที่ไปค่ะ อย่างที่ผู้รู้ท่านกล่าวว่า ...หากไม่รู้ที่มา ก็ไม่รู้ที่ที่จะไป

น่าเสียดายความรู้ในตัวผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะให้ข้อคิด ให้แนวทางแก่เราเพื่อนำมาปรับใช้ได้ ท่านก็พากันลาโลก หรือ หลงลืมไปหมด หรือบ่อยครั้งที่คนสมัยใหม่มักมองว่าคนแก่เพ้อแต่เรื่องอดีต ทว่าหากฟังให้ดีๆจะเห็นความรู้ ความงาม ความดีมากมายในการใช้ชีวิตนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา ได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ ประทับใจมากค่ะ

คนข้างกายและท่านสว.สุรจิตได้เคยพบกันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน ต่างชื่นชมกันและกันค่ะ ท่านสว.มีความรู้ ความเข้าใจในลุ่มน้ำแม่กลองอย่างดีเยี่ยม หากแต่ละที่มีบุคลากรเช่นนี้อยู่จะเป็นพลังของท้องถิ่นได้อย่างดีเลยนะคะ

บันทึกนี้ทรงคุณค่าและงดงาม กอรปด้วยการค้นคว้าข้อมูลที่ชัดเจนครับ พี่นุช คุณนายดอกเตอร์ ;)...

  • สวัสดีครับอาจารย์ คุณนายดอกเตอร์
  • ประวัติศาสตร์หากเราศึกษาจะเป็นบทเรียนที่ดีทีเดียว
  • แต่ละพื้นที่ก็จะมีความรู้ที่เหมาะสมฯ อยู่รอบตัว
  • เพียงแต่เรา(คนสมัยนี้)มองข้าม หรือคิดว่าไม่จำเป็น
  • คิดว่าโลกสมัยใหม่ ก็ต้องใช้ความรู้ใหม่ๆ เสมอ
  • เรากำลังใช้ชุดความรู้ที่ไม่ได้สร้างเองเสียเป็นส่วนมาก
  • เวลาเกิดอะไรขึ้นก็เลยต้องคิดกันใหม่ฯ ร่ำไป
  • ปรับตัวไม่ทัน  ทั้งๆ ที่คนโบราณเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดาๆ
  • เพราะมันก็ต้องเป็นของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว
  • เห็นอาจารย์เก็บเรือไม้แล้วปลื้มใจ
  • แต่คนสมัยนี้ไม่ใส่ใจ ทิ้งหมด
  • พอน้ำท่วมเลยเรียกหาแต่เรือท้องแบนมาช่วย เพราะไปไหนไม่ได้
  • สู้คนรุ่นก่อนไม่ได้นะครับ  พึ่งตนเองได้
  • ขอบพระคุณที่อาจารย์นำสิ่งดีๆ มาแลกเปลี่ยนครับ
  • จริงด้วยครับ
  • ในสมัยก่อนมีภูมิปัญญาที่ดี
  • แมลงคงหายไปกับน้ำด้วย
  • พาเด็กๆไปดูแมลงมาครับ
  • เกี่ยวกันไหมเนี่ย
  • ฮ่าๆๆ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/463582

...สวัสดีค่ะ..คุณนุช..."ยายธี..เคยได้ยิน..ตอนเด็กๆว่า..อยุธยา..เมืองเก่าเรานั้นเป็น..เมือง..ทอง(ในประวัติศาตร์)..เป็น..อู่ข้าว..อู่น้ำ..สมัยต้น..รัตนโกสิน"..ภาคกลางนั้น..อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก...ในน้ำมีปลา..ในนามี.ข้าว...(ต่อเนื่องมาจากอาณาจักรสุโขทัย)...ตั้งแต่เราเอาอู่ข้าวอู่น้ำของเรา..ไปขาย..ทำโรงงาน..(ที่มีเห็นผุดอยู่ตามท้องนาทั่วไปในภาคกลาง)..เลยมีแต่ "กรรมสารธารณะ"..อย่างที่คุณนุชพูดให้ได้ยิน..."โชคดี..นิดๆที่ได้มีโอกาศเห็น..ความเป็นมาของเมืองไทยในสมัยสามสิบปีที่ผ่านมา.."...เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับคำที่ท่าน พุทธทาส กล่าวไว้..เมื่อมีความเจริญ..ก็มีความเสื่อม...(เราๆ..จะมีความสามารถ..เพียงพอไหม..ที่จะ..ชลอ..ความเสื่อม..อาจจะเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ..นะเจ้าคะ)....ยายธีแวะมาเอาใจช่วยเจ้าค่ะ...ถึงเมืองไทยเดือนหน้านี้..น้ำคงลดแล้ว..ยายธีดีใจที่มีโอกาศจะได้พบกันอีก..กับสารทุกขสุขดิบ..ที่จะได้เม้าท์กัน..นะเจ้าคะ..ยายธีเจ้าค่ะ....

สวัสดีค่ะ พี่นุช

ต้องขอจดจำและนำแนวคิดของพี่ไปใช้ค่ะ......

" คนปัจจุบันยุคนี้ต้องหาสาเหตุให้พบ เพื่อช่วยกันทำให้ น้ำมาก เป็นสิ่งเป็นคุณ มากกว่าเป็นโทษ

และมอง น้ำ ว่าเป็นทรัพยากรที่เราต้องใช้อย่างชาญฉลาดและรู้คุณ"

จากภาพ เดาว่า..น้ำท่วมสูงขึ้น มากกว่าครึ่งเมตร...

บรรยากาศ...ดูโรแมนติกด้วยซ้ำไป....เห็นจากภาพตะเกียงคู่นั้น

คิดวาดภาพไปถึง...วันลอยกระทง.....ที่บ้านริมน้ำป่าสัก ละค่ะ

ยินดีที่เห็น..พี่มีสุข....ทุกวันคืน

^_____^

ดูข่าววันนี้

น้ำไม่ลดการจัดการน้ำเริ่มลำบาก มีตัวแปรมากมาย.....เริ่มเป็นห่วงพี่นุชค่ะ...

ผมว่าสยามเมืองน้ำแน่นอน 100 %

ดูจากบ้านเรือนสมัยโบราณที่ยกสูง มันมีเหตุผลที่ต้องยกสุง

กูจากสครามที่พม่าล้มเมือง พอน้ำมา พม่าต้องยกทัพหนีตลอด แสดงว่ามันต้องท่วมมากแน่นอน

โบราณรู้จักปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่น่วมกับธรรมชาติครับ หน้าแล้งทำนา หน้านำประมง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนเริ่มออกห่างจากธรรมชาติ สร้างทุกอยางเพื่อตอบสนองตนเอง ไม่ตอบสนองธรรมชาติ เราจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกัลธรรมชาติ

ได้อย่างเหมือนเดิมอีกต่อไป

มาตอบช้าไปหน่อย ขออภัยทุกท่านนะคะ

  • อาจารย์Wasawat Deemarn เชียงใหม่น้ำท่วมไม่แพ้ที่ใด รุนแรงหลายพื้นที่ การช่วยกันประมวลข้อมูลแต่ละถิ่นที่ของตนทั้งอดีต ปัจจุบัน จะช่วยให้มีการวางแผนรับมือได้ดีขึ้นนะคะ ความรุนแรงและประเภทของภัยมีมากขึ้นในแต่ละปีจริงๆค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะคุณสิงห์ ป่าสัก เห็นด้วยที่สุดค่ะว่า เรากำลังใช้ชุดความรู้ที่เราไม่ได้เป็นผู้สร้างเองในการดำรงชีวิตในแทบจะทุกพื้นที่ ในคราน้ำท่วมนี้แถวบ้านพี่เราจึงเห็นการสร้างบ้านทรงสเปน ทรงคาลิฟอร์เนียแบบเปิ่นๆ อย่างคนที่อยากเป็นอยู่อย่างฝรั่ง หลักของการพึ่งพาตนเองได้ ความพอเพียง เป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจค่ะ

      บางพื้นที่ชาวบ้านที่อายุเลยหกสิบ หากไปคุย เขาก็มักจะทำใจยอมรับและรักษาตน แต่สื่อมักพยายามถามคำถามชี้นำจะให้เขาตอบว่าเป็นทุกข์ให้ได้ น้ำท่วมมากปัญหามีแน่นอน ปีนี้หนักกว่าปีที่แล้ว หากมัวจมทุกข์ไม่ใช้ปัญญาแก้ไข ปรับปรุงชีวิต ก็ต้องทุกข์ซ้ำซาก ที่จริงสงสารชาวบ้านทุกคนที่เขาชินกับการเป็นผู้รับความช่วยเหลือ มองไม่เห็นว่าการดำรงชีวิตอย่างที่เป็นอยู่นั้นอยู่บนความประมาทในชีวิตโดยแท้

  • ค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ขาดตอน ขาดช่วง ไม่ได้มีการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ชุดใหม่ที่จะมาใช้ในการดำรงชีวิตในยุคนี้ น่าเสียดายมากค่ะ

 

  • คุณยายธี โชคดีที่ได้ทันเห็นช่วงเวลารอยต่อเก่า-ใหม่ ความเสื่อมคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคนี้นะคะ เพราะมันยากมากที่จะหยุดความเสื่อมในใจคนเราที่มาก่อนอะไรทั้งหมด จะให้คนสมัยใหม่เกิดสัมมาทิฏฐิก็ยากยิ่ง ทุกอย่างหมุนไปด้วยความต้องการใหม่ๆ อัตตา-มานะ และเงิน เวลาที่เกิดภัยพิบัติอย่างนี้ยิ่งเห็นชัดค่ะ

 

  •  น้องคุณแจ๋ว มาสองรอบเลยพี่เพิ่งได้ตอบ พี่ก็มีความสุขได้ตามอัตภาพค่ะ ปัญหาก็มีไม่แตกต่างจากคนอื่น แต่เราเตรียมการไว้พอสมควร ปัญหารายวันมากมายค่ะ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๔-๕ ตุลา ที่น้ำทะลักเข้าอยุธยา ก็ต้องแก้ปัญหาไปเพราะคนข้างกายมีคนงานที่ต้องดูแลเกือบร้อย และงานสร้างศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯก็อยู่ในเขตต่อกับนครหลวงซึ่งหากน้ำล้นทะลักข้ามไปฟากอำเภอภาชีก็จะเสียหายหนัก แต่เราก็รับด้วยใจที่นอบน้อมในความเป็นไปนะคะ เวลาอย่างนี้ต้อง สงบ ใช้สติและปัญญาให้มาก ทั้งเพื่อนและญาติกระหน่ำโทรมาถามต่างบอกให้พี่รีบย้ายออกจากพื้นที่ เขาดูข่าวแล้วมันก็น่าตกใจจริงๆ แต่บ้านพี่ยังอยู่ได้ปลอดภัยอยู่ น้ำยังไม่ถึงชั้นสอง หากถึงก็คิดวางแผนไว้แล้วค่ะว่าจะทำอย่างไร

 

  • ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีที่มาส่งยิ้มให้กำลังใจกันค่ะ พี่ยังปลอดภัยสบายดี

 

  • ขอบคุณคุณวาทิน ศานติ์ สันติ ค่ะที่มาร่วมแสดงความเห็น จากกาลก่อนที่คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ เกิด ภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรม เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ได้อย่างเกื้อกูลกัน ยุคนี้กลายเป็นว่าเราพยายามจะเป็นคนมีวัฒนธรรมเดียวกับคนทั้งโลก อยากเป็นสากล หรือเป็นอย่างตะวันตกกันมาก การเป็นฝรั่งก็ไม่ได้เสียหาย เขาก็ดีก็เหมาะตามแบบของเขานะคะ แต่เรากลับไปให้คุณค่าว่าเป็นแบบเขามันวิเศษกว่าการอยู่อย่างเข้าใจตนเอง เข้าใจแผ่นดิน

สวัสดีค่ะ น้ำท่วมเคยเป็นเรื่องปกติของที่บ้านลำดวนเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว เราต้องใช้เรือเดินทางติดต่อเป็นปกติ เป็นฤดูน้ำหลากอยู่สามสี่เดือน เราปรับวิธีการใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน แต่พอมีระบบชลประทานน้ำไม่ท่วมมานานมากจนเราลืมวิถีชีวิตเดิมๆ เมื่อเกิดน้ำท่วมปีนี้ ชาวบ้านแถวบ้านบ่นกันมากว่าเดือดร้อน เพราะเราละทิ้งเรือ เราไม่มีไม้สำหรับทำสะพาน.....และไม่....อีกหลายๆอย่าง ซึ่งความจริงถ้ามองวิกฤติเป็นโอกาสจะพบว่ามีสิ่งดีๆตามมาเช่นกันค่ะ

  • น้ำชะล้างสารพิษบนพื้นดิน
  • น้ำทำให้มีปลาชุกชุมชาวบ้านหาปลาได้ง่าย
  • น้ำทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

แต่ทั้งนี้ต้องเป็นพื้นที่ชนบทนะคะ

คุณนุชสบายดีนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ลำดวน ขอบคุณค่ะนุชยังอยู่ได้ปลอดภัยดีค่ะ

หากเราได้ใช้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นบทเรียนก็จะดีอย่างยิ่งเลยค่ะ โดยมองให้ลึกถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำหลากรุนแรง นุชคิดว่าเราลืมวิถีการดำรงอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ นี่เป็นประเด็นสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรืออยู่ในเมือง ทุกคนต้องคิดเยอะๆว่าสิ่งที่มากับการพัฒนา ทันสมัยแลกมาจากอะไรเช่นกัน เมืองกับชนบทต้องเรียนรู้มิติธรรมชาติที่เป็นองค์รวมเพื่อปรับตัวให้อยู่เป็นสุขได้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท