ทักษะชีวิต


ผมสอนวิชาเริ่มต้นโครงงานวิทยาศาสตร์ให้กับชั้น ม.1 มาตลอด ตั้งแต่หลักสูตร พ.ศ.2523 จนถึงหลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.2551 ในปัจจุบัน นับวันการเรียนวิชานี้จะยิ่งทวีความสำคัญ ด้วยหลักการคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น เพราะวิชานี้ เน้นเรียนรู้วิธีและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองในโอกาสต่อๆไป

วิทยาศาสตร์จะหมายถึงความรู้ทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่รู้แล้ว ซึ่งเป็นทฤษฏี หลักการ หรือ กฎ ฯลฯ ที่มีอยู่ในตำรา อีกส่วนเป็นความรู้ที่มนุษย์ยังไม่รู้ จึงต้องมีกระบวนการค้นคว้าหาความรู้อย่างมีขั้นตอนหรืออย่างมีระบบ ด้วยวิธีและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามที่กล่าวมา

บางคนบอกความรู้ส่วนที่ยังไม่รู้สำคัญยิ่งกว่า เป็นความรู้ก้อนมหึมา ดังฐานภูเขาน้ำแข็งซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวน้ำ ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเสมือนความรู้ที่รู้แล้ว เมื่อเทียบกันจึงมีขนาดเล็กมาก เพราะเป็นเพียงบริเวณส่วนปลายยอดภูเขาเท่านั้น ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้คำถามสำคัญกว่าคำตอบคงเนื่องด้วยประการฉะนี้ เพราะวิธีนำไปสู่คำตอบหรือความรู้ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นผลมาจากเหตุ ซึ่งก็คือการตั้งคำถาม หรือการระบุปัญหานั่นเอง

กิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจัดให้ลูกศิษย์มีอยู่อย่างหลากหลาย ตามที่เคยนำเสนอไว้บ้างแล้ว ณ ที่นี้ อาทิ ทิ้งไข่อย่างไร?..ไม่ให้แตก แบบใดจะดังกว่า? ขึ้นอยู่กับอะไร? อีโบ๊ะ ทดสอบหู เรียนรู้ไปกับนักเรียน อารมณ์ครูเป็นสำคัญ สอนเรื่องตัวแปร เป็นต้น

นักเรียนชั้น ม.1 ทุกคน ที่เรียนวิทยาศาสตร์เป็นวิชาเพิ่มเติม จะได้ทำกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ อันที่จริงกิจกรรมแต่ละปี จะคล้ายหรือซ้ำกับปีก่อนๆเป็นส่วนมาก ในภาคเรียนนี้ กิจกรรมแตกต่างไปจากเดิมบ้างก็มี อาทิ การรับน้ำหนักของกระดาษ หรือ แถบพิศวง

 

การเรียนเรื่อง การรับน้ำหนักของกระดาษ กระทำโดยนำกระดาษ A4 2 แผ่น ม้วนตามแนวยาวให้มีขนาดต่างกัน 2 แบบ ได้แก่ ม้วนขนาดใหญ่หรือม้วนหลวมๆ กับม้วนขนาดเล็กหรือม้วนแน่นๆ แล้วนำกระป๋องหรือแก้วพลาสติกผูกเชือกแขวนที่ม้วนกระดาษ ค่อยใส่ก้อนกรวดลงไปทีละก้อน จนม้วนกระดาษหักงอ รับน้ำหนักไม่ไหว เปรียบเทียบความสามารถในการรับน้ำหนักของกระดาษ ระหว่างม้วนหลวมกับม้วนแน่น แบบใดรับน้ำหนักได้ดีกว่า ด้วยการชั่ง จดบันทึก ตัดสินจากน้ำหนักก้อนกรวด

สำหรับเรื่องแถบพิศวง นักเรียนจะเรียนรู้จากการตัดกระดาษเป็นแถบกว้าง-ยาว ประมาณ 2x40 เซนติเมตร แล้วนำปลายกระดาษสองข้าง มาแปะต่อกันด้วยกาวลาเท็กซ์หรือวัสดุอื่นๆ ก่อนติดกาวให้บิดปลายกระดาษด้านหนึ่ง เป็นจำนวนครึ่งรอบ หนึ่งรอบ และสองรอบ จากนั้นตัดแถบกระดาษตามแนวยาว ซึ่งบัดนี้กลายเป็นห่วง ออกเป็น 2 ส่วน พร้อมบันทึกการเปลี่ยนแปลงของห่วงกระดาษที่เกิดขึ้น

ก่อนลงมือตัดกระดาษจริง ทุกกลุ่มต้องคาดคะเน น่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือแถบห่วงกระดาษทั้ง 2-3 แบบ ตามลักษณะการบิดที่ปลายข้างหนึ่งนั้น จะเป็นอย่างไร หลังตัดแบ่ง

วิชานี้ไม่ได้เน้นเนื้อหาสาระ ความรู้ หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ใดๆเลยครับ แค่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ มีการบันทึกข้อมูล สรุปผลได้ ระบุปัญหา ตั้งและตรวจสอบสมมติฐานเป็น ครูก็พอใจแล้ว เพราะวิธีการหรือทักษะเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองต่อไป

โดยเฉพาะน่าจะฝึกให้นักเรียน ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่าย จนกว่าจะผ่านการพิสูจน์อย่างจริงจังมาแล้วเท่านั้น หรือ น่าจะทำให้เป็นคนที่มีเหตุมีผลมากขึ้น

เมื่อไตร่ตรองและมีเหตุผลมากขึ้น ความผิดพลาดในชีวิตน่าจะน้อยลง

หมายเลขบันทึก: 462753เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ครูคะ

ขอบคุณแทนเด็กๆ นักเรียน ที่ครูมีความตั้งใจ สอนนอกตำราเพื่อให้เด็กฝึกคิด สังเกต

เชื่อว่านักเรียนของคุณครูต้องเป็นคนที่มีทักษะในชีวิต รู้จักคิด พิจารณา แน่นอนคะ

 เสียดายแทนนักเรียนอีกหลายโรงเรียนที่ไม่ได้เรียนแบบนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ คิดถึงเมื่อเป็นเด็ก วิชานี้สอนให้รู้เหตุและผล ไม่ให้เชื่อแบบงมงายไร้สาระ บันทึกนี้เช่นกันที่ปลูกฝังนักเรียนให้มีความสำนึกเช่นนั้นค่ะ

ขอบคุณคะ ได้เห็นตัวอย่างชัดเจน ของการสอนทักษะชีวิต เพื่อศตวรรษที่ 21

การให้ตั้งคำถาม ด้วยตัวเอง

ทดลอง ประเมิน ใช้วิจารณญาณ

แม้เด็กทุกคนไม่ได้จบไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ทุกคน

แต่ทักษะเหล่านี้ ได้ใช้ในชีวิตเสมอ

  • เห็นความตั้งใจของครูธนิตย์แล้วชื่นชม 
  • วิชาวิทยาศาสตร์น่าค้นหาหากครูมุ่งมั่นและกระตุ้นให้เด็กใฝ่รู้
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

  • เด็กๆสนุกกันใหญ่เลย อยากกลับไปเป็นนักเรียนอีกเด้

*** เพราะไม่ไตร่ตรอง...ชีวิตในช่วงวัยรุ่นจึงถูกชักนำให้ทำสิ่งผิด

*** หลายๆวิชาต่างพยายามสอนให้เด็กคิด แต่ก็ยังมีเด็กบางกลุ่มที่ยังย่ำแย่...จนไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร พอต้องจัดการขั้นเด็ดขาด ก็ถูกตอบโต้อย่างคาดไม่ถึง...คงป้องกันเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้เกิดความผิดพลาดในชีวิตได้ยาก...คนคิดไม่เป็น คือภาระที่ยิ่งใหญ่ของสังคม

*** พื้นฐานวิทย์ คือทักษะชีวิตของพลโลกจริงๆ

สวัสดีค่ะ

Ico64

ชื่นชมวิธีการสอนของอาจารย์ค่ะ...และน่าจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory) ของ David Mc Clelland ที่หมายถึงภาพรวมของบุคลิกลักษณะ ประกอบด้วยภูเขาส่วนที่พ้นผิวน้ำ คือ ทักษะ(Skill)และความรู้ (Knowledge)เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับเชาว์ปัญญาของบุคคลแสดงออกให้เห็นถึงความฉลาดสามารถเรียนรู้ องค์ความรู้ต่างๆและทักษะได้ ส่วนภูเขาที่อยู่ใต้น้ำคือ ส่วนที่คนภายนอกมองไม่เห็นได้แก่ บทบาทความสามารถที่มีต่อสังคม (Social Role) ความเชื่อมั่นในตนเอง ( Self Confidence) คุณลักษณะนิสัยส่วนบุคคล (Traits) และแรงจูงใจภายใน (Motives) ซึ่งจะเป็นบุคลิกลักษณะภายในของบุคคลนั้นๆ โดยรวมแล้วจึงเปรียบเทียบบุคลิกลักษณะของคนทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเป็นดังเช่น ภูเขาน้ำแข็ง และภูเขาในส่วนที่อยู่ใต้น้ำ เป็นส่วนที่นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ HRD สนใจและต้องการดึงออกมาจากตัวบุคคล เพื่อการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของบุคลากรในองค์กรให้สูงขึ้น ด้วยความเชื่อว่า เมื่อพัฒนาคนให้ดีขึ้น คนจะสามารถพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นเช่นกัน...

สวัสดีค่ะ คุณครูธนิตย์

ชื่นชมกับการสอนที่เน้นทักษะทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้...เปรียบเสมือนเราให้เบ็ดตกปลา...แม้ไม่ให้ปลาวันนี้ แต่วันหน้าเขาหาปลาเองได้

อยากให้ครูวิทย์ได้อ่านกันหลายถามว่า "คำถามสำคัญกว่าคำตอบ"

  • เรียนแบบนี้สนุกมาก
  • เห็นแล้วมีความสุข
  • นักเรียนได้ทดลองได้เรียนรู้จัง
  • ชอบข้อความนี้จังเลยครับ

เมื่อไตร่ตรองและมีเหตุผลมากขึ้น ความผิดพลาดในชีวิตน่าจะน้อยลง

สวัสดีครับพี่ธนิตย์

ชื่นชมกับการจัดการเรียนการสอนที่สร้างความสุข และทักษะชีวิตให้กับนักเรียนครับ

หากเราอำนวยความสะดวกจนทำให้สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นมีโอกาสได้โผล่ผลุด

ศักยภาพอันซ่อนเร้นของเด็กย่อมคลี่คลายได้ครับ

     *** เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ของการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน  ที่ส่งเสริมการคิด-วิเคราะห์ จากการทดลอง-ปฏิบัติจริง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเห็นผล ....เยี่ยมค่ะ! ***


                                                            

  • พี่ครูครับ
  • ไปดูลุงไกรหรือยังครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท