ศบอ.ปาย


การสร้างชุมชนเรียนรู้ สไตล์ ศบอ.ปาย "สอนแบบไม่สอน" ช่วยกันทำจริงแล้วเรียนรู้ร่วมกัน

ศบอ.ปายกับสร้างโอกาสเสริมอาชีพแก้จนชุมชนเรียนรู้ ต.เวียงเหนือ

ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอปาย (ศบอ.ปาย) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับนโยบายมาดำเนินการในส่วนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาให้กับ “คนนอกระบบ” (นอกโรงเรียน) รวมทั้งการสร้างกิจกรรมส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการและจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ทางหนึ่ง

 ศบอ.ปาย มีวิสัยทัศน์การดำเนินงานต้องการสร้างโอกาสทางการศึกษา และเสริมอาชีพแก้ปัญหาความยากจนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างพื้นที่ตำบลตัวอย่าง ใช้ข้อมูลจดทะเบียนคนจนเป็นฐาน ครูลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน สำรวจความต้องการเพิ่มเติม คัดกรองคน ระดับการศึกษาที่ต้องช่วยเหลือในด้านใดบ้าง

ทั้งในแง่การยกระดับการศึกษา และการส่งเสริมอาชีพทางเลือกรวบรวมข้อมูลใช้กลไกบุคลากรครูลงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน โดยแกนนำชุมชนและเครือข่าย นักศึกษา กศน.ช่วยกันบักทึกข้อมูลผ่านแบบสำรวจและสัมภาษณ์ แล้วนำมาสังเคราะห์ จัดลำดับความต้องการของชุมชน

3 อาชีพแรกที่มีคนสนใจเป็นกลุ่มก้อนและ ศบอ.ดำเนินการแล้วคือ การเพาะเห็ดฟาง การทำถั่วเน่าแผ่น (แปรรูปถั่วเหลือง) และการเย็บเสื้อไต ที่ ต.เวียงเหนือ การเพาะเห็ดฟางราคาดีคนในชุมชนนิยมบริโภค และในชุมชนเองก็ปลูกข้าวมีฟางเป็นวัสดุเหลือใช้ที่บางครั้งก็เผาทิ้งเสียเปล่า ๆ การเย็บเสื้อผ้าไตก็เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยากฟื้นฟู อบต.ก็เข้ามาสนับสนุนให้คนในชุมชนใส่โดยทั่วกัน และหากมีการพัฒนารูปแบบที่ดีก็สามารถขายนักท่องเที่ยวได้ด้วย ส่วนการทำถั่วเน่าแผ่น การปลูกถั่วเหลืองก็เป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชุมชน

   

อาจารย์พงศ์ศักดิ์ ชัยยา ผอ.ศบอ.ปาย มองว่าก่อนจะแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทั้งอำเภอที่รับผิดชอบ ควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ไปก่อน สร้างตัวอย่างความสำเร็จ ให้ปรากฎ ซึ่ง 1 ในหมู่บ้านนำร่องคือ บ้านโป่ง ม.1 ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านในเขตเมือง ที่มีตัวเลขคนขึ้นทะเบียนความยากจนที่ต้องได้รับการยกระดับการศึกษาและส่งเสริมอาชีพ โดยเป็นกลุ่มประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี รวม 121 คน และสกัดออกมาได้ว่ามีเป้าหมายที่ต้องจัดการแท้จริงจำนวน 80 คน ที่มีความต้องการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม

 เมื่อรวมกลุ่มกันได้ ครู กศน.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านความรู้ การพัฒนาศึกษาดูงานนอกสถานที่ การเชิญผู้รู้มาสอน และการสร้างกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้กันเอง

 

อาจารย์ผุสดี ช้ามะเริง ครู ศบอ.ปาย บอกว่า การจัดเวทีให้ชาวบ้านได้ยืนยันข้อมูลอีกครั้ง ทำให้ทราบว่าชุมชนต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร ศบอ.มีหน้าที่ในการจัดอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการ โดยนำเอาครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นคนสอน พร้อมทั้งมีการพาไปดูงานในพื้นที่ต่างตำบล เช่น การเพาะเห็ดฟางก็มีครูประถมคนหนึ่งซึ่งชำนาญมากมาช่วยสอน

"ความจริงในชุมชนเขาก็รู้จักกันแต่ไม่เคยได้มาเรียนรู้กัน การจัดเช่นนี้ทำให้เขาได้มาเจอกัน ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันจึงอยากทำ"

 การทำกิจกรรมอาชีพแต่ละอย่างก็จะเสริมให้ทำบัญชีครัวเรือนด้วย หรือจะบันทึกแบบไหนก็ได้เพื่อให้เขาได้ทบทวนตัวเอง และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ จากกระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวชาวบ้านคือ จากเดิมที่ไม่ค่อยได้คุยกันก็คุยกันมากขึ้น คุยกันเรื่องการทำอาชีพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างคนต่างอยู่ ในกลุ่มแม่บ้านก็มีกิจกรรมทำ มีการฝึกอาชีพเพิ่มขึ้นแล้วมาบอกกันต่อ ๆ ไปไม่หวง

 

 นางพรทิพย์ แสงเขิ่ง แกนนำกลุ่มเพาะเห็ดฟาง บอกว่า จากการทำเห็ดมาสองรุ่นได้ผลดีมาก ไม่พอขาย รายได้ส่วนหนึ่งจะหักเป็นทุนของกลุ่มในการซื้อหัวเชื้อเห็ดในการทำครั้งต่อ ๆ ไป และได้ทดลองนำตอซังข้าวมาใช้แทนฟางข้าวที่ต้องซื้อ ผลจากการทำลองพบว่าให้ผลผลิตใช้แทนกันได้ดี ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจึงจะไปเก็บตอซังมาตุนไว้

ปัจจุบันมีคนในชุมชนสนใจต้องการเข้ามาร่วมกลุ่มมากขึ้น แต่ในกลุ่มก็มีการจัดการภายในในการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นสมาชิกต้องเป็นคนที่ทำจริง โดยปัจจุบันการเพาะเห็ดทำเป็นกลุ่มช่วยกันดูแล และบางคนก็ไปทำเองที่บ้านด้วยระหว่างทำได้ผลอย่างไรหรือมีปัญหาอะไรก็จะมาบอกเล่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือกัน

การดำเนินงานของ ศบอ.ปายที่ใช้การรุกถึงตัวสร้างการเรียนรู้ทั้งตัวบุคลากรและชาวบ้าน จนเกิดเป็นชุมชนเรียนรู้ย่อย ๆ ในเรื่องใกล้ตัวที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการ

ศบอ.ปายยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านอาชีพทั้งการเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบและอื่น ๆเน้นทำให้ได้ผลก่อนจึงจะขยายไปสู่ชุมชนตามความต้องการ และครูต้องเป็นนักเรียนรู้และคอยเอื้ออำนวยให้กลุ่ม/ชุมชนเกิดการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ใช้ “สอนแบบไม่สอน” เน้นให้เกิดคิดร่วม ทำร่วม และเรียนรู้ร่วมกันภายในกลุ่มครูพี่เลี้ยงช่วยเชื่อมโยงนำความรู้ที่จำเป็นไปให้ ในแง่มุมของการจัดการความรู้รูปธรรมแห่งความสำเร็จที่ชัดเจนจากกระบวนการที่เกิดขึ้น คือ ครู กศน.ได้พัฒนาศักยภาพเป็นบุคลากรเรียนรู้และยังสร้างชุมชนเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในลักษณะของกลุ่มอาชีพที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนได้

คำสำคัญ (Tags): #ร่องรอย
หมายเลขบันทึก: 46191เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพาะเห็ดฟางทุกวิธี

มีข้อมูลมากมาย เฉพาะเรื่องเห็ดฟาง มีอบรมทุกวันที่ 9 ทุกเดือน ฟรี ที่ ฟาร์มเห็ดเพชรพิจิตร 1 / 3 ม.9 บ้านยางโทน ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร 66140 www.phetphichit.com โทร.081-886-9920 .โดย เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดประจำตำบลบ้านนา และมีบริการจัดส่งเชื้อเห็ดฟางทางไปรษณีย์.

เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย(ในหน้าหนาว)ที่จ.เชียงราย

ภาคเหนือเหมาะกับการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยมาก หลังเกี่ยวข้าวเสร็จ เพียงใช้ฟางข้าวเหนียวกับเชื้อเห็ดเท่านั้น สามารถเพาะเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี มีการเพาะกันมานานแล้ว ไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยเฉพาะที่ อ.เทิง จ.เชียงราย แถวเทศบาลป้อง อ.พาน จ.เชียงราย ระหว่างเดือน พ.ย-มี.ค.ของทุกปี เพาะกันเยอะมาก ผลผลิตสูงกว่าภาคอื่น เพราะเป็นฟางข้าวเหนียว **รายงานโดย . ฟาร์มเห็ดเพชรพิจิตรโทร.081-886-9920.**

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท