KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 140. "คุณเอื้อ" ในอุดมคติ


ใครมีชื่อ "คุณเอื้อในอุดมคติ" โปรดแนะนำ สคส. ด้วยนะครับ เราจะตามไป "จับภาพ"

         สังคมไทยเราเป็นสังคมอำนาจ     การบริหารเดินตามแนว "ควบคุมและสั่งการ" จนเป็นวัฒนธรรม    ในสมัยนายกทักษิณ โรคร้ายนี้รุนแรงขึ้น     ราชการทำงานแบบผิวเผินหวังผลระยะสั้น    หวังได้ผลประเมินผ่านเกณฑ์     มีหน่วยงานควบคุมสั่งการมาเร่ง "สร้างประสิทธิภาพ  ปฏิรูประบบ" มากขึ้น

        สภาพเช่นนี้ "หน่ออ่อน" ของ "คุณเอื้อ" ในอุดมคติลีบหายหมด     เกิด "คุณอำนาจ" เกลื่อนเมือง    ตามแนวลูกพี่คือคุณทักษิณ

        แต่แม้ในทะเลทรายยังมีน้ำ  และมีต้นไม้ มีสัตว์ ฉันใด    ในประเทศไทยก็ฉันนั้น     เรายังมี "คุณเอื้อ" ในอุดมคติอยู่บ้าง     ที่เห็นชัดในสายตาของเรา (ซึ่งคงจะมองได้ไม่ทั่ว) ก็มีท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ แห่งนครศรีธรรมราช     ท่านอธิบดีนัทธี จิตต์สว่าง แห่งกรมราชทัณฑ์     รองอธิการบดี อ. พิชิต เรืองแสงวัฒนา แห่ง มอ.     รองอธิการบดี ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร แห่ง มน.    รศ. พญ. ปารมี ทองสุกใส หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มอ.    รศ. มาลินี ธนารุณ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มน.   พญ. อัจฉรา เชาวะวณิช ผอ. สถาบันบำราศนราดูร     นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ พญ. นันทา อ่วมกุล แห่งกรมอนามัย     

       น่าจะมีอีกนะครับ    แต่เรายังไม่รู้จักท่าน     ใครมีชื่อ "คุณเอื้อในอุดมคติ" โปรดแนะนำ สคส. ด้วยนะครับ     เราจะตามไป "จับภาพ"

        ลักษณะของ "คุณเอื้อ" ในอุดมคติ  ในสายตาของผมได้แก่
         ๑. คัดเลือกหาทีมงานจากหลากหลายต้นสังกัดมาเป็นแกนนำ KM     โดยคัดเลือกคนที่มีคุณลักษณะเหมาะสม
         ๒. สนับสนุนทรัพยากรแก่ทีมงานดังกล่าวอย่างเต็มที่
         ๓. นำเอาแผนปฏิบัติการของทีม KM เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารองค์กรในภาพใหญ่
         ๔. การจัดบรรยากาศการทำงานให้ลดการสั่งการลง     หันไปเน้นการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม/ความมุ่งมั่นร่วม   และเปิดโอกาสให้พนักงานหน้างานได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานของตน    ให้พนักงานได้มีอิสระที่จะคิดปรับปรุงงานของตน
        ๕. ส่งเสริมการทำงาน และเรียนรู้เป็นทีมในหน่วยงานทุกระดับ
        ๖. คอยสอดส่องหาความสำเร็จเล็กๆ (และความสำเร็จใหญ่ๆ) ในหน่วยงาน นำมาชมเชย และส่งเสริมให้ขยายความสำเร็จนั้น   คอยชื่นชมและส่งเสริมบุคคลและกลุ่มคนที่สร้างความสำเร็จนั้น
        ๗. ส่งเสริมให้เกิดเวที ลปรร. ความรู้ที่เกิดจากความสำเร็จ หลากหลายรูปแบบ หลากหลายระดับ     ในลักษณะที่เป็นเวทีที่ไม่เน้นความเป็นทางการ     เน้นความเป็นอิสระทางความคิด    ทั้งที่เป็นการ ลปรร. ภายในองค์กร     และการ ลปรร. กับภายนอกหน่วยงาน    รวมทั้งการดูดซับความรู้จากภายนอก
       ๘. จัดระบบ ICT ที่ส่งเสริม อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้ง ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)  และความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge)
       ๙. ไม่มีอะไรสำคัญเท่าความเอาใจใส่เรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ของคนเล็กคนน้อย     และหาทางแสดงความชื่นชมโดยการส่งเสริมให้ได้ขยายความสำเร็จนั้น    และการชี้ช่องความท้าทายในการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ  - การประยุกต์ / ทักษะใน AI (Appreciative Inquiry)

วิจารณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 46098เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท