ไข่คู่ - ไข่ครอบ


ไข่ครอบ มีที่มาจากการนำเอาไข่ขาวของไข่เป็ด มาย้อมกัด อวน แห ของชาวประมงพื้นบ้านรอบริมทะเลสาบสงขลา เมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ชาวประมงพื้นบ้านรอบริมทะเลสาบสงขลา จะใช้อวน แห กัดหรือข่าย ที่ตัดเย็บขึ้นเองจากด้ายดิบ ไข่แดงที่เหลือจึงนำมานึ่งเพื่อเก็บไว้กิน จึงเกิดเป็น"ไข่ครอบ" อันเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะครอบครัวของชาวประมงพื้นบ้านแถบริมทะเลสาบสงขลา จะทำกิน และทำขายเป็นอาชีพกันหลายครอบครัว "ไข่ครอบ” จึงเป็นเรื่องหนึ่งของภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนริมทะเลสาบสงขลา ที่น่าสนใจ ศึกษาเรียนรู้ และสืบทอด ในเรื่องของวัฒนธรรมด้านอาหารของชุมชนริมทะเลสาบสงขลา

  

 

  

  

ไข่ครอบ-ไข่คู่-ไข่ภูมิปัญญาริม'เลสาบสงขลา

  

ไข่ครอบ ไข่ภูมิปัญญาริมทะเลสาบสงขลา

   ผืนน้ำผืนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ ๑,๐๔๒ ตารางกิโลเมตร เป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศว่า คือ ทะเลสาบสงขลา เป็นภูมินเวศน์ที่มีธรรมชาติอันงดงาม มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัดกว่าล้านคนมาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งกำเนิดของชุมชนโบราณนานนับพันปีก่อนประวัติศาสตร์ จึงเป็นดินแดนที่ร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรม และศิลปะแขนงต่างๆ เป็นแหล่งรับน้ำผืนใหญ่ที่มีลักษณะทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) ขนาดใหญ่ และการที่ทะเลสาบสงขลาได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จึงทำให้ทะเลสาบสงขลาเป็น เป็นระบบนิเวศผสมผสานหรือ “ทะเลสาบสามน้ำ” ที่มีทั้งน้ำจืด  น้ำกร่อย  และน้ำเค็ม  รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัด อันประกอบด้วย สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลาตอนบนมีพื้นที่ป่าชุ่มน้ำผืนกว้างที่ยังมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ กอปรกับชาวชุมชนยังมีการใช้วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในการประกอบอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพย์ในดิน สินในน้ำเพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวแบบพอเพียง อาทิ วิถี "โหนด-นา-เล" บนคาบสมุทรสทิงพระ ภูมิปัญญาการทำ “ไข่ครอบ”  เป็นอีกเรื่องหนึ่งของภูมิปัญญาท้องถิ่นริมทะเลทะเลสาบสงขลา ที่น่าสนใจ ศึกษาเรียนรู้ และสืบทอด ในเรื่องของวัฒนธรรมด้านอาหารของชุมชน โดยเฉพาะ วิถีอยู่-วิถีกิน ที่ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ

การถนอมอาหาร ในเชิงวิชาการ คือ กระบวนการเก็บ และรักษาอาหาร เพื่อชะลอการเน่าเสียของอาหาร ในขณะที่ยังรักษาคุณค่าทางโภชนาการ สีสัน และกลิ่นให้คงอยู่ ด้วยการยับยั้งการเติบโตของ แบคทีเรีย เชื้อรา และจุลินทรีย์อื่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆเหล่านี้ คือ

  • การตากแห้ง เพื่อขจัดน้ำออกจากอาหาร
  • การดองเกลือ การใช้น้ำตาล หรือการแช่แข็ง เพื่อยับยั้งการดูดซึมสารอาหารของจุลินทรีย์
  • การใช้สารปรุงแต่งอาหาร
  • การรมควัน
  • การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำส้มสายชู หรือแอลกอฮอล์ เพื่อยับยั้งการเกิดสารพิษ

   ซึ่งการเลือกวิธีการถนอมอาหารที่เหมาะสม จะทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นาน และสามารถเก็บอาหารไว้่รับประทานนอกฤดูกาลได้โดยที่อาหารไม่บูดเน่าเสียหรือต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

การทำไข่ครอบเพื่อขายเป็นอาชีพของครอบครัวอามีน และฉารีฟ๊ะ

ไข่ครอบ เป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของครอบครัวชาวประมงพื้นบ้านแถบริมทะเลสาบสงขลารู้จักทำกันมานาน แต่ก่อนทำเพียงแค่เพื่อถนอม หรือรักษาไข่แดงที่เหลือจำนวนมากจากการใช้ไข่ขาวย้อมด้ายเนื้ออวน แห กัด(ข่าย) ไม่ให้เน่าเสียโดยการนึ่ง เพื่อเก็บไว้กิน และนำไปขายในงานเทศกาล ตลาดนัดชุมชุน ไข่ครอบ แต่ก่อนใช่จะหากินกันได้ง่ายๆ จะมีกิน มีขายก็ต่อเมื่อมีการย้อมเส้นด้ายในช่วง ๑ - ๒ อาทิตย์ แต่ปัจจุบันจะทำขายเป็นอาชีพกันหลายครอบครัว ในตลาดนัดวันต่างๆของสงขลา ในร้านข้าวแกงก็จะมีจำหน่าย ไข่ครอบเท่าที่สืบทราบจะมีการทำกันเฉพาะในครอบครัวของชาวประมงริมทะเลสาบฝั่งตะวันออกเท่านั้น โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านคูขุด ฉะนั้น ไข่ครอบจึงนับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการถนอมอาหาร ของชาวประมงพื้นบ้านตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มาก่อนเป็นเวลาช้านาน

ตำนานการทำไข่ครอบริมทะเลสาบสงขลา 

 ที่มาที่ไปของไข่ครอบ พื้นบ้านแถบริมทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะชาวบ้านคูขุด มักนิยมเลี้ยงเป็ดไข่ไว้เพื่อกิน และขาย โดยเฉพาะไข่ต้ม ตามตลาดนัด งานวัด อาหารเป็ดก็ได้จากธรรมชาติ เป็น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้จากทะเลสาบ นำมาเป็นอาหารเป็ด ชาวบ้านที่ได้ ไข่เป็ดก็จะนำมาทำไข่ต้ม จากปริมาณค่อนข้างเยอะนี่เอง ทำให้เกิดการกระแทกกันในระหว่างการต้มไข่ จึงต้องแยกออกมาต่างหาก เมื่อได้ปริมาณมากก็จะแยกไข่ขาว เหลือแต่ไข่แดง นำเอาเปลือกของไข่เป็ดที่แตกร้าว แกะให้กว้างขึ้น แล้วหยอดไข่แดงลงไป นำไปนึ่ง ก็จะได้ไข่ครอบ ยิ่งเป็นไข่เป็ด ที่กิน กุ้ง หอย ปู ปลา ก็จะให้ไข่ที่มีใบใหญ่ เปลือกสีเขียว สีแดงเข้ม

วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา จากอดีตถึงปัจจุบันที่ยังคงดำรงอยู่ แม้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและผืนน้ำจะลดน้อยถอยลง

 

ที่แท้การทำไข่ครอบจึงเกืดมาจากการย้อมอวนของชาวประมงพื้นบ้านนี่เอง

   ไข่ครอบ มีความสัมพันธ์กับการหาปลาในทะเลของชาวประมงลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างชัดเจน เล่ากันว่า "ไข่ครอบมีที่มาจากการใช้ไข่ขาวเพื่อย้อมกัด อวน แห ของชาวประมง เมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา ใช้อวน แห กัดหรือข่าย ที่ตัดเย็บขึ้นเองจากด้ายดิบ" โดยงานถักอวนจะเป็นงานของผู้หญิง ผู้ชายจะเป็นผู้นำเครื่องมือจับปลา จำพวก อวน แห หรือกัด ออกไปหาปลา และเมื่อใช้ อวน แห กัดหรือข่าย ไปสักประมาณครึ่งเดือน หรือ หนึ่งสัปดาห์ จะหยุดเพื่อย้อม “ด้าย”เสียครั้งหนึ่ง ส่วนใหญ่จะตรงกับวันพระ หรือวันศุกร์ที่จะต้องหยุดทำพิธีทางศาสนาก็จะนำเครื่องมือเหล่านั้นกลับมาย้อมใหม่ เพราะกัด หรือข่ายที่ทำด้วยด้ายดิบ เมื่อโดนน้ำหลายครั้ง ด้ายจะพอง ทำให้จมน้ำช้าลง ดักจับปลาได้น้อย และจะขาดง่ายขึ้น ชาวประมงจึงหยุดพักการหาปลาเพื่อย้อมกัดหรือข่าย โดยใช้เนื้อไข่ขาวของเป็ดมาย้อม เหตุที่ใช้ไข่เป็ดเพราะมีการเลี้ยงเป็ดกันเยอะ และไข่เป็ดให้ไข่ขาวมากกว่าไข่ไก่

      การย้อมจะเอาเฉพาะไข่ขาวเพียงอย่างเดียวผสมกับน้ำแล้วคนให้เข้ากัน นำ แห อวน กัดหรือข่ายด้ายดิบลงมาย้อมให้ทั่ว หลังจากนั้นเอาไปนึ่ง(อบ)ด้วยความร้อน ๑๐๐ องศา ประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที แล้วเอามาตากแดดจนแห้งสนิท ไข่แดงที่เหลือจากการย้อมอวนจำนวนมาก มีปัญหาในการเก็บ ชาวประมงจึงเกิดปัญญาในการถนอมอาหารโดยการเอาไข่แดงมานึ่งทำเป็น “ไข่ครอบ” ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงด้วยความชำนาญ ฉะนั้นการทำ “ไข่ครอบ” จึงนับเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวประมงพื้นบ้านแถบริมทะเลสาบสงขลา 

ไข่ครอบบ้านหัวเปลว 

   ที่บ้านหัวเปลว  หมู่ที่ ๓ ตำบลคูขุด  อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งทำ “ไข่ครอบ” ที่มีชื่อเสียง ในเรื่องรสชาติเป็นที่ติดอกติดใจของผู้คนที่ได้รับประทานมาช้านาน ชนิดว่าถิ่นไหนก็สู้ไม่ได้ในเรื่องรสชาติ และทำสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ครอบครัวของอามีน และ ฉารีฟ๊ะ  มะหมัด เป็นครอบครัวที่ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดเพื่อขายไข่ ทั้งไข่สด ไข่ครอบ และไข่เค็ม

การทำไข่เค็มเพื่อส่งจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ของครอบครัวอามีน โดยลูกชายคนรองเป็นผู้รับผิดชอบ สัปดาห์ละประมาณ ๓.๐๐๐ ฟอง

   ฉารีฝ๊ะ  เล่าว่า “แต่ก่อนเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว อามีน หัวหน้าครอบครัวประกอบอาชีพขับแท๊กซี่ ระหว่างสทิงพระ – หาดใหญ่ รายได้แต่ละวันที่เหลือไม่พอจ่ายในครอบครัว ลูกกำลังอยู่ในวัยเรียนจึงตัดสินใจทำไข่ครอบ และไข่เค็มขายตามตลาดนัดในท้องถิ่น โดยเรียนรู้การทำไข่ครอบอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้าน “หัวเปลว” ตำบลคูขุดที่ทำมากันช้านาน หลังจากทำไข่ครอบ-ไข่เค็มขาย มาระยะหนึ่งพบปัญหาการซื้อไข่ ทั้งราคาแพง และได้ไข่ไม่เพียงพอ จึงหันมาเลี้ยงเป็ดเอง

      เป็ดที่เลี้ยงเองเพื่อเก็บไข่มาทำไข่เค็ม และไข่ครอบ ของอามีน          จำนวน ๘,๐๐๐ ตัว ทำให้กิจการต่อเนื่องไปด้วยดี ไม่ต้องรอไข่จากเล้าอื่น

    อามีน เล่าว่า “ ตอนนี้ครอบครัวเลี้ยงเป็ด ประมาณ ๘,๐๐๐ ตัว สามารถเก็บไข่ได้วันละ ๖,๐๐๐ ฟอง ไข่จากเป็ดที่เลี้ยงลูกใหญ่ ไข่แดงดี เนื่องจากให้กินอาหารสำเร็จรูป ข้าวเปลือก และหัวกุ้ง เป็นหลัก และจะเลี้ยงเพียงแค่ ๑ ปีแล้วต้องขายเป็ดทิ้งเนื่องจากหลังจากนี้เป็ดจะไข่น้อยลงทำให้ขาดทุน และในแต่ละวันต้องคัดแยกขนาดไข่เพื่อขายไข่สด และคัดเอาส่วนหนึ่งไว้ทำไข่เค็มขาย ส่วนไข่ที่แตกจะนำมาทำไข่ครอบเพื่อลดภาระการขาดทุน”

      ในการทำไข่ครอบ-ไข่เค็มเพื่อขายในตลาดนัดท้องถิ่น ฉารีฝ๊ะ  เล่าว่า “จะทำไข่เพียงแค่สัปดาห์ละ ๓ วัน คือวันพุธ ศุกร์ และวันเสาร์” เพื่อขายในวันรุ่งขึ้น เพราะการทำไข่ครอบต้องใหม่ และสด โดยทำเพียงแต่พอขายหมด สัปดาห์หนึ่งทำไข่เค็มราวๆ ๓,๐๐๐ ฟอง ขายในท้องถิ่นเล็กน้อย และส่วนใหญ่ส่งขายแม่ค้าในตลาดเมืองหาดใหญ่ ส่วนไข่ครอบทำวันละประมาณ ๑๐๐ คู่ (๒๐๐ ฟองไข่แดง) สัปดาห์ละ ๓๐๐ ฟอง หรือ  ๖๐๐ คูไข่แดง

การเลี้ยงเป็ด และไข่ที่เก็บได้แต่ละวัน

 สูตรการทำไข่ครอบของ ฉารีฟ๊ะเธอเล่าว่า “จะเริ่มทำช่วงเที่ยง โดยนำไข่แตกที่คัดแยกมาล้างให้สะอาด แล้วค่อยแกะส่วนบนของเปลือกไข่เพียงให้เทไข่ออกจากเปลือกได้โดยไข่แดงไม่แตกเสียหาย  หลังจากนั้นใช้มือแยกไข่แดงออกจากไข่ขาวแล้วนำไปใส่รวมไว้ในกะละมังน้ำสะอาดที่เตรียมไว้” ขั้นตอนนี้ ฉารีฝ๊ะ ทำ ๒ คนกับลูกชาย  ส่วนอามีน จะเริ่มเอาไข่แดงที่แยกได้ โดยใช้มือช้อนครั้งละ ๒ ฟอง ใส่ลงในเปลือกไข่เป็ดที่ตัดแต่งเปลือกส่วนบนออกประมาณ ๑/๔ ที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นนำเกลือป่นมาละลายน้ำแล้วตักน้ำและเกลือหยอดลงในเปลือกไข่ โดยให้มีเกลือติดไปด้วย  จากนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ ๕ - ๖ ชั่วโมง เพื่อให้เกลือป่นละลายเข้าไปในไข่แดงแต่พอดี จึงนำไปนึ่งประมาณ............นาที พอให้ผิวไข่แดงสุก และเนื้อในเป็นยางมะตูม ไข่ครอบจึงจะมีรสชาติอร่อย นุ่มลิ้น นุ่มฟัน เหมาะแก่การแนมกับ แกงผัดเผ็ดของชาวใต้ทุกกรณี

ขัดถูเปลือกไข่ และล้างทำความสะอาด ก่อนทำการเจาะเอาไข่แดง

ไข่แดงที่เจาะได้รอนำการแยกไข่ขาวออกจากไข่แดง และการใช้สองมือกลิ้งไข่แดงไป-มา เพื่อแยกไข่ขาวออก

ใช้กรรไกรรตัดตกแต่งเปลือกไข่ให้กว้างพอกรอกไข่ ๒ ฟองได้ เตรียมไว้สำหรับกรอกไข่แดงเพื่อทำไข่ครอบ

ไข่แดงที่แยกได้พักไว้ในน้ำสะอาดเพื่อง่ายต่อการตักไข่ที่ละคู่สำหรับกรอก

อามีน บอกว่า “ทำไข่ครอบ ๖๐ คู่ (๑๒๐ ฟองไข่แดง) ใช้เกลือป่น ๑ ถุงขนาด ๑๘๐ กรัม”

การละลายเกลือป่นกับน้ำตามสัดส่วนที่ลองทำแล้วอร่อยพอดีคือเกลือ ๑ ถุงขนาด ๑๘๐ กรัมสามารถใช้ตักกรอกไข่ครอบได้ ๖๐ คู่ (๑๒๐ ฟองไข่แดง)

ไข่ครอบที่ใส่เกลือแล้วจะต้องนำไปหมักโดยปิดทิ้งไว้ไม่ให้แมลงตอม ประมาณ ๕ ชั่วโมง จึงนำไปนึ่งประมาณ......นาที พอผิวไข่แดงสุกแห้ง   เนื้อในไข่แดงพอเป็นยางมะตูม..สูตรนี้อร่อย..

การจำหน่าย จะทำขายในตลาดนัดท้องถิ่น สัปดาห์ละ ๓ วัน คือ วันพฤหัสฯ ช่วงบ่าย ขายที่ตลาดเปิดท้ายหน้าที่ว่าการอำเภอสทิงพระ วันเสาร์ช่วงเช้าขายที่ตลาดนัดหัวถนนบ้านศรีไชย วันอาทิตย์ช่วงเช้าขายที่ตลาดนัดเทศบาลตำบลจะทิ้งพระ(หัวถนนคูขุด)

การขาย ไข่เค็ม และไข่ครอบ ฉารีฟ๊ะ  บอกว่า “ไข่สดขายฟองละ ๔ บาท ไข่เค็มขายฟองละ ๕ บาท  และไข่ครอบขายฟอง(๑คู่ไข่แดง)ละ ๙ บาท” และ “ไข่ขาวที่ได้จะนำส่งขายแม่ค้าในเมืองสงขลาเพื่อใช้ผสมทำลูกชิ้นปลา และสังขยา กิโลละ ๙ บาท ทำไข่ครอบครั้งหนึ่งจะได้ไข่ขาวประมาณ ๗ – ๘ กิโลกรัม ส่วนนี้เป็นผลพลอยได้ที่พอเป็นส่วนบวกของกำไร”

ไข่ขาวที่ได้เก็บบรรจุถุงส่งแม่ค้า สำหรับทำลูกชิ้น และขนมสังขยา เป้นส่วนเพิ่มของกำไรในการทำไข่ครอบแต่ละครั้ง

 เคล็ดลับของการทำไข่ครอบ คือ ไข่เป็ดที่นำมาใช้ทำต้อง สดใหม่ ลูกใหญ่ และไข่แดง

ไข่สด สังเกตได้จาก ไข่แดงสีเข้มสดใส กลมเหนียวไม่แตกง่าย

  หากท่านผู้ใด/สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานใด สนใจที่จะเข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาการ "ทำไข่ครอบ" อันเป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร ของชาวประมงพื้นบ้านริมทะเลสาบสงขลา อันเป็นสูตรเก่า ของการทำไข่ครอบ บ้านหัวเปลว หมู่ที่ ๓  ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ๙๐๑๙๐ ภูมิปัญญาชาวบ้านอันเป็นมรดกท้องถิ่นไทย เพื่อเป็นการศึกษา วิจัย ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์สืบสาน เผยแพร่ที่จะยังให้คงมีอยู่ในแผ่นดินนี้สืบไป โทรศัพท์ติดต่อได่ที ๐๘-๙๒๙๕-๑๘๘๒ หรือประสานครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์ "ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก"  อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  โทร. ๐๘-๗๓๙๑-๒๓๒๕

 แหล่งอ้างอิง/ข้อมูล

  • จดหมายข่าวโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา ฉบับที่ ๓/๒๕๔๙
  • นายอามีน นางซารีฟ๊ะ บ้านหัวเปลว  หมู่ที่ ๓ ตำบลคูขุด  อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา
  • อาหารการกินแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เครือข่ายสูตรอาหารรอบทะเลสาบสงขลา ๒๕๕๑
  • GGS cooking art. stands out from other cooking site
หมายเลขบันทึก: 459943เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2013 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเชี่ยมชม...มีโอกาสลงมาสงขลาเมื่อใด.....จะพาไปเยี่ยมชม และชิม

สวัสดีครับครู

กินไหร บำรุงนั้น

อยากกินไขสองหนวยครับ

ปากยูนก็มีขายทุกวัน

ผู้เฒ่าเชื่อเรื่องพรรค์นี้กะดี หมันเป็นเรื่องภูมิปัญญาแบบบ้านบ้านกินไขสองหนวยแล้วต้องหากินไขฟกหรือไขโม่งด้วย..แล้วจะดี และไปไหนมาไหนเวลาหลบบ้านเซ่อเคอยติดมือไปฝากคนเท่เริ็อนมั่ง...บายดีม่าย,,ไม่ได้เขียนเรื่องเข้า กทน.นานมาก..หวางหนี้ยุ่งหลายเรื่อง..คิดถึงอยู..ผานไป-ผานมา แถวๆนาวตุงแวะกินโก้ปี้หมั้ง...

แปลกจังค่ะ มีมาขาย หรือออกงานที่กรุงเทพฯ บ้างไหมคะ ทำไมไม่เคยเห็นเลยในชีวิต ว่ามีอาหารแบบนี้ในประเทศไทย รสชาติจะเป็นยังไงนะ

ไม่แน่ใจครับ..คาดว่าน่าจะไม่เคย..เพราะต้องทำกันสดๆ..และอาหารภูมิปัญญานี่ซบเซามานานไม่ค่อยมีใครทำเพราะเครื่องมือหาปลาเปลี่ยนวัสดุจากเส้นด้ายมาเป็นไนลอน...เลยไม่มีการย้อมเส้นด้าย..ผมเข้าไปกระตุ้นชาวบ้านให้นิยมกิน..และหนุนเสริมการซื้อ-ขายเพื่อมาเป็นกับข้าวเลี้ยงในการประชุมชาวบ้าน และตามวาระต่างๆ ทำให้มีการหาซื้อ..จึงมีการฟื้นทำขึ้นมาอีกรอบ..ตอนนี้รู้จักกันมากขึ้นเพราะสื่อทั้งหลาย....เมื่อสัปดาห์ที่แล้วช่อง ๕ อยากให้ไปออกรายการที่กรุงเทพฯ..แต่ไม่สะดวกหากมีโอกาสจะนำไปแสดงที่กรุงเทพฯสักครั้ง..คอยติดตาม...หรือสนใจลงมาหาซื้อกินได้ที่สงขลา..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท