KM งดงามที่แม่ฮ่องสอน...ความประทับใจแรกที่ปางมะผ้า (ต่อ)


km ดี ๆ ....มีให้ค้นเจอ

ทั้งนี้ในชุมชนปางมะผ้ามีหลายชาติพันธุ์ และมีกลุ่มกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่นที่บ้านแม่ละนาก็มีเกือบ 20 กลุ่มกิจกรรมตั้งแต่กลุ่มเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่ล้วนเกี่ยวพันโยงใยให้ได้สัมพันธ์และเรียนรู้กันตลอด แต่ละกลุ่มมีการจัดการของตนเอง มีการนัดเจอกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เรียกว่าทุกกลุ่มดำเนินการโดยอิสระแต่มีจุดร่วมกันคือยังต้องรักษาไว้ซึ่ง อัตลักษณ์ของชุมชนแต่ละแห่งในปางมะผ้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติของคนที่นี่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น  และสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนที่มีความรู้เป็นฐานและสามารถจัดการกับความรู้นั้นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในประเด็นต่าง ๆ               

 (พี่หนาน แกนนำท่องเที่ยวชุมชนแม่ละนาพาทัวร์ในหมู่บ้านถูกใจบ้านไหนก็แวะคุยได้ ทุกคนพร้อมจะให้บริการความรู้แก่นักท่องเที่ยวเสมอ และที่ไม่ลืมคือพวกเขามักถามกลับว่ามาเห็นแล้วเป็นอย่างไร ประมาณว่าอยากได้ข้อแนะนำ)

  คลังความรู้ของชุมชนในปางมะผ้า มีทั้งผู้สูงอายุที่เป็นทั้งแหล่งองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และผู้สนับสนุน  ซึ่งความรู้ในตัวคนเหล่านี้ถูกดึงออกมาและร่วมกันจัดการโดยคนรุ่นกลาง ซึ่งมักรวมกลุ่มกันและจัดตั้งเป็นกลุ่มต่าง ๆ มีโครงการสร้างการบริหารจัดการชัดเจนเน้นการประชาคมสรุปร่วมกันในทุก ๆ เรื่อง มีการส่งต่อความรู้สู่รุ่นเยาวชนผู้สืบทอด เช่น การอบรมมัคคุเทศน์น้อย การสอนการเล่นลิเกไต การรำนก  การอีดน้ำมันงาซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ขาดหายไปช่วงหนึ่งเกือบ 20 ปี    กิจกรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นและปฏิบัติจึงเป็นกลไกของการสร้างและใช้ความรู้เพื่อการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยมี ศูนย์ประสานงานข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนา เป็นศูนย์กลางของการรวบรวมและส่งต่อความรู้ให้เกิดการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนโดยไม่ต้องยึดติดหรือรับความรู้จากภายนอกเพียงอย่างเดียว และไม่เป็นเพียงแหล่งความรู้ให้คนข้างนอกมานำออกไปโดยไม่คืนให้กับชุมชน ดังที่เคยเป็นมา             

  

(พี่จอมจันทร์ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรพาเราขึ้นมาดูเกษตรผสมผสานที่มีสารพัดพืชพรรณตั้งแต่นาข้าวไปจนถึงสวนผลไม้อยู่ในบริเวณแปลงเกษตรของพี่จอมจันทร์ประมาณ 15 ไร่ (เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยวัดเพราะเป็นพื้นที่เชิงดอยและเนินเขา)

                นอกจากนี้ในแง่งามของการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นที่นี่แค่ในบริบทของคนที่เกี่ยวข้อง เราพบว่า ทีมนักวิจัยหลักซึ่งเป็นนักวิชาการจากภายนอกทำหน้าที่เป็นผู้คอยสนับสนุนและช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักวิชาการสาธารณสุข พัฒนาการอำเภอ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ   ปล่อยให้ทีมนักวิจัยท้องถิ่น(ชาวบ้านตัวแทนชนเผ่าต่าง ๆ ) ไปทำงานกับชุมชน  ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถนำความรู้ที่มีมาจัดการกับปัญหาและพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน 

ดังภาพรวมที่เห็นอันเป็นของผลการดำเนินงานที่ทำมาคือพบแนวทางที่ ชุมชนอยู่ร่วมกับดินน้ำป่าอย่างยั่งยืน  ของดีชุมชนสืบทอดสู่เยาวชน  มีเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืนและพอเพียง  มีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือปลุกจิตสำนึกชุมชนและนักท่องเที่ยว  ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่เป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ สุขภาพองค์รวมของชุมชนพื้นที่ (กาย- ความคิด-จิตวิญญาณ)   และแม้โครงการนี้จะจบลงแต่แกนนำเหล่านี้ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานต่อไปและมีการจัดการเพื่อให้ศูนย์ฯนี้เป็นศูนย์กลางของความรู้และการจัดการชุมชนในปางมะผ้าต่อไป ด้วยการดึงความร่วมมือจากหน่วยงาน /องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องต่อไป

ในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้ไปพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นหลักฐาน จากสื่อสิ่งพิมพ์ โบว์ชัวร์ แผ่นพับ จดหมายข่าว  ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว (ทีมนักวิจัยชาวบ้านได้เรียนรู้การถ่ายทอดและการตัดต่อวีซีดีจากการอบรมและเรียนรู้ดัวยตนเองจนสามารถทำเองได้และมาสอนต่อกันในทีม)  รวมทั้งการได้พบเจอพูดคุยกับเจ้าของความรู้ ผู้เฒ่าผู้แก่ และคนรุ่นสืบทอด ทำให้เห็นว่า การใช้ประโยชน์จากความรู้ในแต่ละด้านล้วนเชื่อมโยงกับศูนย์ประสานงานข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่ 86/1 หมู่ 3 บ้านวนาหลวง ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน รหัสไปรษณีย์ 58150 โทร.053-617005,053-617200

คำสำคัญ (Tags): #ร่องรอย
หมายเลขบันทึก: 45674เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากครับ   เพราว่าเล่าเรื่องพี่น้องปางมะผ้า  ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ KMSABAI ขอบคุณที่แวะมาทักทาย เขียนไปตามที่เห็นเป็นมุมมองเล็ก ๆ จากคนนอก หากตกหล่นถ้าคนในช่วยเติมก็จะขอบคุณมาก ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ยินดีที่ได้รู้จัก ยังรอที่จะอ่านบันทึกของ KMSABAI อยู่นะคะ

ออกจับภาพ KM กันขนาดนี้เชียวหรือ???เห็นทีผมจะต้องชวนมาที่ปายอีกรอบแล้ว จะพาไปเดินป่าครับ

.................

กระบวนการทำงาน การจัดการความรู้ที่ชุมชนทำด้วยตนเองที่บ้านแม่ละนา เป็นธรรมชาติและมีกระบวนการที่น่าสนใจมากครับ

ด้วยความเข้มแข็งของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ใหญ่ รวมทั้งเยาวชน ที่บ้านแม่ละนา ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน เป็นการสานสามวัยได้อย่างลงตัวและงดงาม

..............

ขอบคุณพี่ตุ่มและน้องแขกครับ ที่มาช่วยให้กำลังใจเรา 

 

  • ขอบคุณมากครับ เป็นบันทึกที่ให้ความรู้ดีมากครับ
  • ดูคุณแขก หนุ่มหล่อของ สคส.คงมีความสุขนะครับ...

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก

เราไปเห็นสิ่งดี ๆ ก็มีความสุขค่ะ

น้องเอก

ใช่แล้วค่ะ เรื่องราวของบ้านแม่ละนาเป็นการประสานร่วมกันของคนสามวัย และมีการจัดการที่ดีในแบบฉบับของตนเอง

ใครอยากไปเที่ยวปางมะผ้าถ้าให้ได้สัมผัสถึงความเป็นชุมชนแท้ ๆ ก็ต้องพักโฮมสเตย์  ที่นี่เขายังทำปฏิบัติท่องเที่ยว 12 เดือนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาอีกด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท